RECOFTC Thailand
Stories

ทรัพยากรสำหรับการจัดการป่าชุมชน

12 June 2019
รศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เนื่องจากได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว โดยออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 นับว่าสิ้นสุดการรอคอยอย่างยาวนานราว 30 ปี นับแต่ได้เริ่มมีการจุดประเด็นให้มีการออกกฎหมายป่าชุมชนเป็นครั้งแรก
In Focus
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
ทรัพยากรสำหรับจัดการป่าชุมชน โดยรศ.ดร.ดุสิต เวชกิจ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

อย่างไรก็ตามในการจัดการป่าชุมชนให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็ได้มีการศึกษากันอยู่อย่างกว้างขวาง ควรที่จะได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง เพื่อหาข้อสรุปและเสนอแนะตามความเหมาะสม สำหรับปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ “ทรัพยากร” ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานจัดการป่าชุมชน โดยสามารถจำแนกได้ 5 ประเภท ดังนี้

  1. ที่ดิน ในด้านความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินอันมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้คงไม่เป็นปัญหาใหญ่ของการดำเนินงาน เนื่องจากดินในประเทศไทยโดยมากมักมีความเหมาะสมอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว กับทั้งสามารถปรับปรุงให้มีคุณภาพดีได้ เพียงแต่สิทธิในที่ดินที่ดำเนินการป่าชุมชนเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันมานาน ในกรณีที่เป็นที่ดินของชุมชนที่ใช้ร่วมกันอยู่แล้วเช่นที่สาธารณประโยชน์ที่ดินในเขตโรงเรียนและศาสนสถานนั้นย่อมมีข้อจำกัดน้อยกว่าการขอสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐประเภทอื่น ทั้งนี้ที่ดินป่าได้ที่อยู่ในและนอกเขตอนุรักษ์ และที่ดินของหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่ต้องมีการขออนุญาตตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้หากเป็นที่เอกชนที่ยกให้ชุมชนดำเนินการป่าชุมชนน่าจะได้พิจารณากันให้มากขึ้น
  2. แรงงาน ตามหลักการแล้วบุคคลในชุมชนเป็นแรงงานที่สำคัญที่สุดที่ต้องให้ความร่วมมือกันในการดำเนินงานป่าชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบคณะกรรมการ เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากป่าชุมชนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอยู่แล้ว อาจมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ความจำเป็นตามเหตุผลของแต่ละบุคคล ผู้ที่สำคัญที่สุดก็คือบรรดาเหล่าผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ หากตระหนักถึงความสำคัญและเป็นผู้กระตุ้นให้มีการดำเนินงาน มักก่อให้เกิดความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนตามมา รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจมีขึ้นโดยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอีกด้วย ทั้งนี้ควรมีการกำหนดหน้าที่ดำเนินงานให้แต่ละคนตามศักยภาพกับทั้งจัดสรรผลประโยชน์ที่มีอย่างเป็นธรรม
  3. ทุน ในที่นี้มีความหมายรวมถึงงบประมาณ และเครื่องมือตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานจัดการป่าชุมชน เท่าที่ผ่านมาแต่ละชุมชนมักรับผิดชอบกันเองอยู่แล้วในด้านการใช้ทุนดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องมือทางการเกษตรที่มี เช่น มีด จอบ เสียม ซึ่งใช้ประกอบอาชีพแต่อย่างไรก็ตามการดำเนินงานบางด้านก็มีความจำเป็นที่ต้องมีงบประมาณเกี่ยวข้องเช่น การเพาะชำกล้าไม้การลาดตระเวน การป้องกันไฟป่า การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม ทั้งนี้หลายแห่งได้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาโดยตรง ทำให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยอาจมีการหารายได้จากการจัดกิจกรรม รวมทั้งการสนับสนุนของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
  4. วิชาการ/เทคโนโลยี ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าชุมชนที่สำคัญคือ ด้านวิชาการป่าไม้ที่มีผลต่อการจัดการป่าชุมชนโดยตรง แม้ว่าชุมชนเองมีภูมิปัญญาท้องถิ่นทางการป่าไม้เกษตรและด้านอื่น ๆ อยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่อาจไม่ครอบคลุมจำเป็นต้องได้รับรู้เพิ่มเติมจากการอบรมหรือศึกษาดูงานเพื่อนำมาประยุกต์ให้ได้เหมาะสม นอกจากนี้แล้วความรู้ทางด้านการจัดการองค์กรและแผนงานต่าง ๆ ตลอดจนการบริหารงบประมาณก็มีความจำเป็น ซึ่งจะมีผลด้านความเข้มแข็งของกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือกับชุมชนข้างเคียงและชุมชนอื่นในระดับต่าง ๆ ที่อาจเชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ
  5. วัฒนธรรม หลักเกณฑ์ในการประพฤติที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาในสังคมทั้งในด้านธรรมเนียมประเพณี จารีตต่าง ๆ ก็มีผลอย่างยิ่งคือการจัดการป่าชุมชน โดยอาจมีผลโดยตรง หรือมีผลทางอ้อม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดกิจกรรมการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่มี กิจกรรมที่มีความขัดแย้งกับวัฒนธรรมของชุมชนมักส่งผลให้การดำเนินงานจัดการป่าชุมชุนไม่ราบรื่นกันทั้งอาจมีปัญหาอุปสรรคในด้านอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ประกอบการดำเนินงานอยู่เสมอเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

บทเรียนจากการจัดการป่าชุมชนในชุมชนที่ประสบผลสำเร็จ มักมีองค์ประกอบของทรัพยากรทั้ง 5 ประเภทข้างต้นอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ป่าชุมชนบางแห่งอาจขาดศักยภาพบางด้านก็จำเป็นต้องมีการระดมทรัพยากรตามความเหมาะสม โดยการสร้างความร่วมมือกับชุมชนข้างเคียง หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต่อไป