RECOFTC Thailand
រឿង

รายงานพิเศษจากเสวนาออนไลน์ “7 ปี นโยบาย คทช. ความก้าวหน้าและข้อท้าทาย”

17 September 2021
รีคอฟ ประเทศไทย
ปัญหาของคนกับป่า คนในเขตป่าไร้สิทธิในที่ดินทำกินถือเป็นปัญหาคลาสิคของงานป่าไม้ ซึ่งภาครัฐมีชื่อนโยบาย คำย่อที่ใช้เรียกแนวทางแก้ปัญหานี้มามากมาย ไม่ว่าจะ สทก. นค. สปก. จนมาถึงคทช. ซึ่งแต่ละนโยบายนั้นถูกมองว่า “ไม่เคยจบ” ได้ แม้จะแจกเยอะ แต่ไม่เคยจบ สำหรับนโยบายจัดสรรที่ดินล่าสุดที่กลายเป็นมาสเตอร์แพลนในการจัดการปัญหาที่ดินที่เรียกว่า คทช. ที่มาจากชื่อของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาตินั้น ซึ่งเริ่มตั้งไข่และเดินทางมาจนเกือบครบอายุ 7 ปีนั้นจะสามารถแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้อย่างที่หวังหรือไม่
In Focus
รายงานพิเศษ
  • ถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้ ถือเป็นเรื่องที่ดี จะได้ไม่ต้องมีการล่าช้าหรือขั้นตอนมากมาย ในเมื่อให้สิทธิ์ (ที่ดิน) อยู่แล้ว...
  • ขอให้ทุกฝ่ายทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นว่า คทช. เป็นทางเลือกสุดท้ายที่ดีที่สุดในยุคนี้ และมีการเกิดความสมดุลต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
  • ขอเรียนว่าทางรัฐบาล ที่ริเริ่มทำ คทช. มีความประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้ลุล่วง แล้วก็ไม่สร้างปัญหาใหม่ เราให้ที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง ไม่ใช่การแจก มีความจำเป็นที่ราษฎรจะต้องครองชีพได้ด้วย

ท่ามกลางความหวังและความกังวลเพราะยิ่งเวลายืดนานมากเข้าไปเท่าไร ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น บวกกับคำถามว่าถ้าการเมืองเปลี่ยน คทช. จะถูกเปลี่ยนแปลงไปอีกหรือไม่ เพราะสุดท้ายคนที่เดือนร้อนที่สุดคือประชาชนที่เฝ้ารอคอยมานานแสนนานในการที่จะได้เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินทำกินของตัวเอง เพื่อร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายที่ดินที่สำคัญยิ่งนี้ รีคอฟ ประเทศไทยจึงจัดเสวนาออนไลน์ขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ในหัวข้อ “7 ปี นโยบาย คทช. ความก้าวหน้าและข้อท้าทาย” การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ผ่านทาง Zoom และ Facebook live เพื่อให้มาร่วมสะท้อนถึงผลการดำเนินงานและสิ่งที่ต้องการเสนอแนะต่อการดำเนินการของคทช.ในช่วงเวลาต่อไป

วิทยากรนำเสนองานคทช.

1. ว่าที่ร้อยตรีพีรพล มั่นจิตต์ ผู้อำนวยการกองที่ดินของรัฐ รักษาราชการแทน รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

2.ณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน

3.ศิริชัย เรืองฤทธิ์ ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความร่วมมือและขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน

4.รุ่งอรุณ ฉัตรทอง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ

 

ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย

  1. กนกศักดิ์ ดวงแก้เรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา จ.เชียงใหม่ ตัวแทนชุมชนในพื้นที่ คทช.
  2. อวยพร มีเพียร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรับร่อ จ.ชุมพร ตัวแทนชุมชนในพื้นที่ คทช.
  3. ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร ประธานอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติและร่างแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ
  4. อรวรรณ ปัญญาพรวิทยา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนจัดการสิทธิ์การใช้ที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้
  5. บัญชา รุ่งรจนา เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้ จ. อำนาจเจริญ
  6. รศ.ธนพร ศรียากูล ประธานคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดำเนินรายการเสวนาโดย วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทย 

วรางคณาได้ฉายภาพเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดการที่ดินของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมา การจัดการที่ดินของรัฐใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นเส้นแบ่งทางนโยบายที่สำคัญในการพิสูจน์สิทธิ์และการถือครองที่ดิน

