RECOFTC Thailand
သတင်းများ

ชุดคำถาม-คำตอบ เพื่อรู้จักธรรมาภิบาลป่าไม้ (Forest Good Governance)

ชุดคำถาม-ตอบชุดนี้ได้รวบรวมมาเพื่อให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจธรรมาภิบาลป่าไม้ (Forest Good Governance) ว่าสำคัญอย่างไร และทำไมต้องมีธรรมาภิบาลป่าไม้
โครงการริเริ่มธรรมาภิบาลป่าไม้และโครงการป่าไม้ (PROFOR) ของ World Resource Institute (WRI)

1.การบริหารจัดการป่าไม้ (Forest Governance) และ ธรรมาภิบาล (Good Governance) มีความหมายว่าอย่างไร

การบริหารจัดการป่าไม้นั้น คือกระบวนการในการตัดสินใจว่าใครจะมีสิทธิและจะได้รับประโยชน์อย่างไรจากทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการ คือการ 1) นโยบาย กฎหมาย และระเบียบ  2) กระบวนการตัดสินใจ 3) การนำไปปฎิบัติ บังคับใช้กฎหมาย และการร้องเรียน

ธรรมาภิบาลคือหลักการของการการปกครอง การบริหารจัดการที่ดี ซึ่งประกอบด้วยหลักพื้นฐาน 6 ประการ คือ ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ  ความมีประสิทธิภาพ ความมีประสิทธิผล และความเที่ยงธรรม

2.การบริหารจัดการป่าไม้อย่างมีธรรมาภิบาล  จะให้ประโยชน์อะไรบ้าง

ภาครัฐ: ส่งเสริมบทบาทและความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ได้ประกาศนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และได้เข้าร่วมกับกลไกและข้อตกลงระดับสากลภาคป่าไม้สำคัญ อาทิ การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ การดำเนินการตามกลไก REDD+, ข้อตกลงภาคสมัครใจเฟล็กทีเพื่อลดการค้าไม้เถื่อนกับสหภาพยุโรป

ภาคประชาสังคม: สร้างความร่วมมือในการกำหนดนโยบายและกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติให้ครอบคลุม และสะท้อนเสียงของคนที่ต้องพึ่งพิงป่า โดยมีการติดตามและการหารืออย่างมีส่วนร่วมเพื่อทำให้ข้อตกลงที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการป่าไม้และการแบ่งปันผลประโยชน์นั้นเป็นธรรม รวมถึงได้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาทางออกร่วมกัน

ภาคธรุกิจ: สร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการเลือกซื้อสินค้าของผู้ประกอบการและผู้บริโภคว่าสินค้าจากภาคป่าไม้นี้มาจากแหล่งและกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการจัดการที่ดี

หากเราทำให้การบริหารจัดการป่าไม้ของประเทศไทยมีธรรมาภิบาลได้ พวกเราจะเป็นส่วนสำคัญของการยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจสีเขียวของภาคป่าไม้อีกด้วย

 

3.ถ้าป่าไม้ในประเทศไทยขาดการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล จะส่งผลกระทบอย่างไร

  • เปิดช่องว่างให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการสามารถเรียกร้องผลประโยชน์เพื่อตนเอง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชน เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
  • ขาดความไว้วางใจระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมในการดำเนินการใดๆ เพื่อจัดการทรัพยากรป่าไม้ร่วมกัน
  • ประชาชนขาดแรงจูงใจในการช่วยรักษาป่า เพราะต้องเผชิญกับกระบวนการบริหารจัดการที่ไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่เห็นแนวทางในการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
  • เงินรายได้ของประเทศที่จัดสรรให้ไปดำเนินการบริหารจัดการทรัพยกรป่าไม้เพื่อผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมจะไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • เพิ่มแรงกดดันโดยตรงต่อทรัพยากรป่าไม้และชุมชนที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากพื้นที่ป่าไม้โดยตรงมีเพิ่มขึ้น
  • พื้นที่ป่าไม้ลดลง ไม่มีตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะทำให้โลกร้อน
  • เกิดความเหลื่อมล้ำต่อในสิทธิในการใช้ประโยชน์ป่าไม้ของประชาชน
  • ขาดความน่าเชื่อถือในตลาดและการบริโภคของผู้ซื้อต่อสินค้าที่มาจากภาคป่าไม้ของประเทศไทย
ธรรมาภิบาลป่าไม้

 

4. เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมส่งเสริมให้ในการบริหารจัดการป่าไม้ไทยมีธรรมาภิบาล ได้อย่างไร

ประชาชนทั่วไป: ศึกษากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง และติดตามข่าวสาร และเข้าร่วมในเวทีการหารือที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการป่าไม้ในพื้นที่ของท่าน ตัวอย่างของช่องทางที่จะสามารถศึกษาและติดตามข้อมูลด้านกฎหมายและนโยบายได้ เช่น

ภาคประชาสังคม: รวมกลุ่มกับองค์กรเครือข่ายที่มีในพื้นที่ของท่าน เช่น เครือข่ายป่าชุมชน กลุ่มสหกรณ์สวนป่า กลุ่มธนาคารต้นไม้ เครือข่ายติดตามเรื่องที่ดิน มูลนิธิด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือเข้าร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานทรัพยากรป่าไม้ โดยบทบาทภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมโดยผ่านการให้ข้อเสนอเชิงนโยบายในเวทีที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้  นอกจากนี้ ท่านยังเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเพื่อการกำหนดนโยบายหรือแผนบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในเวทีประชาพิจารณ์ที่ภาครัฐจัดขึ้น ภาคประชาสังคมยังสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ และติดตามกระบวนการและการดำเนินการบริหารจัดการป่าไม้ได้ บนหลักพื้นฐานสิทธิมุนษยชนที่รัฐธรรมนูญไทยรับรอง   

5.โครงการ V4MF จะมาสนับสนุนหรือส่งเสริมธรรมาภิบาลป่าไม้อย่างไร

โครงการ V4MF ได้พัฒนากลไกการติดตามการบริหารจัดการป่าไม้อย่างมีธรรมาภิบาลที่ดำเนินการโดยภาคประชาสังคม โดยได้มีการรวบรวมฐานข้อมูลการบริหารจัดการป่าไม้ รวมถึงความคืบหน้าของกฎหมาย นโยบาย และข้อตกลงระหว่างประเทศด้านป่าไม้ที่สำคัญ และได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาสังคมให้เข้าไปผลักดันข้อเสนอของภาคประชาสังคมในกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทย เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

ช่องทางการติดตามข้อมูล ความเคลื่อนไหวของโครงการสามารถติดตามได้ที่ www.recoftc.org/thailand มาร่วมกันช่วยสร้างให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และยั่งยืนได้ด้วยธรรมาภิบาล โดยร่วมเสนอแนะความคิดเห็นได้ในเวปไซด์นี้