RECOFTC Thailand
Cerita

เครือข่ายผู้ปลูกไม้ เสนอคิดมุมใหม่ ให้สิทธิใช้ไม้ได้เสรี เพื่อประเทศไทยเพิ่มป่าและสร้างอาชีพป่าไม้

13 August 2017
วรางคณา รัตนรัตน์
จากเวทีการสัมมนา เฟล็กที: คืนสิทธิต้นไม้ ให้ผู้ปลูกและชุมชน (Right to wood) วันที่ 13 พ.ค. 2560 ซึ่งจัดขึ้น ณ สวนป่าหอมมีสุข ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เฟล็กที ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ปลูกต้นไม้ เกษตรกรรายย่อย ชุมชนและองค์กรพัฒนาเอกชน ได้จัดการพูดคุยเพื่อหาแนวทางการผลักดันให้อาชีพป่าไม้กลายเป็นทางเลือกใหม่ของการสร้างเศรษฐกิจจากฐานชุมชนที่ตอบโจทย์ทั้งต่อรายได้และพื้นที่ป่าไม้ให้แก่ประเทศไทย โดยเชื่อมั่นว่าข้อตกลงระดับสากลอย่าง เฟล็กทีจะช่วยสร้างหลักประกันแก่การจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนได้
Notes from the Field
ผู้เข้าร่วมเสวนากำลังหารือร่วมกัน
อัฉราภรณ์ ได้ไซร้

เฟล็กที (FLEGT) หรือ การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า เป็นแผนปฏิบัติการที่สหภาพยุโรปพัฒนาขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งการค้าไม้เถื่อนระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายมาตรการหนึ่งในนั้นคือการจัดทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจกับประเทศคู่ค้า ประเทศไทยได้มีการยื่นเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงนี้ตั้งแต่ปี 2556 โดยผ่านการเห็นชอบของรัฐสภา ข้อตกลงนี้จะว่าด้วยการสร้างระบบการรับประกันการตรวจสอบไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมกำหนดว่าจะสร้างกรอบคำนิยามว่าอะไรคือไม้ที่ถูกต้องด้วยกันเพื่อสร้างระบบการค้าไม้ที่ตรวจสอบได้

ผู้เข้าร่วมเสวนา

จากเวทีเสวนา คุณประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ซึ่งมีส่วนเริ่มต้นการเตรียมการข้อตกลงเฟล็กทีนี้ได้ย้อนเหตุการณ์ในจุดเริ่มต้นของการเตรียมการเรื่องนี้ว่าตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเฟล็กทีเนื่องจากสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าไม้ที่ไม่สามารถตรวจสอบที่มา จึงทำให้ประเทศไทยในฐานะคู่ค้าที่มีมูลค่าส่งออกไม้ไปยังยุโรปมากกว่าปีละ 3 หมื่นล้านบาท ต้องเริ่มต้นวางกระบวนการจัดทำระบบรับประกันเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่จัดการกับการค้าไม้เถื่อนเหล่านี้

“การทำเฟล็กทีนั้นสอดคล้องกับอนาคตการป่าไม้ของไทย เพราะประเทศไทยมีกฏหมายที่ควบคุมดูแลไม่ให้มีการค้าไม้เถื่อนอยู่แล้วและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศที่ต้องการไม้ที่มาจากแหล่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความต้องการไม้ที่มาจากสวนป่า ไม้ที่มาจากประชาชน เมื่อไม้เหล่านี้อุตสาหกรรมมีความต้องการ ก็จะกระตุ้นให้เกิดการปลูกไม้ในสวนป่าได้มากขึ้น และเพิ่มจีดีพีจากภาคป่าไม้”

คุณพิกุล กิตติพล เจ้าของสวนหอมมีสุข ผู้มีอาชีพการทำสวนป่าและวิสาหกิจจากไม้กฤษณา ซึ่งได้ปลูกไม้มูลค่าสูงอย่างไม้พะยูง ไม้สัก และไม้ยางนาไว้มากกว่าหกหมื่นต้น สะท้อนว่าประเทศมีความจำเป็นต้องทำให้รายได้จากการค้าไม้ขายนั้นเป็นรายได้ของชาวบ้านของชุมชน และเชื่อว่าอาชีพด้านป่าไม้คือความหวัง เพราะต้นไม้นั้นสร้างรายได้ ทุกวันนี้ความต้องการไม้มีมาก พ่อค้าซื้อไม้พะยูงยอมรับซื้อไม้พยุงเป็นกิโล ๆ ละ 7,000 บาท ต้นหนึ่งมี 500 กิโล คิดว่าชาวบ้านจะได้รายได้เท่าไร แต่ทุกวันนี้แม้สวนป่าของต้นเองจะขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่า แต่ก็ยังเจอปัญหาระเบียบในการทำไม้ยุ่งยากมาก จึงอยากให้เกิดการแก้ไขระเบียบขั้นตอนและต้องการให้หน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการอนุญาตต่าง ๆ ด้านป่าไม้เพื่อความสะดวกและเอื้อต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ผู้ร่วมเสวนาจาก ต.แม่ทา  จ.เชียงใหม่ คุณกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา เล่าว่าพื้นที่ของตำบลนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนกว่า 73,000 ไร่ โดยชุมชนได้มีระบบการจัดการการอนุรักษ์และดูแลป่ามาอย่างยาวนานในรูปแบบป่าชุมชนจนกลายเป็นต้นแบบระดับประเทศ และแม่ทาเป็นพื้นที่แรกของการมอบสิทธิในใช้ประโยชน์ป่าสงวนในรูปแบบคทช.จำนวน 7,200 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาการไร้สิทธิครอบครองที่ดินทำกิน ในฐานะของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ คุณกนกศักดิ์กล่าวว่าคนในพื้นที่อยากทำให้แม่ทาเป็นเมืองเกษตรกรรมยั่งยืน และการทำวนเกษตรบนพื้นที่ที่ได้รับมอบมา เราอยากทำให้ลูกหลานในพื้นที่ได้ประโยชน์จากป่าไม้ที่เราดูแล ไม่ใช่เพียงอนุรักษ์เก็บไว้ แต่เนื่องจากยังไม่มีระเบียบกฎหมายใด ๆ รองรับต้นไม้บนพื้นที่เช่นนี้จึงเป็นบทบาทของอบต.  ตอนนี้อบต.แม่ทาได้ทำการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้สัก และมีการขึ้นทะเบียนต้นไม้ ซึ่งคาดว่าในพื้นที่น่าจะมีไม้สักมากกว่าหกแสนต้นเกิดขึ้น แม้ว่าจะยังมีคำถามจากชาวบ้านว่าปลูกแล้วจะตัดได้ไหม คุณกนกศักดิ์เชื่อว่าเราต้องสร้างแรงจูงใจและเตรียมทำระบบทะเบียนต้นไม้พร้อมจับพิกัดให้ชัดเจน ซึ่งนี่คือระบบรับประกันว่าไม้ที่ตัดจะมาจากแปลงปลูกเท่านั้น ซึ่งเริ่มต้นโดยท้องถิ่น คุณกนกศักดิ์สรุปว่า “เราคาดหวังว่าจะให้ระบบเฟล็กทีมาสนับสนุนระบบนี้ และอยากให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้จัดการทรัพยากรของตนเอง และให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมจัดการไม้ทุกขั้นตอน ได้เริ่มตั้งแต่ปลูก ตัด แปรรูป และมีวิสาหกิจโรงเลื่อยของชุมชน”

คุณณรงค์ มีนวล จากบริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัดในเครือของ SCG เล่าว่าบริษัทต้องใช้ไม้มากกว่า 2.5 ล้านตัน โดยที่ 95% ของไม้มาจากแปลงปลูกของเกษตรกรรายย่อย ทุกวันนี้พบว่าลูกค้ามีความต้องการเรื่องการรับรองมาตรฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ และตราประทับรับรองกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ แต่การทำระบบมาตรฐานให้กับเกษตรกรรายย่อยว่าไม้ที่ปลูกมีการจัดการที่ดีและเป็นไม้ถูกต้องนั้นยังคงต้องพัฒนา ซึ่งเห็นว่าระบบรับประกันความถูกต้องไม้แบบเฟล็กทีน่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่งของเกษตรกรรายย่อยได้ และเชื่อว่าทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่จะช่วยให้การตรวจสอบและติดตามไม้ทำได้ง่าย

