เตรียมพร้อมรับมือฤดูไฟป่า: โครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน ในจังหวัดน่าน ประเทศไทย
ฤดูไฟป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มต้นในเดือนมกราคม และรุนแรงที่สุดในเดือนเมษายน ควันไฟทำให้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นในประเทศไทย
ไฟป่าส่วนใหญ่ในภาคเหนือของประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กล่าวคือ มักเกิดโดยอุบัติเหตุเมื่อเกษตรกรเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรในบริเวณใกล้เคียง หรือเมื่อมีคนเข้าไปหาของป่าและล่าสัตว์
เมื่อชุมชนในพื้นที่เสี่ยงได้เรียนรู้วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า ชุมชนเหล่านี้จะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการจัดการไฟป่า แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีคือการร่วมมือกับชุมชนเพื่อดำเนินการป้องกันไฟ โดยชุมชนต้องมีทรัพยากรที่จำเป็นและได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเหมาะสม การแก้ปัญหาโดยการดับไฟหรือจัดการไฟเมื่อเกิดไฟขึ้นแล้วเท่านั้นยังไม่เพียงพอ
โครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน (Community-based Fire Management หรือ CBFiM) ของ RECOFTC (รีคอฟ) ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และองค์กรภาคีเครือข่าย นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 เราได้ทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นในจังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อพัฒนาแผนการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานและนำแผนไปใช้จริง โครงการระดับภูมิภาคนี้มุ่งแก้ไขปัญหาไฟป่าที่ต้นเหตุและตอบสนองต่อข้อกังวลระดับประเทศและระดับภูมิภาคเกี่ยวกับผลกระทบของไฟต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
ภารกิจของโครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน
เรากำลังสร้างศักยภาพของชุมชนและหน่วยงานภาครัฐเพื่อการจัดการไฟป่าและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนาม เพื่อขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนนี้ เราดำเนินการตามกรอบการจัดการไฟแบบบูรณาการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ซึ่งครอบคลุมหลักการจัดการไฟป่า 5 ประการ หรือหลัก 5R ได้แก่ การทบทวน (Review) การลดความเสี่ยง (Risk reduction) การเตรียมความพร้อม (Readiness) การปฏิบัติเมื่อเกิดไฟ (Response) และการฟื้นฟู (Recovery)
เราดำเนินงานโดยเริ่มจาก “ระยะเตรียมการ” ซึ่งเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกสู่การจัดการไฟ ประกอบด้วยการทบทวน การลดความเสี่ยง และการเตรียมความพร้อม หรือหลักการ 3 ข้อแรกใน 5R ระยะเตรียมการช่วยให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจบริบทและสาเหตุที่ก่อให้เกิดไฟ และวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดไฟตามบริบท การเตรียมความพร้อมที่ว่านี้ยังหมายความรวมถึงการพัฒนาแผนการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานและการเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสมให้พร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูไฟป่า
การทบทวน: หาต้นเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้
ในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2566 RECOFTC ร่วมมือกับชุมชน 4 หมู่บ้านจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงไฟป่าในกระบวนการทบทวน ได้แก่ บ้านกิ่วน้ำ บ้านสว่าง บ้านมณีพฤกษ์ และบ้านราษฎร์รัฐพัฒนา สมาชิกชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรภาคีเครือข่ายจากภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ได้ร่วมกันทบทวนบริบทด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมของชุมชน โดยวิเคราะห์ลักษณะการเกิดไฟและสถานการณ์ไฟที่ผ่านมา ประเมินว่าไฟเกิดขึ้นและลุกลามอย่างไรบ้าง ทุกฝ่ายร่วมกันประเมินความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาแผนการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานที่เหมาะสมและให้คนทุกกลุ่มในชุมชนได้มีส่วนร่วม
