RECOFTC Thailand
သတင်းများ

เครือข่ายแกนนำผู้หญิง 38 จังหวัด ห่วงกฎหมายป่าชุมชนและอุทยานใหม่กระทบการทำมาหากิน เสนอให้เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในงานป่าไม้

การจัดการป่าระดับชุมชนก็สามารถเป็นงานระดับนโยบายได้ ซึ่งทำผ่านเครือข่ายอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เชื่อมต่อพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมด้วยข้อมูลวิจัยจากฐานชุมชนก็ยกระดับได้ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงที่ต้องอยู่ในทุกระดับ
เวทีแกนนำผู้หญิง

วันที่ 9-10 ต.ค. 62 ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แผนงานประเทศไทย และเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ร่วมกันจัดประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการยอมรับและเห็นคุณค่าของความแตกต่างทางเพศสภาพในการจัดการป่าชุมชนและพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ณ โรงแรมฮอลิเดย์การ์เดน  อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนแกนนำผู้หญิงจำนวนกว่า 45 คน จาก 38 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมเพื่อประเมินสถานการณ์ การมีส่วนร่วมการบริหารจัดการป่าไม้ กฏหมายและนโยบายภายใต้มิติเพศสภาพ มุ่งค้นหาวางแผนประเด็นร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมผู้หญิง เพศสภาพ การบริหารจัดการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้และพัฒนาเป็นเครือข่ายผู้นำหญิงในพื้นที่ของตัวเอง

เวทีแกนนำผู้หญิงเชียงใหม่

“มุมมองผู้หญิงในการจัดการป่าและทรัพยากรนั้นมาช่วยเสริมกับมุมมองผู้ชายให้ครอบคลุมมากขึ้นด้วยนับเป็นจุดแข็ง ที่สำคัญอย่าเป็นผู้นำหญิงแบบเดี่ยว  ควรจะยกระดับและสร้างจำนวนแกนนำผู้หญิงให้เป็นแผงหรือมากขึ้นในการจัดการบริหารป่าและการมีส่วนร่วมในการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้  ชวนคนอื่นในชุมชนมาทำงานร่วมกันให้มากขึ้น เพราะ ปัญหาชุมชนเป็นเรื่องของทุกคน อีกเรื่องที่ขอเน้นย้ำ การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ก็ต้องดูแลครอบครัวไม่ให้ล่มสลายด้วย ทั้งสองสิ่งต้องไปด้วยกัน จึงจะทำให้ความเป็นแกนนำผู้หญิงนั้นเข้มแข็งและยั่งยืน” นางอรนุช ผลภิญโญ แกนนำผู้หญิงประเด็นที่ดินและป่าไม้ จ. ชัยภูมิ กล่าวไว้

เวทีแกนนำผู้หญิง

 “ การสร้างมิติหญิงชายให้สมดุล ไม่อยากให้เอนเอียงไปทางไหนมากกว่ากัน ควรฟังเสียงทั้งสองฝั่ง ที่ผ่านมา ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าน้อยมาก ทั้งที่เป็นคนเข้าป่าทำมาหากินเพราะจะรู้ว่าจะหาเห็ดและหาของป่าได้ที่ไหน แต่การกำหนดขอบเขตที่ดินและอำนาจในการตัดสินใจคือผู้ชายเสียมากกว่า ไม่เคยถามคนที่ทำมาหากินกับพื้นที่แท้จริงนั่นคือ ผู้หญิง ดังนั้น ชุมชนต้องฟังเสียงผู้หญิงให้มากขึ้นกว่าเดิมและให้พื้นที่การเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาเป็นฐานข้อมูล ขอบเขตที่ดินที่เห็นชอบ การใช้ประโยชน์และมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันในชุมชน” นายทัศน์ชัย อัครวงศ์วิริยะ เจ้าหน้าที่ภาคสนามอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย จ.เชียงใหม่  

เวทีแกนนำผู้หญิง

สำหรับข้อหารือการจัดตั้งกลุ่มและคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นเพศสภาพและความแตกต่างในการจัดการป่าไม้และที่ดินนั้น ผู้เข้าร่วมได้เสนอขอให้มีระยะเวลาการทำงาน 3 ปี โดยมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 1)ฐานข้อมูลมูลค่าป่าไม้ 2) เพิ่มพื้นที่และโอกาสให้คนรุ่นใหม่และผู้หญิงชาติพันธุ์ 3) สร้างคุณค่าและความมั่นใจให้กับผู้หญิงระดับชุมชน 4) การสนับสนุนทั้งงบประมาณและทักษะ 5) การสื่อสารที่สร้างความเข้าใจระหว่างคนเมืองและคนในพื้นที่ และ 6) สร้างความเข้าใจและสมดุลในมิติชายหญิง เพศสภาพในระดับชุมชน และ 7) กองทุนเครือข่ายแกนนำผู้หญิงเพื่อช่วยเหลือด้านกฏหมาย 

เวทีแกนนำผู้หญิง

นับเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับการทำความเข้าใจและการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านการกฏหมายและนโยบายการบริหารจัดการป่าไม้ โดยการใช้มุมมองและยอมรับความแตกต่างของเพศสภาพเข้าไปในเครือข่ายด้านการจัดการทรัพยากรและป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ จึงเปรียบเหมือนก้าวแรกของการตั้งขบวนเครือข่ายแกนนำผู้หญิงซึ่งให้ความสำคัญของมิติเพศสภาพในประเด็นกฏหมายเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้และที่ดิน   เพื่อได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากระดับชุมชนถึงประเทศของผู้นำหญิงในเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง