RECOFTC Thailand
News

คนปลายน้ำ-ต้นน้ำร่วมมือกันปลูก “ต้นไม้ของเรา” คืนความเขียวให้ผืนป่าน่าน

โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) เป็นโครงการระดมทุนผ่านระบบ crowdfunding ทางเว็บไซต์เทใจดอทคอม เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกต้นไม้สายพันธุ์พื้นเมืองที่หลากหลาย นำไปสู่การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนให้กับเกษตรกร
Tree for All event

กลางฤดูฝนปี 2565 หญิงสาวสองคนที่อยู่ไกลกันกว่า 700 กิโลเมตร คนหนึ่งอยู่ต้นแม่น้ำน่าน อีกคนอยู่ปลายแม่น้ำเจ้าพระยา โคจรมาพบกันบนเนินเขาแห่งหนึ่งใน จ.น่าน

แนะนำโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All)
โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) เริ่มดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อพื้นฟูพื้นที่ป่าในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน โครงการได้แก้ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยซึ่งขาดแคลนเงินทุน โดยจัดการระดมทุนให้ภาคเอกชนและประชาชนบริจาคเงินเข้ามาอุปถัมภ์ต้นไม้และมีเกษตรกรในโครงการเป็นผู้ดูแลและติดตามการเติบโตของต้นไม้
แคมเปญระดมทุนภายใต้โครงการต้นไม้ของเราดำเนินการผ่านระบบระดมทุนที่เว็บไซต์เทใจดอทคอม ผู้ที่ต้องการอุปถัมภ์ต้นไม้สามารถบริจาคเงินได้ที่เว็บไซต์ในราคา 100 บาทต่อ 1 ต้น แคมเปญนี้มีเป้าหมายในการระดมทุนให้ถึง 1,000,000 บาท ภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 โดยเงินที่ได้จะนำไปให้เกษตรรายย่อย 100 รายปลูกต้นไม้สายพันธุ์พื้นเมือง 100 ต้นบนที่ดินของเกษตรกร
โครงการมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้หลากสายพันธุ์จำนวนทั้งหมด 10,000 ต้น เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเกษตรกร
สถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุขทำหน้าที่แบ่งจ่ายเงินที่ได้รับบริจาคไปให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตลอดระยะเวลา 3 ปี เกษตรกรแต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุน 6,000 บาทเพื่อนำไปปลูกต้นไม้และดูแลต้นไม้
 

ทิพย์สุดา นาคทั่ง อายุ 36 ปี นักธุรกิจเจ้าของกิจการขนส่งใน จ.นนทบุรี กำลังช่วยวรารัตน์ วุฒิ เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 26 ปี ปลูกต้นไม้ลงบนที่ไร่ในหมู่บ้านศรีบุญเรือง ต.พงษ์ อ.สันติสุข

ครอบครัวของวรารัตน์ได้รับสิทธิทำกินบนที่ดิน 19 ไร่ จากโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หรือที่เรียกว่า “ที่ดิน คทช.” ที่ดินผืนนี้ผ่านการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานหลายปี คุณภาพดินก็เสื่อมโทรมลงมาก แม้จะเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ก็ได้ผลไม่ค่อยดีนัก ไม่ต่างจากที่ดินโดยรอบที่แทบไม่เหลือร่องรอยว่าเคยเป็นผืนป่ามาก่อน

ความแห้งแล้งที่แผ่ขยายและอากาศที่ร้อนจัดขึ้นทุกทีในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้พืชผลที่ปลูกไว้ถูกไฟไหม้ไปถึงสองครั้งในช่วงเวลาห่างกันไม่กี่ปี  วรารัตน์เริ่มคิดว่า ถ้ายังคงทำการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบนี้ต่อไป ที่ดินผืนนี้คงเสื่อมโทรมลงจนปลูกอะไรไม่ได้อีก

เมื่อกลุ่มรักษ์สันติสุข องค์กรชุมชนที่ทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นใน อ.สันติสุข ร่วมกับศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) เปิดตัวโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนเพื่อนำเงินมาสนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำกินในเขตต้นน้ำและป่าเสื่อมโทรม ลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว-เพิ่มจำนวนไม้ยืนต้น เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสร้างรายได้เสริม วรารัตน์จึงสมัครเข้าร่วมโครงการทันที 

