RECOFTC Thailand

การมีส่วนร่วมของผู้หญิงสำหรับการเป็นผู้นำระดับหมู่บ้านในช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของนโยบายและกฏหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับป่าไม้ไทย

01 March 2021
เคท เกียร์ โครงการ V4MF
ผู้หญิงสองท่านจากหมู่บ้านน้ำหมาวได้แบ่งปันเรื่องราวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อประเมินแนวโน้มของผลที่ได้รับจากนโยบายและกฏหมายป่าไม้ไทย ซึ่งดำเนินการโดยรีคอฟ และมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้โครงการเสียงเพื่อป่าไม้ในลุ่มน้ำโขง (Voices for Mekong Forests, V4MF)
Notes from the Field
v4mf

การที่จะทำให้การปฏิรูปนโยบายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสำคัญกับเรื่องเพศภาวะมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ยากเพราะข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเพศภาวะต่าง ๆ จะหายไป คิดเป็นร้อยละ 67 ของกระบวนการตัดสินใจ

ด้วยเหตุนี้  โครงการฯจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสร้างกิจกรรมที่จะเพิ่มศักยภาพและจำนวนตัวแทนผู้หญิงให้มีบทบาทในทุกระดับของการตัดสินใจในประเด็นป่าไม้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ปี 2563  โครงการฯได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบต่อผู้หญิงและชุมชนท้องถิ่นจากนโยบายในประเทศไทย จึงได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์กลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลจในจังหวัดน่าน ขอนแก่น และจันทบุรี ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำกลับไปแบ่งปันกับชุมชน สมาชิกเครือข่ายป่าชุมชุนและผู้กำหนดนโยบายเพื่อทเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อผู้หญิงที่แตกต่างด้านนโยบายป่าไม้ของประเทศไทย

ผลการประเมินนี้เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม  เนื่องจากชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อทจะสร้างเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง และได้พบว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีในเรื่องกฎหมายและนโยบายป่าไม้

ปี 2562 รัฐบาลไทยได้ทำการแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานฯ National Park Act เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแลและชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งพ.ร.บ.  ป่าชุมชน 2562 Community Forestry Act of 2019 ฉบับใหม่ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสามารถรับรองป่าชุมชนที่อยู่ภายนอกพื้นที่คุ้มครองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายขณะเดียวกัน ทางรัฐบาลกำลังพัฒนากฎหมายลำดับรองและนโยบายที่จะรองรับการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. นี้

การมีส่วนร่วมของผู้หญิงสำหรับบทบาทผู้นำหมู่บ้าน

 
INLINE PHOTO
มูลนิธิรักษ์ไทยได้ให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานของอุทยานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาแผนที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาและทำการลงบันทึกข้อมูลเรื่องการใช้ที่ดินปี 2549  ปัจจุบันรีคอฟและมูลนิธิรักษ์ไทยกำลังร่วมกันพัฒนาแผนที่ฉบับใหม่อีกทั้งรวบรวมข้อมูลพื้นที่ป่าไม้และโฉนดที่ดินไว้ในฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแผนการจัดการป่าไม้ให้กับชุมชน

 

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ผู้เขียนได้เข้าร่วมการเยี่ยมชมชุมชนบ้านน้ำหมาว ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา  จังหวัดน่าน ซึ่งตดกับชายแดนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายของของการประเมินนี้  จากอดีตที่ผ่านมา  ชุมชนบ้านน้ำหมาวเป็นชุมชนย้ายถิ่นที่ได้เข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่ประมาณ 40 ปีแล้ว  เนื่องจากพื้นที่นี้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำและทรัพยากรป่าไม้ได้ ช่วงแรกที่ตั้งรกรากถิ่นฐานนั้น ชุมชนได้มีการจัดการป่าไม้และการดำรงชีวิตที่มาจากฐานทรัพยากร ซึ่งมีสมาชิกหมู่บ้านจำนวน 393 คน ประกอบด้วย เพศชาย 209 คน และ หญิง 184 คน   

สมาชิกหมู่บ้านได้เรียกการดำเนินการแนวทางนี้ว่า “ป่าชุมชน” แต่พื้นที่ที่พวกเขาดูแลจัดการและพึ่งพาอยู่นั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

ช่วงแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ สมาชิกชุมชนบ้านน้ำหมาวได้จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านและร่วมกันจัดทำกฎระเบียบชุมชนรวมถึงการจัดการป่าชุมชนด้วยประกอบด้วยคณะกรรมการทั้งหมด 12 คน แต่มีผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น

ขณะที่ทีมทำการศึกษาอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำหมาวนั้น ทำให้ได้พบกับผู้นำหญิงที่น่าทึ่งถึง 2 คน คือคุณสมควร ขาเหล็ก และคุณยุพิน อุปจักษ์

คุณสมควรเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ลงสมัครเลือกตั้งระดับชุมชน

คุณยุพินเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน  หลังจากได้รับการชวนเข้าร่วมกลุ่มผู้นำจากผู้ใหญ่บ้าน

มาทำความรู้จักกับคุณสมควร ขาเหล็ก

V4MF
คุณสมควร ขาเหล็ก ผู้หญิงคนแรกที่ได้ลงสมัครเลือกระดับหมู่บ้าน ยังเปิดร้านค้าขนาดเล็กของครอบครัวและทำอาหารท้องถิ่นอร่อย ๆ ให้กับแขกผู้มาเยือน

วันนี้ คุณสมควรกำลังดูแลร้านสะดวกซื้อร้านเดียวในชุนชนบ้านน้ำหมาว แต่อย่างไรก็ตามจิตวิญญานของความเป็นผู้นำผู้บุกเบิกได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว  สำหรับโรงเรียนในพื้นที่นั้นมีโรงเรียนรัฐบาลระดับประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น แต่คุณสมควรได้เรียนต่อถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากกศน. เธอได้อ่านหนังสือและทำการบ้านผ่านทางไปรษณีย์ และได้ไปสอบรับวุฒิการศึกษาที่ศูนย์กศน.ใกล้เคียง หลังจากนั้นได้ไปทำงานที่กรุงเทพนานหลายปีและกลับบ้านมาแต่งงานมีครอบครัวและลูก 2 คน

คุณสมควร มีอายุเพียง 26 ปี ขณะลงสมัครเลือกตั้งในปี 2547 การเลือกตั้งครั้งนั้น  คุณสมควรได้ชนะคะแนนเสียงจากทุกหมู่บ้านในตำบล และเป็นตัวแทนชุมชนในองค์การบริหารส่วนตำบล

การกลับจากกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านน้ำหมาว คุณสมควรต้องการจะปกป้องวิถีชีวิตของชุมชนจากการแสวงหาผลประโยชน์เชิงธุรกิจ อีกทั้งแรงสนับสนุนจากสามีของคุณสมควร ครอบครัว และเพื่อนบ้านในชุมชนต่างได้ช่วยให้เธอผ่านพ้นความกลัวต่าง ๆ จนลงสมัครรับเลือกตั้ง  ขณะที่คุณสมควรเป็นตัวแทนของชุมชนนั้น เธอได้รับแรงกดดันและความท้าทายมากมายที่แตกต่างจากคนอื่น-เธอพบว่าความท้าทายที่สุดคือการตั้งครรภ์และการดูแลลูกขณะรับตำแหน่ง

คุณสมควรได้พยายามจัดการเวลาความรับผิดชอบต่าง ๆ ในเวลานั้น เธอได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนหมู่บ้านเป็นเวลา 4 ปีพร้อมกับการดูแลลูกอีกทั้งงานบ้านบ้านเรือนและงานเกษตรของครอบครัว  บทบาทหน้าที่ของคุณสมควรทำให้เธอต้องเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคต่าง ๆ ในนามตัวแทนตำบล การรับหน้าที่นี้เป็นความท้าทายเพราะว่าคุณสมควรไม่สามารถขับรถได้ สามีจะเป็นคนขับรถรับส่งไปยังงานประชุมและงานอบรมต่าง ๆ หากเขาไม่ได้ติดงานอื่น ช่วงนั้นผู้หญิงคนเดียวในห้องประชุมนับเป็นเรื่องยากและแปลกตา อีกทั้งการทอยู่ตามลำพังกับผู้ชายอื่นนอกเหนือจากสามีตัวเองหรือคนในครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการส่งเสริม ขณะที่คุณสมควรมีความภูมิใจในตำแหน่งที่ได้รับแต่เธอก็เลือกที่จะไม่ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งต่อไป ซึ่งปัจจุบันสามีของคุณสมควรได้รับเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งนั้นแทน

ขณะที่มีผู้หญิงหลายคนทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ ในหมู่บ้าน  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อไม่นานมานี้ชุมชนนี้ได้มีผู้หญิงอีกคนที่ได้อาสามาทำหน้าที่ในตำแหน่ง

มาทำความรู้จักกับคุณยุพิน อุปจักษ์

คุณยุพินมีอาชีพเป็นเกษตรกรมาหลายทศวรรษ รวมถึงเคยทำงานในภาคแรงงานและโรงงานในกรุงเทพ ผู้ใหญ่บ้านได้ชวนคุณยุพินเข้ามาร่วมกับคณะทำงานของบ้านน้ำหมาวในปี 2555  คุณยุพินไม่ได้มีตำแหน่งมาจากการเลือกตั้ง แต่เธอก็รู้ว่า หากเธอรับบทบาทหน้าที่นี้จะเป็นภาระหน้าที่ที่หนัก ก่อนที่คุณยุพินจะรับปากเข้ามาทำหน้าที่ เธอได้ปรึกษากับคุณสมควรซึ่งทั้งคู่ก็ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อกังวลและความท้าทายที่ผู้หญิงจะต้องเผชิญในฐานะผู้นำชุมชน

V4MF
คุณยุพิน อุปจักษ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มสตรีและปัจจุบันยังเป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะกรรมการหมู่บ้านของบ้านน้ำหมาวอีกด้วย

คุณยุพินเคยมีประสบการณ์ด้านการเป็นผู้นำมาแล้ว จากช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเธอได้ทำงานเป็น อสม. ให้กับชุมชน ตอนที่มีผู้คนกลับเข้าหมู่บ้านเพราะสถานการณ์โควิด-19 คุณยุพินก็ได้ช่วยจัดการระบบคัดกรองผู้คนที่เข้าหมู่บ้านนี้ เพื่อทำให้ชุมชนมั่นใจว่า ผู้คนที่กลับมาได้รับการกักตัวอย่างเหมาะสมก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมปกติและดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติ

แม้คุณยุพินไม่ได้กล่าวถึงคุณสมบัติความเป็นผู้นำของเธอเลย แต่คุณสมบัติเหล่านี้แสดงออกมาอย่างเด่นชัดในเรื่องราวที่เธอถ่ายทอด  เนื่องจากครอบครัวไม่สามารถส่งเสียให้เธอเรียนจนจบได้ ดังนั้นคุณยุพินจึงได้อยู่ที่บ้าน คอยช่วยทำการเกษตรและดูแลที่ดินของครอบครัว  ขณะเดียวกันเธอก็ได้เรียนจนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายผ่านการศึกษาทางไกล หรือ กศน.

คุณยุพินให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากและปัจจุบันก็กำลังส่งเสียลูกสาวนั้นเรียนที่จังหวัดน่าน ซึ่งลูกสาวคนนี้เป็นสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่ได้รับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

นอกจากนั้น คุณยุพินก็ยังเป็นหัวหน้ากลุ่มสตรีในบ้านน้ำหมาวมีหน้าที่แบ่งปันข้อมูลจากคณะกรรมการหมู่บ้านกับกลุ่มผู้หญิงในชุมชน ก่อนที่ คุณยุพินจะมารับหน้าที่นี้ กลุ่มผู้หญิงในบ้านน้ำหมาวพึ่งพาแต่สมาชิกชายในครอบครัวสำหรับข้อมูลข่าวสารและแสดงความเห็นของตัวเองในกระบวนการการตัดสินใจต่าง ๆ ผ่านทางผู้ชายเท่านั้น

ความสำคัญของการประเมินผลกระทบของนโยบายต่อเพศภาวะ

สมาชิกในหมู่บ้านหลายคนได้แสดงความแปลกใจกับชุดคำถามที่ได้ถามเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของนโยบายป่าไม้ต่อผู้หญิงและชุมชนท้องถิ่น  เนื่องจากไม่ค่อยมีคนนอกได้เข้าไปที่หมู่บ้านเพื่อทำการชี้แจงกับกลุ่มผู้หญิงมาก่อน ปกติผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ชายจะเป็นผู้ที่ทำการพูดคุยกับผู้ที่มาเยือนแทนชุมชนทั้งหมด  จากการที่ได้พูดคุยกับคุณสมควร คุณยุพิน และสมาชิกของชุมชนคนอื่น ๆ ผู้เขียนได้มีความเข้าใจที่ลึกซื้งมากขึ้นในเรื่องของผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมกันของเพศภาวะต่อการจัดการชุมชนและป่าชุมชน

