RECOFTC
โครงการ

เกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทย

พัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อยกระดับการจัดการป่าชุมชนให้สามารถตั้งรับภาวะโลกร้อนและมีความเท่าเทียมในการใช้ทรัพยากรของทุกกลุ่ม

ข้อมูลโดยสรุป 

  • เริ่มดำเนินโครงการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 และสิ้นสุดโครงการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568  
  • พัฒนาศักยภาพให้กับป่าที่ชุมชนบริหารจัดการจำนวน 28 แห่งจาก 10 จังหวัดใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยสร้างนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens’ Forest Master หรือ CF Master) เป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเริ่มจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพไปจนถึงการพัฒนาแผนการจัดการป่าชุมชนที่ครอบคลุมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน 
  • ส่งเสริมให้เกิดการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชน ติดตามประเมินผล และรายงาน และนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นแผนธุรกิจชุมชนบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพอย่างน้อย 3 แผน 
  • สร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการป่าโดยชุมชนมีส่วนร่วม ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประเทศร่วมกับองค์กรภาครัฐเพื่อให้กฎหมายเกี่ยวกับป่าชุมชนครอบคลุมมิติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ 
  • โครงการได้รับทุนสนับสนุนจาก Darwin Initiative โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร ดำเนินงานร่วมกับสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London หรือ ZSL) ในประเทศไทยและได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens’ Forest Network หรือ CF-NET) และองค์กรภาคีเครือข่ายอื่นๆ 

โครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทยมุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (Protected areas) ในประเทศไทย พื้นที่เหล่านี้ครอบคลุมป่าที่ชุมชนบริหารจัดการมายาวนานแต่ยังขาดการเก็บและจัดการข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ รีคอฟ ประเทศไทย (RECOFTC Thailand) เล็งเห็นความเชื่อมโยงว่าการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ชุมชนพัฒนาความเป็นอยู่ได้เช่นกัน และนำไปสู่โอกาสในการสนับสนุนให้กฎหมายด้านป่าชุมชนมีการบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น เราจึงพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทั้งสามประการ

นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองหรือ Citizens’ Forest Master (CF Master) คือตัวแทนจากป่าที่ชุมชนบริหารจัดการจำนวน 28 แห่งและอาสาสมัครในพื้นที่ใกล้เคียงผู้ผ่านการคัดเลือกรวม 50 รายที่จะมาเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการป่าชุมชน โดยทุกคนได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง ตั้งแต่การเสริมสร้างเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจเกี่ยวกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาศักยภาพในการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจากป่าของตนเองพร้อมติดตามประเมินผลและรายงาน และการพัฒนาแผนการจัดการป่าชุมชนที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของชุมชนโดยมีการบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ

โครงการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก จังหวัดสกลนคร จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดราชบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะมีการต่อยอดความสำเร็จโดยนำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพที่นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองสำรวจมาพัฒนาแผนธุรกิจชุมชนจากความหลากหลายทางชีวภาพ และกระบวนการพัฒนาศักยภาพจะได้รับการถอดบทเรียนและนำเสนอผ่านคู่มือการทำแผนการจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประเทศร่วมกับภาครัฐและอื่นๆ รวมถึงสื่อความรู้ต่างๆ เพื่อขยายผลในวงกว้างรวมถึงระดับนโยบาย

 

นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง รีคอฟ ประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายถ่ายรูปร่วมกันในกิจกรรมอบรมด้านการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชุมชน

 

ความสําคัญของโครงการต่อประเทศไทย 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพืชมากกว่า 15,000 สายพันธุ์และสัตว์มีกระดูกสันหลัง 4,722 สายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตเหล่านี้หลายสายพันธุ์จัดอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์โดยสาเหตุจากมนุษย์ เช่น การขยายตัวของพื้นที่เมือง การสร้างสาธารณูปโภค และการขยายพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ป่าของประเทศไทยราวร้อยละ 18 จัดเป็นพื้นที่คุ้มครองและเป็นถิ่นที่อยู่สำคัญของพืชและสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์จำเป็นต้องมีพื้นที่คุ้มครองที่มีขนาดใหญ่และเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นเพื่อให้พันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีความแข็งแรงพอและสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้ พื้นที่ป่าชุมชน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6,000,000 ไร่หรือ 960,000 เฮกเตอร์และคิดเป็นร้อยละ 6 ของพื้นที่ป่าในประเทศไทย มักอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและเชื่อมกับพื้นที่คุ้มครอง พื้นที่ป่าชุมชนจึงมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ยังมีประชากรฐานะยากจนอยู่ในกลุ่มพื้นที่เดียวกันจำนวนมาก มีปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโดยมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างคนเมืองและคนชนบท กลุ่มคนยากจนในพื้นที่ชนบทจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า รวมถึงกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ดังนั้นวนศาสตร์ชุมชนที่ส่งเสริมชุมชนในการบริหารจัดการป่าจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้คนในชุมชนเหล่านี้มีสิทธิ์ในที่ดินที่มั่นคงและสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิ์ของชุมชนในการบริหารจัดการป่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 แผนการจัดการป่าชุมชนกลับยังไม่มีการบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชัดเจน อีกทั้งศักยภาพในการจัดทำและดำเนินงานตามแผนยังอยู่ในระดับต่ำ 

นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองได้รับการพัฒนาศักยภาพในการสำรวจป่าและประเมินความหลากหลายทางชีวภาพในป่า