กรมป่าไม้เคยทำตัวเลขไว้เมื่อปี 2551 รายงานว่า ตามการสำรวจของมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 มีประชาชนครอบครองที่ดินอยู่ในเขตป่าประมาณ 340,000 ราย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6,400,000 ไร่ ต่อมาเมื่อมีการประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/57 และ 66/57  จึงมีการทบทวน แล้วก็มีการสำรวจตัวเลขคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอีกครั้ง พบว่ามีการขยายพื้นที่ทำกินออกไปในจำนวนมาก มีที่ดินขยายออกไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 12.5 ล้านไร่ มากกว่าเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง และครอบคลุมครัวเรือนมากกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน หรือครอบคลุมคนประมาณ 4.8 ล้านคน ตัวเลขของการครอบครองที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ว่าเราจะตัดสินใจเรื่องของการจัดการที่ดินนี้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เห็นว่าการขาดความชัดเจนและความล่าช้าในการดำเนินงาน ส่งผลให้เกิดการขยายที่ดินทำกิน และกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าได้ ซึ่งความไม่มั่นคงของสิทธิ์นี้กลายเป็นวงจรของปัญหาที่ไม่สิ้นสุด และนำไปสู่เรื่องของการทำกินที่ไม่ยั่งยืนด้วย

ในยุค คสช. ได้มีการกำหนดให้ปัญหาป่าไม้และที่ดินเป็นนโยบายหลักส่วนหนึ่ง จากนั้นมีการแถลงภายใต้การนำของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อสภานิติบัญญัติ กำหนดให้การแก้ความเหลื่อมล้ำของสังคมเป็นปัญหาสำคัญ และกำหนดรายละเอียดว่า จะต้องมีการแก้ปัญหาเรื่องไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกร รวมถึงการรุกล้ำเข้าไปในเขตป่า โดยจะต้องมีการกระจายสิทธิ์การถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ แล้วก็ป้องกันการรุกล้ำ ซึ่งต่อมามีการออกมาตรการการเปลี่ยนมือของการทำกินขึ้นมา ซึ่งควบคู่กับการปลูกป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงเรื่องส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า สร้างเศรษฐกิจที่มาจากภาคป่าไม้ ซึ่งตรงนี้มีลักษณะการจัดสรรเป็นแปลงรวม ไม่มีการมอบกรรมสิทธิ์ โดยให้ชุมชนจัดการร่วมกัน ซึ่งนโยบายนี้ ต่อมาออกเป็นมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่องการจัดการแบ่งเป็นที่ดิน 5 ประเภท หรือที่เราเรียกว่า “รถไฟ 5 ขบวน”   แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าความคืบหน้ายังไม่น่าพอใจมากนัก

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงการดำเนินงาน คทช. ตั้งแต่ปี 2557 เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ในเรื่องการตั้งถิ่นฐานและการทำกินในพื้นที่ของรัฐได้มากน้อยเพียงใด

ความเป็นมาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และบทบาทของสำนักงาคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)

ณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ชี้แจงถึงความเป็นมาและบทบาทการทำงานของ คทช. ว่า หน่วยงานแห่งนี้เกิดขึ้นจากประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่ดินและป่าไม้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเมื่อปี 2557 มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยมีเป้ามหายในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ แก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิ์ร่วมในการจัดที่ดินของชุมชน

ในระยะแรก ดำเนินการภายใต้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ปี 2557 ต่อมาเกิด คทช. ขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะรัฐบาลเล็งเห็นความจำเป็นในการช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงได้มีตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญในมาตรา 10 (4) ที่เกี่ยวเนื่องกับการกำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม กรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มอบหมายให้ คทช. ดำเนินการ คือการจัดที่ดินในรูปแบบที่ไม่ให้กรรมสิทธิ์หรือรูปแบบอื่นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุด

"คทช. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดมาตรการหรือแนวทางการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยการจัดที่ดินในรูปแบบที่ไม่ให้ทางกรรมสิทธิ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม" ณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน  

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นหน่วยงานที่ดูแลทางด้านนโยบาย ทำหน้าที่แทนให้กับ คทช. และประสานร่วมกับหน่วยงานที่ดิน ทรัพยากรดิน และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน รวมถึงคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องที่ดิน โดย สคทช. มีร่างนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ปัจจุบันร่างฯ อยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นตามมาตรา 13 ของ คทช. ปี 2562  ร่างฯ ดังกล่าวนี้ มีการนำมาใช้ในการดำเนินงาน คือ นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2579 โดยมีกรอบยุทธศาสตร์กำหนดไว้ 4 ด้าน

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชน ผู้ยากไร้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน

ความคืบหน้าการดำเนินงาน คทช.

ณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้นำเสนอการดำเนินงานว่าได้มี     การกำหนดพื้นที่เป้าหมายตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันคือปี 2564 มีพื้นที่รวมทั้งหมด      1,071 พื้นที่ ประกอบด้วย 7 ประเภทพื้นที่เป้าหมาย

1) ป่าสงวนแห่งชาติ 375 พื้นที่

2) พื้นที่ป่าตาม พรบ. ป่าไม้ 1 พื้นที่

3) พื้นที่ ป่าชายเลน 502 พื้นที่

4) ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 75 พื้นที่

5) ที่ดินสาธารณะประโยชน์ 80 พื้นที่

6) ที่ราชพัสดุ 7 พื้นที่

7) ที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเองมี 31 พื้นที่

ซึ่งผลการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน มีดังนี้

ที่มา เอกสารประกอบการนำเสนอในงาน เสวนาออนไลน์ 7 ปี คทช. วันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดย สคทช.
ที่มา: เอกสารประกอบการนำเสนอในงาน เสวนาออนไลน์ 7 ปี คทช. วันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดย สคทช.
  1. คทช. จังหวัดเห็นชอบขอบเขตพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 734 พื้นที่ คิดเป็นประมาณ 1.5 ล้านไร่
  2. มีการออกหนังสืออนุญาตในภาพรวมแล้ว 267 พื้นที่ คิดเป็นประมาณ 7 แสนไร่
  3. มีการจัดคนเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้ว เห็นชอบแล้วประมาณ 6 หมื่นกว่าราย จำนวน 74,000 กว่าแปลง
  4. มีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในพื้นที่แล้ว 177 พื้นที่ โดยดำเนินการตามกรอบการดำเนินการ 6 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1 ด้านการพัฒนาที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานข้อมูลโซนนิ่ง คือการวิเคราะห์วางแผนการใช้ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างมีระบบ สมดุล ยั่งยืน ดำเนินการไปแล้ว 78 พื้นที่

ด้านที่ 2 ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นด้านที่สำคัญ ดำเนินการไปแล้ว 42 พื้นที่

ด้านที่ 3 ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยการจัดทำเมนูอาชีพให้เป็นทางเลือกของเกษตรกรหรือราษฎร  ไม่ว่าจะเป็นด้านการประมง ด้านการปศุสัตว์ ด้านการปลูกพืชทำการเกษตร ดำเนินการไปแล้ว 76 พื้นที่

ด้านที่ 4 ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่ม เช่นในรูปของสหกรณ์ หรือรูปแบบอื่น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ มีการรวมการจัดตั้งสหกรณ์ใหม่ รวมถึงการรวมกับสหกรณ์เดิมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ดำเนินการไปแล้ว 112 พื้นที่  โดยจัดตั้งสหกรณ์ได้ทั้งหมด 53 แห่ง

ด้านที่ 5 ด้านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งอยู่ในส่วนของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ ธกส. ในปัจจุบันก็ยังอยู่ในเรื่องของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าไปรับผิดชอบและดำเนินการ โดยดำเนินการแนะนำไปแล้ว 17 พื้นที่ใน 10 จังหวัด

ด้านที่ 6 ด้านการส่งเสริมและการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินการควบคู่ไปกับการรวมกลุ่มสหกรณ์ เป็นการแนะนำให้กับราษฎรที่ได้รับการจัดที่ดินในพื้นที่ ได้แจ้งไปแล้วกว่า 59 พื้นที่ใน 33 จังหวัด

นอกจากนี้ สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท มีประมาณ 17 กว่าล้านไร่ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 มีแนวทางการแก้ไขปัญหาแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 เป็นชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 3, 4 และ 5 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 กลุ่มที่ 1 ก็คือกลุ่มที่กรมป่าไม้ได้กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมาย ดำเนินการในรูปแบบของ คทช.

กลุ่มที่ 2 เป็นชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4 และ 5 อยู่หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 30 มิถุนายน 2541 และต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/57 กรมป่าไม้ต้องดำเนินการตามรูปแบบ ตามกฎหมายที่ทางกรมป่าไม้ได้กำหนดไว้

กลุ่มที่ 3 เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 ที่ 2 ทั้งที่อยู่ก่อนมติคณะรัฐมนตรีและอยู่หลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ดำเนินการตามกฎหมายที่กรมป่าไม้กำหนดไว้เช่นเดียวกัน

กลุ่มที่ 4 เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ก่อนและหลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ตรงนี้เป็นความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนะครับ

กลุ่มที่ 5 เป็นชุมชนในเขตป่าชายเลน ซึ่งส่วนที่เป็นเขาแบ่งออกเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกับพื้นที่เกษตรกรรม และอีกส่วนคือพื้นที่เมือง ซึ่งมีประมาณทั้งสิ้น 850,000 ไร่ เป็นความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มที่ 2 ถึง 5 ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ  ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ อยู่ระหว่างการสำรวจ หรืออยู่ในระหว่างการที่จะต้องไปออกกฎหมายลำดับรองเพื่อมารองรับการจัดคนลงในพื้นที่

