"ฮักอิง พิงโขง เชื่อมโยงแบ่งบัน"
"ฮักอิง พิงโขง เชื่อมโยงแบ่งบัน" คือคำที่นักพัฒนารุ่นใหญ่ที่ถือเอาทรัพยากร ดิน น้ำป่า ฝังลึกอยู่ในลมหายใจเข้า-ออกมาค่อนชีวิต พี่แม็ค ระวี ถาวร เคยกล่าวไว้ เป็นคำคล้ายดังสโลแกน ที่ฟังดูแล้วรู้สึกถึงความสัมพันธ์ของแม่น้ำสองสาย แม่น้ำอิง-แม่น้ำโขง ต่างคือลุ่มน้ำที่เป็นเหมือนพี่น้องกัน ถึงจะต่างขนาดของลำน้ำหากแต่คือการพึ่งพาอาศัยระหว่างกันของธรรมชาติ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงด้วยระบบนิเวศ ต่างทำหน้าที่ร่วมกันคือเป็นผู้ให้
ผ่านพ้นพฤษภาคม ร่ำลาอากาศร้อนอบอ้าวดังดวงอาทิตย์จะแตกดับ สู่มิถุนาหน้าฝน ที่ปีนี้วนมาเร็วกว่าทุกปี ชุ่มจนฉ่ำบางพื้นที่กระหน่ำซะจนท่วม เริ่มตั้งแต่ตั้นเดือนมิถุนา เลยมาจนถึงปลายกรกฏาคม 60 ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด พี่น้องในหลายชุมชนในลุ่มน้ำอิง หลายคนหว่านข้าวขาดทุนมาหลายรอบแล้ว หว่านแล่วท่วม หว่านแล้วท่วม ซ้ำๆ แต่ก็ต้องทำเพราะมันคืออาชีพ ฝนฟ้าทุกวันนี้คาดคะเนอะไรไม่ได้เลย นี่สินะที่เรียกว่า Climate change คงได้แต่เตือนกัน “ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ชาวนา ชาวสวน ตั้งสติให้ดีแล้วปรับแผนไปตามภาวะอากาศที่แปรปรวน “ ด้วยปีนี้เชียงราย พะเยา ฝน หนักและยาวนาน
ฤดูฝนวนมา ฤดูกาลหาปลาก็เริ่มขึ้นอย่างคึกคัก จากต้นน้ำกว๊านพะเยา ไหลรัดเลาะเส้นทางกว่า260 กม.สู่ปากแม่น้ำอิง สบกับแม่น้ำโขงที่บ้านปากอิงใต้ อ.เชียงของ ในชุมชนสองฟากฝั่งที่แม่น้ำอิงไหลผ่าน จะเกิดปรากฏการณ์ปลาแตกวัง ที่เกิดจากน้ำมาปลาว่ายทวนกระแสเพื่อไปวางไข่และเปลี่ยนที่อยู่ ปริมาณปลายังคงอุดมสมบูรณ์หากแต่ชนิดพันธุ์ลดลงเนื่องเพราะปลาจากแม่น้ำโขงบางชนิดไม่สามารถอพยพขึ้นมาในแม่น้ำอิงตอนบนได้ด้วยมีประตูน้ำขวางกั้นกว่า 18 บานทำให้การเดินทางดูยากลำบากเหลือเกิน ขณะที่ปริมาณปลาเพิ่มขึ้นด้วยเกิดจากการจัดการของชุมชน ที่ร่วมกันจัดทำเขตอนุรักษ์พันธ์ปลาขึ้น ที่เรียกกันว่าวังสงวนในแม่น้ำอิงและแม่น้ำสาขา กว่า 64 ชุมชน ตลอดความยาวแม่น้ำอิง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในฤดูฝนของทุกปีผลของการดูแลจัดการ ได้แสดงหลักฐานตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ที่ทำให้ชุมชนต่างให้ความสำคัญกับการจัดการวังอนุรักษ์ เพื่อเป็นพื้นที่หลบภัย ซ่อนตัว วางไข่ขยายพันธุ์ เมื่อถึงเวลาก็เดินทางในฤดูน้ำหลาก ให้พี่น้องคนลุ่มน้ำอิงได้หาอยู่ หากิน หาขาย กันถ้วนหน้าในทุกชมชน คือความยั่งยืน คือการอนุรักษ์ที่กินได้จริงๆ
แม่อิง-แม่โขง ไหลโยงเชื่อมกัน เกิดการผสมผสานกลายเป็น 2 สี ที่บ้านปากอิงใต้ อ.เชียงของคือปากแม่น้ำที่มีความสำคัญทั้งเป็นพื้นที่แรกที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง คือที่สุดท้ายที่แม่น้ำอิงสิ้นสุด จึงเป็นบ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลา ชุมชน 2 สายน้ำ หลายสิบปีก่อน ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหาปลาอย่างเดียว ทั้งในน้ำโขง ในน้ำอิง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ต้องทำมาหากินอย่างอื่นเลย หากันวันยันรุ่งอีกวัน ปลามันเยอะมากจริงๆ คำกล่าวของผู้ใหญ่บ้านท้าวความให้ฟัง กรกฏาคม ปีนี้ 60 พราณปลากว่า 40 คน ที่หาอยู่หากินในพื้นที่ปากอิง นับจากจำนวนเรือของคนหาปลากว่า40 ลำ มาจาก3 หมู่บ้านของต.