RECOFTC Thailand
Cerita

ศูนย์เรียนรู้ชุมชนในจังหวัดตราด:การแบ่งปันภูมิปัญญาทอ้งถิ่น เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่งในแถบตะวันออกของประเทศไทย

06 September 2010
Estelle Srivijittakar
Notes from the Field
The Center for People and Forests

ต้นไม้ที่ดูแปลกตาเหล่านี้เจริญเติบโตในบริเวณชายฝั่งที่เป็นน้ำกร่อย แต่ละต้นมีรากใหญ่หลายรากที่กางออกคล้ายนิ้วมือ หยั่งรากผ่านน้ำกร่อยลงสู่พื้นดินชายฝั่ง  มีหอยนางรมและเพรียงจำนวนมากเกาะตามราก เหมือนนิ้วมือมนุษย์ที่มีหูดหรือมีแหวนสวมอยู่  รากเหล่านี้สอดสานกันจนดูแน่นหนา คอยโอบอุ้มหลายสิ่งหลายอย่างมากกว่าที่ใครจะคาดคิด อาทิ ระบบนิเวศ  ชุมชน  และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นแถบชายฝั่ง  ขณะที่เรือของเราแล่นช้าๆ ไปตามช่องทางน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ล้อมรอบไปด้วยต้นโกงกางทุกด้าน  ภาพของทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้เขียนเคยอ่านจากหนังสือเกี่ยวกับคุณค่าของป่าชายเลนเหล่านี้ผุดขึ้นมาอย่างชัดเจน

MFF


 
เราอยู่ในหมู่บ้านเปร็ดในซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดตราดทางตะวันออกสุดของประเทศไทย มีประชากร 632 คน 164 ครัวเรือน  วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบชายฝั่งนี้ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน  ชาวบ้านดำรงชีพด้วยการจับปู หาปลา และกุ้งเพื่อความอยู่รอดและสร้างรายได้ พวกเขาต้องพึ่งพิงอยู่กับถิ่นที่อาศัยของสัตว์น้ำทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ที่หล่อเลี้ยงโดยต้นโกงกางซึ่งมีระบบรากอันแน่นหนาที่ช่วยลดผลกระทบของภัยธรรมชาติด้านภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว เช่น พายุเฮอริเคน  และคลื่นยักษ์สึนามิ  จากรายงานของ FAO เรื่อง   บทบาทของป่าชายเลนในการลดผลกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิ   ที่จัดทำขี้นเมื่อปี 2550  “ป่าชายเลนสามารถดูดซับแรงกระแทกของคลื่นปกติได้ถึงร้อยละ 70-90”

ในช่วงทศวรรษ 2523 มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลายรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่า กิจกรรมเหล่านี้นำหายนะมาสู่ป่าโกงกาง/ป่าชายเลน  พรากวิถีชีวิตปกติไปจากชาวบ้าน รวมทั้งเกราะป้องกันภัยจากพายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นบ่อยๆ  ในช่วงปี พ.ศ. 2529 ชาวบ้านเปร็ดในเริ่มตอบโต้การตัดไม้ทำลายป่าที่ทำกันจนเกินขนาด ด้วยการจัดตั้งกลุ่มป่าไม้ชุมชนเปร็ดใน และกันพื้นที่แคบๆ ตามแนวปากแม่น้ำให้เป็นพื้นที่หวงห้าม 

ตั้งแต่นั้นมา หมู่บ้านเปร็ดใน ได้กลายเป็นตัวอย่างอันทรงพลังที่แสดงให้เห็นว่า การจัดการโดยชุมชนอย่างมุ่งมั่น สามารถให้อำนาจแก่ชุมชนได้  ด้วยการรักษาทรัพยากรที่สำคัญต่อการดำรงชีพ  การแบ่งปันความรู้ทางวัฒนธรรม  และการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในท้องถิ่นให้เข็มแข็ง รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนไปในขณะเดียวกัน   ผู้นำท้องถิ่นก็ได้ริเริ่มกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่สมาชิกของชุมชน เพื่อได้เรียนรู้เข้าใจถึงประโยชน์ของการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาทรัพยากรอันสำคัญเหล่านี้ไว้ให้ชนรุ่นหลัง
ศูนย์เรียนรู้ด้านความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน และการเสริมสร้างอำนาจแก่ชุมชน

