ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) จัดเวทีพูดคุยผู้นำชุมชน ต่อยอดพัฒนาแนวทางธรรมาภิบาลป่าไม้และธุรกิจป่าไม้รายย่อยร่วมกัน
เมื่อวันที่ 6-8 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น อ.สันติสุข ฝ่ายบริหารส่วนท้องถิ่น ตำบลพงษ์ ป่าแลวหลวง ดู่พงษ์ อ.สันติสุข กลุ่มธนาคารต้นไม้ และเครือข่ายที่ดิน อ.สันติสุข จ.น่าน ได้เข้าร่วมเวทีพูดคุยระดับผู้นำชุมชน ซึ่งได้นำเสนอรายละเอียดโครงการและรับฟังสถานการณ์เกียวกับการปัญหาด้านการจัดการไม้ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ความคาดหวังของชุมชนและฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการบริหารจัดการทรัพยากรด้านป่าไม้ โดยการจัดทำโครงการในพื้นที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างชุมชนกับเอกชนในการฟื้นฟูป่า เพิ่มผลผลิตจากป่าและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่แนวทางการฟื้นฟูการลดผลกระทบและปรับตัวจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ยังพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มั่นคงและยั่งยืน
จากการลงสำรวจพื้นที่เบื้องต้น พบว่า ไม้สักเป็นหนึ่งในทรัพยากรสำคัญในพื้นที่ อ. สันติสุข แต่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบ และเข้าสู่กระบวนการค้าที่เป็นธรรม กระบวนการเฟล็กที - วีพีเอ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะเอื้อให้เกิดธรรมมาภิบาลในการค้าไม้ พร้อมสนับสนุนชุมชนให้เกิดการบริหารจัดการไม้สัก ให้มีคุณภาพมากขึ้น
" สถานการณ์เกี่ยวกับระบบห่วงโซ่อุปทานไม้สักว่า มีการปลูกสักในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และมีไม้สักพร้อมขาย ส่วนใหญ่ การดำเนินการจะผ่านพ่อค้าคนกลางที่คอยเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ แต่ชาวบ้านต้องยอมรับในเรื่องของราคาและระบบราคาแบบเหมาสวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "
อีกทั้ง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนำมาสู่ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า เป็นวิกฤตการณ์ของโลกที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันผลกระทบและภัยพิบัติที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกักเก็บคาร์บอนภาคป่าไม้ถือเป็นส่วนสำคัญในการชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ จึงเกิดโครงการด้านการฟื้นฟูป่าเป็นจำนวนมากโดยเน้นการเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน แต่ความพยายามในการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ที่ผ่านมานั้น มุ่งไปที่การอนุรักษ์มากกว่าการประกันรายได้และความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ โครงการจึงมีเป้าหมายการพัฒนามาตรการเพื่อการบรรเทาและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนั้น ภาคีภาคธุรกิจท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินงานโครงการ ดังนั้นกระบวนการแนวทางปฏิบัติใหม่ที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูจึงเป็นหลักสำคัญเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ ทั้งยังเกิดการปรับตัวและลดผลกระทบภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับชุมชนท้องถิ่นเป็นกระบวนการสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมด้านการฟื้นฟูภูมิทัศน์ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากการสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อไม้ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าระดับอุตสาหกรรม การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ยังเน้นไปที่การลดลงการบุกรุกทำลายป่า และ เพิ่มผลผลิตจากทรัพยากรด้านป่าไม้ ผ่านกิจกรรมการฟื้นฟู เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเพิ่มประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