สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและประชาสังคมจ.เชียงราย มีมติเห็นชอบร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงานฯเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.เชียงราย ตัวแทนจาก 30 หน่วยงาน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการขอขึ้นทะเบียนลุ่มแม่น้ำอิงและแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการการดำเนินงานในลุ่มน้ำอิง ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานทสจ.เชียงราย สผ. โครงการอนุรักษ์แม่น้ำอิง รีคอฟ สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง
เนื่องด้วยคำสั่งจังหวัดเชียงราย เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงรายในวันที่ 17 ตุลาคม 2558 ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นเลขานุการและกรรมการของชุดนี้ ร่วมกับสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงและคณะทำงานในพื้นที่ ได้เห็นชอบให้มีการประชุมคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงรายขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เกิดการหารือร่วมในการพิจารณาแนวทางขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลพื้นฐานของลุ่มน้ำอิง และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีมติจากชุมชนเพื่อขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ(Ramsar) จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ ป่าชุ่มน้ำบ้านทุ่งงิ้ว บ้านม่วงชุม บ้านบุญเรือง บ้านงามเมือง และบ้านป่าบง อีกทั้ง ยังมีการนำเสนอข้อมูลหลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ(Ramsar) และข้อมูลของพื้นที่ลุ่มน้ำอิงที่เข้าหลักเกณฑ์ และมีวาระให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณา โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่วมกัน 3 ข้อ ได้แก่:
- ปรับปรุงคำสั่ง เพิ่มเติม คณะกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงรายโดยเพิ่มสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและสัดส่วนภาคประชาสังคมและปรับปรุงเพิ่มเติม เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ บทบาทที่ชัดเจน เหมาะสม และเป็นปัจจุบัน
- แต่งตั้งอนุกรรมการ ด้านการพัฒนายุทธศาสตร์และแผนงานการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัด
- แต่งตั้งคณะทำงานการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงตอนล่างในการศึกษารวบรวมข้อมูลและกระบวนการประชาพิจารณ์โดยให้ตัวแทนภาคประชาสังคมลุ่มน้ำอิงเป็นผู้ช่วยเลขา
อนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar) เป็นชื่อเรียกตามสถานที่ในการจัดประชุมเพื่อรับรองอนุสัญญาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2511 ณ เมืองแรมชาร์ ประเทศอิหร่าน เป็นข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาล 165 ประเทศ โดยมีประเทศไทยร่วมเป็นภาคีอันดับที่ 110 เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก ซึ่งจะต้องมีการจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและชาญฉลาด
หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งตามมติที่ประชุม จะเริ่มดำเนินงานในเนื้อหาและรายละเอียดที่รับผิดชอบต่อไป