RECOFTC Thailand
សេចក្ដីប្រកាសព័ត៌មាន

รายงานข่าวเสวนาออนไลน์ “สิทธิของประชาชนและหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูล ต่อสาธารณะอย่างเป็นธรรม”

การเปิดเผยและเข้าถึงข้อมูลสาธารณะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลภาคการป่าไม้ นำมาซึ่งความโปร่งใส และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในการเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT VPA) กับสหภาพยุโรป ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ค้าไม้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดปัญหาไม้ผิดกฎหมาย ผ่านการพัฒนาระบบและกฎระเบียบเพื่อควบคุมความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ และขับเคลื่อนธรรมาภิบาลภาคการป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระบวนการเข้าร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เข็มแข็ง และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อบรรลุเป้าหมายของ FLEGT VPA ประเทศไทยจะต้องจัดเตรียมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และเท่าเทียม ต่อทั้งผู้ประกอบการทุกขนาดเพื่อการดำเนินธุรกิจ ภาคประชาสังคมในการติดตามตรวจสอบการบริหารจัดการภาคการป่าไม้ รวมไปถึงประชาชนที่สนใจ

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก FLEGT VPA ของประเทศไทย ร่วมด้วย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ สิทธิของประชาชนและหน้าที่ของรัฐในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างเป็นธรรม” เป็นเวทีหารือเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง อุปสรรคปัญหา และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์การมหาชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการเปิดเผยข้อมูลภาคป่าไม้อย่างโปร่งใส และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องความต้องการของประชาชนอย่างเป็นธรรม โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่

  • นายบัณฑิต วงศ์เสนานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน กรมป่าไม้
  • นายวรรธนพงศ์ คำดี                               ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
  • นายสุรเชษฐ์ ศศิพงศ์ไพโรจน์                 นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
  • นายสุนทร รักษ์รงค์                                 ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เฟล็กที
  • ผู้ดำเนินรายการ โดย วิภาพร วัฒนวิทย์ ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส
เสวนาออนไลน์
ผู้ร่วมเสวนาและผู้ดำเนินการเสวนาออนไลน์ วันที่ 29 ต.ค. 2564

มุมมองของภาครัฐต่อการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเชิงรุก

นายบัณฑิต วงศ์เสนานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน กรมป่าไม้ กล่าวถึงการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของศูนย์บริการประชาชน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานรัฐต่างให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนทุกช่องทาง โดยประชาชนสามารถร้องขอข้อมูลได้ ณ ศูนย์บริการประชาชน ติดต่อทางโทรศัพท์ หรือทางจดหมาย ตลอดจนช่องทางดิจิทัล ทั้งในเว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์  อาทิ Facebook LINE และเว็บไซต์หน่วยงาน เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการประชาชนให้ได้มากที่สุด

“ปัจจุบัน กรมป่าไม้พยายามปรับรูปแบบการให้บริการข้อมูลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยอาศัยหน่วยงานสำนักงานที่รับผิดชอบ เช่น ในเรื่องการปลูกป่า มีสำนักส่งเสริมการปลูกป่า ในเรื่องแนวเขตที่ดิน มีสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ เขาดูแลเรื่องแนวเขต เรื่องการออกโฉนด นส.3 สำนักโครงการพระราชดำริ ดูแลโครงการพระราชดำริ แม้กระทั่งผู้มาใช้บริการ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง เราจะทราบไม้ชนิดต่าง ๆ ว่ามีความหนาแน่น ความทนทานเท่าไหร่ สามารถมาเช็คที่สำนักวิจัยได้ มีการตรวจสอบ และตอบเป็นหนังสือ เพื่อใช้เป็นการรับรองจากทางการเพื่อการก่อสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ”

เสวนาออนไลน์
นายบัณฑิต วงศ์เสนานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน กรมป่าไม้