เราวิเคราะห์สถานการณ์และความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละหมู่บ้าน ทั้งการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง การสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญล้วนช่วยให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อดำเนินการพัฒนาศักยภาพต่อไป อีกทั้งยังทำให้เราได้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีและอุปกรณ์ใดบ้างที่จำเป็นต่อการสนับสนุนชุมชน กระบวนการเหล่านี้ยังช่วยให้สมาชิกชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีโอกาสแบ่งปันข้อสังเกตของตนเกี่ยวกับโครงสร้างและนโยบาย เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการไฟให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในระดับประเทศ
ด้วยการอบรมเพื่อวางแผนการจัดการไฟนี้เอง เราจึงสามารถรวบรวมสมาชิกชุมชนและผู้มีบทบาทจากหลายภาคส่วนให้มาร่วมกันพัฒนาและปรับแผนการจัดการไฟให้เหมาะสม นายสมัคร ยอดอ่อน ผู้ใหญ่บ้านสว่าง ได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือหลายภาคส่วนและรัฐบาลตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมต้องให้การสนับสนุนชุมชน เขากล่าวว่า แผนการจัดการไฟซึ่งกำลังจัดเตรียมอยู่นี้จะเป็นแนวทางให้กับชุมชนในการรับมือกับฤดูไฟป่า โดยจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยจัดการทั้งไฟที่เป็นภัยและไฟที่เป็นประโยชน์ “เราจะปกป้องชุมชนของเราได้ด้วยแนวทางจากแผนการจัดการไฟนี้และความรู้สึกหวงแหนกับต้องการปกป้องชุมชนของเรา ตลอดจนความรับผิดชอบร่วมกัน” เขากล่าว
ชุมชนเป้าหมายแต่ละแห่งได้พัฒนาแผนการจัดการไฟของตนเองแล้วและได้หารือร่วมกับชุมชนใกล้เคียงเกี่ยวกับแผน แผนการจัดการไฟจะทำหน้าที่เป็นแผนนำร่องซึ่งนำไปปรับใช้ได้ในบริบททางเศรษฐกิจสังคมและภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน “ในประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แนวทางการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานจะขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศและภูมิทัศน์นั้นๆ” มาลีน่า ธ.น. สำ (Marina Tornorsam) ผู้จัดการโครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานระดับภูมิภาคกล่าว “ถึงแม้ว่ากิจกรรมการเตรียมความพร้อมจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อถอดบทเรียนสำคัญและจัดการกับปัญหาไฟป่า ควันไฟ และหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ”
การลดความเสี่ยง: จัดการต้นเหตุของไฟในพื้นที่ความเสี่ยงสูง
การลดความเสี่ยงอาศัยข้อมูลที่ได้จากกระบวนการทบทวน กลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงนั้นได้รับการตกลงร่วมกันโดยชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น และได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งรวมถึง RECOFTC โครงการได้จัดทำแผนที่พื้นที่ที่เสี่ยงต่อไฟทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรเรียบร้อยแล้วโดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการทบทวน ในฤดูไฟป่านี้ สมาชิกชุมชนได้เริ่มนำเทคนิคป้องกันไฟไปปฏิบัติในพื้นที่ความเสี่ยงสูงแล้ว
“แนวทางที่ได้ผลในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าต้องอาศัยการผสมผสานองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เทคนิคตามหลักวิชาการ และเทคโนโนโลยีที่เหมาะสมตามบริบทของชุมชน” ระวี ถาวร ผู้ประสานงานวิจัยและงานพัฒนาศักยภาพจาก RECOFTC Thailand (รีคอฟ ประเทศไทย) กล่าว “การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถยกระดับสิ่งที่คนในท้องถิ่นปฏิบัติอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเผาตามกำหนดและการทำแนวกันไฟ ซึ่งยังเป็นวิธีการลดความเสี่ยงที่สำคัญ” เขากล่าวต่อ “เราต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีการปฏิบัติต่อไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า”
หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม และโครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานเห็นพ้องกันว่า เชื้อเพลิง เช่น ซังข้าวโพดและวัชพืช ที่ไม่ได้รับการจัดการจนเกิดการสะสมนั้นเป็นต้นเหตุของไฟป่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจึงทำงานร่วมกับชุมชนนำร่องเพื่อเสริมสร้างความรู้ของชุมชนเกี่ยวกับการจัดการและการลดเชื้อเพลิงโดยการกำจัดวัชพืช ตลอดจนพืชและสิ่งที่สามารถลุกไหม้ได้
การเตรียมความพร้อม: ติดอาวุธให้กับผู้มีบทบาทในท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่เข้าถึงง่ายและใช้งานสะดวก
