RECOFTC Thailand
Stories

ความพร้อมกับการปลดล็อกไม้หวงห้ามบนที่ดินส.ป.ก.

29 October 2020
รีคอฟ ประเทศไทย
“ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้” – นั้นเคยเป็นนโยบายในการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจที่อดีตรมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เคยกล่าวไว้เมื่อช่วงปี 2562 จนนำมาสู่การการปรับแก้กฎหมายมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ป่าไม้ เพื่อยกเลิกสถานะของไม้หวงห้ามในที่ดินที่ประชาชนถือครอง ซึ่งการแก้ไขมาตรา 7 นี้ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 เมษายน 2562
In Focus
Photo Cr. เฟซบุ๊คผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร
Photo cr. เฟซบุ๊ค ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร

อย่างไรก็ดีสถานะของไม้หวงห้ามนั้นยังสงวนไว้สำหรับที่ดินของรัฐที่มอบให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ เช่น ส.ป.ก. จนกว่ารัฐมนตรีจะประกาศกำหนดออกมาโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ครม.ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือ แสดงสิทธิ ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ 2562 โดยมีสาระสำคัญ กำหนดให้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ตามการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และมีหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่อาศัย โดยให้ปลูกไม้ในที่ดินดังกล่าวได้ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม จากเดิมเกษตรกรไม่สามารถทำได้ เพื่อให้ชาวบ้านปลูกไม้มีค่า และไม้เศรษฐกิจในที่ดินส.ป.ก.ได้

เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับก้าวต่อไป และรอรับการเตรียมออกเป็นคำประกาศของรมต.กระทรวงทรัยพากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) จึงได้จัดงานเสวนา เรื่อง “ปลดล็อคไม้หวงห้าม.บนที่ดินส.ป.ก. : ระบบการป้องกันการทำไม้เถื่อนควรเป็นอย่างไร” ในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

  •  ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร  คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
  • นางกันตินันท์ ผิวสอาด    ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้ 
  • คุณสรกิจ มั่นบุปผชาติ    ที่ปรึกษาทางการตลาดสำนักงานการรับรองไม้  เศรษฐกิจไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • ดร.เกริก มีมุ่งกิจ              ตัวแทนแทนเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการจัดการไม้ อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เฟล็กที
  • นายวิโรจน์ ติปิน              ตัวแทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)

ที่มาของนโยบายปลดล็อคไม้ และมาตรา 7 มีความสำคัญอย่างไร

ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร       คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และกรรมการนโนบายป่าไม้แห่งชาติได้กล่าวว่า ที่มาของการปลดล็อกนี้ย้อนไปตั้งแต่ประเด็นที่ว่าไม้หวงห้ามนั้นเป็นถูกร้องเรียนว่าเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐาน เพราะประชาชนปลูกไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน เราปลูกต้นไม้ แล้วทำไมอยู่ดี ๆ ทำไมเราต้องไปขออนุญาต จึงเป็นที่มาของการปลดล็อค มาตรา 7 อย่างไรก็ดีพอมีการปลดล็อคแล้ว ในกฎหมายทิ้งประเด็นว่า ถ้าจะปลดล็อคที่อื่น ๆ ที่ดินอื่นให้ประกาศโดยรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ ครม. ดร.ขวัญชัยกล่าวว่า ไม้สักเป็นไม้หวงห้ามอันดับ 1 ซึ่งมีเยอะที่สุดอยู่ในเขต ส.ป.ก. ดังนั้นหากต้องการปลดล็อคเพื่อส่งเสริมการปลูกป่า จึงต้องควรพิจารณาประเด็นนี้ในพื้นที่ส.ป.ก. อย่างไรก็ดีเรื่องกฎหมาย ส.ป.ก. นิยามของคำว่า “เกษตรกรรม” และขอบเขตไม้ป่าและไม้มีค่ายังไม่ชัดเจนทำให้เกิดเป็นจุดอ่อน

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย

ระบบการป้องกันไม้เถื่อนที่ไม่เป็นภาระ

“ไม้เถื่อน เป็นปัญหาใคร” ดร.ขวัญชัยตั้งคำถาม แต่ผมว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากประชาชน หากจะมีการสวมตอนั้นน่าจะมี 2 แบบ คือ สวมตอในที่ดินรัฐอย่างเดียว เช่น ป่าสงวนที่มีอยู่ แต่ตอนนี้จะเกิดการสวมประเภทหนึ่ง คือ สวมตอในที่ดินที่ได้รับอนุญาต แต่ยังไม่ปลดล็อค เช่น ที่นิคม ที่ราชพัสดุที่มีการเช่า เพราะฉะนั้น ที่ ส.ป.ก. อยู่ข้าง ๆ ที่ คทช. อาจจะมีการสวมตอจึงอาจจะเกิดความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อนบ้านมีที่ดิน ส.ป.ก. ปลดล็อคแล้ว ตัดได้ ไม่ต้องขออนุญาต แต่ข้างบ้านกัน มีที่ดินที่เรียกว่า คทช. กลับตัดไม่ได้

ดร.ขวัญชัยเสริมว่าเดิมนั้นเพราะกลัวการสวมตอ รัฐจึงออกกฎหมายมาถี่ยิบ     “ผมไม่อยากจะใช้คำว่าผลักภาระ” ดร.ขวัญชัยกล่าวว่ารัฐจึงควรทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องสวมตอ มากกว่าการผลักภาระให้ประชาชน เพราะเป็นหลักของสิทธิและอำนาจพื้นฐานทางกฎหมาย

สิ่งที่ทางหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ส.ป.ก.ควรจะต้องดำเนินการเพิ่มเติม ดร.ขวัญชัยได้กล่าวว่า ส.ป.ก. ควรตรวจสอบปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน เพราะหลายพื้นที่ส.ป.ก.จะอยู่ใกล้เขตป่าธรรมชาติ ซึ่งมีความเสี่ยง และที่สำคัญมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างที่ดิน ส.ป.ก. กับที่ป่า นอกจากนี้ในพื้นที่ ส.ป.ก. ตอนนี้ปลูกต้นไม้หวงห้ามหลายชนิดมาก ซึ่งมีหลายชั้นอายุ การวินิจฉัยไม้นั้นทำได้ไม่ง่ายในทางวิชาการ

โดยดร.ขวัญชัยได้เสนอแนะหลักการการป้องกันไม้สวมตอไว้ ประเด็นแรก เจ้าหน้าที่รัฐในเขต ส.ป.ก.ที่ประเมินว่ามีความเสี่ยง หน่วยงานนั้นควรต้องสร้างมาตรการของตัวเองในการป้องกันความเสี่ยงนั้น โดยไม่ควรแปลงหน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของพนักงานของรัฐมาเป็นภาระของประชาชนมากเกินไป ประเด็นที่ 2 สำนักงาน ส.ป.ก. ในฐานะผู้ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ควรจัดทำระบบฐานข้อมูลหรือบัญชีของชาวบ้านที่ปลูกสวนป่า เพื่อการประเมินป่าเศรษฐกิจหรือไม้เศรษฐกิจซึ่งเข้าใจว่าในช่วงปี 2549 – 2562 เนี่ย มีการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจและส่งเสริมระบบวนเกษตรรวมประมาณ 195,416 ไร่ ในที่ส.ป.ก. มีประชาชนเกี่ยวข้องทั้งสิน 89,000 กว่าราย ในปี 2563 อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 45,000 ไร่ ปี 2564 มีแผนที่จะให้เขาปลูกป่าเศรษฐกิจในระบบวนเกษตร อีก 45,000 ไร่ และสุดท้ายอย่าให้มีโทษอาญาเลย ดร.ขวัญชัยกล่าว “การสำรวจมีค่า error เพราะฉะนั้น ถ้าเอากฎหมายมาจับกับการสำรวจเมื่อไหร่ ยังไงก็ผิด เพราะมันไม่มีเป๊ะ และถ้าให้ใช้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ประเมินเพื่อบังคับใช้กฎหมาย พนักงานส่วนใหญ่จะใช้อะไรครับ ดุลพินิจ และดุลพินิจส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอื่น”

ระบบการรับรองไม้ กระบวนการตรวจสอบ

คุณกันตินันท์ ผิวสอาด ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้  ได้กล่าวว่าในการแก้ไขพ.ร.บ.ป่าไม้ ฉบับที่ 8 นอกจากที่แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 7 ซึ่งทำให้เกิดการปลดล็อคไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์แล้วยังมีบัญญัติเพิ่มเติมในเรื่องของการรับรองไม้ ซึ่งใน พ.ร.บ.ได้มีการบัญญัติมาตรา 18/1 และ 18/2 กรณีของ 18/1ในเรื่องของการรับรองไม้ เพื่อแสดงว่าไม้นั้นมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถขอให้กรมป่าไม้ทำการรับรองได้ สำหรับ 18/2 เป็นบัญญัติที่กำหนดเพื่อสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องของการอนุญาตการส่งออก ซึ่งใน 2 มาตรานี้ กรมป่าไม้ได้ดำเนินการออกระเบียบเรียบร้อยแล้ว โดยทั้ง 2 มาตรา เป็นภาคสมัครใจ ไม่ได้บังคับ

