RECOFTC Thailand
Stories

"ความหมาย และมุมมองต่อพรบ.ป่าชุมชน” ของอาจารย์สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC)

14 April 2019
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
"ป่าชุมชน คือ คุณต้องแยกระหว่าง community forest กับ community forestry ภาษาอังกฤษมันแยกกันนะ เข้าใจไหมว่า community forest คืออะไร? คือป่าชุมชน แล้ว community forestry ล่ะ? ป่าที่ชุมชนจัดการ แล้วก็ใช้ประโยชน์แบบที่มีการควบคุมการใช้ (controlled use) คำนี้เป็นกุญแจนะ"
Talk of the Forest
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

ช่วง 2-3 เดือนนี้ แวดวงป่าไม้ได้เกิดการปรับเปลี่ยนขบวนอีกครั้ง ทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติการสำหรับคนทำงาน ทางศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ประเทศไทย จึงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงอาจารย์สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาและครูบาอาจารย์ใกล้ตัวที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) อีกทั้งเป็นปราชญ์ป่าไม้ของประเทศไทยมายาวนาน การพูดคุยแบบสบายๆ จึงเกิดขี้นในยามบ่ายฤดูร้อนของต้นเดือนเมษายน

 

ซีเอฟเน็ท:  ป่าชุมชน และพ.ร.บ. อันแรกที่อยากจะถามคือ ถ้าให้อ.ให้คำจำกัดความสั้นๆ เกี่ยวกับป่าชุมชน 3 คำ อาจารย์จะนึกถึงคำว่าอะไร บ้าง?

อาจารย์: ป่าชุมชน คือ คุณต้องแยกระหว่าง community forest กับ community forestry ภาษาอังกฤษมันแยกกันนะ เข้าใจไหมว่า community forest คืออะไร? คือป่าชุมชน แล้ว community forestry ล่ะ? ป่าที่ชุมชนจัดการ แล้วก็ใช้ประโยชน์แบบที่มีการควบคุมการใช้ (controlled use) คำนี้เป็นกุญแจนะ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเข้าไปที่ไหน มีป่าแล้วชาวบ้านไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีการควบคุมการใช้ คุณจะเรียกไหมว่า ป่าชุมชน

 

ซีเอฟเน็ท: อาจารย์มีคีย์เวิร์ดคำเดียวเลยคือต้องมี controlled use (การควบคุมการใช้)

อาจารย์: มี controlled use (การควบคุมการใช้) และต้องมีประโยชน์กับชาวบ้าน

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

ซีเอฟเน็ท: ถ้าให้พูดถึง พ.ร.บ.ป่าชุมชนล่ะคะอาจารย์ ที่สนช.ผ่านร่างมาแล้วและกำลังจะประกาศใช้ อาจารย์มองว่าจะส่งผลอย่างไรกับคนที่เกี่ยวข้องบ้างคะ ทั้งคนในพื้นที่ คนที่ทำงานภาครัฐ หรืออย่างเอกชน หรือว่าสังคม จะส่งผลอย่างไรกับคนที่เกี่ยวข้อง

อาจารย์: สิ่งหนึ่งที่เราพบ คือการทำป่าชุมชนเนี่ยประชาชนเป็นหูเป็นตาให้กับป่า เพราะว่าทุกวันนี้ป่าไม้ขาดคนเป็นหูเป็นตา ไม่มีคนคอยดูแล ถ้าคุณติดตามเรื่องไม้พะยูงในประเทศไทย การลักลอบตัดไม้พะยูงส่วนมากจะมีข่าวในพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่อุทยาน พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเข้มงวดในสายตาการจัดการป่าในประเทศไทย แต่ไม่วายเว้นที่มีการตัดไม้พะยูงมากที่สุด ทำไมล่ะ? ผมคิดว่าไม่มีคนเป็นหูเป็นตาให้ ยิ่งเป็นป่าผืนใหญ่ยิ่งลำบาก เสือดำ เสือดาวถูกล่าไป ใครล่ะ คุณคิดดูสิ เดี๋ยวนี้โลกในวันนี้ คนที่เข้ามาลักลอบทำอาชญากรรมทางป่าไม้ มักจะเป็นคนร่ำรวย ไม่มีคนที่ชาวบ้านเป็นหูเป็นตา แล้วก็ที่บอกว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนนะ เปล่า! อย่าโยนนะ อย่าโยนว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน พวกอ้างนั่นแหละกินเงินเดือน จะมาบอกว่าเป็นหน้าที่ของฉันได้ยังไง ใช่ไหม? ฉันจ้างเธอด้วยภาษี ใช่ไหม? เรื่องอะไรจะมาโยนให้ ไม่ใช่เป็น พูดกันได้ง่ายๆ ที่ไหน เพราะฉะนั้นเอาล่ะ กลับมาสู่การเป็นประโยชน์ของการป่าชุมชน ต้องมีประชาชนเป็นหูเป็นตาให้

