RECOFTC Thailand
သတင်းများ

กรมป่าไม้ และรีคอฟได้จัดการประชุมปรึกษาหารือการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยเน้นที่การส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ ป่าชุมชนและอนุญาตให้คนอยู่กับป่าได้ถูกต้องตามกฏหมาย

การร่วมมือกันระหว่างกรมป่าไม้และรีคอฟที่ผ่านมานั้นได้ดำเนินการไปในทิศทางที่ดี และยังมีส่วนสนับสนุนการทำงานกรมป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ
การปรชุมปรึกษาหารือ 18 ก.พ. 2562

เมื่อวันที่ 18กุมภาพันธ์ 2562 กรมป่าไม้ และศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า(รีคอฟ) ได้จัดการประชุมปรึกษาหารือคณะผู้ทรงคุณวุฒิสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการต่อเนื่อง ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้ โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานการประชุมครั้งนี้ ได้กล่าวถึงการร่วมมือกันระหว่างกรมป่าไม้และรีคอฟที่ผ่านมานั้นได้ดำเนินการไปในทิศทางที่ดี และยังมีส่วนสนับสนุนการทำงานกรมป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ทางกรมป่าไม้ได้ดำเนินการแก้ไขและปฏิรูปกฏหมาย พรบ.ต่างๆ ที่เกี่ยวกับป่าไม้ และป่าชุมชนให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมของคนกับป่าอย่างยั่งยืน จากที่เคยห้ามก็เปลี่ยนเป็นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ร่วมกันมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา

กรมป่าไม้คำนึงถึงพื้นฐานหลัก 3 ประเด็นคือ 1. ส่งเสริมไม้มีค่าหรือไม้เศรษฐกิจ 2. ป่าชุมชน 3. คนอยู่กับป่า ซึ่งสามหลักนี้ได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายด้านการจัดการป่าไม้เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลป่าไม้ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง มีสิทธิในไม้ที่ปลูกในที่ดินที่ได้รับอนุญาตและที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนภายใต้กลไกการค้าไม้อย่างเป็นธรรมและถูกกฏหมาย

รวมทั้ง เน้นย้ำให้ทางรีคอฟช่วยส่งเสริมและสื่อสารรณรงค์ชุมชนที่อยู่กับป่าให้ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกป่าที่ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบันให้หมดไป

อรรถพล เจริญชันษา  อธิบดีกรมป่าไม้
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้

ทางด้าน น.ส.วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทยของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า(รีคอฟ)ได้สรุปผลงานร่วมกับกรมป่าไม้ตามบันทึกความเข้าใจ(MOU)ครั้งที่ผ่านมา รวมถึงนำเสนอยุทธศาสตร์และข้อเสนอแผนความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้กับศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) ในปี 2562-2566 ดังนี้ 

รีคอฟมุ่งเน้นที่การเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ (Forest landscape restoration – FLR) คือการจัดการภูมิทัศน์ป่าอย่างยั่งยืนบนฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม 

1.การสนับสนุนการนำร่องการจัดการที่ดินป่าไม้ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและการจัดการป่าเศรษฐกิจ

2.การสนับสนุนการเชื่อมเครือข่ายที่ทำงานด้านป่าชุมชนและป่าประเภทอื่นๆโดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมกัน

3.การสนับสนุนด้านวิชาการ เช่น ศูนย์เรียนรู้การจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้ สวนป่าครบวงจรหลักสูตรการจัดการภูมิทัศน์ป่าไม้

4.การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และชุมชนด้านการจัดการป่าชุมชน การทำงานอย่างมีส่วนร่วมตามแนวทางพรบ.ป่าชุมชน

5.การวิจัยการประเมินคุณภาพป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วม (ระบบมาตรฐานป่าชุมชน การหาแนวทางการยกระดับป่าชุมชน)

6.การสนับสนุนส่งเสริมธรรมาภิบาลป่าไม้และระบบการติดตาม/การรับข้อร้องเรียนอิสระ

บรรยากาศการประชุม

ในที่ประชุมจึงได้พิจารณาและเห็นพ้องร่วมกันถึงแนวทางการร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง เห็นควรให้แต่งตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันกับรีคอฟ ประกอบด้วยผอ.จากสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ทางรีคอฟร่างบันทึกความเข้าใจร่วมกัน(MOU) และกรอบระยะเวลาทำงานมานำเสนอคณะกรรมการพิจารณาก่อนให้ผู้บริหารลงนาม เพื่อจะเริ่มดำเนินงานร่วมกันและสนับสนุนส่งเสริมตามรายละเอียดในบันทึกฯต่อไป