RECOFTC Thailand
သတင်းများ

สรุปการเสวนา “ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้ โจทย์การแก้กฎหมายป่าไม้ไทยที่ยังรอคำตอบ”

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้ โจทย์การแก้กฎหมายป่าไม้ไทยที่ยังรอคำตอบ” ณ ห้องประชุมไชน่ารูม ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ( RECOFTC ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมกัน คิดทบทวนโจทย์ที่ประเทศไทยต้องการไปให้ถึงและค้นหาคำตอบที่จะนำไปสู่การสร้างระบบการจัดการป่าไม้ในมิติใหม่ วงเสวนาชี้จะพัฒนาระบบไม้ให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจสีเขียวและการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต้องมองทั้งระบบครบวงจร และสอดคล้องกับทิศทางความเปลี่ยนแปลงของสังคมในประเทศ
ผู้เข้าร่วมเสวนา
อัฉราภรณ์ ได้ไซร้

วิสัยทัศน์การจัดการไม้ของกรมป่าไม้วันนี้

คุณบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวถึงสาเหตุที่มีการปฏิรูปแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ในวันนี้ นับว่าเป็นผลพวงจากกระบวนการของการจัดทำระบบการรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ ภายใต้การทำข้อตกลงการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า (เฟล็กที) เพื่อลดการทำไม้ในตลาดมืดและการค้าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อพัฒนาระบบการดำเนินงานภายใต้ระบบดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แท้จริงแล้วนั้น คุณบรรจง ยืนยันว่าอันที่จริงการปลูกไม้เศรษฐกิจนั้น ไม่นับว่าเป็นปัญหาทางกฏหมาย กฎหมายในปัจจุบันไม่ได้ห้ามเรื่องการปลูกไม้เศรษฐกิจ แต่ยังมีข้อติดขัดในขั้นตอนของการตัดและแปรรูปไม้ที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก่อนการดำเนินการ ส่วนในขั้นตอนการขายนั้นผู้ปลูกไม้สามารถขายไม้ที่ตัดและแปรรูปบนที่ดินที่ตนเองภายในประเทศได้ แต่ในขั้นตอนของการส่งออกสำหรับขายต่างประเทศอาจจะยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กรมป่าไม้เองมองว่า ต้องมีการปลดล็อคและอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตตัดไม้เศรษฐกิจที่ปลูกบนพื้นที่ของตนเองซึ่งมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฏหมาย ดังนั้นที่ผ่านมากรมฯ จึงดำเนินการแก้ไข มาตรา 7 ใน พรบ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และรวมถึงการพัฒนาระบบการรับรองไม้ที่เรียกว่า E-Tree (อีทรี) ซึ่งเตรียมที่จะเปิดตัวประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการในวันครบรอบกรมป่าไม้ปีที่ 122 ในวันที่ 18 กันยายน 2561 โดยผู้ลงทะเบียนใช้ระบบดังกล่าวสามารถแจ้งในระบบได้เองว่าต้องการขนย้ายไม้จากไหนไปไหน และสามารถแสดงหลักฐานได้ที่ระบบจัดเตรียมไว้ในรูปแบบของบาร์โคดเพื่อการตรวจสอบที่มาของไม้เหล่านั้นได้สะดวกขึ้น

อย่างไรก็ดีการแก้มาตรา 7 นี้จะใช้และมีผลบังคับใช้กับพื้นที่ที่ผู้ขออนุญาตมีเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินเท่านั้น ที่ดินที่ยังคงดูแลโดยรัฐ เช่น พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ คทช กระบวนการตัด แปรรูปและนำไม้หวงห้ามที่ปลูกในที่ดินนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อการใดๆ ยังคงต้องมีการขออนุญาตตามมาตรา 11 ภายใต้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ต่อไป คุณบรรจงกล่าวว่าหากต้องการทำไม้ในแปลงใหญ่และเป็นที่ดินส.ป.ก.นั้นสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบภายใต้ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้คือสามารถแจ้งขออนุญาตตัด ขออนุญาตนำไม้เคลื่อนที่ และขออนุญาตแปรรูปไม้ได้ด้วยตนเอง และหากพื้นที่ ส.ป.ก. ดังกล่าวไม่ได้ขอจดทะเบียนเป็นพื้นที่สวนป่าก่อนหน้านั้น ในการดำเนินเพื่อตัด ขนย้ายและแปรรูป ผู้ดำเนินการจะต้องไปขออนุญาตตามระเบียบภายใต้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484