31 กรกฎาคม 2565 วรารัตน์ลงมือปลูกต้นไม้ในที่ดินของเธอในกิจกรรมปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรกของโครงการ โดยมีโดยมีกลุ่มแฟนคลับศิลปิน “เป๊ก ผลิตโชค” ที่ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนโครงการ เดินทางมาช่วยปลูกต้นไม้อย่างแข็งขัน 

“เรารู้ดีว่าการฟื้นฟูป่าเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่พวกเราอยู่ไกล ไม่มีโอกาสช่วยได้โดยตรง ก็เลยขอมีส่วนร่วมด้วยการบริจาคเงินและมาช่วยปลูกต้นไม้นำร่องในวันนี้” ทิพย์สุดา สมาชิกกลุ่มแฟนคลับบอกกับวรารัตน์  “ฝากคนในพื้นที่ช่วยดูแลต้นไม้ และขอเป็นกำลังใจในการฟื้นฟูที่ตรงนี้ให้เป็นป่าต้นน้ำของเราตลอดไปนะคะ”

วรารัตน์พยักหน้าพร้อมรอยยิ้มกว้าง และรับปากว่าจะดูแลต้นไม้ทุกต้นอย่างดีที่สุด

Trees for All

ทำไมต้องเป็นน่าน

ผืนป่าในจังหวัดน่านเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยา ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่ากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำน่าน ปริมาณและคุณภาพของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่หลายสิบล้านชีวิตพึ่งพา จึงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำที่นี่

แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของน่านถูกทำลายไปมากกว่า 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อราว 30 ปีก่อน ที่ทำให้เกิดการแผ้วถางป่าขนานใหญ่เพื่อทำไร่ข้าวโพด

การสูญเสียพื้นที่ป่า ความเสื่อมถอยของระบบนิเวศ วิกฤตภัยแล้ง น้ำป่า หมอกควันพิษและการปนเปื้อนของสารเคมีในผืนดินและแหล่งน้ำจากการปลูกพืชไร่ระยะสั้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้คนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ไม่เพียงเท่านั้น การแห่ปลูกพืชไร่ระยะสั้น ยังทำให้เกษตรกรจำนวนมากยากจนและติดอยู่ในวังวนหนี้สินจากราคาพืชผลที่ผันผวน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและระบบเกษตรพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

องค์กรชุมชนอย่างกลุ่มรักษ์สันติสุขมองเห็นปัญหานี้ และปรารถนาจะพลิกฟื้นระบบนิเวศป่าไม้ พร้อมทั้งนำพาเกษตรกรใน อ.สันติสุข ให้พ้นจากวงจรการทำเกษตรเชิงเดี่ยว จึงจับมือกับรีคอฟช่วยกันคิดและออกแบบโครงการต้นไม้ของเราขึ้นมา

 

Trees for All
กฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ชาวน่านล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่า

กลไกใหม่ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

โครงการต้นไม้ของเรา เป็นโครงการระดมทุนผ่านทางเว็บไซต์ taejai.com เปิดรับบริจาคขั้นต่ำ 100 บาท สำหรับการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ 1 ต้น โดยตั้งเป้าหมายระดมทุนให้ได้ 1 ล้านบาทภายในระยะเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565-24 กุมภาพันธ์ 2566

เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปสนับสนุนให้เกษตรกรใน อ.สันติสุข จำนวน 100 คน ปลูกไม้ยืนต้นพันธุ์พื้นถิ่นจำนวน 100 ต้น บนพื้นที่ 1 ไร่ในที่ดินทำกินของตัวเอง และดูแลรักษาเป็นเวลาสามปี ทำให้ อ.สันติสุขมีต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10,000 ต้น กระจายอยู่ในที่ดินทำกินของเกษตรกร 

สถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุข ภายใต้การดูแลของกลุ่มรักษ์สันติสุข เป็นผู้บริหารจัดการด้านการเงิน โดยแบ่งจ่ายเงินค่าปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นงวด ๆ ตลอดระยะเวลาสามปี รวมเป็นเงิน 6,000 บาท หลังจากสามปี เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ต้องเป็นไปตามสิทธิในที่ดินของเกษตรกรแต่ละคน