ศรีดอนชัย การหาปลาของพราณปลาที่นี่มีการตกลงระเบียบร่วมกัน โดยการจัดคิวกัน วนกันให้ครบ คนหนึ่งจะได้ประมาณ 4 คิวต่อวัน โดยใช้อุปกรณ์คือ ตาข่าย หรือเรียกว่าเหน่ง หรือมอง เป็นตาข่ายยาวที่ขนาดก็แล้วแต่ใครจะคาดหวังปลาเล็กปลาใหญ่ เป็นการไหลตาข่ายตามทิศทางน้ำไหล ต้องใช้ความชำนาญทั้งการขับเรือที่ต้องทวนกระแสน้ำในการทรงตัวและการจับตาข่ายให้ไหลไปตามน้ำ หากันตั้งแต่เช้ามืดยันเช้าอีกวัน แล้วแต่ใครจะขยัน ปลาที่เป็นปลาขนาดใหญ่ที่จับได้ที่นี่ก็จะเป็นปลาแข้ น้ำหนักสิบกว่ากิโลกรัม ปลาเพี้ย มีตั้งแต่ 1 กก.จนถึง 10 กก. และก็ปลาอื่น ปลากด ปลาแกง ปลาชโง้หรือปลาเนื้ออ่อน แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ขอบเขตการหาปลา คนหาปลาจะเข้าใจกันดีว่าห้ามล้ำไปในเขตพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน พราณปลาทั้ง2 ฝั่งจะรู้ดี ในฝั่งลาว การหาปลาไม่เข้มงวด ยังมีการใช้ระเบิดในการหาปลา ขณะที่ฝั่งไทยมีการเข้มงวดเรื่องเครื่องมือหาปลาที่ผิดกฏหมาย หนึ่งแม่น้ำแต่หลายกติกา ทำให้วันนี้ปลาเริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ วิถีของพรานปลาของบ้านปากอิง ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ปริมาณและชนิดพันธุ์ลดลงมากขึ้นเรื่องๆ
“เมื่อก่อนกว่า30 ปีที่แล้ว หากินริมฝั่งนี่ก็ได้ปลาเป็นกระสอบแล้ว ใช้เครื่องมือพื้นบ้านที่ทำเองจากไม้ไผ่ แต่ทุกวันนี้ปลาบางชนิดก็หายไปเลย หาปลาบางคนได้ไม่ถึง สิบโล ใครได้ตัวใหญ่ก็ถือว่าโชคดี ยิ่งฤดูอื่นๆที่ไม่มีน้ำปลาในน้ำโขงแทบหาไม่ได้เลย" ผู้เฒ่าวัย 70 ที่นั่งเฝ้ามองลูกหลานผลัดเปลี่ยนคิวกันไหลตาข่ายในน้ำโขงเล่าให้ฟัง
กลุ่มผู้ชายที่เป็นพ่อบ้าน ทำหน้าที่เป็นพราณปลา ส่วนผู้หญิงเป็นแม่ค้า ที่คอยร้องถามลูกค้าที่แวะเวียนมาท่าปลาของหมู่บ้านแต่ละวันไม่ขายสาย ปลาที่นิยมกันมากคือปลาเพี้ย เอาไปลาบ เอาไปซ่า “ไผบ่ได่กิ๋นลาบปลาเพี้ยน้ำของอย่าพึ่งตายเด้อ “พ่อหลวงวันบ้านปากอิง พูดแล้วหัวเราะไปด้วย ขึ้นชื่อเมนูลาบ คือปลาเพี้ย เป็นที่นิยมกันทุกภาค การขึ้นลงของน้ำ และช่วงเวลาการหาปลาแต่ละปีเริ่มเปลี่ยนไป พราณปลาจะรู้ว่าช่วงไหนปลาจะเริ่มมา โดยสังเกตุจากปริมาณและความเร็ว แรงของน้ำ ที่ปากน้ำอิง น้ำโขงสบกัน ปลาในแม่น้ำโขงจะว่ายทวนน้ำ เข้าสู่น้ำอิงที่ปากแม่น้ำอิง บางวันก้ไหลเป็นน้ำวน วันนั้นจะหาปลาไม่ได้ พราณปลาจะรู้ดี ด้วยประสบการณ์สั่งสมเป็นองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น นี่คือวิถีของคนหาปลาลุ่มน้ำอิง-โขง ที่ยังคงยืนหยัดในวิถีแห่งคนลูกแม่น้ำ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน วันนี้น้ำอิง น้ำโขง ต่างกำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากนโยบายการพัฒนาที่ต้องแลกกับวิถีชีวิตคนท้องถิ่น องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตลอดหลายชั่วอายุคน อาจจะเหลือเพียงบทเรียนที่เอาไว้เล่าให้คนรุ่นหลังฟัง การพัฒนาที่ยังหาประโยชน์ในภาพรวมไม่ได้ แต่ชีวิตผู้คนลุ่มน้ำก็ยังคงต้องอยู่บ้าน...หยัดยืนปกป้องเท่าที่ยังหายใจ...