ส่วนการป้องกันไม้สวมตอนั้น คุณบรรจงมีความเห็นว่าการป้องกันการสวมไม้จากป่าเป็นหลักการแรกที่กรมป่าไม้ ต้องคำนึงถึง ในอนาคตเจ้าหน้าที่รัฐจะมีหน้าที่แยกที่มาของไม้ให้ออกและป้องกันไม่ให้ไม้จากป่าออกมาได้ แต่การจัดการไม้เศรษฐกิจต้องทำให้เหมือนกับสินค้าเกษตรอื่นๆ และเข้าสู่โมเดิรนเทรดได้ “ตอนนี้ (ขายไม้) ต้องเขียนหนังสือกำกับ พับสามตอน ซึ่งไม่มีใครต้องการ เราควรจะใช้ระบบยิงบาร์โคต ที่จะช่วยทำระบบบัญชีให้ได้ครบแล้ว สิ่งเหล่านี้ที่เป็นอุปสรรคปัญหา ก็ควรได้รับการแก้ไข” นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐควรทำหน้าที่ไปส่งเสริมความรู้ทางวิชาการให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้เพื่อช่วยทำให้ไม้ที่ผลิตได้มีคุณภาพที่ดีขึ้น อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญต้องทำการควบคู่กันไปคือควรกระจายงบประมาณให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่ศูนย์ป่าไม้จังหวัด และหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ หากทำได้ตามนี้ทิศทางการพัฒนาไม้เศรษฐกิจก็จะชัดเจน

บรรยากาศการประชุม

มุมมองเกษตรกรปลดล็อคกฎหมายให้ใช้ได้จริง 

คุณพิกุล กิตติพล เกษตรกรผู้ปลูกไม้บนพื้นที่มากกว่า 200 ไร่ ที่จังหวัดระยอง กล่าวว่า เดิมพื้นที่เคยทำนามาก่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นปลูกไม้ แต่ราคาไม้ที่ขายนั้นถูกมาก และยังถูกเพ่งเล็งจากตำรวจเสมอ แต่ก็ยืนยันว่า การทำตามระเบียบกฎหมายและการรู้กฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ สำหรับการปรับเปลี่ยนกฎหมายบางมาตราของพรบ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 นั้น เห็นว่าการประกาศปลดล็อคเฉพาะกฏหมายอาจไม่พอ หากระเบียบที่รองรับกฏหมายดังกล่าวยังไม่ถูกปรับให้ทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหาในเชิงปฏิบัติและมีการเรียกรับประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่ หลังจากการประกาศปลดล็อคกฏหมายแล้ว ในมุมมองของเกษตรกรคุณพิกุลเห็นว่า “บ้านเรามีกฏหมายต้องทำตามมากมาย ทำให้รู้สึกว่าคนไทยต้องรู้กฏหมาย การรู้ทันกฏหมายของคนส่วนใหญ่ยังไม่มี มีไม่กี่รายที่จะรู้ และปฏิบัติตามข่าวที่ออกได้จริงๆ”

นอกจากนี้ คุณพิกุลได้แบ่งปันประสบการณ์การทำอาชีพสวนป่าว่าต้องมีการวางแผนการปลูกพืชที่ดีและควรปลูกพืชให้หลากหลายเพื่อเป็นการสร้างรายได้ในระยะต่างๆ ในขณะที่รอต้นไม้โตพร้อมที่จะตัดฟัน “การสร้างรายได้ในระยะรอต้นไม้โต ที่ผ่านมาก็เอาไม้ที่ปลูกเองเอาไม้มาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์เลย แต่ต้องขออนุญาต ในตอนแรกปลูกไม้ผลสลับปลูกกับไม้ใต้ร่ม ไม้ไผ่สลับกับไม้ยืนต้น ปลูกกล้วย ระหว่างรอ ไม้สละได้ผลกลับคืนในช่วงสามปี ใช้วิธีปลูกไม้อะไรก็ได้ให้รายได้เร็วก็จะปลูกไม้พวกนี้ ต้องปลูกพืชที่เป็นลำดับเรือนยอด ปลูกป่าจะอยู่ได้อย่างไรโดยไม่มีเงินเลย จึงต้องปลูกสละ สะตอ มองว่าจะมีรายได้จากตัวไหนได้บ้าง รวมถึงการปลูกไม้กฤษณา เพื่อส่งขายต่างประเทศ”