นายบัณฑิต วงศ์เสนานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน กรมป่าไม้ ารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลได้โดยตรง เมื่อศูนย์ฯได้รับเรื่องการร้องขอ หากเป็นข้อมูลตามมาตรา 7 และมาตรา 9 ภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร 2540 และเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ฯ ศูนย์ฯ ได้จัดทำแฟ้มเอกสารข้อมูล เพื่อพร้อมให้บริการประชาชน และหากเป็นข้อมูลนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของศูนย์ฯ ศูนย์ฯจะดำเนินการประสานกับสำนักงานหรือหน่วยงานเจ้าของข้อมูล และติดตามส่งข้อมูลให้กับประชาชน นอกจากนี้ ศูนย์บริการประชาชน กรมป่าไม้ ได้คำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การปกปิดชื่อ และที่อยู่ของผู้ร้องขอ เป็นต้น ซึ่งประเภทข้อมูลที่ประชาชนมีการร้องขอเป็นประจำ คือ เรื่องแนวเขตที่ดินป่าไม้ เขตป่าสงวนแห่งชาติ

“มีเรื่องการตรวจสอบข้อมูลที่เห็นบ่อย ๆ จะเห็นเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินป่าไม้ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ถึงไหน อย่างไร โดยปกติ ในเว็บไซต์เราจะลงไว้ในเรื่อง แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติมีแผนที่ท้ายกฎกระทรวง แต่ทั้งนี้ บางส่วนแผนที่อาจจะมีขนาดเทียบมาตราส่วนกว้างเกินไป เพราะฉะนั้นแล้ว เรามีเจ้าหน้าที่รังวัดคอยบริการ สำหรับท่านที่สงสัยว่าจุดตรงนี้ต้องเท่าตรงไหน หรือแนวเขตควบกัน หรือเข้าข่ายเกี่ยวข้องอย่างไร สามารถให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานรัฐภายนอก เช่น สำนักทรัพยากรป่าไม้ มีเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการ”

สำหรับข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14 และมาตรา 15  กรมป่าไม้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ในการพิจารณาและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารเฉพาะรายตามมาตรา 11 เพื่อพิจารณาข้อมูลข่าวสารที่อาจเข้าลักษณะตามมาตรา 14 และมาตรา 15 และ กรมป่าไม้ได้กำลังดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของกรมป่าไม้ในระดับพื้นที่ (สจป.ที่ 1 – 13 และ สจป.สาขาทุกสาขา) เพื่อกระจายอำนาจในการพิจารณาการขอข้อมูลข่าวสารเฉพาะรายมาตรา 11 และเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาการขอข้อมูล

“ข้อมูลที่ไม่ได้หวงห้ามตามมาตรา 15 เราก็จะเปิดเผยอยู่แล้ว เป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไป แหล่งข้อมูลความรู้ต่าง ๆ รวมทั้ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง เราสามารถที่จะลงเว็บไซต์ให้ดูเป็นประจำทุกเดือน แต่ถ้าบางกรณี เช่น มาตรา 15 ต้องพิจารณาเป็นครั้ง ๆ เรายังมีสำนักพื้นที่ตั้งคณะกรรมการรับเรื่อง และตัดสินใจได้หากไม่ซับซ้อนมากนัก เราให้ได้ แต่บางข้อมูลข่าวสารเป็นผลกระทบต่อคดี ต่อคนอื่น บางทีบางส่วนอาจให้ได้ บางส่วนอาจต้องปกปิดเพื่อความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูลข่าวสาร เราสามารถปกปิดตรงนั้นไว้ และสามารถให้บางส่วนได้ ข้อมูลต่าง ๆ เราจะเปิดเผยกันส่วนใหญ่ ส่วนที่หวงห้ามตามาตรา 15 เราก็จะพิจารณาให้ไวที่สุด”

อย่างไรก็ตาม การให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนยังคงมีความท้าทาย ได้แก่ ข้อมูลที่มีไม่ครบถ้วน ไม่เป็นปัจจุบัน ข้อมูลไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเกิดจากการขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจเรื่องข้อมูลสาธารณะและหลักการเปิดเผยข้อมูล กระบวนการพิจารณาที่ใช้ระยะเวลายาวนาน และการหวงแหนข้อมูลในหน่วยงานภาครัฐ  ตลอดจนงบประมาณด้านการบริการข้อมูลที่มีจำกัด และบุคลากรมีจำนวนน้อย

