การศึกษาดูงานความร่วมมือด้านการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันที่ 20 มีนาคม 2555 : เกษตรกรในประเทศไทยกำลังมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันมากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจึงมีบทเรียนที่มีค่ามากมายในระดับชุมชนท้องถิ่น โครงการการศึกษาดูงานโครงการใหม่ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ RECOFTC จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้พานักศึกษาปริญญาโทด้านปรัชญา จากสถาบันการจัดการป่าไม้ประเทศ อินเดีย ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดตราดและน่าน เพื่อเรียนรู้โดยตรงจากชุมชน เกี่ยวกับวิธีการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้เข้าร่วมดูงานได้รับความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของชุมชน จากการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญ ได้พบและประชุมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในระดับอำเภอและระดับหมู่บ้าน ได้เดินเท้าเข้าศึกษาแปลงปลูกข้าวแบบขั้นบันไดบนที่สูง ศึกษาป่าชุมชนและอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เพื่อศึกษาสังเกตกิจกรรมและวิธีการปรับตัวของชุมชนที่กำลังดำเนินการอยู่
สถานที่แรกคือ บ้านเปร็ดในที่ตั้งอยู่ในจังหวัดตราด ในบริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ได้เข้าศึกษาการปฏิบัติการของชุมชน การดูแลรักษาพื้นที่ป่าชายเลนเกือบ 12,500 ไร่ อย่างชาญฉลาดด้วยวิธีการใหม่ๆ และการพัฒนาอาชีพสำหรับสมาชิกในชุมชน จำนวน 630 คน ถึงแม้ว่าฤดูเพาะปลูกจะเปลี่ยนแปลงไป และผลผลิตที่ได้ก็ลดลง รวมทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่ความสามารถในการปรับตัวของชุมชนนี้มีอยู่สูง สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี
คณะศึกษาดูงานเข้าเยี่ยมหน่วยงานจัดการลุ่มน้ำแหนที่จังหวัดในภาคเหนือ เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชนในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ป่าไม้ในบริเวณนี้ถูกทำลายอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นผลพวงจากการให้สัมปทานป่าไม้ในช่วงปี พ.ศ. 2522 งานเร่งด่วนของทั้งฝ่ายชุมชนท้องถิ่นและฝ่ายหน่วยงานจัดการลุ่มน้ำ คือ การฟื้นฟูป่าด้วยการเพิ่มจำนวนต้นไม้ในผืนป่า ภายใต้โครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเดนมาร์ค หน่วยงานจัดการลุ่มน้ำได้ทำงานร่วมกันกับชุมชนสร้างแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าที่กำลังควบคุมอยู่ลุกลามต่อไป จัดทำแผนที่ของพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยใช้เทคโนโลยี่ GIS และ GPS และจัดทำกิจกรรมปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จากความช่วยเหลือครั้งนี้ หน่วยงานจัดการลุ่มน้ำและชุมชนท้องถิ่นสามารถฟื้นฟูป่าในแถบลุ่มน้ำให้มีต้นไม้ปกคลุมเพิ่มขึ้นจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เป็นผืนป่าที่สามารถผลิตทรัพยากรน้ำได้มากขึ้นสำหรับชุมชนในบริเวณนั้นทั้งหมด อีกทั้งยังก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็ง
วันรุ่งขึ้นคณะดูงานได้เข้าเยี่ยมหมู่บ้านน้ำไคร้ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม ทำงานร่วมกับหน่วยจัดการต้นน้ำด้านการป้องกันไฟป่า และการควบคุมการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
