ขบวนการป่าชุมชน ชี้การบังคับใช้พรบ.ป่าชุมชนต้องยึดหลักธรรมาภิบาล เน้นสร้างรูปธรรมเชิงประจักษ์ เพื่อยกระดับให้ป่าชุมชนตอบโจทย์สังคมในอนาคต
วันที่ 22 พ.ย. 2562 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย และเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีเปิดตัวรายงานการศึกษา "30 ปี ขบวนป่าชุมชน บทเรียน และทิศทางการขับเคลื่อนสู่ทศวรรษที่ 4” และเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายและข้อเสนอแนะต่อพรบ.ป่าชุมชน เมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้ว” ณ ห้องประชุมไชน่า ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนนักกฏหมาย นักวิชาการด้านป่าไม้ ผู้ประสานงานเครือข่ายระดับภูมิภาค ภาคประชาสังคมและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมฟังรายงานการศึกษา สถานการณ์และแลกเปลี่ยนต่อพรบ.ป่าชุมชน 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พ.ย 62 นี้
“เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีเห็นชอบออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมสำหรับทุกภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฏหมายป่าไม้ต่างๆ และกำลังพัฒนาแผนแม่บทกันอยู่ ขบวนการต้องมีเป้าหมายและบทสรุปในการขับเคลื่อน พัฒนาให้ทุกป่าชุมชนมีศักยภาพและคุณภาพเท่ากัน บทเรียนและการเรียนรู้ต่างๆ ที่ผ่านมาจะช่วยให้ป่าชุมชนยกระดับคุณภาพขึ้น ป่าชุมชนเป็นคำตอบ SDG เป็นอย่างดี เป็นแหล่งทรัพยากร ความมั่งคั่ง มั่นคงและพื้นที่สีเขียวที่สำคัญมากในระดับสากลจนถึงท้องถิ่น และผลของการพูดคุยวันนี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการกำหนดแผนแม่บทป่าไม้ฉบับใหม่ที่จะมีการยกร่างกันหลังจากนี้” ผส.ดร. นิคม แหลมลัก คณบดี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ รายงานนี้มาจากงานวิจัยที่มีพื้นฐานจากชีวิตและความเป็นอยู่จริงที่เกิดขึ้น รวมถึงได้วิเคราะห์กระแสสังคม ป่าไม้ การขับเคลื่อนภาคประชาชนเชื่อมโยงกับสถานการณ์สากล ระบบที่เกิดขึ้นจากส่วนกลางไม่สอดคล้องกับท้องถิ่น อีกทั้งบทเรียนที่พบคือ ขบวนการป่าชุมชนมีภาวะติดกับดักของการเคลื่อนไหวที่มีปัจจัยจากภายนอกจนเกิดความอ่อนล้าและถอดใจ จึงแนะนำว่า ทิศทางเป้าหมายจากนี้ควรมีหลายเป้าหมาย ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และป่าชุมชนยังเป็นคำตอบของเรื่องโลกร้อนได้อย่างดีที่สุดด้วย” ดร. กฤษฏา บุญชัย ผู้เขียนรายงานนี้ จากมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ถึงแม้ว่า การออกกฏหมายป่าชุมชนนี้ยังไม่ครอบคลุม จึงไม่เกิดความจูงใจประชาชนให้ความร่วมมือ และการให้อำนาจส่วนกลางเข้าไปจัดการกำกับดูแลและบริหารป่าชุมชนค่อนข้างมากขึ้น บทบัญญัติบางประการยังมีปัญหาไม่ชัดเจน แต่ถ้ามองในแง่โอกาสนั้น ส่วนกลางให้ความเป็นมิตรกับประชาชนขึ้น สิ่งที่ทำให้หล่อเลี้ยงและยืนหยัดในการเคลื่อนไหวได้ ต้องสร้างความเป็นสถาบันในขบวนการป่าชุมชนให้มากขึ้น ปรับและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและภาคประชาสังคม รวมถึงชุมชนในเมืองให้เห็นความสำคัญและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของป่าชุมชนที่ต้องดูแลและบริหารจัดการร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
นักวิชาการป่าไม้ อาจารย์ ดร.สุรินทร์ อ้นพรม ชี้สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการหลังการประกาศใช้พรบ.ป่าชุมชน คือ ควรสร้างความเป็นธรรมาภิบาลให้เกิด โดยภาคประชาสังคมควรเข้าไปผลักดันให้กลไกการกำกับนโยบายป่าชุมชนนั้นมีส่วนร่วมและมีตัวแทนของภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างที่กฎหมายกำหนด และสร้างความรู้ใหม่ ๆ ในการจัดการป่าชุมชน เช่น การใช้เครื่องมือเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดการป่าชุมชน ที่จะช่วยทำให้เกิดข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ว่าป่าชุมชนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ในส่วนของตัวแทนป่าไม้ภาคเมือง ย้ำความสำคัญที่กฎหมายจะต้องนำไปสู่การกระจายอำนาจ และทำให้การจัดการป่าโดยชุมชนไม่จำกัดอยู่เพียงป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกรมป่าไม้ แต่ควรครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ด้วย
ขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจและอ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
รายงาน 30 ปี ขบวนการป่าชุมชน บทเรียนและทิศทางการขับเคลื่อน พร้อมดาวน์โหลดด้านล่างนี้