ธุรกิจไม้ เครื่องจักรตัวใหม่เพื่อกระตุ้น GDP 

มุมมองจากนักธุรกิจค้าไม้ คุณคมวิทย์ บุญธำรงกิจ อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวว่าที่ผ่านมาตนเองทำธุรกิจนำเข้าไม้จากต่างประเทศมาตลอด 22 ปี และเห็นว่าหากรัฐบาลส่งเสริมการทำไม้และแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าอย่างจริงจังนั้นจะทำให้ธุรกิจไม้เติบโตได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า ถ้าเราสามารถปลูกและส่งไม้ออกได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจริง รายได้จากการค้าไม้ส่งออกจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ได้อย่างมาก นอกจากนั้นการเปิดให้มีการค้าไม้อย่างเสรีจริงๆ จะสร้าง platform ธุรกิจแบบใหม่ “จริง ๆ ตอนนี้ปัญหาคือประเทศไทยห้ามส่งออกไม้ ทำให้ราคาไม้ในประเทศไทยถูก เพราะกำลังซื้อในประเทศไทยมีน้อย จึงทำให้ราคาซื้อต่ำ หากเราเปิดให้ตลาดโลกเข้ามาซื้อ ราคาไม้จะสูงขึ้น และเราจะสามารถเป็นศูนย์กลางของการซื้อขายไม้ของโลก ที่จะเพิ่มสินทรัพย์ให้กับประเทศจำนวนมาก” อีกประการที่ควรแก้ไขคือการลดอุปสรรคของการค้าไม้ในประเทศ “ผมเคยนำเข้าไม้สน ขายในโมเดินเทรด แต่ต่อมาผู้ซื้อบอกว่าซื้อไม่ได้แล้วเพราะต้องออกใบกำกับให้ลูกค้า เขากลัวเรื่องการนำเคลื่อนที่ แม้กระทั่งไม้ที่เป็นไม้สน ซึ่งไม่มีในประเทศ ตลาดของเราไม่สามารถทำได้เสรี”

นอกจากนี้คุณคมวิทย์เชื่อว่าถ้าเราสามารถตั้งเครื่องจักรตัดไม้แบบเคลื่อนที่ง่าย เราจะมีธุรกิจขนาดย่อมที่เกิดขึ้นในภาคป่าไม้ มากมาย เกษตรกรจะสามารถเป็นผู้ทำธุรกิจทำไม้ได้ในท้องถิ่น ที่แปรรูปและส่งออกไม้ขายได้ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของเรื่องช่องว่างของรายได้และแก้ปัญหาราคาพืชเกษตรตกต่ำที่เป็นยังเป็นภาระของรัฐบาล เพราะไม้สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องมีการอุดหนุนราคาขาย ที่สำคัญไม้เป็นพืชที่มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “เดิมไม้ยางนาเคยมีราคาคิวละ 130 บาท ตอนนี้ราคา 500-600 บาท ไม้ราคาไม่ตกเลย ในขณะที่เงินเฟ้อบ้านเรา 3% แต่ไม้ราคาเพิ่มขึ้น 5% มีส่วนเหลือ 2% ซึ่งการสร้างจีดีพีของเราทำได้สบาย” ที่สำคัญคือผู้ปลูกไม้ต้องสามารถส่งออกไม้ได้อย่างเสรี ควบคู่ไปกับการทำระบบการรับประกันที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเชื่อว่าการนำระบบ E-Tree มาใช้ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการผลักดันการค้าไม้สู่ตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้คุณคมวิทย์แนะนำว่าผู้ปลูกไม้ต้องดูตลาดไม้โลกในปัจจุบันด้วย ภาพในอดีตคือจะมีภาพที่รัฐบาลไปส่งเสริม ปลูกไม้สัก แล้วปรากฎว่าราคาขายต่ำมาก ที่ควรจะต้องดูคือตลาดโลกเป็นอย่างไร พบว่าประเทศบราซิลมีการปลูกไม้สักจำนวนมากและโตได้เร็วกว่าประเทศไทย ในขณะที่ไม้หลายชนิด เช่นไม้สาธร ไม้มะเกลือ ไม้ชิงชัน ไม้จันแดง ซึ่งมีมูลค่าสูง กลับยังมีความต้องการมาก สวีเดนใช้เวลากว่า 80 ปี แต่ไม้เหล่านี้โตได้ดีที่บ้านเรา ต่างประเทศต้องการไม้ประเภทนี้จากประเทศโซนร้อนจำนวนมาก ในขณะที่มีความต้องขายหรือซัพพลายลดลงทุกปี เพราะหลาย ๆ ประเทศมีการปิดการส่งออก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศเราที่จะสวนกลับ

กองทุนเพื่อการออมและการลงทุน การสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วยต้นไม้