ชุมชนใน 6 ตำบลของจังหวัดตราดได้ร่วมกันพัฒนาโครงการสร้างเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ชุมชนขึ้นในจังหวัด โดยได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กร  Mangroves for the Future (MFF)และองค์กรพันธมิตรของรีคอฟ โครงการนี้มีมูลค่า 168,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ  มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ให้เป็นแหล่งเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านเทคนิควิธีการจัดการป่าชายเลนอย่างยั่งยืนให้แก่คนในท้องถิ่น  โดยมุ่งหวังให้คนเหล่านี้กลับไปเป็นครูและพี่เลี้ยงที่คอยให้การสนับสนุนงานด้านนี้ในชุมชนของพวกเขา  การเสริมสร้างอำนาจแก่คนท้องถิ่นให้มีจำนวนมากขึ้นที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่สำคัญเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน  ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูและการดูแลรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยทางทะเลในพื้นที่ป่าชายเลนทั่วทั้งจังหวัดตราด

ในขณะที่รีคอฟ ได้ให้การสนับสนุนและการฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับศูนย์เรียนรู้ชุมชน   ผู้ที่จะทำให้เกิดผลกระทบที่แท้จริงคือคนในท้องถิ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ นักวิจัยของรีคอฟ ได้เริ่มพบปะผู้นำชุมชนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554  เพื่อร่วมกันเตรียมการเก็บข้อมูลด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแถบชายฝั่งใน 6 ตำบลที่เข้าร่วมโครงการ โดยใช้วิธีการวิจัยที่เรียกว่า  การประเมินข้อมูลหมู่บ้านแบบมีส่วนร่วม (Participatory Rural Appraisal หรือ PRA) มีการจัดทำการสัมภาษณ์กลุ่มบุคคลและการสัมภาษณ์รายบุคคลเป็นจำนวนมาก  และดึงคนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยตีความและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของหมู่บ้านของพวกเขา และให้พวกเขาจัดทำแผนปฏิบัติการ  กระบวนการเหล่านี้ยังทำให้รีคอฟ และชาวบ้านเกิดความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับทรัพยากรอะไรที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ และใครเป็นผู้ใช้ประโยชน์ โดยศึกษาเทียบเคียงกับระดับความมั่งคั่งภายในชุมชน   การประเมินชุมชนที่แยกทำแต่ละชุมชนชี้ให้เห็นว่า  แต่ละชุมชนพิ่งพิงป่าชายเลนและทรัพยากรชายฝั่งแตกต่างกันออกไปเพื่อสร้างรายได้ของครัวเรือน  จึงจำเป็นต้องจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของแต่ละชุมชน ความต้องการแตกต่างกัน  แต่ความเป็นปึกแผ่นเดียวกัน
ในตำบลกร่างหลด  พบว่าชาวบ้านที่มีฐานะร่ำรวย พึ่งพิงกับการจับปู ปลา และกุ้ง เพื่อสร้างรายได้ร้อยละ 15 ของครัวเรือน  สำหรับครัวเรือนที่มีฐานะปานกลางหารายได้ร้อยละ 35 ของครัวเรือน จากกิจกรรมข้างต้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า  ส่วนครัวเรือนยากจน ต้องพึ่งพิงกับการจับปู ปลาและกุ้งเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าเพื่อหารายได้ถึงร้อยละ 46 มาจุนเจือครอบครัว   นอกจากนี้ ครัวเรือนที่ยากจนยังต้องพึ่งพิงการจับปูเพื่อหารายได้อีกร้อยละ 17 สำหรับครัวเรือน  จึงเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของกลุ่มคนยากจนต้องพึ่งพิงอยู่กับทรัพยากรทางทะเลเป็นส่วนใหญ่ที่สร้างรายได้ถึงร้อยละ 63 สำหรับครัวเรือน

ตำบลตะลานะ  ทั้งกลุ่มคนมีฐานะดีและกลุ่มคนยากจนพึ่งพิงทรัพยากรป่าชายเลนเท่าๆ กันเพื่อสร้างรายได้ของครัวเรือน   แต่เห็นได้ชัดว่าปัจจัยด้านสินทรัพย์ทางการเงิน  มีบทบาทที่ทำให้การเข้าถึงและการใช้ประโชน์ทรัพยากรป่าชายเลนของคนทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกัน  ครัวเรือนที่มีฐานะดีจะลงทุนสร้างบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งธรรมชาติและปลา (ร้อยละ 19) เป็นอันดับแรก  ตามมาด้วยการจับกุ้ง (ร้อยละ 10) และปู (ร้อยละ 4)  ส่วนครัวเรือนยากจนจะดำรงชีพด้วยการจับปูดำและปลา (ร้อยละ 18 และ 12) เพื่อสร้างรายได้ของครัวเรือน

