RECOFTC Thailand
Stories

ทำความรู้จัก “ป่าทาม” กับ “ป่าบุ่งป่าทาม”

14 June 2019
นายมักเลาะ นักปฏิบัติการด้านป่าไม้
คำว่า “ป่าบุ่งป่าทาม”* เป็นคำที่นักวิชาการจากส่วนกลางเรียกผืนป่าสำคัญบริเวณนี้ มีหลายคนพูดว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นมดลูกของแม่น้ำ
Practitioner's Insights
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. https://kksnk.blogspot.com/2019/04/blog-post_25.html

ในช่วงการสร้างเขื่อนราษีไศลกั้นลำน้ำมูลตามโครงการโขง  ชี  มูล การสร้างเขื่อนราศีไศล มีการต่อต้านของประชาชนลุ่มน้ำมูลตอนกลางบริเวณ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ บริเวณที่สร้างเขื่อนเป็นที่ราบลุ่มส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้ คำว่า “ป่าบุ่งป่าทาม”[1]  เป็นคำที่นักวิชาการจากส่วนกลางเรียกผืนป่าสำคัญบริเวณนี้ มีหลายคนพูดว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นมดลูกของแม่น้ำ  เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลาก ปลาจากแม่น้ำโขง จะอพยพขึ้นมาวางไข่ในบริเวณนี้  ทำไมปลาถึงมาวางไข่บริเวณนี้ มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา  นักวิจัยไทบ้าน เข้ามาศึกษาวิจัยในบริเวณ ป่าบุ่งป่าทามตอนกลางของลำน้ำมูลเป็นจำนวนมาก สำหรับคนที่สนใจจะไม่ยากที่จะเข้าไปสืบค้นหาข้อมูล  นายมักเลาะเป็นคนหนึ่งที่ถูกบังคับให้สนใจในเรื่องป่าบุ่งป่าทาม เพราะในช่วงเริ่มแรกความรู้เรื่องป่าบุ่ง ป่าทาม ที่เรียกกันยังไม่มีนักวิชาการหรือประชาชนทั่วไปสนใจมากนัก ที่สนใจเพราะไม่มีความรู้เรื่อง ป่าบุ่ง ป่าทามเลย ไปที่ไหนมีแต่คนปรามาสว่า มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร แต่ตอบคำถามไม่ได้ว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นอย่างไร

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. https://kksnk.blogspot.com/2019/04/blog-post_25.html

เพื่อสบคำปรามาส จึงเข้าไปเรียนรู้กับชุมชนและลงไปลุยในพื้นที่ ป่าบุ่ง ป่าทาม  คนทั่วไปจะมองเห็นป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นสังคมพืชไม้ขนาดเล็กที่ไม่มีค่าในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากในยุคนี้ นักจัดการป่าไม้จะมองป่าคือ ผืนป่าที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่สามารถจะตัดออกมาใช้ประโยชน์ได้ ป่าทามที่ปรากฏอยู่มีเพียงแต่ไม้ขนาดเล็กๆ เช่น ไม้ หัวลิง เบ็นน้ำ ฝ้ายน้ำ น้าวน้ำ ที่พบอยู่มากที่สุดคือไผ่ป่าที่ชุมชนท้องถิ่นเรียกกันว่า ไผ่กระซะ  จากการไปลงคลุกคลีกับชุมชนและพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามเป็นเวลาหลายปี พบว่า ชาวบ้านไม่ได้เรียกป่าบริเวณตอนกลางของลำน้ำมูลที่จะมีน้ำท่วมติดเขื่อนเป็นเวลา 3-4 เดือนของรอบปีว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม เลย

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Photo Cr. https://kksnk.blogspot.com/2019/04/blog-post_25.html

แต่ชาวบ้านเรียกป่าบริเวณนี้ ว่า ป่าทาม แล้วคำว่าป่าบุ่งมาจากไหน หรือบุ่งคืออะไร บุ่งก็คือหนองน้ำที่จะปรากฏให้เห็นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จากปรากฏการณ์การไหลของน้ำที่กัดเซาะก่อให้เกิดหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไปในป่าทามรอบๆ บุ่งมักจะเป็นที่ราบที่มีต้นไม้ในป่าทามขึ้นอยู่ ถ้ามีโอกาสเข้าไปในพื้นที่ที่มีป่าทามแล้ว หากเราไปพูดคุยกับชาวบ้านทั่วๆไปเราใช้คำว่า  ป่าทาม พี่น้องจะเข้าใจมากกว่า คำว่า ป่าบุ่ง ป่าทาม

 

------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ [1] ป่าบุ่งป่าทามในปัจจุบันในหลายพื้นที่ของภาคอีสานซึ่งมีความสัมพันธ์กับชุมชนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามชนบทบริเวณราบลุ่มริมน้ำเป็นอย่างมาก ยังเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์นานาชนิดและพรรณไม้ซึ่งมีคุณค่าทางด้านอาหาร เช่น หน่อไม้ กระโดน หว้า มะกอกน้ำ  ไปจนถึงมันแซง เห็ดชนิดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามวงรอบตามธรรมชาติของปี ถือเป็นเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในชนบท และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพราะเปรียบเสมือนตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน ที่มีทุกอย่างในการบริโภคโดยไม่ต้องใช้เงินตรา  เนื่องจากดินในทามเป็นดินตะกอนที่มีธาตุอาหารที่ถูกพัดพามากับสายน้ำหลาก ช่วงฤดูฝน ทำให้การเกษตรของชาวบ้านในละแวกข้างเคียงสามารถใช้พื้นที่ทำการเกษตรได้โดยไม่ต้องอาศัยสารเคมี  รวมไปถึงการเป็นแหล่งอาศัยหลบภัย ขยายพันธุ์ และเลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์น้ำ ที่เมื่อโตขึ้นก็จะว่ายออกมายังแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปที่ประชาชนในพื้นที่สามารถจับมาบริโภค และจำหน่ายสร้างรายได้เป็นอย่างดี   ฉะนั้นจึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์และปกปักรักษาป่าบุ่งป่าทามที่มีอยู่ให้คงอยู่คู่กับพื้นที่ภาคอีสานอย่างสมบูรณ์ต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.dailynews.co.th/agriculture/514787 และ http://kanchanapisek.or.th/kp8/culture/sgk/file/n3.html