“สำหรับเจ้าหน้าที่เรื่องความเข้าใจไม่ตรงกันในการตีความ การใช้ดุลยพินิจที่ไม่ตรงกัน เราพยายามจัดอบรม เชิญวิทยากรที่มีความรู้ด้านนี้โดยตรงที่สามารถอธิบายความรู้เชิงลึกได้ แต่งบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ หลังจากนี้ เราพยายามปรับปรุงให้มีข้อมูลที่หลากหลายขึ้น และอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีข้อมูล การเสวนาวันนี้จะเป็นประโยชน์ ซึ่งแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้ทราบปัญหาไปด้วย”

“เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ปัญหาการตีความที่แตกต่างกัน

นายวรรธนพงศ์ คำดี ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ กล่าวถึงความหมาย “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” มีใจความที่สำคัญ คือ ข้อมูลใดที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน แก่บุคคล หรืององค์กร ให้สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมด โดยข้อมูลที่รัฐสามารถปกปิดได้ ตามมาตรา 15 คือ

  • ข้อมูลที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ ซึ่งหากเปิดเผยอาจก่อให้เกิดการบังคับใช้เสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เนื่องด้วยเกิดการแทรกแซงจากการรับรู้ข้อมูล
  • ข้อมูลความคิดเห็นหรือคำแนะนำภายในจากหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นไปตามระบบสายงาน เช่น การขอความเห็นกับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับสายงานนั้น ถือว่า ห้ามเปิด ซึ่งหากเปิดเผยอาจเป็นผลเสียต่อผู้ให้ความเห็น และอาจกระทบต่อสิทธิบุคคลอื่น
  • ข้อมูลที่หากเปิดเผยแล้วจะเป็นอันตรายต่อชีวิตผู้ให้ข้อมูล เช่น ผู้ร้องเรียน หรือพยานเหตุการณ์อันตราย
  • รายงานทางการแพทย์และข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งได้รับการคุ้มครองให้แพทย์สามารถรักษาคนไข้ได้อย่างมีอิสระตามความรู้ทางการแพทย์
  • ข้อมูลภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายฉบับอื่น เป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิกฎหมายนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ปกปิดข้างต้น หากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงร้องขอการเข้าถึงข้อมูล สามารถเข้าถึงได้ โดยต้องไม่กระทบสิทธิบุคคลอื่น

เสวนาออนไลน์
นายวรรธนพงศ์ คำดี ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

“หลักใหญ่ของการเปิดเผยข้อมูล คือ ถ้าเป็นประโยชน์สาธารณะต้องเปิด ถ้าเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐต้องเปิด ถ้าเป็นประโยชน์ต่อเอกชนคนที่ขอต้องเปิด ซึ่งมาตรา 15 ที่ต้องปิด คือ ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ต่อรัฐ ต่อคนขอ ข้อมูลที่ปิดไว้ เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากเกิดความเสียหาย อาจแก้ไขได้ยากหรือแก้ไขไม่ได้ เช่น ข้อมูลความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ปัญหาปัจจุบัน คือ ไม่มีความชัดเจนว่า อะไรคือ ความมั่นคง”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาหลักของการเปิดข้อมูลสาธารณะ คือ การตีความหมาย “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและประชาชน จึงทำให้ข้อมูลที่ภาครัฐเปิดเผยไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

“ปัญหาของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร อยู่ที่ demand และ supply ที่ต่างกัน ประชาชนต้องการอย่างหนึ่ง แต่ภาครัฐให้ข้อมูลที่แตกต่าง อยู่ที่การตีความแค่คำเดียว “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”  ซึ่งตีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับภาครัฐ ต้องมีหลักกฎหมายให้เปิดถึงเปิด ตามมาตรา 7 และมาตรา9  แต่หลักกฎหมายไม่บอกให้เปิด เท่ากับไม่ต้องเปิด จึงเข้าข้อยกเว้นมาตรา 15 ขณะที่ภาคประชาชน ตีความว่า ทุกอย่างเปิดได้หมด ต้องมีระบุข้อยกเว้นถึงปิดได้ตามมาตรา 15 เท่านั้น”

ทั้งนี้ จากปัญหาความไม่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐในการตีความและปฏิบัติใช้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารราชการ พ.ศ.2540 และอยู่ระหว่างการทบทวนสาระสำคัญมาตราต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“สำนักงานกำลังแก้ไขกฎหมาย โดยกำหนดคำนิยามให้ชัดว่า ข้อมูลที่ปกปิดได้มีอะไรบ้าง เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของรัฐให้มากที่สุด ซึ่งข้อมูลนอกเหนือจากที่ปกปิดได้ เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยสาธารณะทั้งหมด หากผ่านกฎหมายนี้ได้ ปัญหาเชิงโครงสร้างจะลดลง เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่การพัฒนากฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา”

ดิจิทัลเป็นเครื่องมือให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ทันการและเป็นธรรม

นายสุรเชษฐ์ ศศิพงศ์ไพโรจน์ นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) อธิบายถึงภาระหน้าที่หลักของสำนักงานฯ ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาการบริหารงานและการบริการของภาครัฐ ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการรัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 โดยกำหนดไว้ว่า ให้มีการเปิดเผยข้อมูลเปิดของภาครัฐ นำขึ้นไว้ที่ศูนย์กลางข้อมูลเปิดของประเทศ ชื่อ data.go.th โดยภารกิจของเจ้าหน้าที่ คือ รับเรื่องเรียกร้องจากภาคประชาชนหากประชาชนมีความต้องการข้อมูลในด้านต่าง ๆ สำนักงานฯ จะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และจัดหานำเสนอข้อมูลนั้น ๆ บนเว็บไซต์ศูนย์กลางข้อมูลเปิด

โดยนายสุรเชษฐ์ ได้นำเสนอแนวทางการปรับใช้ระบบดิจิทัล เพื่อพัฒนาโครงสร้างและกระบวนการการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่ประโยชน์ของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและได้รับข้อมูลที่มีคุณภาพ

เสวนาออนไลน์
นายสุรเชษฐ์ ศศิพงศ์ไพโรจน์ นักวิเคราะห์อาวุโส สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

“การที่เราจะไปถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มรูปแบบ (open government) ต้องผ่านการกระบวนการที่เรียกว่า digital transformation ก่อนอันดับแรก คือ ข้อมูลที่เข้ามาต้องเป็นดิจิทัลก่อน เพื่อที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงกันได้ ขณะที่ปัจจุบันหลายภาครัฐหลายภาคส่วนยังเป็น paper work (งานเอกสาร) ... ถัดไปคือ ปรับกระบวนงานตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้เป็นดิจิทัล (digitalization) ซึ่งจะทำให้ข้อมูลแต่ละหน่วยงาน ที่มีปัญหาข้อมูลไม่ครบถ้วน ข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน มีความซ้ำซ้อน หรือนิยามไม่ตรงกัน จะเริ่มประกอบกันเป็นภาพเดียวกันมากขึ้น เพราะทุกคนมีภาพข้อมูลของแต่ละคนมาประกอบกันและเจอกันตรงกลาง เมื่อต้นทางมีข้อมูลอย่างหนึ่ง ปลายทางเปลี่ยนข้อมูล เรามักจะต้องถกเถียงกันเสมอว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง  ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถตอบโจทย์ได้”

นอกจากนี้ สำนักงานฯ ได้มีแนวทางดำเนินงาน โดยภายหลังจากการปรับเปลี่ยนเป็นโครงสร้างดิจิทัล (digital transformation) จะดำเนินการผลักดันให้เกิด one stop service ที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูล และใช้ประโยชน์ข้อมูลได้อย่างทันการและตอบโจทย์คนทุกส่วน ซึ่งรวมถึงข้อมูลภาคป่าไม้ “หลังจาก digital transformation สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและเราควรทำคือ data exchange ให้เกิด one stop service มันอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดันไปถึงจุดนั้นให้ได้ ผลักดันทั้งแผนงาน แผนเงิน และแผนคน ซึ่งdigital transformation สามารถนำไปสู่การทำ one stop service ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับเรื่องร้องเรียน การนำเข้าข้อมูล เช่น ข้อมูลของภาคการป่าไม้ในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ เป็นต้น ”

ทั้งนี้ การผลักดันระบบดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐยังคงมีความท้าทาย โดยสรุปได้ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการยึดระเบียบที่ระบุไว้ในกฎหมาย แต่สิ่งที่ไม่ได้ระบุ คือ สิ่งที่ห้ามทำ ทำให้การเปิดเผยข้อมูลบางอย่างที่ประชาชนร้องขอจึงถูกปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้ระบุไว้ในตัวระเบียบราชการ (2) การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเทคโนโลยี ซึ่งหน่วยงานภาครัฐยังยึดการดำเนินงานผ่านเอกสาร (paper work) เป็นหลัก การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำเสนอแก่ประชาชนจึงเป็นไปได้ยาก (3) งบประมาณสำหรับการปรับโครงสร้างรัฐบาลดิจิทัล มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นหากผู้บริหารระดับสูงไม่เห็นความสำคัญของระบบดิจิทัล อาจผลักดันให้เกิดขึ้นได้ยาก และ (4) บุคลากรที่มีความรู้ด้านโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศมีจำกัด

สะท้อนมุมมองและประสบการณ์การเข้าถึงข้อมูลภาคป่าไม้ของประชาชน

นายสุนทร รักษ์รงค์ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เฟล็กที นำเสนอมุมมองภาคประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลภาคป่าไม้ ว่า “ภาคประชาสังคม เกษตรกร ผู้ปลูกไม้ ทำไม้ ไม่กังวลเรื่องช่องทาง แต่กังวลเรื่องเนื้อหาที่ยังไม่ครบถ้วน เราสามารถเข้าถึงได้ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร แต่ข้อมูลมีความหลากหลาย เนื้อหาไม่เชื่อมโยงกัน .. เราเข้าถึงข้อมูล มีช่องทางเข้าถึง แต่ไม่ได้คำตอบ” 

อุปสรรคที่สำคัญของเกษตรกร คือ กฎหมายที่ดินที่มีความทับซ้อน และข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เปิดเผยอย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนขาดความชัดเจนในเรื่องสิทธิการปลูกต้นไม้และการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ รวมถึงข้อกำหนดในแต่ละกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเภทที่ดินต่าง ๆ ยังไม่ครบถ้วน ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในทุกประเภทป่า อาทิ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ นสล. เป็นต้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร แต่ยังส่งผลถึงการสร้างพื้นที่ป่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน ตลอดจนการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

“เป้าหมายของพี่น้องภาคประชาสังคม คือ คุณภาพชีวิต คือ การยกระดับรายได้ เพราะฉะนั้น ตัวอย่างข้อมูลในการอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินป่าสงวน ปส.23 ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ใครบ้าง ให้กี่หมื่นไร่ เปิดได้ไหม เพราะปัญหาที่เราพยายามช่วยกันแก้ สร้างพื้นที่สีเขียว ลดการบุกรุกป่า รากของปัญหา คือ โครงสร้าง เรื่องความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นถ้าคุณลองเปิดเผยข้อมูลนี้ ว่าใครเช่าที่ จำนวนเท่าไหร่ ถ้าที่ดินเหล่านั้นช่วยนำมาจัดสรรให้คนจน ผมเชื่อว่า จะช่วยลดการบุกรุกป่าได้ การบุกรุกป่ามันผิด แต่เขาบุกรุกเพราะอะไร ก็เพราะว่า เขาจน”

นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการนิยามความชัดเจนของข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ยังขาดในกระบวนการการเปิดเผยข้อมูลปัจจุยัน

“วันนี้ในโทน SDG ข้อมูลเหล่านี้ ถ้าเราเอามาแชร์กัน ตัวอย่างข้อมูล เช่น วันนี้เรื่อง FLEGT-VPA กระบวนการรับรองป่าไม้อย่างยั่งยืน เราพูดถึงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และแรงงาน สิทธิสตรี วันนี้ข้อมูลตรงกันไหมว่า คนกรีดยาง 300,000 ราย ซึ่งจดทะเบียนตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การยางฯ วันนี้เป็นแรงงาน หรือเป็น stakeholder หรือ smallholder เพราะคุณไม่ได้ดึงการยางร่วม participate การยางตอบเขาไม่ใช่แรงงาน ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน … หรือตัวอย่าง ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เราต้องการข้อมูลว่า ไม้ของกระทรวงพาณิชย์ที่มีมูลค่า 4 กลุ่ม ที่จะทำเป็นหลักประกันธุรกิจได้ เรารู้ว่า ไม่มีไม้ยางพารา แต่ชาวบ้านอยากร้องเรียน อยากแสดงความคิดเห็นให้เพิ่มไม้ยางพาราเข้าไป”

เสวนาออนไลน์
นายสุนทร รักษ์รงค์ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เฟล็กที

ทั้งนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมได้สรุป 4 ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึง โปร่งใส และเป็นธรรม 

ประเด็นสำคัญ คือ 1) ข้อมูลเป็นองค์ความรู้และเป็นเครื่องมือของคนทุกฝ่าย ยิ่งปิดยิ่งอยากรู้ สามารถเป็นเครื่องมือสร้างข้อมูลเท็จของผู้ไม่หวังดี 2) นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ช่วยประหยัดคน และประหยัดงบประมาณ 3) การมีส่วนร่วมอย่างจริงใจของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเปิดเผยข้อมูลแก่ประโยชน์ของสาธารณะ 4) ประชาชน ภาคประชาสังคม ต้องรู้จักสร้างพลังการต่อรองโดยเฉพาะในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งในอนาคตอำนาจรัฐต้องเล็กลง”

สรุปการเสวนา

ในช่วงการเสวนาผู้อภิปราย และผู้เข้าร่วมประชุม ได้สรุปร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินงานขั้นต่อไปเพื่อการผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเชิงรุกและเป็นไปตามเป้าหมายหลักของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารราชการ ที่ยึดหลัก “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” 1) หน่วยงานรัฐควรกำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง 2) หน่วยงานรัฐต้องจัดเตรียมระบบเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ 3) หน่วยงานรัฐควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างเต็มที่ และให้มีความสะดวกที่สุด 4) ประชาชนควรสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐโดยการรวมกลุ่มที่จะสามารถช่วยเรียกร้องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีพลัง

“ในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ หน่วยงานรัฐต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐอย่าเกรงกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูล หากทำโดยสุจริต จะไม่เกิดผลกระทบแน่นอน ทั้งนี้ ขอชื่นชมการดำเนินการ FLEGT VPA ของกรมป่าไม้ ที่หันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องการเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงจัง” นายวรรธนพงศ์ คำดี ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและเผยแพร่สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กล่าว

ทั้งนี้ ทีมงานผู้จัดจะรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการเสวนานี้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาภาคผนวกว่าด้วย การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ (Public Disclosure of Information) ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญภายใต้ข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป (FLEGT VPA) รวมถึงจะถูกสะท้อนในข้อเสนอแนะทางนโยบายที่จะได้จัดทำในลำดับถัดไป

เสวนาออนไลน์

หมายเหตุบรรณาธิการ

ข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (FLEGT VPA)  เป็นข้อตกลงการค้าไม้ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ที่สหภาพยุโรปเปิดให้ประเทศผู้ผลิตไม้สามารถเข้าเจรจาด้วยความสมัครใจ ในการเข้าร่วม FLEGT VPA ประเทศผู้ผลิตไม้จะต้องพัฒนาระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ของประเทศ (Thai Timber Legality Assurance System: TLAS) เพื่อตรวจสอบ และออกหนังสือรับรองให้กับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพื่อยืนยันว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานของไม้ผ่านการปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบของประเทศ โดยไม้และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับหนังสือรับรองจากระบบ TLAS จะสามารถผ่านเข้าตลาดสหภาพยุโรปได้เลย โดยไม่ต้องถูกบังคับให้ทำ due diligence ตามกฎระเบียบ European Union Timber Regulation (EUTR) ของสหภาพยุโรป นอกจากนั้นแล้วหนังสือรับรองดังกล่าวยังได้รับการยอมรับในตลาดนานาชาติด้วย ปัจจุบันกว่า 15 ประเทศอยู่ในช่วงการเจรจา หรือเริ่มดำเนินการแล้ว ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเวียดนาม เป็นสองประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในช่วงการดำเนินการ FLEGT VPA แล้ว

ประเทศไทยเข้าร่วมการเจรจา FLEGT VPA อย่างเป็นทางการในปี 2556 และขับเคลื่อนการทำงานอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากความก้าวหน้าของการจัดทำร่าง FLEGT VPA ผ่านกระบวนการเข้าร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่เปิดให้ตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำข้อตกลงฯ เพื่อพัฒนาร่าง FLEGT VPA

ภายใต้การจัดทำร่างข้อตกลง คณะทำงานฯ ได้ดำเนินโครงการมากมายเพื่อพัฒนาระบบ และ ศักยภาพของการควบคุมความถูกต้องของไม้ นอกจากนั้น คณะทำงานฯ ยังได้ร่วมพัฒนานโยบาย และกฎระเบียบภาคการป่าไม้ของประเทศไทย ซึ่งการเสวนาออนไลน์นี้ นอกจากจะได้เก็บรวบรวมความเห็นเพื่อนำไปสะท้อนในภาคผนวกการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของข้อตกลง FLEGT VPA ยังเป็นการเก็บข้อมูล ช่องว่าง และความต้องการ ของผู้มีส่วนได้เสีย และสาธรณะ เพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอแนะทางด้านนโยบาย เพื่อการพัฒนากฎระเบียบของประเทศไทยต่อไป

FLEGT VPA ประกอบขึ้นจาก เนื้อหาข้อตกลง (VPA Legal Text) และ 10 ภาคผนวก ดังนี้

  1. ขอบเขตผลิตภัณฑ์ (Product Scope)
  2. นิยามความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ของประเทศไทย (Thai Timber Legality Definition)
  3. เงื่อนไขในการปล่อยสินค้าที่มีหนังสือรับรองเฟล็กทีของประเทศไทยเข้าสู่สหภาพยุโรป (Condition for the Release for Free Circulation in the European Union of Thai FLEGT-Licensed Timber Products)
  4. กลไกการออกหนังสือรับรองเฟล็กที (FLEGT Licensing Scheme)
  5. ระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ไทย (Thai Timber Legality Assurance System)
  6. การควบคุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ไทย (Thai Supply Chain Controls)
  7. คำอธิบายการตรวจสอบโดยอิสระ (Terms of Reference for the Independent Audit)
  8. ตัวชี้วัดในการประเมินความพร้อมในการดำเนินการระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ไทย (Criteria for Assessment of the Operational Readiness of the Thai Timber Legality Assurance System)
  9. การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ (Public Disclosure of Information)
  10. หน้าที่ของคณะกรรมการการดำเนินการร่วม (Functions of the Joint Implementation Committee)
  11. Pending list for enforcement and institutional development (รายการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อบังคับใช้กฎหมายและพัฒนาโครงสร้างองค์กร)

ประเทศไทย และสหภาพยุโรป จะสามารถลงนาม FLEGT VPA ได้ เมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถเห็นชอบเนื้อหาข้อตกลง และภาคผนวกทั้งหมด ปัจจุบันได้เห็นชอบไปแล้ว 3 ภาคผนวก และคาดว่าในการเจรจาที่จะถึงในปี 2565 จะสามารถเห็นชอบได้อีก 3 ภาคผนวก ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะลงสัตยาบันข้อตกลงได้ในเร็วๆ นี้ เมื่อเข้าสู่ระยะการดำเนินการ ฝ่ายไทยจะต้องเตรียมการระบบ โครงสร้าง บุคลากรทุกภาคส่วน รวมไปถึงกฎระเบียบ เพื่อรองรับการดำเนินการระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ไทย (THA-TLAS)

###

เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดวงเสวนา และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป

งานของรีคอฟเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)