ทิศทางการทำงานและเป้าหมายการดำเนินงานของสคทช. ในระยะต่อไป

สคทช. กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้เกือบ 2 ล้านไร่ และมีผู้ยื่นขอหนังสืออนุญาตประมาณ 700,000 คน (ตั้งแต่เริ่มจนถึงปี 2564) ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็คือกระบวนการตามกฎหมายต่างๆ แต่ที่ดูน้อยจริงๆ ก็คือ การส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่ยังถือว่ามีความก้าวหน้าและสำเร็จน้อยมาก    

คทช. เป็นส่วนหนึ่งในทุกอนุกรรมการ รวมถึง คทช. จังหวัด โดยจะต้องมีการเข้าไปเร่งรัดในพื้นที่เดิมก่อน พื้นที่ที่กำหนดเป้าหมายไปแล้ว แต่กระบวนการยังค้างคาอยู่ พื้นที่ไหนที่ยังไม่อยู่ระหว่างการจัดคนลง หรือว่าการส่งเสริมพัฒนาอาชีพควรจะต้องดำเนินการอย่างไร ติดปัญหาตรงไหนก็จะบูรณาการหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรด้วยกันให้เพิ่มมากที่สุด

และในปี 2565 ยังมีพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากพอสมควร ดังนั้นพื้นที่ไหนกำหนดเป้าหมายแล้ว ตรวจสอบขอบเขตเสร็จแล้ว จะต้องมีการจัดคนลง แล้วก็ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ จึงจะครบกระบวนการ

คุณณัฐวุฒิ เปลื้องทุกข์กล่าวว่า       “ถ้าพื้นที่เป้าหมายเดิมยังไม่ครบกระบวน พื้นที่ใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในปี 2565 ก็จะต้องเร่งดำเนินการ อันนี้เป็นหน้าที่หนึ่งของ คทช. ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ชุดใหญ่ เราจะต้องกำกับดูทั้งหมด ทั้งอนุกรรมการจัดหาที่ดิน และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ

เราต้องเข้าไปเร่ง คทช. จังหวัดด้วย เพื่อจัดคนลงพื้นที่ ต้องเร่งดำเนินการ เพราะมีประชาชนที่ยังต้องเข้าอยู่ในพื้นที่รออยู่ รอว่าเมื่อไหร่จะได้รับการอนุญาต ซึ่งเรื่องบางส่วนอยู่ที่ คทช. จังหวัดแล้ว เราก็ต้องไปตาม ถ้าติดประเด็นปัญหาตรงไหน หรือว่าไม่สามารถจัดคนลงได้อย่างไร เราก็จะต้องร่วมด้วย ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานกลาง ก็ต้องคิดว่าจะเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร

“จริงๆ แล้วในทางปฏิบัติตามนโยบาย สำนักงานจะเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4, 5 ซึ่งไม่ค่อยมีความอ่อนไหวในทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่พอมีการขยายผลไปสู่ระยะที่ 2 กลับพบความอ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า”      

บทเรียนการดำเนินงานคทช.เสียงสะท้อนจากท้องถิ่น    

การดำเนินงาน คทช. ในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนจากชุมชนที่ได้รับ คทช. ในพื้นที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร พบว่านโยบายเป็นสิ่งที่ดี และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดิน แต่ทว่าการนำมาปฏิบัติยังมีข้อติดขัด

นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา จ.เชียงใหม่ ระบุว่า เป้าหมายของ คทช. คือมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดสรรที่ดินอย่างเดียว ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการสร้างมูลค่า และคุณค่าจากการประกอบอาชีพต่างๆ ในพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ผ่านมาพบว่า การดำเนินงานบางอย่างยังต้องขออนุญาตจังหวัด และต้องรอความชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เช่น การเลี้ยงปศุสัตว์ ประชาชนต้องการสร้างโรงเรือน ก็ต้องไปขออนุญาตตาม พรบ.ควบคุมสิ่งก่อสร้าง

อีกทั้งมีความไม่ชัดเจนว่าใครคือเจ้าของพื้นที่ตัวจริง ส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ หลายเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องไปขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดเสียทุกเรื่อง เช่น กรณีที่แม่ทาตอนนี้ ชาวบ้านปลูกไม้สักไว้ 160,000 ต้น แต่ยังหาแนวทางการนำไม้ออกจากพื้นที่ไม่ได้

แต่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนมากคือ นโยบายเส้นแบ่งขอบเขตลุ่มน้ำทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชุมชน เกิดคำถามว่าทำไมได้รับเอกสิทธิ์ไม่เท่ากัน ทั้งที่ก็ไม่ได้อยู่ไกลกัน เช่นกรณีของพื้นที่อำเภอแม่แจ่มที่มีชุมชนอยู่ในเขตลุ่มน้ำ 1 และ 2 กว่า 80% แต่สามารถอนุญาตให้ได้เฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4, 5 ดังนั้น จึงอยากขออนุญาตให้ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 และ 2 เข้าสู่กระบวนกาเร็วที่สุด หากยังดำเนินการล่าช้า อาจจะทำให้การยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าทำได้ยาก เนื่องจากยังมีความไม่มั่นคงและไม่แน่นอนของนโยบาย อีกทั้งยังกังวลว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีก จะต้องเริ่มต้นใหม่หรือไม่

“ ถ้าเอาโมเดลเชิงพื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้ง แล้วก็ทำรถไฟทั้ง 5 ขบวน หรือทำแค่ 3 ขบวนก่อนก็ได้ ให้มี 1 และ 2 เข้าสู่กระบวนการ คทช. ให้ได้ไวที่สุด จะเป็นการหยุดยั้งการบุกรุกจาก 6 ล้าน เป็น 12 ล้าน ผมว่าตอนนี้ ถ้า คทช. ยังเดินต้วมเตี้ยมแบบอย่างนี้ ขบวนการสูญเสียพื้นที่ป่าจะเยอะไปกว่านี้” กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่          

กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่   
เครดิตภาพ: (คลังภาพ) กนกศักดิ์ เรือนดวงแก้ว ในหนังสือ “ล้อมวงคุย นโยบายและกฏหมายป่าไม้-ที่ดินไทย 2562 สู่การเตรียมความพร้อมชุมชน”

ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ซับซ้อน คือการส่งต่อสิทธิ์ คทช.ไปถึงทายาท ที่ระบุไว้ว่าต้องเป็นไปตามลำดับทายาท ตามกฎหมายที่ดิน แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทายาทโดยการสืบสกุลในบางครอบครัวไม่ต้องการทำการเกษตร และย้ายไปพำนักในต่างถิ่น แม้ว่าจะมีการทำประชาคมหมู่บ้านรับรองแล้วว่าผู้ดูแลที่แท้จริงคือใคร แต่ก็มาติดขัดที่ระดับอำเภอ

ทางชุมชนจึงอยากเสนอให้มีการกระจายสิทธิ การส่งต่อสิทธิ์จากรัฐมาถึงชุมชน มอบอำนาจการจัดการในพื้นที่ให้ท้องถิ่น คือองค์การบริหารส่วนตำบล หรือสหกรณ์เป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ ภายใต้การกำกับและติดตามร่วมกันของอำเภอหรือจังหวัด ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้การดำเนินงานมีความรวดเร็ว และแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

ยิ่งในยุคที่เชื้อโควิดระบาด ยิ่งจำเป็นที่ชาวบ้านควรจะได้รับสิทธิ์ในการทำกิน เพราะจะช่วยพยุงฐานะของครอบครัวให้ดีขึ้นมา เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการจัดการตนเองและครอบครัว รวมถึงได้มีโอกาสเข้าถึงรัฐสวัสดิการต่างๆ ด้วย

เช่นเดียวกับอวยพร มีเพียร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรับร่อ จ.ชุมพร ที่ระบุว่า กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมกับ คทช. ต่างรอคอยด้วยความหวัง บางคนรอจนล้มหายตายากไปแล้วก็มี ทั้งที่ชาวบ้านมีความพร้อมแล้วในทุกด้าน มีการเก็บข้อมูลพื้นที่ไว้แล้วอย่างเป็นระบบ แม้กระทั่งแผนการจัดเก็บภาษีก็ทำไว้เรียบร้อยแล้ว และบางพื้นที่ที่เข้าโครงการเรียบร้อยแล้วก็ยังติดขัดเรื่องขั้นตอนของระบบราชการที่มีหลายขั้นตอนในการขออนุมัติ ทั้งที่เป้าหมายหลักของ คทช. คือ สร้างอาชีพและความยั่งยืนในการใช้พื้นที่

" ถ้าหมดยุครัฐบาลอันนี้แล้วมันจะเป็นอะไรอีก เราก็เหมือนโดนลอยแพอยู่ตลอด นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงอยู่ตอนนี้ " อวยพร มีเพียร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรับร่อ จ.ชุมพร

นี่คือเสียงสะท้อนจากตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วม คทช. และเฝ้ารอคอยในการอนุมัติสิทธิ์มาอย่างยาวนานเป็นชั่วอายุ ทุกคนต่างรอวันที่จะได้มีที่ทำกินของตัวเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าอีกต่อไป

เสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่

ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อรองรับนโยบายก็มีปัญหาในมิติที่ต่างออกไป เพราะเป็นตัวกลางที่ยืนอยู่ระหว่างประชาชนที่เต็มไปด้วยความต้องการและฝ่ายนโยบายผู้ออกกฎหมายที่พยายามเร่งรัดงานต่างๆ ให้เกิดขึ้น