เนื่องจากเรื่องเพศภาวะไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาก่อนหน้านี้ จึงไม่มีกลไกที่จะสนับสนุนให้ผู้หญิงได้เข้ามาพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำและมีบทบาทหน้าที่ในชุมชนมากขึ้น จึงทำให้เรื่องราวของคุณสมควรและคุณยุพินเป็นเรื่องที่มีความโดดเด่นซึ่งทั้งสองคนสามารถทำงานและส่งเสียตัวเองจนได้รับการศึกษาขั้นสูงกว่าผู้หญิงคนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน และยังมีความคิดและอุดมการณ์ที่มุ่งมั่งในการผลักดันสิ่งที่เลือกทำ ทั้งสองคนยังได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและเครือญาติจึงให้สามารถรับบทบาทหน้าที่ที่ได่มากขึ้นได้ ความเข้มแข็งภายในและความตั้งใจอย่างเป็นธรรมชาติทำให้ทั้งสองก้าวสู่ความเป็นผู้นำหญิงในที่สุด

V4MF
คุณยุพิน อุปจักษ์ นำการสนทนากลุ่มย่อยเพื่อทำการประเมินตัวเองขณะทำกิจกรรมสัมภาษณ์กลุ่มเฉพาะที่บ้านน้ำหมาว

ถึงแม้ว่า สมาชิกชุมชนยังไม่รับรู้ถึงประเด็นนี้ เพศภาวะยังคงเป็นประเด็นหลักที่เป็นตัวแปรในการแบ่งแยกครัวเรือนและค่าจ้างแรงงาน เวลาที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างอาชีพและรายได้เสริมที่จัดให้โดยภาครัฐหรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ คณะกรรมการหมู่บ้านจะเป็นผู้ที่แนะนำว่า ใครควรเป็นผู้เข้าร่วมโดยนำเอาปัจจัยเรื่องเพศภาวะเป็นหลัก เช่น บ้านน้ำหมาวจะมีเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่เข้าร่วมการฝึกอาชีพการทำไม้กวาด และในการฝึกการตรวจลาดตระเวณป่าในพื้นที่ป่าชุมชนก็จะมีแต่ผู้ชายเท่านั้น เป็นต้น

คุณสมควรและคุณยุพินเป็นผู้นำหญิงที่บุกเบิกในบ้านน้ำหมาว ซึ่งไม่นานมานี้ ชุมชนนี้ก็ได้เพิ่มผู้หญิงเข้ามาในคณะกรรมการหมู่บ้านอีกหนึ่งคน ทั้งสองคนเป็นผู้เปิดพื้นที่ให้กับความคิดใหม่ๆ การตั้งคำถามที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการของหมู่บ้านและการโต้ตอบความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายป่าไม้ว่าจะเป็นไปอย่างไรจากเสียงของผู้หญิงเหล่านี้

จากข้อมูลที่ได้จากบ้านน้ำหมาวและชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย โครงการฯ จะทำการจัดพิมพ์ข้อมูลสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการประเมินในปี 2564 เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้กับผู้กำหนดการพัฒนานโยบายป่าไม้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเพศภาวะของประเทศไทย

###

เคท เกียร์เป็นเจ้าหน้าที่โครงการเสียงเพื่อป่าไม้ในลุ่มน้ำโขง (Voices for Mekong Forests, V4MF) โครงการ V4MF เป็นโครงการที่ได้รับทุนจากสหภาพยุโรป มีระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสียงจากประชาชนที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้มาจากภาครัฐ  ภาคประชาสังคม ผู้คนท้องถิ่นภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลป่าไม้ในประเทศกัมพูชา ประเทศลาว ประเทศเมียนมาร์ ประเทศไทย และประเทศเวียดนาม โครงการนี้ยังให้การสนับสนุนโครงการเฟล็กที (FLEGT) เรดด์พลัส (REDD+) และแนวการดำเนินการด้านธรรมาภิบาลป่าไม้อื่น ๆ   

เรื่องราวตามบทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เนื้อหาทั้งหมดอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรีคอฟและไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาจะสะท้อนแนวคิดหรือมุมมองของสหภาพยุโรปแต่อย่างใด

 

งานของรีคอฟได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิสเซอร์แลนด์ (Swiss Agency for Development and Cooperation, SDC) และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish International Development Cooperation Agency, Sida)