RECOFTC Thailand
Stories

จังหวะก้าวสำคัญหลัง พรบ.ป่าชุมชนถูกประกาศใช้....

17 June 2019
ระวี ถาวร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย
แม้ว่า พรบ.ป่าชุมชนเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป แต่ได้มีการยกเว้นให้บางหมวด บางมาตราให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ พรบ.นี้ ๑๘๐ วัน หมายความว่าหมวดและมาตราดังกล่าวข้างต้นมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๘๑ หลังวันประกาศ อันได้แก่หมวดที่ ๔ ถึงหมวด ๘ และมาตรา ๙๗ ถึง ๑๐๓ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเฉพาะการจัดตั้งป่าชุมชน
In Focus
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

จากการประกาศ พรบ.ป่าชุมชน ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ คือเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒  เป็นต้นไป ทั้งนี้หากพิจารณาลำดับเรื่องที่สำคัญๆ หลังจาก พรบ.ป่าชุมชนฉบับนี้ประกาศใช้มีดังนี้

เครือข่าวป่าไม้ภาคพลเมือง

 

ก่อนหรือหลังประกาศ ๑๘๐ วัน กับทางเลือกในการจัดตั้งป่าชุมชน

แม้ว่า พรบ.ป่าชุมชนเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒  เป็นต้นไป แต่ได้มีการยกเว้นให้บางหมวด บางมาตราให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ พรบ.นี้ ๑๘๐ วัน หมายความว่าหมวดและมาตราดังกล่าวข้างต้นมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๘๑ หลังวันประกาศ อันได้แก่แหมวดที่ ๔ ถึงหมวด ๘ และมาตรา ๙๗ ถึง ๑๐๓  ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเฉพาะการจัดตั้งป่าชุมชน

ในช่วงเวลา ๑๘๐ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไปอีก ๑๘๐ วัน คือ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ชุมชนยังสามารถที่จะขอจัดตั้ง ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนภายใต้ระเบียบ ขั้นตอนการจัดทำโครงการป่าชุมชนที่กำหนดโดยกรมป่าไม้โดยมีกระบวนการขั้นตอนหลักดังนี้

๑) ประชุมราษฎรเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และมีมติจัดตั้งป่าชุมชน คัดเลือกคณะกรรมการป่าชุมชนหมู่บ้านและร่วมกันลงลายมือชื่อจัดทำโครงการ (แบบ ปชช.๑)

๒) ตรวจสอบพื้นที่จัดทำโครงการป่าชุมชน (แบบ ปชช.๒)  และประชุมคณะกรรมการป่าชุมชนจัดทำโครงการป่าชุมชน (แบบ ปชช.๓) เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหัวหน้าหน่วยงานรับผิดชอบพิจารณาเห็นชอบในกรณีพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้

๓) เสนอสำนักจัดการป่าชุมชน ตรวจสอบเอกสารและเสนออธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาอนุมัติโครงการป่าชุมชน

 

ในส่วนป่าชุมชนที่หมดอายุ ถ้ามีความประสงค์ในการต่ออายุจะต้องทำการประเมินผลโดยใช้แบบ ปชช.๔ โดยเจ้าหน้าที่แล้วส่งให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่ประเมิน ถ้าผ่าน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมป่าชุมชน ผู้นำประชุมประชาคมเพื่อขอต่ออายุโครงการป่าชุมชน แล้วยื่นขอต่ออายุโดยใช้แบบ ปชช. ๕ ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่ตรวจสอบเอกสาร และส่งให้สำนักจัดการป่าชุมชนตรวจสอบและเสนออธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาอนุมัติโครงการโดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ตามลิงค์ คู่มือการปฏิบัติงานตามแนวทางการจัดการป่าชุมชนของกรมป่าไม้ ซึ่งป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนช่วงนี้จะถูกรับรองโดยอัตโนมัติตามมาตรา ๙๙ อาจเรียกว่าเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายของการจัดตั้งป่าชุมชนแบบเดิม

แต่ถ้าหากพ้น ๑๘๐ วันหลังจากประกาศ คือ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เป็นต้นไปการจัดการป่าชุมชนจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในหมวดที่ ๔ มาตรา ๓๑ ถึง ๔๑ โดยมีขั้นตอนดังนี้ทั้งหมด ๓ ขั้นตอนหลักและ ๑๑ ขั้นตอนย่อย ดังนี้

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

ทั้งนี้ขั้นตอนขอจัดตั้งใน พรบ.ป่าชุมชน ๒๕๖๒ ที่สำคัญคือต้องมีการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน เป็นเอกสารสำคัญ ที่ยื่นพร้อมกับเอกสารยื่นคำขอต่างๆ ต่อสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้จังหวัดทำการตรวจสอบเอกสารและพื้นที่เป้าหมาย ปิดประกาศและเปิดให้คัดค้าน กรณีมีการคัดค้านให้พิจารณาคำคัดค้าน แล้วส่งต่อให้คณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาเห็นชอบ และส่งให้อธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาคำขอและแผนการจัดการป่าชุมชน หากเห็นชอบก็ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งจะมีขั้นตอนมากกว่ากระบวนการเดิม และยังต้องพิจารณาระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดการจัดตั้ง การอนุมัติจัดตั้งป่าชุมชน การกำหนดขนาดของพื้นที่ป่าชุมชน การใช้ประโยชน์จากป่าทั้งไม้ ของป่าต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการกระบวนการและระยะเวลาจัดตั้งป่าชุมชน

ปัจจุบันพบว่าป่าชุมชนหลายแห่งยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ หลายแห่งขึ้นทะเบียนแล้วแต่หมดอายุและยังไม่ได้ดำเนินการต่ออายุป่าชุมชน ในช่วงเวลา ๑๘๐ วันดังกล่าวก็เป็นโอกาสที่จะให้ชุมชนสามารถใช้กระบวนการจัดตั้งและขึ้นทะเบียนป่าชุมชนตามระเบียบขั้นตอนเดิมที่กระบวนการตรงไปที่กรมป่าไม้ ซึ่งจะได้รับการรับรองอัตโนมัติตาม พรบ.ป่าชุมชน ๒๕๖๒ แต่ถ้าเลยช่วงระยะเวลา ๑๘๐ วันดังกล่าวก็เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนใหม่ที่ระบุใน พรบ.ป่าชุมชน ซึ่งมีขั้นตอน และเอกสารที่มากขึ้นกว่าเดิมทั้งนี้การที่จะเลือกรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่ชุมชน  

 

สำหรับชุมชนที่จะขอจัดตั้งและขึ้นทะเบียนในช่วง ๑๘๐ วัน สามารถประสานงานกับหน่วยงานกรมป่าไม้ได้โดยตรง หรือจะส่งรายชื่อป่าชุมชนมายังเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองที่จะช่วยเป็นสื่อกลางในการรวบรวมรายชื่อแล้วส่งให้สำนักจัดการป่าชุมชนเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

ประเด็นสำคัญๆ ที่ต้องเตรียมความพร้อมของภาคประชาชน

นอกจากเรื่องการจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว ประเด็นสำคัญๆที่ภาคประชาชนต้องให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมที่สำคัญๆ อย่างน้อย ๒ ประการ

ประการที่ ๑ ตัวแทนที่จะเข้าไปอยู่ในโครงสร้างทั้งคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งในช่วงทีมีอยูระหว่างการสรรหาและแต่งตั้งจะมีคณะกรรมการโดยตำแหน่งปฏิบัติงานไปพลางก่อนโดยมีกรมป่าไม้เป็นกรรมการและเลขานุการ แต่จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน ๑๒๐ วันหลัง พรบ.ประกาศใช้ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญ ในระดับจังหวัดการเตรียมคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาจัดตั้งป่าชุมชนในจังหวัดนั้นๆ ก็มีความสำคัญเพราะการจัดตั้งป่าชุมชนในหมวด ๔ จะบังคับใช้หลังจากประกาศ พรบ. ๑๘๐ วันดังนั้นการเตรียมตัวแทนในช่วงนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก รวมทั้งการมีข้อเสนอต่อกระบวนการได้มาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่จะมีรายละเอียดในระเบียบที่เป็นกฎหมายลำดับรอง

ประการที่ ๒ การมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายลำดับรอง แม้ว่าใน พรบ.ระบุให้ออกแล้วเสร็จภายใน ๑ ปี แต่หลายเรื่องใน ๓๑ เรื่องที่ต้องออกกฎหมายรองมีความสำคัญเร่งด่วน เช่น การกำหนดคุณสมบัติ การได้มาซึ่งคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งนี้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมต้องมาร่วมกันพิจารณาว่าเรื่องไหนที่สำคัญและต้องจัดทำข้อเสนอในกับคณะที่จะไปยกร่างเนื้อหากฎหมายลำดับรอง ซึ่งในวันที่ ๙-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จะมีเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อเสนอต่ออนุบัญญัติ กฎหมายลำดับรองที่สำคัญที่จะเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป