RECOFTC Thailand
သတင်းထုတ်ပြန်ချက်များ

การสัมมนาระดับชาติเรื่องวนศาสตร์ชุมชนในประเทศไทยปี พ.ศ. 2555

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย ได้จัดการสัมมนาระดับชาติของประเทศไทย เรื่องวนศาสตร์ชุมชน  สำหรับปี 2555  ภายใต้โครงเรื่อง “ป่าชุมชน :  การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องนิเวศท้องถิ่นและสิทธิของชุมชน” เมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2555 ที่จังหวัดนครนายก ประเทศไทย  การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการดำเนินงานของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ที่ให้การส่งเสริมสนับสนุนงานวนศาสตร์ชุมชน ให้เกิดความก้าวหน้า  และได้นำประเด็นการปฏิบัติงานร่วมกันในหมู่คน  และการขับเคลื่อนเรื่องป่า ขึ้นมาพูดอย่างชัดเจน  รวมทั้งผลงานของพวกเขาและเป้าหมายที่มีร่วมกัน

การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมที่มาจากองค์กรและชุมชนที่เกี่ยวข้องหลายระดับทั่วประเทศ  ตั้งแต่ผู้ที่ทำงานกับชุมชน จนถึงผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับสูงขึ้นไป  เป็นโอกาสที่ผู้เข้าร่วมทุกคนได้มาทบทวนผลสำเร็จและบทเรียนที่ผ่านมา  แลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองที่มีต่อทิศทางการขับเคลื่อนป่าชุมชนในอนาคต  เพื่อให้ได้สิทธิของประชาชนได้เข้าร่วมในการจัดการและปกป้องผืนป่า  เป้าหมายที่ร่วมกันของผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ คือ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพดีขึ้น  เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งคนและป่าจะอยู่ดีมีสุข  และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

คุณสมหญิง  สุนทรวงศ์ ผู้ประสานงานแผนงานประเทศไทย  เปิดการสัมมนาด้วยการกล่าวสรุปผลงาน ของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กิจกรรมเสวนา  และการประชุมเชิงปฏิบัติการต่างๆ ที่ได้จัดทำในปีที่ผ่านมา  รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการสัมมนาในระดับชาติ ปี 2555 ที่จัดให้มีขึ้นครั้งนี้  จากนั้น ดร.สมศักดิ์  สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ได้มาพูดแนวทางต่างๆ ที่ชุมชนหลากหลายนำมาใช้  ตามบริบทของสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันทั่วประเทศ  เพื่อให้การดำรงชีพของพวกเขามีความสมดุลกับธรรมชาติ  แขกผู้มีเกียรติที่ได้เชิญมาร่วมเปิดการสัมมนา คือ คุณวิฑูร เหรียญจำรูญ   คุณพรประภา  กายเจริญ และ ดร.สัญชัย  สุทธิพรรณวิหาร ได้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละท่าน  ซึ่งให้ทั้งสาระความรู้เต็มเปี่ยม  และยังเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้เข้าร่วม  ซึ่งช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันระหว่างผู้เข้าร่วมให้แข็งแกร่งขึ้น

ประเด็นปัญหาร่วมกันที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาหยิบยกขึ้นมาบ่อยๆ ระหว่างการสัมมนา ได้แก่ นโยบายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการเกษตรในระดับชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ  ส่งผลให้เกิดความสับสน  ประเด็นด้านสิทธิของประชาชนในการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขา  และปัญหาด้านความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องของทุกฝ่ายมีความยากลำบาก  เนื่องจากไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ  นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก

“สิ่งที่พวกเราต้องการคือ ความยุติธรรมในการจัดการทรัพยากร  การไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา  แต่ไม่ต้องการถูกกันออกไปจากกระบวนการตัดสินใจ  เราต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการจัดการทรัพยากรของเรา  กำหนดกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเพื่อการจัดการทรัพยากรเหล่านั้น  สิทธิของเราในการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม คือความยุติธรรมที่พวกเราร้องขอ” เป็นคำพูดของคุณวิรัช  พร้อมสน

แม้ว่าการขับเคลื่อนของประชาชนในช่วงหลายสิบ ปีที่ผ่านมา  ยังไม่เกิดผลในเชิงการออกกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น  แต่ก็มีผลงานและผลสำเร็จในหลายเรื่องตลอดมา  ประชาชนได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่ขยายใหญ่ขึ้น  ทำงานร่วมกันสู่วิสัยทัศน์เดียวกัน ที่มีเป้าหมายให้ชุมชนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน  ชุมชนได้เติบโตกลายเป็นชุมชนที่มีอำนาจและมีความมั่นใจมากขึ้นในองค์ความรู่  และตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างโดดเดี่ยว  แต่มีผู้ให้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่เป็นพันธมิตร ฯลฯ  นอกจากนี้ แนวทางและวิธีการใหม่ๆ อาทิ การประเมินตัวชี้วัดด้านสุขภาพ /ความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน (HIA)และการประเมินตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นแนวทางที่มีประโยชน์มาก  นอกจากนี้ สื่อมวลชนระดับชาติ อาทิ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้กลายเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง  ช่วยแบ่งปันความรู้ในเรื่องนี้ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ

หลังการสัมมนาครั้งนี้  เครือข่ายป่าชุมชนแห่งชาติและเครือข่ายองค์กรสนับสนุนป่าชุมชนจะมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่งในอีก 6 เดือนข้างหน้า  เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์สำหรับทศวรรษหน้า  ยุทธศาสตร์ช่วงนี้จะมุ่งเน้นแนวทางการทำงานระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย  ในการขับเคลื่อนให้เกิดการยอมรับสิทธิของชุมชนในการจัดการและคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้  น้ำ  อากาศ  และทรัพยากรดินของประเทศ