ในฐานะผู้ปฏิบัติในพื้นที่ พวกเขาพบว่าการกำหนดแนวนโยบายที่ผ่านมา ยากต่อความเข้าใจของชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้านเดียวกัน พื้นที่ติดกัน แต่ว่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำแตกต่างกันก็จัดอยู่ในกลุ่มการแก้ไขปัญหาที่ต่างกัน แล้วการเข้ามาครอบครองยังมีเงื่อนเวลาไม่เหมือนกัน ซึ่งการเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจและยอมรับนั้น ไม่สามารถทำได้ระยะเวลาอันสั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนของขอบเขตที่ดินของรัฐก็เป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำงานในพื้นที่ เช่น กรณี ส.ป.ก รุกล้ำเข้ามาในเขตป่าสงวน ทำให้เกิดความซับซ้อนของตัวบทกฎหมาย เกิดความยากในการเข้าไปดำเนินงาน เนื่องจากไม่สามารถใช้กฎหมายป่าสงวนได้อย่างชัดเจน อีกทั้งพบว่า การรังวัดออก ส.ป.ก. 4-01 ออกนอกเขตปฏิรูปล้ำเข้ามาเขตป่าสงวนที่กรมป่าไม้ดูแลรับผิดชอบอยู่ แล้วชาวบ้านก็เข้าใจว่าตัวเองได้รับสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จากความไม่ชัดเจนของตัวบทกฎหมายดังกล่าว ทำให้การที่จะไปปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถบอกตรงๆ ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ ก่อให้เกิดความลำบากใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก

“เราจะทำการจัดระเบียบการใช้ที่ดินรับรองการอยู่อาศัยทำกินในลักษณะแปลงรวม ส่งเสริมการปลูกไม้ตามแนวพระราชดำริ แล้วก็มีการอนุรักษ์ดินและน้ำ ควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันนี้จะเป็นโครงการจัดระเบียบของกรมป่าไม้ ใช้อำนาจตามมาตรา 19" อรวรรณ ปัญญาพรวิทยา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผอ.ส่วนจัดการสิทธิ์การใช้ที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ 

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งในการทำงานสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ คือการสื่อสารกับประชาชนบางส่วนที่เคยถูกจับกุมอันเนื่องมาจากความกดดันทางเศรษฐกิจ และสภาพของสังคมการเมืองการปกครอง พอเจ้าหน้าที่เข้าไปคุยก็สร้างความกังวลให้กับชาวบ้าน การอธิบายหรือพูดคุยไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียวจบ ประชาชนมีความระแวง ระมัดระวัง เพราะเกรงว่าจะโดนยึดพื้นที่ แม้ว่า คทช. จะมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานมาตั้งปี 2557 แล้วก็ตาม

และแม้ว่าประชาชนบางส่วนเกิดความเข้าใจในนโยบาย คทช. แล้ว แต่ด้วยการรอคอยที่ยาวนาน ทำให้พวกเขาไม่ยอมรับ และต้องการการจัดที่ดินในรูปแบบอื่น แม้ว่าผู้ปฏิบัติงานได้สื่อสารและอธิบายทำความเข้าใจในแง่มุมของการจัดการและกฎหมายแล้วก็ตาม ว่าไม่สามารถที่จะเปลี่ยนรูปไปเป็นโฉนดหรือ ส.ป.ก ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ต้องการ คทช. จึงมองว่าอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า คทช. จะมีความมั่นคงหรือไม่ สิ่งที่ได้รับจะสามารถอำนวยประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ ภาครัฐยังไม่สามารถพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นได้ ตอนนี้จึงทำได้เพียงเข้าไปอธิบายหลักเกณฑ์ แต่ยังไม่มีตัวแบบที่เกิดผลเป็นรูปธรรม

“ เราจะปล่อยคาราคาซังอย่างนี้ไม่ได้ ชาวบ้านร้องว่าถูกรอนสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ก็บอก ผมก็ทำตามหน้าที่ มันต้องมีจุดจบครับ” ร.ศ. นพพร ศรียากูล ประธานคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

รศ.ธนพร ศรียากูล ประธานคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เครดิตภาพ: (คลังภาพ) รศ.ธนพร ศรียากูล ประธานคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการจัดการที่ดินฯ อ.ปัว จ.น่าน วันที่ 25 ก.ย. 63 

ดังนั้นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นต้องการคือ อยากให้โยบายมีความชัดเจนและมั่นคง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ก็ทำตามนโยบายตลอด ปรับตัวไปตามนโยบายที่ปรับใหม่ ตามหลักเกณฑ์ ตัวบทกฎหมาย แต่การปรับเปลี่ยนและความไม่มั่นคงนี้ ได้สร้างความไม่เชื่อมั่นและสับสนให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ถ้าเป็นไปได้ อัตรากำลังพลหรือบุคลากรที่เพิ่มขึ้นก็น่าจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงงบประมาณของเจ้าหน้าที่ก็มีความสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ก็สุดแล้วแต่การจัดสรรจากระดับนโยบาย