 

ซีเอฟเน็ท: ถ้าเกิดเป็นเรื่องพ.ร.บ.ป่าชุมชน

อาจารย์: อันที่ 1 เรื่อง whole management (การจัดการองค์รวม) นั้นไม่มี

 

ซีเอฟเน็ท: ไม่มีในพ.ร.บ.ฉบับนี้?

อาจารย์: ไม่มี เรื่องพ.ร.บ.นี้โบราณ เอาเรื่องฉบับเก่ามา 20 ปีมาพูดแต่เรื่องกรรมการชุดต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไปไกลกว่านั้น แทบไม่มีความหวังเลยภาครัฐ ที่จะอนุรักษ์ แต่หลังจากชาวบ้านทำป่าชุมชน เขาทำประมงชุมชน เขาทำยังไงรู้ไหม ประกาศพื้นที่เป็นพื้นที่ห้ามล่าห้ามจับสัตว์น้ำ หมู่บ้านนู้นพันไร่ หมู่บ้านนี้พันไร่ ทั้งทะเลสาบสงขลาจนตอนนี้มีอยู่สองแสนกว่าไร่ ใหญ่มาก ภาครัฐทำได้ไหม ป่าไม้ทำได้ไหมที่มีเงินซื้อแล้วให้ชาวบ้านทำ เขาไม่ทำหรอก นี่คือวิวัฒนาการของป่าชุมชน จากที่ป่าผืนใดผืนหนึ่งไปสู่ landscape ที่ใหญ่ขึ้น พูดง่ายๆ ว่ามีการจัดการพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ไม่ได้จัดการแต่เฉพาะบริเวณผืนป่า รักษาแม่น้ำลำคลอง รักษาทะเลสาบ มันไปไกลกว่าพ.ร.บ.ป่าชุมชนไหม?    การจัดการ ไม่ใช่การต้องมาจัดการแบบเดี่ยว นะ เป็นเครือข่ายคนต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำ ผมว่าคนร่างพ.ร.บ.เนี่ยหูตาไม่กว้าง ไม่รู้ว่าป่าชุมชนมีการขับเคลื่อนมากว่า 30 ปีที่ผ่านมา มันไม่ได้อยู่ตรงเดิม แต่พ.ร.บ.นี้ยังพูดถึงป่าชุมชนไม่เกิน 500 ไร่ ไม่เกิน 900 ไร่ แล้วการจัดการที่เขาเรียกว่า 'จากภูผาสู่มหานที' เธอมีการรองรับอย่างไรล่ะ? ความคิดมันผิดกันไกลกับการจัดการชาวบ้าน

“เมื่อก่อนนี่เรามุ่งสร้าง awareness (การตระหนักรู้) แต่เฉพาะแปลงที่ใดที่หนึ่ง ปลูกต้นไม้มันไม่พอ ต้องนึกไปถึง landscape คือบริเวณที่กว้างใหญ่กว่าเดิมและมีหลายระบบนิเวศอยู่ เพราะนี่คือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ไม่ได้กินแต่ข้าวในนาอย่างเดียว 
เขารู้ว่าเมื่อไหร่ต้นน้ำมันแห้งมันก็จะกระทบถึงนา กระทบถึงในป่าที่น้ำขังอยู่ข้างล่างคุณเห็นรึยังว่าชาวบ้านเขาก้าวหน้าหลาย สิบช่วงตัวถ้าเป็นม้าแข่ง ก็วิ่งไปไกลกว่าการจัดการของภาครัฐแล้ว” 

 