รีคอฟ ประเทศไทย ได้ถอดบทเรียนความสำเร็จจากต้นแบบการจัดการป่าที่เชื่อมโยงกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งช่วยส่งเสริมทั้งการอนุรักษ์ ความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนของชุมชน และการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่เท่าเทียมไปพร้อมกัน เราเห็นความสำคัญในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแบบบูรณาการพ.ศ. 2558-2564 ของประเทศไทย และส่งเสริมป่าชุมชนให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง หรือ Other Effective Conservation Measures (OECM) เราจึงตั้งเป้าหมายที่จะสร้างศักยภาพของชุมชนไทยในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างรายได้จากธุรกิจฐานชีวภาพ และส่งเสริมโอกาสของชุมชนในการสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยยกระดับการจัดการป่าชุมชน โดยกลุ่มผู้ที่เข้ารับการพัฒนาศักยภาพต้องครอบคลุมกลุ่มคนชายขอบ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เยาวชน และผู้หญิง โดยผู้เข้าร่วมกระบวนการของโครงการอย่างน้อยร้อยละ 40 ต้องเป็นผู้หญิง 

กิจกรรมหลักของโครงการ 

โครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทยมุ่งยกระดับการจัดการป่าไม้โดยศักยภาพของชุมชนในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหัวใจสำคัญ กิจกรรมสำคัญของโครงการ ได้แก่

  1. พัฒนาศักยภาพป่าชุมชนในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาแผนการจัดการป่าชุมชนที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ  
  2. พัฒนาแผนธุรกิจชุมชนบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ 
  3. สร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการป่าที่เชื่อมโยงกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและชุมชนมีส่วนร่วม

พัฒนาศักยภาพป่าชุมชนในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาแผนการจัดการป่าชุมชนที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ  

รีคอฟ ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London หรือ ZSL) ในประเทศไทย เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens’ Forest Network หรือ CF-NET) และองค์กรภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในการดำเนินกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 และจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 สมาชิกในป่าชุมชนเป้าหมายทั้ง 28 แห่งและอาสาสมัครรวม 50 รายได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเน้นการปฏิบัติจริงในพื้นที่ป่าของแต่ละชุมชน โดยมีการวิเคราะห์ช่องว่างทางนโยบายเกี่ยวกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยและการหารือกับชุมชนเพื่อประเมินสถานการณ์และความต้องการการพัฒนาศักยภาพของชุมชนก่อนเริ่มกระบวนการเพื่อให้ออกแบบกิจกรรมได้เหมาะสม

สมาชิกในชุมชนเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อนำไปทำแผนการจัดการป่าชุมชน

นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองจะได้รับการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำและการเป็นกระบวนกรที่จะนำสมาชิกในชุมชนของตนเองมาพัฒนาแผนการจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เริ่มจากการสำรวจป่า การเก็บและสังเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพตลอดจนข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจสังคมและกิจกรรมการบริหารจัดการป่าที่ชุมชนปฏิบัติอยู่ การติดตามประเมินผลความหลากหลายทางชีวภาพ การรายงานข้อมูลซึ่งจะได้รับการบันทึกลงในฐานข้อมูลป่าไม้ภาคพลเมืองออนไลน์ thaicfnet.org ในที่สุด และการนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาพัฒนาแผนการจัดการป่าชุมชนให้มีการบูรณาการการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ชุมชนมีแผนการจัดการป่าที่นำไปใช้ได้จริง สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความท้าทายอื่นๆ และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเพื่อคนทุกกลุ่มในชุมชน

ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม จังหวัดราชบุรี

พัฒนาแผนธุรกิจชุมชนบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ 

ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพจากป่าที่นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองเป็นผู้รวบรวมจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดทำแผนธุรกิจบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชน โครงการตั้งเป้าหมายที่จะจัดทำแผนธุรกิจอย่างน้อย 3 แผน โดยร่วมมือกับทีมวิจัยในการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานเพื่อหาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรที่เหมาะสมกับชุมชนและมีตลาดรองรับ นอกจากนี้ยังสำรวจความเห็นผู้บริโภคและหารือกับตัวแทนจากภาคธุรกิจเพื่อให้เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและความสนใจในผลิตภัณฑ์

สร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการป่าที่เชื่อมโยงกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและชุมชนมีส่วนร่วม 

โครงการมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายผลลัพธ์จากการดำเนินงานในระดับประเทศ เราจึงเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและนำเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับประเทศ ที่จะนำเสนอในเวทีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ได้จากการถอดบทเรียนจากการวิเคราะห์ข้อมูล การวิจัย และการปฏิบัติจริงของชุมชนผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง เพื่อผลักดันให้กฎหมายในการจัดการป่าชุมชนผนวกมิติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วม โครงการยังวางแผนผลิตและนำเสนอคู่มือการทำแผนการจัดการป่าชุมชนในเวทีดังกล่ว ซึ่งคู่มือนี้มีเนื้อหาครอบคลุมการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าและให้แนวทางที่ชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติตามได้จริง นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่ป่าชุมชนอื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่นำร่องของโครงการ  

นักจัดการป่าไม้ภาคพลเมืองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝึกอบรมการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 

โครงการเริ่มในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 และสิ้นสุดโครงการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 

องค์กรภาคีเครือข่าย 

โครงการได้รับทุนสนับสนุนจาก Darwin Initiative โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร  ดำเนินงานร่วมกับสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London หรือ ZSL) ในประเทศไทยและได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens’ Forest Network หรือ CF-NET) และองค์กรภาคีเครือข่ายอื่นๆ 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

อัฉราภรณ์ ได้ไซร้ ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนไทยและผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง
atcharaporn.daisai@recoftc.org, thailand@recoftc.org