คุณพงศา ชูแนม ผู้จัดการใหญ่ธนาคารต้นไม้ กล่าวว่าทุกวันนี้เราต้องยอมรับผิดด้วยกันว่าป่าไม้ของเราหายนั้นเป็นความผิดร่วมกัน อย่าโยนผิดไปให้แต่ชาวบ้านบนเขา หรือใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเราทำเช่นนี้มาตลอดจึงไม่เคยสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้เลย และต้นไม้วันนี้อยู่ในมือของประชาชน เพราะรัฐประกาศปิดป่ามานานแล้ว แต่เงื่อนไขที่จะทำให้เรามีป่าเพิ่มขึ้นได้คือต้องทำให้ประชาชนมีแรงจูงใจและทำให้ต้นไม้ที่ปลูกเป็นของผู้ปลูก และประชาชนต้องได้ประโยชน์ เช่นทำให้ต้นไม้มีมูลค่าตอนมีชีวิต รวมถึงการมีระบบการรับรองที่เป็นอิสระ ทุกวันนี้ประชาชนสามารถบันทึกทำทะเบียนต้นไม้ได้ด้วยตนเองแล้ว ซึ่งจะสอดคล้องกับระบบการจัดการแบบที่เฟล็กทีกำลังนำเสนอ เฟล็กทีจะเป็นกุญแจจะช่วยแก้ปัญหาระบบจัดการป่าไม้ไทย แต่ระบบนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิอันพึงมีของประชาชน

ในส่วนสุดท้ายฝ่ายตัวแทนกรมป่าไม้ คุณบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ สรุปว่าการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมทำข้อตกลงเรื่องเฟล็กทีนี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพียงเพื่อทำการค้าขายกับสหภาพยุโรปเท่านั้น เพราะมูลค่าการค้าไม้กับอียูไม่ได้สูงมากโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น แต่สิ่งที่กรมป่าไม้คาดหวังคือการใช้เครื่องมือนี้เป็นกลไกในการพัฒนาระบบมาตรฐานของประเทศในด้านการจัดการป่าไม้เพื่อให้เกิดระบบการประกันความถูกต้องของไม้ ซึ่งจะช่วยตรวจสอบที่มาและความถูกต้องของไม้ เพื่อการค้าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้กรมป่าไม้กำลังพัฒนาระบบลงทะเบียนสำหรับผู้ปลูกทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลการรองรับส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานในส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น 

หลังจากการเสวนาแล้วเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางผู้แทนกรมป่าไม้ โดยเน้นย้ำให้รัฐบาลดำเนินการการเจรจาข้อตกลงเฟล็กทีเพื่อการสร้างระบบรับประกันความถูกต้องของไม้ที่เอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคของการทำไม้อย่างถูกต้อง โดยข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขในระเบียบและกฎหมายปัจจุบันคือ

1.รัฐให้การยอมรับสิทธิชาติพันธุ์ชนเผ่าและสิทธิชุมชนที่ดำรงวิถีชีวิตจารีตประเพณีวัฒนธรรมในการอนุรักษ์และดูแลรักษาระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน
2.ให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการประกาศพื้นที่ป่าไม้ที่ทับซ้อนที่ดินของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้มีการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้ช่องทางตามกฎหมายพ.ร.บ.ป่าสงวนเช่าที่ดินเพื่อปลูกต้นไม้ได้อย่างครบวงจร 
3.ให้แก้ไข มาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยให้ยกเว้นไม้หวงห้ามประเภท ก ในที่ดินตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.สวนป่าใน พ.ศ 2535
4.ให้พ.ร.บ.สวนป่า 2535 (ฉบับแก้ไข) ยกเลิกบัญชีรายชื่อไม้ 58 ที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ โดยเปลี่ยนให้ไม้ทุกชนิดในพื้นที่สวนป่าสามารถนำมาขึ้นทะเบียนได้ตามพ.ร.บ.นี้ และให้ผู้ประกอบการสวนป่าที่ขึ้นทะเบียนแล้วสามารถรวมกลุ่มและนำไม้มารวมเพื่อทำการแปรรูปไม้ร่วมกันได้
5.โรงงานแปรรูปไม้ควรได้รับอนุญาตให้แปรรูปไม้ได้ทุกชนิดและเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง และใบอนุญาตโรงงานแปรรูปไม้ควรมีเพียงฉบับเดียวซึ่งสามารถแปรรูปไม้ ทั้งเลื่อยซุง อบ ไสซอย แปรรูปเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือไม้แปรรูปเพื่อการค้าในประเทศและส่งออก
6.ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติของพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เรื่องใบเบิกทางและใบกำกับไม้ด้วยการลดขั้นตอนเพื่อให้สะดวก มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
7.ควรให้เกิดการกระจายอำนาจในการรับรองแหล่งที่มาของไม้โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรภายนอกเป็นผู้รับรองได้โดยให้ภาครัฐเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยอมรับได้ทั้งอำนาจหน้าที่ วิธีปฏิบัติ และบทลงโทษ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