YFJ2019 Write-Shop เรียนรู้จริงกับตัวจริงด้านป่าไม้และบก.ข่าวชั้นนำระดับประเทศ
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) และมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้โครงการ Voices for Mekong Forests หรือ V4MF ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้จัดอบรมปฏิบัติการด้านข้อมูลและกฎหมายด้านป่าไม้สำหรับนักข่าวป่าไม้รุ่นใหม่ หรือ Young Forestry Journalist 2019, Write-Shop (ส่วนหนึ่งของกิจกรรมนักข่าวป่าไม้รุ่นใหม่ หรือ Young Forestry Journalist Fellowship 2019) เมื่อวันที่ 16-18 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา จากการเปิดรับสมัครนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนรวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ที่ได้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 15 คนจากผู้สมัครกว่า 50 คนจากทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมกับเจ้าหน้าที่แผนงานประเทศไทยและมูลนิธิรักษ์ไทยผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ด้านป่าไม้ระหว่างผู้เข้าร่วมกับคนทำงาน เพื่อส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะเรื่องธรรมาภิบาลป่าไม้กับสื่อมวลชนรุ่นใหม่ และเผยแพร่ชุดข้อมูล มุมมองเรื่องการจัดการบริหารป่าไม้ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติการสื่อและคนรุ่นใหม่ในสาขาต่างๆ นำไปสู่การสื่อสารสาธารณะในประเด็นด้านป่าไม้ อีกทั้งเป็นการติดตามการบริหารจัดการป่าไม้ให้เกิดธรรมาภิบาลอย่างเป็นรูปธรรม
รูปแบบการดำเนินกิจกรรมนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆที่มีความเชื่อมโยง และเรียงร้อยองค์ประกอบของการสื่อสารประเด็นด้านป่าไม้บนหลักข้อเท็จจริง กิจกรรมส่วนแรก ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ ความเข้าใจในข้อเท็จจริงประเด็นด้านป่าไม้ เช่น สถานการณ์ป่าไม้อดีตถึงปัจจุบัน บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการป่าไม้ กฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้ การจัดการป่าไม้ในมิติต่างๆที่เอื้อประโยชน์ในการดำรงชีวิตและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมกับประชาชนที่มีความแตกต่างในบริบทของแหล่งอาศัย ชาติพันธุ์ และสิทธิการใช้ประโยชน์ทรัพยากร และอีกกิจกรรมที่ได้รับความสนใจคือ มายาคติด้านป่าไม้ ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สะท้อนความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ทำให้ผู้เข้าร่วมหลายคนเกิดมุมมองและความเข้าใจใหม่จากข้อคำถามและข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานอ้างอิงเชิงประจักษ์ อาทิ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากไม้ถือเป็นการช่วยลดโลกร้อน และป่าที่อุดมสมบูรณ์จำเป็นต้องมีคนเข้าไปจัดการหรือไม่? รวมไปถึงการนำเสนอบทบาทภาคป่าไม้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมวิเคราะห์แลกเปลี่ยนข้อมูลที่บ่งชี้ถึงสาเหตุ วิธีการบริหารจัดการทรัพยากร และกลไกการติดตามจากภาคประชาสังคมในประเด็นป่าไม้และทรัพยากร ที่มีหลายปัจจัยทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น
กิจกรรมส่วนที่สอง ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ เทคนิค ประสบการณ์การผลิตสื่อและการพัฒนารูปแบบสื่อสาธารณะจากสื่อมวลชนชั้นนำของประเทศ ดังนี้ 1) คุณโกวิท โพธิสาร บก.Way Magazine 2)คุณกุลธิดา สามะพุทธิ บรรณาธิการกรุงเทพฯ BBC Thailand และคุณฉัตรระวี เสนธนิสศักดิ์ บก.The Momentum มาถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคการผลิตสื่ออย่างใกล้ชิดเป็นกันเองตลอดทั้งวัน ทำให้ผู้เข้าร่วมเกิดแรงบันดาลใจและแนวคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมสุดท้าย เมื่อผู้เข้าร่วมเกิดความรู้ความเข้าใจในข้อมูลเนื้อหาประเด็นด้านป่าไม้ รวมถึงความรู้และทักษะการสร้างผลงานสื่อจากผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้เกิดกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานสื่อสารอย่างรอบด้านต่อสังคมเชิงลึกในประเด็นด้านป่าไม้ เพื่อนำเสนอมุมมองและเสียงสะท้อนของภาคส่วนต่างๆ ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารคดีเชิงข่าว เรื่องเล่าผ่านบทความและวิดีโอสารคดีที่เกิดจากมุมมองสื่อมวลชนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
ชุดสื่อภายใต้กิจกรรม Young Forestry Journalist 2019 นี้ มีกำหนดการเผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป รวมทั้งจะรวบรวมผลงานทั้งหมดไปจัดนิทรรศการและนำเสนอมุมมองสื่อมวลชนคนรุ่นใหม่ในเวที V4MF Thailand ในเดือนธันวาคมนี้ด้วย
*ติดตามผลงาน YFJ2019 และประเด็นป่าไม้ที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.recoftc.org/thailand และ www.facebook.com/ศูนย์วนศาสตร์ชุมชน เพื่อคนกับป่า - ประเทศไทย