ซีเอฟเน็ท:  ก็น่าจะได้ แต่คนร่างก็ดูน่าจะรู้แต่ว่าพอร่างออกมาแล้วมันไม่ได้ครอบคลุม landscape

อาจารย์: คือมันมี influence (การจูงใจ) มากพอที่จะมองภาพพวกนี้ ถ้าในเรื่องของความเป็นจริง ก่อนไป ก่อนจะร่าง เธอไปดูป่าชุมชนที่เจ๋งที่สุดของประเทศไทย ที่ modern (ทันสมัย) ที่สุด แล้วเธอกลับมาร่างกฎหมายสนับสนุนไปทางนั้น ต้องสร้างศักยภาพให้ประชาชน เดินไปทางสายนั้น ไม่ใช่ว่าเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.นี้เพื่อมาควบคุม ขึ้นต้นพ.ร.บ.มาก็ควบคุมแล้ว เดี๋ยววันหลังถ้ามีโอกาสจะถล่มให้ดู (หัวเราะ) คือมันล้าหลังไป 30 ปีน่ะ it’s too late (มันสายไปแล้ว!) ประชาชนไม่ตื่นเต้นอะไรเลย แล้วที่เชยที่สุดผมว่ากลับไปใช้คำนิยามเดิมๆ

 

ซีเอฟเน็ท:  ถ้าให้อาจารย์เสนอแนะ หรือว่าให้อาจารย์บอกมุมมองในอนาคตของป่าชุมชนประเทศไทย หลังจากที่เราได้ขยับกันอีกครั้งคือครั้งนี้เนี่ย อาจารย์คิดว่ามันจะเป็นยังไงคะ อนาคตของป่าชุมชนประเทศไทย

อาจารย์: คือผมว่าต่อไปนี้คนจะลดลง คนที่อยู่ในชนบทจะลดลงไปเยอะ ถ้าเรายังเป็นยังอยู่อย่างนี้ คนจะเข้ากรุงเข้าเมืองใหญ่ มันเป็นแนวโน้มที่มีการทำนายว่าอีก 40 – 50 ปี คนทุกประเทศจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองกันมากขึ้น เป็น movement (การเคลื่อนไหว) ของโลกที่สำคัญ เพราะฉะนั้น คนจะละทิ้งชนบท ก็กระทบเหมือนกัน แล้วที่เกษตรกรรมก็คงจะกลายเป็นของกลุ่มทุน อาจจะไม่ใช่เป็นไทย แต่อาจจะเป็นกลุ่มทุนต่างชาติ เดี๋ยวนี้ก็มีอย่างจีนมาเช่าที่ดินที่เชียงของปลูกกล้วย 700 ไร่ 1,000 ไร่ส่งขายกลับไปเมืองจีน ประเทศจอร์แดนเช่าที่ป่าชายเลนที่ทางใต้ทำนากุ้งส่งจอร์แดน เพราะฉะนั้นผมไม่รู้ว่าคนบริหารประเทศนี้เขาบริหารเพื่อคนไทยรึเปล่า บริหารเป็นครัวโลกแต่เอาขยะมาทิ้งในบ้านเรารึเปล่า ครัวนี่มันสกปรกจะตาย เพราะฉะนั้นนี่ผมไม่อยากให้ใช้คำว่าครัวโลก อยากจะพูดถึงทรัพยากรทางอาหารนี่ยังดีกว่า พูดถึง food resources (ทรัพยากรด้านอาหาร) นี่ยังดีกว่า นี่ไม่ใช่จะอร่อยเดี๋ยวนี้นะ พูดก็พูดเถอะ ผมอยากกินอาหารญี่ปุ่นมากกว่าอีก

 

ซีเอฟเน็ท: อนาคตอาจจะไม่มีคนรุ่นถัดไปใช่ไหมคะ ที่จะทำป่าชุมชน?