นอกเหนือจากการพัฒนาศักยภาพแล้ว การแนะนำและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการดับไฟที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ อุปกรณ์เหล่านี้จะต้องไม่ใช้งานและบำรุงรักษายากจนเกินไป โครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยภูคา สถานีควบคุมไฟป่าดอยภูคา และโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้มอบอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละชุมชน ซึ่งรวมถึงเครื่องมือ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์สนับสนุนอื่นๆ สำหรับใช้งานทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเกิดไฟป่า มีตั้งแต่อุปกรณ์ฉีดน้ำแบบสะพายไหล่ เครื่องเป่าลม ที่ตบไฟ คราด และที่ตัดหญ้า ไปจนถึงไฟฉายคาดหัว วิทยุพกพา และชุดปฐมพยาบาล อุปกรณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการไฟเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการแบบองค์รวม
เราได้จัดการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการควบคุมและดับไฟในชุมชนเป้าหมายทั้งสี่แห่ง ปัจจุบันชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพร้อมมากขึ้นแล้วในการพัฒนาแผนการจัดการไฟและการนำไปปฏิบัติจริง นอกจากนี้ การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อเตือนชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เสี่ยงไฟป่าในยามที่เกิดไฟยังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ
ปฏิรูปการจัดการไฟให้เป็นกระบวนการยั่งยืนตลอดทั้งปี
ระยะเตรียมการของกรอบการจัดการไฟแบบบูรณาการนี้คือก้าวแรกในการลดความถี่และความรุนแรงของไฟป่าในประเทศไทย “การจัดการไฟเป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพื่อให้ชุมชนสามารถรับมือกับไฟในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องขยายกระบวนการจัดการไฟให้ครอบคลุมตั้งแต่ระยะเตรียมการก่อนเกิดไฟไปจนถึงระยะฟื้นฟูหลังเกิดไฟ ไม่มุ่งเน้นเพียงการห้ามเผาและการดับไฟในฤดูไฟป่า” ศุภวัฒน์ มะทะ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าดอยภูคากล่าว
การเกษตรปลอดการเผา (Zero burning) เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากการเผามีความจำเป็นต่อความเป็นอยู่ของชุมชนที่พึ่งพิงป่าและเกษตรกรรมหลายแห่ง นอกจากนี้ ไฟป่าจะยังคงเกิดขึ้นตามธรรมชาติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ สิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการรณรงค์การใช้ไฟที่มีประโยชน์อย่างรับผิดชอบและอยู่ภายใต้การควบคุม โดยมีการกำหนดและอนุญาตให้เผาเฉพาะบางช่วงเวลาตามที่เหมาะสมแก่ความจำเป็นและความต้องการของชุมชน เราจะยังคงส่งเสริมความเข้าใจและให้ความรู้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการใช้และการจัดการไฟอย่างเหมาะสมต่อไป
RECOFTC มุ่งทำงานโดยให้ชุมชนและแนวทางจากล่างขึ้นบนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการไฟในทุกระยะ ในระยะเวลาต่อจากนี้เราวางแผนที่จะบันทึกและแบ่งปันบทเรียนที่ได้รับจากการรับมือกับไฟของชุมชนและการฟื้นฟูหลังเกิดไฟ นอกจากผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง 4,000 รายในพื้นที่เป้าหมายแล้ว เรายังมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมในการใช้ไฟและการจัดการไฟให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้แผนและแนวทางการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานเป็นวาระสำคัญในระดับชาติ และเสริมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ในสังคม และท้ายที่สุดคือร่วมบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ
###
นิชนันท์ ตันฑพงศ์ เป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารประจำรีคอฟ ประเทศไทย (RECOFTC Thailand) และรัตน์กวี บุญเมฆ เป็นผู้ประสานงานโครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานประจำประเทศไทย
บทความนี้ผลิตขึ้นผ่านโครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน (Community-based Fire Management หรือ CBFiM) ในเอเชีย ซึ่งโครงการเกิดขึ้นได้ด้วยข้อตกลงความร่วมมือห้าปีระหว่างโครงการระหว่างประเทศของกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และ RECOFTC โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจําภาคพื้นอินโดแปซิฟิก (United States Indo-Pacific Command หรือ USINDOPACOM) ของกระทรวงกลาโหม รวมถึงเงินทุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และโครงการระหว่างประเทศของกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ
ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.recoftc.org/projects/cbfim
งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนของ Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) และ Government of Sweden