“ เจ้าหน้าที่ป่าไม้เองต้องมีการพัฒนาขึ้นเยอะ เพราะว่าการทำงานเท่าที่ดูแล้วไม่ได้ทำงานกับต้นไม้ ไม่ได้ทำงานกับที่ดิน จริงๆ การทำงานกับคน ต้องเพิ่มทักษะเรื่องของการทำงานกับคน และการไปสร้างปฏิสัมพันธ์” บัญชา รุ่งรจนา เจ้าหน้าที่ป่าไม้อาวุโส

มุมมองวิชาการ และข้อเสนอเพื่อหาทางออกของปัญหาที่ดินป่าไม้      

ในส่วนของนักวิชาการและผู้ที่ทำงานด้านป่าไม้และที่ดินอย่าง ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร ซึ่งทำการศึกษาและสำรวจมาอย่างต่อเนื่องก็มีทั้งข้อทักท้วง และข้อชี้แนะเพื่อให้การดำเนินงานของ คทช. เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้และที่ดินที่นับวันยิ่งมีการบุกรุกเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยังเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนคนกับป่าอีกด้วย

ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร มีคำถามว่า การแก้ไขเรื่องแนวเขตและการจัดระเบียบพื้นที่เป็นส่วนๆ ตามวัตถุประสงค์ (Zoning) ทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ คทช.ใช้ มติ ครม.เรื่องพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่

และอีกคำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ “กฎหมาย” คทช. เอามาบังคับใช้นั้น เป็นกฎหมายที่เชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น ทั้งกฎหมายป่าไม้ กฎหมายกระทรวง 5 กระทรวง ซึ่งแต่ละกฎหมายมีกรรมการที่มีอำนาจตามกฎหมายของตนเอง เลยเกิดข้อสงสัยว่า ทำอย่างไรที่จะสามารถเชื่อมโยงให้เกิดเอกภาพได้ ทั้งหน่วยงาน กฎหมาย และมติ ครม.

“การจัดการที่ดินอย่างรับผิดชอบ คนมีโอกาสใช้ที่ดินต้องรับผิดชอบ คนจัดสรรที่ดินต้องรับผิดชอบ คนไม่มีโอกาสก็ต้องถูกรับผิดชอบโดยคนใช้ที่ดินและเกิดผลกระทบ" ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เครดิตภาพ: (คลังภาพ) ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร ร่วมเวทีนำเสนอรายงาน และเสวนาการพัฒนาข้อเสนอการจัดการไม้บนที่ดินรัฐเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2563

นอกจากนี้ พอไล่ลงมาถึงขั้นตอนการทำงานจริง เมื่อเกิดการมอบสิทธิ์รายแปลงในประชาชนแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับเป็นผู้ได้รับมอบจาก คทช. ไม่ใช่ประชาชน เรื่องนี้สำคัญมาก ต้องมีการบูรณาการใหม่ ควรมีการถ่ายโอนอำนาจบางประการจากผู้ว่าราชการจังหวัด ลงไปสู่องค์กรส่วนท้องถิ่นหรืออื่นๆ แต่ต้องร่วมรับผิดชอบถ้าเกิดปัญหา และมีการกำกับดูแลร่วมกัน ประกันให้การใช้ที่ดินมีความสมดุลและคำนึงถึงผลกระทบทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมต่อ คทช.

สิ่งหนึ่งที่หลายฝ่ายเห็นร่วมกันในการเสวนาครั้งนี้ก็คือ คอขวดของลำดับขั้นตอนในการทำงาน และความหยุมหยิมของระบบราชการที่ซ้อนทับ  ภาคประชาสังคมที่ร่วมเสวนาจึงมีความเห็นว่า ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดคือผู้ได้รับมอบสิทธิการถือครองที่ดินแปลงรวมจากกรมป่าไม้ โดยไม่มีการถ่ายโอนสิทธิต่อไปให้ถึงมือของชุมชน ทำให้การทำงานต่อจากนั้นมีความยุ่งยาก กรณีของแม่ทาเป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่มาก งานของผู้ว่าราชการก็ล้นมือ จนมองข้ามปัญหาเรื่องที่ดินของชาวบ้าน จึงขอเสนอให้รัฐถ่ายโอนสิทธินั้นต่อให้แก่องค์กรชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อทำให้การดำเนินการคล่องตัว และสร้างระบบการจัดการร่วมกันอย่างแท้จริงของชุมชนให้เกิดผลสำเร็จขึ้น