ด้านมุมมองของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ต้นไม้นอกจากมองในเชิงการสร้างรายได้ด้วยการตัดมาใช้ การปลูกต้นไม้นั้นยังเป็นหลักประกันและสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตคนเมื่อถึงวัยเกษียณได้ด้วย “สำหรับตนเองมองว่าในอนาคต เรากำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุ การมีความมั่นคงหลังเกษียณเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนตัวคิดว่าคำตอบที่จะมาช่วยให้คนมีความมั่นคงหลังเกษียณคือการออมจากการปลูกต้นไม้” ดร.เดชรัตได้เล่าถึงแนวคิดของชุมชนแห่งหนึ่งที่เสนอว่าพวกเขาสามารถสะสมเงินเกษียณอายุได้จากการออมวันละบาท จากการปลูกต้นไม้หนึ่งต้น ซึ่งเมื่อถึงวันที่จำเป็นต้องใช้เงินผู้ปลูกต้นไม้สามารถตัดต้นไม้ขาย แต่หากเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือไม่มีเอกสารสิทธิครอบครองที่ดิน รัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ที่รัฐดูแลอยู่แบบไม่เอาเอกสารสิทธิ์ ตัวอย่างของผลตอบแทนที่จะได้คือ แบ่งต้นไม้ครึ่งหนึ่งให้กับคนปลูก และครึ่งหนึ่งให้กับรัฐบาล และรัฐยอมรับให้ชุมชนเป็นเจ้าของต้นไม้

ดร.เดชรัตได้เสนอแนวคิดเรื่องกองทุนเพื่อการปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นการระดมทุนจากคนเมืองที่ต้องการจะนำเงินมาลงทุน เหมือนการซื้อประกัน ที่เราจะทยอยจ่าย หรือเป็นพันธบัตร ที่จะช่วยสนับสนุนคนที่ปลูกต้นไม้ “การลงทุนในต้นไม้น่าจะทันสมัยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น และน่าจะเวิรคที่สุด” ดร.เดชรัตกล่าว “เรามีความห่วงเรื่องภัยธรรมชาติ ระบบกองทุนจะทำให้เราสามารถที่จะประกันความเสี่ยงได้ เพราะมีการเฉลี่ยที่จะทำให้มันสามารถอยู่ได้” นอกจากนี้ ดร.เดชรัตเห็นว่าโลกยุคหน้าเป็นยุคที่เราไม่ต้องทำอะไรเอง แต่ต้องการช่างฝีมือดี การประกอบอาชีพช่างจะสามารถอยู่ได้ดี เราควรสร้างอาชีพช่างไม้พร้อมการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ของช่างไม้ ในด้านของกลุ่มผู้บริโภคเราควรต้องให้ความรู้เกี่ยวกับไม้แก่ผู้บริโภค เราต้องสร้างความรู้ ภูมิปัญญาในกลุ่มคนใช้ไม้ให้คุ้นเคยข้อมูลเกี่ยวกับไม้ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ให้คนรู้จักประโยชน์ คุณลักษณะของไม้แต่ละชนิด และต้องคิดล่วงหน้า ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงความสวยงามและคุณค่าของไม้จนสามารถสร้างความต้องการซื้อให้แก่คนรุ่นใหม่

ปลูกเก่ง ตัดเก่ง ขายเก่ง คิดให้ครบวงจร

ด้านคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก กล่าวว่าปัจจุบันคือยุคที่ป่าไม้เป็นของประชาชน อีก 20 ปีข้างหน้าคาดว่าไม้จะเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในประเทศไทย จึงจำเป็นที่จะต้องทบทวนว่าเราจะทำอะไรให้ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตกับเป้าหมายของประเทศได้บ้าง ผศ.ดร.นิคมเห็นว่าควรปล่อยพื้นที่ป่าที่เคยเป็นของรัฐให้เป็นป่าของประชาชน เพื่อทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ ทั้งนี้เราจำเป็นต้องวางแผนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศและมองเชื่อมโยงไปถึงบทเรียนที่ผ่านมาจากภาครัฐเรื่องการประกันราคาพืชเกษตร ที่ยังเป็นวงเวียนอยู่จนทุกวันนี้ ผศ.ดร.นิคม กล่าวว่า การทำธุรกิจป่าไม้ นอกจากจะต้องปลูกได้ ตัดได้ ขายได้ ต้องคิดไปให้มากกว่านั้นคือทำอย่างไรให้คนไทยปลูกไม้เก่ง ตัดไม้เก่ง และขายไม้เก่งอีกด้วย รัฐบาลต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมองให้ครบวงจร และลงมือทำตั้งแต่วันนี้ “ปลูกเก่ง ก็ต้องเริ่มจากพันธุกรรมดี ซึ่งเราจำเป็นต้องมีศูนย์กล้าไม้ชุมชน มีนักวิชาการไปช่วยแนะนำ เพื่อทำให้เราสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ว่าเราต้องการให้ไม้ผลิตผลออกมาตามที่ต้องการ นอกจากนี้ต้องรวมถึงระบบการจัดการที่ดี ต่อไปถึงระบบอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งน่ากังวลใจที่เราขาดการวางยุทธศาสตร์ของชาติในเรื่องนี้ เราต้องมองให้ครบวงจร และมองให้รู้เขารู้เรา ไทยกลายเป็นตลาดของต่างประเทศ ไม่ใช่ผู้ผลิต ถ้าเราจะคิดเป็นผู้ขาย ก็ต้องคิดว่าเราจะเอาอะไรไปขายแข่งกับเขา ในอนาคตขณะที่เรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราควรจะต้องเลือกโมเดลที่เหมาะสม ซึ่งประเด็นนี้ได้ถูกผลักดันเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติแล้ว แต่ยังคงมีเรื่องอีกมากที่ต้องช่วยกันผลักดันต่อไป” ผศ.ดร.นิคมให้คำแนะนำ