ชาวบ้านเริ่มการแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยการเล่าประวัติย้อนหลังของการจัดการทรัพยากรป่าโดยชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 แต่ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรน้ำระหว่างชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำนี้ ยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนแม้วที่อาศัยอยู่ในแถบตอนบนของลุ่มน้ำ ชาวบ้านได้นำประเด็นปัญหาความขัดแย้งนี้ไปร้องเรียนกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต) ซึ่งได้ช่วยไกล่เกลี่ยให้ ชุมชนบ้าน้ำไคร้ได้เชิญชุมชนแม้วเข้าร่วมเครือข่ายป่าชุมชนในท้องถิ่น และทั้งสองชุมชนก็ได้ทำงานร่วมกันปักปันแนวเขตระหว่างหมู่บ้านทั้งสอง ปัจจุบันบ้านน้ำไคร้ใช้แนวทางการจัดการป่าชุมชนที่อนุญาตให้ชาวบ้านเก็บหาผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่อการบริโภคเท่านั้น (ไม่ใช่เพื่อการค้าขาย) และชาวบ้านที่ยากจนสามารถตัดไม้ซุงจากป่ามาใช้ได้ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ โดยยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้านก่อน
จากนั้นคณะศึกษาดูงานได้เดินทางต่อไปยังชุมชนบ้านปางยาง ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูง ชาวบ้านทำการเกษตรในรูปแบบขั้นบันได และทำกิจกรรมวนเกษตร เพื่อแก้ปัญหาด้านความแห้งแล้ง ซึ่งเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้เข้าร่วมในโครงการนำร่องที่จัดทำโดยมูลนิธิรักษ์ไทย ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไร่บนที่สูงเป็นแปลงนาข้าวแบบขั้นบันได เป็นเทคนิคทางการเกษตรที่ใช้ที่ดินน้อยลง แต่ได้ปริมาณผลผลิตเท่าเดิม เมื่อโครงการนำร่องนี้เริ่มต้นขึ้น มีผู้เข้าร่วมจำนวน 9 ครอบครัว ซึ่งได้บริจาคที่ดินส่วนเกินให้นำมาทำเป็นป่าชุมชน มูลนิธิรักษ์ไทยจึงได้ติดตามความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนของป่าชุมชนแห่งใหม่ และได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อปล่อยที่ดินว่างเปล่าให้กลับคืนสู่สภาพป่า พื้นที่เหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การเกษตรแบบขั้นบันไดเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับกิจกรรมวนเกษตร ครอบครัวที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จะปลูกต้นมะละกอกระจัดกระจายไว้ในแปลงนาข้าว นอกจากนี้ยังมีต้นพริก เห็ด และพืชผักชนิดอื่นๆ ที่ช่วยให้ภูมิทัศน์ในบริเวณนี้ดูเขียวชอุ่มไปทั่ว เป็นหนทางเพิ่มแหล่งอาหารเพื่อการยังชีพ และหนทางการประกอบอาชีพ เมื่อเห็นผลสำเร็จของครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ ในไม่ช้าก็มีครอบครัวอื่นๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมด้วย ปัจจุบันจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมทำการเกษตรแบบขั้นบันไดเพิ่มขึ้นเกือบถึง 40 ครัวเรือน จาก 56 ครัวเรือนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้ไหล่เขาในบริเวณนี้ที่ครั้งหนึ่ง ดาดไปด้วยรอยไหม้จากการเผาวัชพืชหน้าดิน กลับคืนสู่สภาพอุดมสมบูรณ์ ดั่งเช่นที่ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า “นาข้าวคือบ้านที่สองของเรา เราดูแลแปลงข้าวเหล่านี้ทุกตารางนิ้วด้วยความเอาใจใส่อย่างยิ่ง”
สถานที่สุดท้ายของการศึกษาดูงานคือ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ในจังหวัดน่าน ในช่วงปี พ.ศ.2547-2551 อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มูลนิธิรักษ์ไทยและสถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการความร่วมมือจัดการพื้นที่คุ้มครอง (Joint Management of Projected Areas,JoMPA) เพื่อพัฒนาปรับปรุงความร่วมมือระหว่างอุทยานและชุมชนให้ดีขึ้น ในโครงการนี้ทางอุทยานฯ ได้ทำงานร่วมกับชุมชนเป้าหมาย 28 ชุมชน ทำการปักปันกั้นเขตพื้นที่คุ้มครองแบบมีส่วนร่วม ทำข้อตกลงการใช้ที่ดิน จัดทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการอนุรักษ์และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โครงการฯ นี้ได้ช่วยปรับปรุงความสันพันธ์ระหว่างอุทยานแห่งชาติดอยภูคาและชุมชนให้ดีขึ้น สามารถลดความตึงเครียดและความไม่เชื่อใจระหว่างกันที่เคยมีได้ในระดับที่น่าพอใจ ปัจจุบันอุทยานฯ และชุมชนมีความร่วมมือกันมากขึ้นในการทำงานที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