และเสนอให้มีการเร่งดำเนินการออกสมุดประจำตัวการครอบครองที่ดินรายแปลงหรือสมุดเล่มเขียว รวมถึงการประกาศรับรองสถานะทางกฎหมาย และมีการออกระเบียบการใช้งานของสมุดประจำตัวดังกล่าวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  พอการปรับใช้กฎหมายมีความคล่องตัวและลงตัวมากขึ้น ก็ให้เร่งการส่งเสริมด้านอาชีพที่ยั่งยืน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ของนโยบาย คทช. โดยเสนอให้มีการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่า การสร้างตลาด และการเชื่อมกับภาคธุรกิจให้กับเกษตรกร รวมถึงการบริหารจัดการกลุ่มผู้ปลูกไม้ เพื่อสร้างระบบในการผลิตป่าเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ขึ้น และภาคประชาสังคมยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาแก้ไข มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.สวนป่า ให้ที่ดิน คทช. นั้น เป็นที่ดินที่สามารถขึ้นทะเบียนสวนป่าได้ตามกฎหมาย

ประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่คทช.ควรพิจารณา 

ในช่วงท้ายของเสวนา รศ.ธนพร ศรียากูล ประธานคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับผู้เข้าร่วมเสวนาได้ให้ข้อเสนอถึงประเด็นสำคัญที่คทช. ควรจะแก้ไขหรือทำงานอย่างเร่งด่วนที่สุด รวมถึงจดหมายเปิดผนึกจากตัวแทนผู้ที่เข้าร่วม คทช. ในจังหวัดน่านอีกด้วย

1.การถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยถือว่าเป็นการช่วยกันผลักดันให้ อปท. ในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในเรื่องข้อมูล การจัดการ รวมถึงการสร้างการรับรู้ภายในตัวของนโยบายในคทช. ให้กับ อปท. ให้มากที่สุด 

2.ควรเร่งแก้ไขปัญหาเดิมที่ยังค้างคาอยู่ เช่น การโซนนิ่ง การจัดสรรที่ดินตามชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ก่อนที่จะเกิดปัญหาใหม่เป็นดินพอกหางหมู โดยให้อำนาจกับ สคทช. ในการเป็น Super board (บริหารสูงสุด)ในการประสานงานและทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้

3.ที่ผ่านมา นโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ของประเทศไทย เป็นการสร้างการรับรู้ให้กับราษฎร ว่าแรกๆ บุกรุกไปก่อน ผิดกฎหมายไปสักระยะหนึ่ง จากนั้นจะมีรัฐมารับรองให้ ซึ่งความหวังใหม่ตอนนี้อยู่ที่ สคทช. ว่าจะทำอย่างไรให้เงื่อนไขต่างๆ เกิดความชัดเจน แล้วไม่เปลี่ยน ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อื่นใดอีก เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะไม่มีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ให้จัดการแล้ว

4.สคทช. ควรดำเนินการตามมาตรา 14 อย่างเร่งด่วน คือการทำเรื่อง Master plan (แผนหลัก) ของการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่อาจจะคงไว้ได้ แต่รายละเอียดมาตรการต่างๆ ตามที่ มติ ครม. ปี 2561 คิดว่าไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในหลายๆ พื้นที่ อีกทั้งอัตรากำลังของเจ้าที่ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ของ คทช.ได้

5.การเร่งสร้าง Join committee (คณะกรรมการร่วม) ในเชิงนโยบายระหว่างหน่วยงาน เพื่อหาพันธมิตรมาช่วยดำเนินงานและขับเคลื่อนร่วมกัน

“หากที่ดิน คทช. นี้มีการทำวนเกษตรและสวนป่าในปริมาณมากได้ จะเป็นการช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวและการเพิ่มป่าเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในทางตรงต่อเกษตรกรในแง่ของเศรษฐกิจและทางอ้อมต่อต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่วนหนึ่ง” อธิวัฒน์ สุธรรม เครือข่ายประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

6.การประสานงานอย่างเป็นพหุภาคี มีช่องทางการทำงานที่จะทำร่วมกัน เป็นการร่วมทำงานทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน องค์กรประชาสังคมต่างๆ รวมถึงการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละช่วง โดยต้องใช้ข้อมูล Big data จากหน่วยงานต่างๆ และข้อเท็จจริงมาใช้ประกอบ

7.ควรมีเวทีสาธารณะในการนำเจ้าหน้าที่ในคณะอนุฯ อื่น เช่น ที่ดิน เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเรื่องการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ฝ่ายปกครอง ทสจ. มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อจะได้เห็นมุมมองของการดำเนินงาน คทช. ที่ครอบคลุมมากขึ้น

จากบทเรียนของ 7 ปีที่ผ่านมาของคทช.นั้นอาจจะยังเป็นช่วงของการตั้งหลัก พร้อมกับการเรียนรู้ข้อท้าทายของการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน แต่หลายฝ่ายในที่เสวนาก็ยังหวังว่าจะมีทางออก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การจัดสรรที่ดินป่าไม้ เป็นเรื่องของการสร้างรากฐานให้กับประชาชนที่ยังต้องพึ่งพิงทรัพยากรที่ดินป่าไม้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

###

เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดวงเสวนา และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป

งานของรีคอฟเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)