RECOFTC Thailand
ព័ត៌មាន

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย ร้องขอให้ชะลอและมีมาตรการขยายเวลาสำหรับกฎหมายป่าไม้

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทำให้มีข้อจำกัดต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และอนุบัญญัติบางฉบับมีผลกระทบต่อชุมชน เป็นวงกว้างมากกว่า 10,000 ชุมชน เช่น อนุบัญญัติ ตามมาตรา 31 ที่ว่าด้วยการกำหนดขนาดของพื้นที่ป่าชุมชน และสัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ใช้ประโยชน์ภายในป่าชุมชน
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Cr. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย

ขณะสถานการณ์การแพร่ระบาดขั้นวิกฤตของโรคโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคโควิด-19อย่างเข้มงวด ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินงานร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และชะลอการออกอนุบัญญัติ พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562  จึงมีความเป็นไปได้อย่างสูง ว่าการดำเนินการสำรวจภายใต้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อาจไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หรือภายในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จะส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนที่อยู่อาศัย และชุมชนที่ทำกินในเขตป่าจำนวนประมาณ 2,970 ครัวเรือน ซึ่งมีพื้นที่ที่ต้องทำการสำรวจรวม 4.7 ล้านไร่

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
Cr.Photo ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย 

ทางเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย จึงส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (สามารถดูหนังสือถึงรมต.ได้ ที่นี่ รวมถึงเอกสารแนบถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่นี่โดยเนื้อหาหลักในหนังสือ “ขอให้มีมาตรการขยายเวลาในการสำรวจการถือครองที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติสามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ในพื้นที่คุ้มครอง ภายใต้พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และชะลอการออกอนุบัญญัติ พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562”  มีเนื้อหาหลักที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ให้มีมาตรการทางกฎหมายในการขยายการดำเนินการสำรวจที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ภายใต้ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.            สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยนับจากวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสอดคล้องกับใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562

2. ให้ชะลอการออกประกาศอนุบัญญัติที่เหลือ ภายใต้ พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จนกว่าจะมีกลไกในการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางโดยมั่นใจว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะเครือข่ายป่าชุมชนได้แสดงความคิดเห็นต่ออนุบัญญัติอย่างเพียงพอ

3. ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยให้เขตอุทยานฯ ต่างๆ เปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง หรืออำนวยความสะดวกด้านข้อมูลให้แก่สภาองค์กรชุมชนตำบล ที่อยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนจะได้นำไปเปรียบเทียบกับแผนที่ที่ชุมชนได้จัดทำข้อมูลเบื้องต้น (แผนที่ทำมือ, แผนที่ GIS , ฯลฯ) หรือบูรณาการข้อมูล ปรับใช้กับชุมชนในการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน เพื่อความโปร่งใสของข้อมูลของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้หัวหน้าอุทยานฯ หาวิธีการการทำงานร่วมกันกับสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ต่างๆ

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
นายสว่าง  เปรมประสิทธิ์ ประธานป่าชุมชนบ้านน้ำโค้ง ตำบลสระเนียน  เครือข่ายป่าชุมชน จ.น่าน 

การส่งหนังสือและการเคลื่อนไหวจากเครือข่ายครั้งนี้ เป็นการส่งข้อกังวลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการสิทธิที่ทำกินของตัวเองภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และพ.ร.บ.ฉุกเฉินที่อาจทำให้เสียสิทธิไป  ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของประชากรในประเทศที่ควรได้รับการดูแล เยียวยา และดำเนินการเชิงรุกให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
นายชูชาติ  ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล เครือข่ายป่าชุมชน จ.น่าน

อนึ่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://portal.dnp.go.th/Content?contentId=20074 (สามารถแสดงความคิดเห็นได้ระหว่างวันที่ 8 - 25 เมษายน 2563)