อาจารย์: น้อยลงๆ ก็คือว่า แต่มันกระทบอย่างไร ผมไปญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้วปัญหาที่พบทุกหมู่บ้านก็คือเขาไม่มีเด็ก หรือคนรุ่นใหม่มาทำต่อ พอคนไม่ทำนาเนี่ยความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เอาตัวอย่างอย่างนก 2/3 ของประเทศไทยนี่เป็น farmland birds เป็นนกที่อาศัยนาข้าว ทั้งนาข้าวน้ำฝนเป็นนาที่อยู่บนโคกบนควนเนี่ย นาข้าวไร่เนี่ยเป็นที่โปรดปรานของนกมากเลย ที่ชาวบ้านเขาเผาฟาง

cr. ภาพโดย Natthaphon Singtuan
Photo Credit: Natthaphon Singtuan

ซีเอฟเน็ท: ชุมชนเขาควรจะตั้งรับหรือว่าเตรียมตัวอย่างไรกับพ.ร.บ.อันนี้ที่ออกมา

อาจารย์: ผมไม่แน่ใจว่าเขา มีอยู่ทางเดียวที่จะให้เขามา … คือบีบ ภาครัฐเป็นคนบีบให้ชาวบ้านมาขึ้นทะเบียน ถ้าเขาไม่มาขึ้นหรือมาจัดการแบบเดิมจะทำยังไง ทำได้ไหม? ที่เขาทำมาตั้ง 30 ปี คุณจะจัดการพวกนี้ยังไง หรือต้องไปขอใหม่ไปขึ้นทะเบียน?

 

ซีเอฟเน็ท: เท่าที่ทราบคือถ้ายังมีทะเบียนอยู่กับกรมป่าไม้ก็ยังนับรวมไปด้วย

อาจารย์: แล้วทะเบียนนั้นกี่ไร่ล่ะ แล้วที่ฝากอีก 20,000 ไร่นั้นนับรวมด้วยรึเปล่า?

 

ซีเอฟเน็ท: ก็ต้องไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์อีก

อาจารย์: ผมไม่รู้ ผมไม่ใช่ป่าไม้ที่จะไปตอบอันนี้นะ พูดง่ายๆ ว่าก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร แต่ถ้าเป็นใจผม ผมคิดว่าเรื่องทั้งหมดตอบนโยบายของรัฐบาล ความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน การสร้างความมั่งคั่ง ไม่ใช่การสร้างความร่ำรวยนะ wealth ความมั่งคั่งหรือ wealth นี่มันมีอยู่ 5 ทุนในการสร้างความมั่งคั่งของมนุษย์ อันแรกคือ ทุนทางธรรมชาติ (natural capital) ก็คือป่า ก็คือแม่น้ำลำคลองที่มีปลา ซึ่งเป็นรายได้หากมีการจัดการที่ดี ป่าชุมชนก็เหมือนกันถ้ามีการจัดการที่ดีก็เป็นรายได้ อันที่สองคือ ทุนทางด้านสังคม ทุนทางด้านวัฒนธรรม (cultural capital) คือการช่วยเหลือกันในสังคม มีความร่วมมือร่วมใจกัน มีการลงแขกกัน ช่วยเหลือกัน อันที่สาม ทุนทางกายภาพ (physical capital) คือสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างเช่น ที่จังหวัดพะเยา ไปช่วยเขาเรื่องเครื่องจักสานไม้ไผ่ แถวนั้นเขาสานเข็งส่งขายเมืองจีน ไม่พอขาย ทำขายไม่ทัน ในป่าชุมชนเขาเป็นป่าไผ่ที่เขาปลูกไว้ทั่วหมู่บ้าน เขาปลูกไผ่มากที่สุดที่ผมเคยเห็นในประเทศไทย เพียงแต่มีเครื่องจักตอกไม้ไผ่ ทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วกรมต่าง ๆ ก็เข้าไปชื่นชมกัน มีถนนหน่อย มีมอเตอร์ไซค์ เอาพริกกะเหรี่ยงไปขายได้ อันที่สี่คือทุนทางการเงิน (financial capital) มีกองทุนหมู่บ้าน สร้างอะไรนิดหน่อยให้เขาสร้างแบรนด์ของตัวเอง และสุดท้ายคือ human capital เมื่อก่อนสร้างชาวบ้านให้ทำป่าชุมชน แต่ยุคนี้เขาถือว่าเขารู้ เราต้องไปเรียนรู้จากเขา คุณต้องสร้างศักยภาพ อย่างการตลาดให้เขาทำเป็น เมื่อก่อนรีคอฟก็มีการอบรมเรื่อง marketing of forest products (การตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากป่า )