ขั้นตอนในการรับรองมีขั้นตอนในการตรวจสอบในรายละเอียดเพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่า ไม้ที่กรมรับรองไปนั้นคือไม้ที่ถูกต้องจริง ๆ มาจากที่มาที่ถูกต้อง ไม่มีการเอาไม้อื่นมาตัดแล้ววางกอง เพราะว่าไม่ใช่แค่หน้าตาของไม้ที่เราจะเอาไปบันทึก มีการตรวจสอบตั้งแต่ขนาดไม้ จุดพิกัดไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ดินตรงนั้น ใช่จุดเดียวกันไหม หน้าตัดไม้ที่ต่อกันที่ตัดล้มนอนอยู่ใช่หรือไม่

คุณกันตินันท์กล่าวในมาตรา 18/1 นั้นเน้นว่าต้องรับรองเฉพาะไม้ตัดคาตอเท่านั้น จะไม่ไปรับรองว่าไม้ไปตัดกองที่อื่นแล้วมารับรอง สำหรับมาตรา 18/2 นอกจากมีการรับรองเรื่องของการไปตรวจสอบว่าตัดคาตอหรือไม่ ยังมีการตรวจสอบอื่น ๆ โดยใช้หลักฐานที่ราชการอนุญาต อนุมัติให้ ยกตัวอย่างเช่น ไม้แปรรูป การที่คุณจะมีไม้แปรรูปในครอบครองนั้นต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายมาแล้ว มีการนำเข้าในโรงงาน ถ้าเป็นไม้นำเข้าก็ต้องมีเรื่องของการอนุญาตนำเข้ามาอย่างถูกต้อง จริง ๆ ซึ่งต้องมีหลักฐานตรวจสอบได้ ถ้าเป็นไม้แปรรูปในประเทศ โรงงานแปรรูปนั้นต้องแสดงว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้อง มีการทำบัญชีถูกต้องไหม เพราะอันนี้เป็นความรับผิดชอบของโรงงาน ความรับผิดชอบจะกระจาย ๆ กันไป ขึ้นอยู่กับการควบคุมจุดตรวจสอบ โรงค้าสิ่งประดิษฐ์ต้องมีการรับรองจากโรงงานเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “ห่วงโซ่อุปทาน” ตามหลักของการประชุมจัดทำข้อตกลงที่เรียกว่าเฟล็กที (FLEGT – Forest Law Enforcement Governance and Trade) ซึ่งเป็นการเจรจาข้อตกลงกับสหภาพยุโรปในเรื่องของการซื้อขายไม้

โดยภายใต้กระบวนการเฟล็กทีนั้นได้มีการหารือว่าเมื่อไม่มีข้อห้ามเรื่องไม้หวงห้ามแล้ว จึงได้มีการนำเสนอเรื่องการสำแดงตนเอง ซึ่งภาครัฐสามารถช่วยรับรอง และอาจจะมีการใช้ระบบอิเลคทรอนิคส์ เช่น E-Tree เพื่ออำนวยความสะดวกในการสำแดงตนเองในการสำแดงตนเอง ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มในการลงข้อมูลต้นไม้ แหล่งที่ดิน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองเพื่อการส่งออกในอนาคต  แต่ระบบนี้จะไม่ใช่ช่องที่เจ้าหน้าที่รับรอง แต่ระบบจะเชื่อมต่อระบบข้อมูลภายใต้ single window

“พวกนี้เป็นเครื่องมือต่าง ๆ ในการพิสูจน์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การที่จะปล่อยให้ไม้ที่ไม่ถูกเข้ามา ก็ค่อนข้างยากถ้าเขาเดินตามช่องนี้ที่จะออกไปขายอย่างถูกต้อง เราต้องรับประกันได้ว่า เขาดำเนินการโดยถูกต้อง แล้วเราก็ตรวจสอบ” ผอ.กันตินันท์ให้ความมั่นใจ และอธิบายว่าตอนนี้ระเบียบ 18/1 กับ 18/2 ในการตรวจสอบจะเน้นในที่ดินกรรมสิทธิ์เป็นหลัก หลังจากนี้จะต้องออกตัว รายละเอียดย่อย เพื่อให้ครอบคลุมที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งจริง ๆ การตรวจสอบที่ดินใน ส.ป.ก. ในปัจจุบันจะดำเนินการกระบวนการการขึ้นทะเบียนสวนป่า ตามพ.ร.บ.สวนป่า

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย

แรงจูงใจในการปลูกไม้เศรษฐกิจบนที่ดินส.ป.ก.

ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ตัวแทนแทนเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการจัดการไม้ อย่าง ยั่งยืนและเป็นธรรม เฟล็กที กล่าวว่า “การปลดล็อคมาตรา 7 ที่เอกสารสิทธิ์ โฉนดเท่านั้น ประโยชน์กจะได้แต่คนรวย ที่มีที่โฉนด เกษตรกรทั่วไปจะได้ประโยชน์จากตรงนี้น้อยมาก เพราะว่าไม่ได้เป็นเจ้าของโฉนด ส่วนใหญ่เช่าที่โฉนดทำ หรือไม่ก็ทำกินที่ ส.ป.ก. เป็นส่วนใหญ่” ดร.เกริกแสดงความคิดเห็นว่าหากจะปลดล็อคมาตรา 7 หรือยกเลิกไม้หวงห้ามในเขต ส.ป.ก. นั้นควารยกเลิกตั้งแต่ไม้ที่มีอยู่เดิม (ก่อนได้รับสิทธิส.ป.ก.) และไม้ที่ปลูกใหม่ด้วย “เพราะไหน ๆ ก็เอาที่ให้เขาทำเกษตรแล้วใช่ไหม แล้วควรส่งเสริมให้เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่มีไม้หวงห้าม”

ผลจากการปลดล็อกนี้ ดร.เกริกเห็นว่าช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจปลูกป่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก “เอาแค่ที่เอกสารสิทธิ์ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มี ไม่มีกล้าไม้พอที่จะปลูก คนฮือฮากันมาก ถ้าบอกว่าไม่มีไม้หวงห้ามในที่ ส.ป.ก. ทั้งหมดทั้งไม้เก่า ไม้ใหม่  ผมว่าคนปลูกมากกว่านี้อีก” ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจ โดยไม่ต้องไปกังวลกับคนจะสวมตอ เพราะคนสวมตอมีน้อยมาก หากทุกคนปลูกต้นไม้กันหมด คนที่สวมตอ คือ คนที่ขโมยไม้มาจากในป่า หรือจากที่อื่น ดร.เกริกกล่าว “ผมคงไม่ยอมคนเอาไม้จากป่ามา แล้วมาขายแข่งกับผม” เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวล อย่าไปกังวลกับคนเลว ๆ ไม่กี่คน แล้วทำลายคนดีเกือบทั้งหมดให้ขาดกำลังใจ ขาดแรงจูงใจ แต่สิ่งที่ดร.เกริกกังวล คือ อะไรที่เป็นข้อขัดขวาง ไม่จูงใจนั้นทำให้ป่าไม้ไทยไม่เกิด

ปลดล็อกไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมจากไม้

คุณสรกิจ มั่นบุปผชาติ ที่ปรึกษาทางการตลาดสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “ในความเป็นจริงบริบทประเทศไทย ประเทศไทยต้องเน้นอุตสาหกรรมในเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรเป็นเรื่องหลักไม่มีทางเลือกนะครับ เราไม่ได้เป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยแท้ ถึงแม้เราจะมีอุตสาหกรรมอยู่  เราก็เป็นรับจ้างผลิตซะส่วนใหญ่ ดังนั้น การรับจ้างผลิตมันไปไม่ได้นาน เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่มันมีใครทำด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ก็ย้ายฐานนะครับ แต่เกษตรต่างหาก คือ เรื่องสำคัญ ประเทศไทยเราเป็น Agriculture base หรือว่าเราเป็นฐานทางด้านการเกษตร แต่เราใช้ประโยชน์ของฐานเกษตรน้อย พอเรามาดูพื้นที่ป่าประเทศไทยจริง ๆ ไม่ได้เยอะเลยนะ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว เขาโฟกัสขายไม้ เป็นวัตถุดิบหลักในการส่งออก ประเทศไทยเราเอง เรามาขายสินค้าที่เป็น end product เพราะฉะนั้นประเทศไทยเรา เรากลายเป็นผู้บริโภคไม้ เราไม่ได้มองเรื่องของการสร้างป่าไม้ เราทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างทำไม่ได้ ตัดไม่ได้” 