ผศ.ดร.นิคม ให้ข้อคิดเห็นว่าการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดการทําไม้เศรษฐกิจนั้น ยังคงมีอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไข เช่น เรื่องของกฎระเบียบที่รองรับตัวกฎหมายที่ไม่ควรมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและควรมีความชัดเจน ข้อห่วงใยอีกประการหนึ่งคือคำตอบที่มักได้รับจากคนภาครัฐว่า “แล้วเราจะแก้ต่อไป” ซึ่งนําไปสู่คําถามที่ว่า “เมื่อไหร่จะลงมือปฏิบัติ” และเห็นว่าโจทย์อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการแก้ไขเรื่องที่ดินของรัฐ ซึ่งควรมีการแก้ไขมติ ครม. 8 กันยายน 2545 ซึ่งห้ามการทำสวนป่าในพื้นที่ป่าสงวน รวมถึงการลดภาษีหรือยกเว้นภาษีการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ นอกจากนี้อุปสรรคอีกเรื่องคือ พ.ร.บ. เลื่อยโซ่ยนต์ ที่คิดว่าควรจะต้องยกเลิกไป เนื่องจากในการทําไม้ต้องการใช้แรงงานเครื่องจักร ต้องมี shipper เช่นเดียวกับกับการทํานาข้าว ในปัจจุบันการทําไม้เป็นไปได้ยากมากในทางปฏิบัติหากมีการควบคุมเครื่องจักรกลเพื่อลดต้นทุนในการจ้างแรงงานคน สุดท้ายควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เพื่อทำให้เกิดการผลักดันให้ประเด็นเรื่องไม้ เป็นวาระแห่งชาติให้ได้ ทำอย่างไรให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ป่า ให้เกิดเป็นไม้นอกเขตป่า หรือ Tree Outside Forest หรือ TOF อาจต้องมีการตั้งสถาบันที่ทำหน้าที่เฉพาะ รวมถึงการเร่งสร้างบุคลากรที่เป็นอาชีพหลักด้านนี้ ตั้งแต่หลักสูตรการศึกษา จนถึงความชำนาญด้านฝีมือแรงงาน

สรุป 
โจทย์สำคัญของการแก้ไขกฎหมายป่าไม้วันนี้ สำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงคือระบบที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้จะต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของโลก การแข่งขันระหว่างประเทศ การบริโภคในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ต้องการความมั่นคง และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควรเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลในการอยู่ร่วมกัน ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ไว้ว่าต้องทําให้กฏหมายหมายรวมถึงการมีระเบียบรองรับการปฏิบัติงานได้จริง พัฒนาศักยภาพและความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายและระเบียบที่เปลี่ยนไป ควรปรับแนวคิดของกลุ่มผู้บริโภคให้สอดคล้องกับการบริโภคแบบใหม่ที่ลดการใช้วัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลาย เน้นการกระตุ้นการบริโภคไม้ภายในประเทศให้มากขึ้น การดําเนินการทางการตลาดที่ต้องการการวางแผนและมีเป้าหมายที่ชัดเจน และการทําให้ตลาดไม้ให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง แต่มีระบบและหลักเกณฑ์เพื่อการจําแนกและตรวจสอบที่มาของไม้ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เร่งสร้างความรู้เฉพาะด้านและทักษะอาชีพการป่าไม้ สร้างกลไกการเงินเพื่อสนับนุนการปลูกต้นไม้ และทำพื้นที่ป่าที่รัฐดูแลอยู่ที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องการทำไม้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น