เกษตรกรจะเป็นคนเลือกชนิดของต้นไม้ที่ปลูกเอง ซึ่งทางโครงการแนะนำให้ปลูกพันธุ์ไม้พื้นถิ่นที่พบในป่าแถบนี้ซึ่งเติบโตได้ดี มีอัตรารอดสูง เอื้อต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น มะขามป้อม สมอพิเภก และสมอไทย เกษตรกรหลายคนหวังเก็บเห็ดขายเป็นรายได้เสริม จึงเลือกปลูกไม้ตระกูลยาง เช่น ยางนา ยางเหียง เต็ง รัง พะยอม เพื่อนำพาความชุ่มชื้นที่ชักนำให้เห็ดนานาชนิดเติบโต

ปฏิบัติการชุบชีวิตผืนดิน

หลังจากเปิดระดมทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีการเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

เกษตรกร 17 รายแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการล้วนมีที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวต่างชนิดกันไป ทั้งยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ โกโก้ และอะโวกาโด แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่ระยะสั้น หันมาปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างรายได้เสริม

“อยากให้พื้นที่ตรงนี้กลับมาเป็นสีเขียว” วรารัตน์ หนึ่งในเกษตรกร 17 คน เผยถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ เธอเชื่อมั่นว่าไม่นานนักต้นไผ่ พะยูง และยางนาที่ปลูกใหม่จะเติบใหญ่ให้ร่มเงาและนำความชุ่มชื้นกลับมาสู่ที่ดินผืนนี้  

“ตรงนี้มีเชื้อเห็ดอยู่ เคยมีเห็ดโคนขึ้น ถ้ามีไม้ยืนต้นมันก็จะชุ่มชื้นและมีเห็ดออก เราก็เก็บไปขายได้ราคาดี” วรารัตน์บอกอย่างมีความหวัง

สยาม วงษ์เทศ เกษตรกรวัย 47 ปี ซึ่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวไร่ในที่ดิน คทช. 8 ไร่มาหลายปี บอกว่าเธอรับรู้ถึงผลกระทบจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม   

“เราคิดมาตลอดนะว่าทำยังไงให้บริเวณนี้กลับมาชุ่มชื้น มีเห็ด มีหน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของเรา แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ลงมือทำ โครงการนี้เป็นจังหวะดีที่เราจะได้เริ่มต้น”

หลังจากได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ สยามรีบปรับเปลี่ยนพื้นที่ 1 ไร่ ที่เคยปลูกข้าวโพด เพื่อเตรียมลงยางนาและสักก่อนจะหมดฤดูฝน

“เงินที่ได้รับการสนับสนุนอาจจะไม่ได้เยอะ แต่ก็ช่วยแบ่งเบาค่าบำรุงดูแลต้นไม้ได้บ้าง ที่สำคัญคือเป็นกำลังใจให้เกษตรกรในการปลูกและดูแลต้นไม้” สยามกล่าว

เกษตรกรมองว่าโครงการต้นไม้ของเราช่วยให้พวกเขาปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนผู้บริจาคมองว่าโครงการนี้เปิดโอกาสให้คนเมืองมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แล้วภาคส่วนอื่นมองอย่างไร?

กฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน มองว่า ต้นไม้ของเราเป็นโครงการที่จะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเกษตรกรน่าน จากผู้ทำลายเป็นผู้พิทักษ์แหล่งต้นน้ำ และช่วยฟื้นอัตลักษณ์ “เมืองสีเขียว” ของน่านให้กลับคืนมา

“คนน่านน้อยใจที่ถูกมองว่าเราเป็นคนทำลายป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต ปัจจุบันคนน่านยืนยันว่าเราจะเป็นผู้สร้างป่า เป็นผู้รักษาต้นน้ำ เป็นคนที่ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาคงอยู่” รองผู้ว่าฯ กล่าวระหว่างร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรกของโครงการต้นไม้ของเรา ที่บ้านศรีบุญเรือง อ.สันติสุข เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565

กฤชเพชรมองว่าโครงการต้นไม้ของเรา ไม่เพียงทำให้เกษตรกรใน อ.สันติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของ จ.น่าน ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพราะป่าไม้ที่สมบูรณ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน

ด้วยเหตุนี้ โครงการต้นไม้ของเรา จึงได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใน จ.น่าน ที่กำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ทางด้าน ดร.สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่า และผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ มองว่าโครงการต้นไม้ของเรา “ช่วยสานต่อภารกิจของกรมป่าไม้ในการแก้ปัญหาการทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ”

ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ได้สิทธิทำกินในที่ดิน คทช. ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทตามชั้นลุ่มน้ำ และที่ดินแต่ละประเภทก็มีเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ต่างกัน ความเข้าใจของเกษตรกรเกี่ยวกับระเบียบการใช้ประโยชน์ในที่ดินจึงเป็น “บันไดขั้นแรก” ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ ซึ่งกรมป่าไม้พร้อมให้คำแนะนำและสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกร 

ดร.สุวรรณย้ำว่า กรมป่าไม้ไม่มีนโยบายเอาคนออกจากป่าและพร้อมจะสนับสนุนโครงการต้นไม้ของเรา  และโครงการอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 

Trees for All

นอกจากนี้โครงการต้นไม้ของเรายังเป็นการเปิดประตูสู่คาร์บอนเครดิต ซึ่งการระดมทุนได้ครบ 1 ล้านบาท ปลูกต้นไม้ได้ 10,000 ต้นในพื้นที่ 100 ไร่ ต้นไม้เติบโตดี ระบบนิเวศเริ่มฟื้นตัว เกษตรกร 100 คนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นับเป็นเป้าหมายระยะแรกของโครงการต้นไม้ของเรา ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือการที่ต้นไม้เหล่านี้กลายเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนและช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

“วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญ ทำให้การเพิ่มพื้นที่ป่าไม่ใช่แค่เรื่องของการทำตามนโยบายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อดูดซับคาร์บอนและยับยั้งการล่มสลายของระบบนิเวศ” วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย รีคอฟกล่าว และฉายภาพก้าวต่อไปของโครงการต้นไม้ของเราว่า เมื่อตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ พื้นที่ปลูกต้นไม้ของโครงการก็อาจจะสามารถขายคาร์บอนเครดิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มเติมจากการลงแรงปลูกและดูแลต้นไม้ในครั้งนี้ 

ต้นไม้ "ของเรา"

สิ่งหนึ่งที่ทำให้โครงการต้นไม้ของเรา แตกต่างจากโครงการอื่นๆ คือ การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทั้งในฝั่งเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ และฝ่ายผู้บริจาคที่สามารถติดตามความเติบโตของต้นไม้จากฐานข้อมูลออนไลน์ที่บันทึกประวัติต้นไม้ทุกต้น พิกัดจีพีเอสของตำแหน่งที่ปลูก ชื่อเกษตรกรผู้ปลูกและดูแลรักษา การเจริญเติบโต ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ และปริมาณคาร์บอนที่คาดว่าจะต้นไม้ดูดซับได้ 

“โครงการปลูกป่าทั่วๆ ไปมักเป็นการแจกกล้าไม้ให้คนไปปลูก แต่โครงการต้นไม้ของเราสร้างกลไกที่ทำให้เงินถึงมือเกษตรกรซึ่งเป็นคนลงมือปลูกและดูแลต้นไม้ในที่ทำกินของตัวเอง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากต้นไม้ได้” วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย รีคอฟ กล่าว

ศรีไทย ศิริมูล รองประธานสถาบันการเงินรักษ์สันติสุข บอกว่าที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ มาส่งเสริมการปลูกต้นไม้ใน จ.น่าน หลายโครงการ แต่เนื่องจากไม่มีกลไกทางการเงินและระบบการติดตามดูแลรักษารองรับ จึงไม่ประสบความสำเร็จนัก 

“แต่โครงการนี้ให้เกษตรกรเลือกเองว่าอยากจะปลูกต้นอะไร ปลูกแล้วใช้ประโยชน์ได้ และยังมีค่าตอบแทนในการปลูกและบำรุงรักษา เกษตรกรก็รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลและรายงานความเติบโตของต้นไม้ให้ผู้บริจาคทราบ” ศรีไทยกล่าว พร้อมกับยืนยันว่าสถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุขจะบริหารจัดการเงินบริจาคและการจ่ายค่าตอบแทนให้เกษตรกรอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องคอยกำกับดูแล

รีคอฟ ประเทศไทย กลุ่มรักษ์สันติสุขและภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนโครงการนี้เชื่อว่า การที่เกษตรกรเป็นเจ้าของและได้รับประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูก เป็นหลักประกันว่าต้นไม้จะได้รับการดูแลและจัดการอย่างยั่งยืน และพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นใน อ.สันติสุขนี้ ก็จะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมและพวกเราทุกคน

###

บทความนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Wyss Academy for Nature สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) ได้ที่ www.recoftc.org/en/thailand/projects/trees4all

งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)