ในมุมมองทางธุรกิจคุณสรกิจมองว่า ไม้ในเขต tropical zone มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกันกับไม้ในเขตหนาว ประโยชน์ใช้สอย ความคงทน สามานำไปทำเป็นวัสดุที่สวยงาม แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานานเกินไป เพื่อส่งเสริมเรื่องนี้สภาอุตสาหกรรมกำลังส่งเสริมเรื่องการให้การรับรอง (Certification) ที่เรียกว่า TFCC เรื่องของการปลูก การบริหารจัดการ และการบริหารจัดการ chain of custody  หรือสายการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป โดยใช้เกณฑ์ของ PEFC เพื่อทำให้มาตรฐานอุตสาหกรรมของเราเพื่อสอดคล้องตามมาตรฐานโลก เพราะฉะนั้น เรื่องอุตสาหกรรมเกษตรต้องไม่มองแค่ระยะสั้น ๆ ต้องมองไปถึงระยะยาว 30 ปี 50 ปี ถ้าประเทศไทยเราผลิตสินค้าที่เป็น green product แล้วก็มี certification ประเทศไทยมีศักยภาพสูง

สภาอุตสาหกรรมปัจจุบัน มีอยู่ 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นไม้อัด ไม้บาง และยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น สมุนไพรที่สามารถจะพัฒนาต่อยอดได้ และอีกส่วนคือ bio-technology  ซึ่งวัตถุดิบมาจากการเกษตรทั้งนั้น

Photo Cr. เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo cr. รีคอฟ ประเทศไทย

การสร้างความเป็นหุ้นส่วนและความไว้วางใจ

คุณวิโรจน์ ติปิน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือได้กล่าวว่าในมุมของภาคประชาสังคม รัฐควรทบทวนเรื่องการออกกฎ ออกระเบียบมา ไม่ให้ยุ่งยากไปกว่าเดิม โดยรัฐและประชาชนควรที่จะมีการจัดการความสัมพันธ์กันใหม่ ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างเดียว เป็นการจัดความสัมพันธ์ที่เหมือนหุ้นส่วนในการที่จะเดินหน้าต่อไปในเรื่องนี้นะครับ โดยผ่านกรณีเรื่องการขึ้นทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Tree ของกรมป่าไม้ที่มีอยู่ ควรทำให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่กำลังปลูกต้นไม้จริง ๆ เป็นลักษณะของการยืนยันตัวตน แล้วรัฐสามารถทำให้เชื่อมกับเรื่องของระเบียบ และเชื่อมไปสู่ในเรื่องของเศรษฐกิจจากไม้ได้นั้นจะเป็นเรื่องการเป็นหุ้นส่วนขึ้นมา ซึ่งจะช่วยขจัดความกลัวและมายาคติเรื่องไม้สวมตอได้ เพราะถ้าเกษตรกรทำเช่นนั้น ก็เท่ากับทำลายอนาคตในการทำธุรกิจในการประกอบอาชีพเรื่องไม้ของตัวเองไปโดยปริยาย

ทั้งนี้การปลดล็อคไม่ควรที่จะหยุดอยู่เฉพาะในเรื่องของที่ดินรัฐ ส.ป.ก. แต่ควรรวมไปถึงที่ดินรัฐอื่น ๆ เช่น ที่ดินของ คทช. ซึ่งลักษณะของการเปลี่ยนจากสภาพพื้นที่ป่ากลายเป็นพื้นที่ที่เป็นพื้นที่การเกษตร รวมแล้ว 12 ล้านไร่ในกว่า 19,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายหลังจากที่มีการอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่เขาจะดำเนินการในเรื่องของต้นไม้ เพื่อทำให้ไม้เป็นธุรกิจเป็นเศรษฐกิจของเขาก็ควรที่จะดำเนินการไปในลักษณะที่กำลังจะดำเนินการในพื้นที่ ส.ป.ก.

“มันจะต้องจัดความสัมพันธ์ใหม่ ไม่ทำให้ประชาชนหวาดระแวงรัฐว่าจะเข้ามาควบคุมบังคับ โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ มีสิทธิที่จะได้ขึ้นมาทำหน้าที่ของตัวเองที่จะอยู่ในกระบวนการนี้ได้อย่างสมภาคภูมิ สมศักดิ์ศรี ในขณะเดียวกัน รัฐเองก็ไม่ควรที่จะหวาดระแวงประชาชนมากจนเกินไป ถ้าขจัดเรื่องนี้ออกไปได้ จัดความสัมพันธ์แบบใหม่ในลักษณะของหุ้นส่วน ระหว่างรัฐกับประชาชน สิ่งที่มันจะตามมา คือว่า ภาคเอกชนที่กำลังที่จะทำหน้าที่ต่อเป็นจิ๊กซอว์ต่อที่จะทำให้มูลค่าจากไม้มันมีลักษณะที่เพิ่มพูนขึ้นในแง่ของเศรษฐกิจมันก็จะไปได้อย่างไม่ติดขัด” คุณวิโรจน์สรุปไว้ตอนท้าย