นักศึกษาที่เข้าร่วมคนหนึ่งรู้สึกว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้มีคุณค่าอย่างยิ่ง ช่วยให้นักศึกษา “คิดในแง่มุมของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ริเริ่มโดยชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการป่าไม้” เธอคิดว่ามุมมองนี้ “ยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาถึงทัศนคติของท้องถิ่นและของภูมิภาคต่อการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความคาดหวังสูงที่จะให้ประเทศที่กำลังพัฒนา มีการดำเนินการในเรื่องนี้
เรียนรู้จากวัฒนธรรมและบริบทที่แตกต่าง
การดูงานในแต่ละจุด จะมีการไต่ถามและแลกเปลี่ยนพูดคุยกับชุมชนเกี่ยวกับแผนงานต่างๆ และวิธีการจัดการ ดร.โยเกซ ดูเบย์ หัวหน้าโครงการปริญญาโทสาขาปรัชญากล่าวว่า “จุดประสงค์ของเราคือ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศอื่นใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งหวังให้นักศึกษาได้เห็นและเรียนรู้ประสบการณ์ และความพยายามในด้านนี้ที่กำลังเกิดขึ้น “นอกประเทศ” ทั้งนี้เพราะการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยและประเทศอินเดียนั้นมีความแตกต่างกันมากในหลายบริบท
นักศึกษาที่มาดูงานกล่าวว่า “ในประเทศอินเดีย การทำงานร่วมกันอย่างได้ผล จะต้องมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการที่กำหนดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้ได้ผลสำเร็จ” ระหว่างการดูงานมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยพูดถึง การพูดคุยไม่เป็นทางการกับชาวบ้าน เพื่อทำความเข้าใจและให้ความยินยอมเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร นักศึกษาเหล่านั้นถึงกับอึ้งด้วยความประหลาดใจ พวกเขาบอกว่า “การจัดการอย่างไม่เป็นทางการเช่นนี้ จะไม่ได้ผลอย่างแน่นอนในประเทศอินเดีย”
ดร.โยเกซ ถามขึ้นว่า “การพูดคุยช่วยได้อย่างไร” ในประเทศอินเดีย เราต้องใช้เครื่องมือหลากหลายชนิด เริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับผู้มีอำนาจมากที่สุดในชุมชน ทำให้คนผู้นี้เชื่อ จากนั้นจึงให้เขาเป็นผู้กระจายข่าวสารให้ทั่วชุมชน
ประสบการณ์และแนวทางดำเนินงานหลากหลายที่มีอยู่ในกรณีศึกษาต่างๆ ที่ได้ไปศึกษาดูงาน ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติที่แตกต่างออกไปสำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แบบมีส่วนร่วม รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ จากการดำเนินงานของนักศึกษาในประเทศอินเดีย นักศึกษาคนหนึ่งกล่าวว่า “เราจะนำเครื่องมือต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาดูงานไปใช้ในการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในชนบทที่เราจะเข้าไปทำงานด้วย วิธีการพูดคุยกับชุมชนที่เราได้เรียนรู้จะเป็นประโยชน์กับพวกเรามาก เพราะในประเทศอินเดีย ประเด็นภาษาเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ในชุมชนที่อยู่ในแถบต่างๆ ของประเทศ” ทักษะด้านนี้มีค่ามาก เมื่อต้องทำงานกับกลุ่มชุมชนที่มีความแตดต่างหลากหลายกันของอินเดีย
โดยรวมแล้ว ผู้เข้าร่วมทั้งหลายพบว่า การศึกษาดูงานครั้งนี้ ทำให้มีความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น และได้สาระที่มีประโยชน์มาก เหนือสิ่งอื่นใด ได้ความสนุกสนาน นักศึกษาหลายคนที่ไม่เคยออกนอกประเทศอินเดียได้มาเมืองไทยเป็นครั้งแรก และได้ประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตและอาชีพของพวกเขาต่อไปในอนาคตอีกหลายปี