ความแตกต่างเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดทำข้อมูลชุมชนที่เหมาะสม  เพื่อนำไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือชุมชนแก้ไขปัญหาและความท้าทายในการพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละชุมชน   นอกจากนี้ การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันกับชุมชนอื่นๆ  ยังช่วยทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้าใจกว้างไกลขึ้น  เกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางทะเลแถบชายฝั่งและในป่าชายเลน รวมทั้งผลที่ตามมาของการทำให้พื้นที่เหล่านี้เกิดความเสื่อมโทรม  ส่วนสำคัญของโครงการ  อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้เชิงลึกและประสบการณ์ที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยแต่สำคัญยิ่ง ก็ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนเหล่านี้ จะเป็นหนทางช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างตำบลต่างๆ มากขึ้น  รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความสามารถของจังหวัดตราดในการปรับตัวรับภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แข็งแกร่งขึ้น  ตามที่ชุมชนทั้งหลายได้เข้าใจตรงกันแล้ว การฟื้นฟูป่าชายเลนของจังหวัดตราดที่จะทำกันต่อไปนั้น จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของชุมชนหลายๆ ชุมชน ที่จะต้องร่วมมือกันด้วยความอดกลั้นและอดทน

 

สู่การเป็นชุมชนที่สามารถฟื้นตัวเร็วขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
 
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่องค์กร  MFF ได้ลงเยี่ยมพื้นที่ในจังหวัดตราด  ผู้เขียนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ดีขึ้น  ต้นโกงกางจำนวนมากเจริญเติบโตขึ้นอย่างแน่นหนาและแข็งแรง เป็นป่าชายเลนที่หนาทึบและซับซ้อนโดยธรรมชาติ  ทำให้ผู้เขียนเข้าใจแล้วว่า ป่าเหล่านี้สามารถปกป้องชายฝั่งไม่ให้เสื่อมโทรมได้อย่างไร  แต่ก็มีบางพื้นที่ที่เราผ่านไป ปราศจากต้นโกงกาง มองเห็นเป็นพื้นที่สีเทาๆ ของป่าชายเลนที่ถูกคุกคาม  เห็นเรือประมงหลายลำกำลังขุดลากหาปลาจากพื้นทะเล  เห็นขยะลอยในน้ำสีเขียวบริเวณปากแม่น้ำ  สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่เน้นให้เห็นความสำคัญของงานที่จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 10 ตุลาคม ที่ตำบลเปร็ดใน  ในวันนี้ ผู้เขียนได้เห็นเหตุการณ์ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่มีความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ที่เกิดขึ้นในจังหวัดตราด  เป็นเครือข่ายที่มุ่งให้เกิดการขยายพื้นที่ป่าชายเลนให้มากขึ้น  และได้เห็นความคืบหน้าที่ดีขึ้นในด้านวิธีปฏิบัติในการประกอบอาชีพอย่างมีสำนึก และน้ำทะเลที่สะอาดขึ้น

 คุณเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง  ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และคุณสมหญิง สุนทรวงศ์ ผู้ประสานงานแผนงานประเทศไทยของรีคอฟ  ได้เชิญผู้นำชุมชนและองค์กรผู้บริจาค มาร่วมทบทวนและพูดคุยหารือเกี่ยวกับแผนงานโครงการของแต่ละชุมชน  เพื่อเริ่มดำเนินงานโครงการที่  MFF ให้การสนับสนุนทางการเงิน  แม้ว่าแต่ละชุมชนจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน  แต่ผู้แทนของชุมชนก็เห็นด้วยว่า การพัฒนาพันธมิตรระหว่างชุมชนให้แข็งแกร่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้งหมดที่พึ่งพิงป่าชายเลน

การลงพื้นที่เปร็ดไน

การแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน  เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน  ไม่เพียงเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกของชุมชนกระจายข่าวสารภายในชุมชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการมีความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม  แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการกระจายข่าวสารไปยังภูมิภาคใกล้เคียงด้วย  ดังเช่นที่ผู้ว่าเบญจวรรณกล่าวไว้ว่า  ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างอันสำคัญสำหรับชนรุ่นหลังในชุมชน ให้เกิดการริเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนให้เข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน  โครงการนี้มุ่งกระตุ้นส่งเสริมให้คนท้องถิ่น รวมถึงเยาวชน ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลที่ดินของพวกเขาเอง  เพื่อทำให้มั่นใจว่า การพัฒนาที่พยายามทำกันในวันนี้ จะมีผู้สืบทอดดำเนินการต่อไปในอนาคต

ผู้เข้าร่วมประชุม