รายงานพิเศษ สรุปประเด็นและข้อเสนอะแนะจากเวทีเสียงสะท้อนธรรมาภิบาลป่าไม้ ครั้งที่ 1 “อุณหภูมิ 1.5 องศา กับความเร่งด่วนที่ต้องมีธรรมาภิบาลป่าไม้”
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า(รีคอฟ) มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้แทนภาครัฐ ภาคประชาสังคมและชุมชน ได้ร่วมกันจัดเวทีเสียงสะท้อนธรรมาภิบาลป่าไม้ "อุณหภูมิ 1.5 องศา กับความเร่งด่วนที่ต้องมีธรรมาภิบาลป่าไม้ ครั้งที่ 1" ณ โรงแรมน่านกรีนเลค จ. น่าน โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ นโยบายและทิศทางการทำงานของภาครัฐ การบริหารจัดการป่าไม้ให้มีธรรมาภิบาล ซึ่งเปิดรับฟังข้อคิดเห็นและตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมเวทีตลอด 2 ชั่วโมงเต็มในภาคเช้า และภาคบ่ายเป็นการเสวนาระดมความคิดเห็นอย่างเข้มข้นจากนักพัฒนาฯ นักกฏหมาย เกษตรกร ผู้แทนสถาบันฯ ภาคประชาสังคมและชุมชน จากจ.น่านและใกล้เคียงต่างพร้อมกันร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นที่จะนำไปสู่แนวทางการสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ของประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน
จากเวทีเสียงสะท้อนครั้งนี้ ได้สรุปประเด็นแลกเปลี่ยนและข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. ผู้เข้าร่วมสะท้อนว่าแม้การทำงานของรัฐจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น และเห็นการปรับบทบาทของเจ้าหน้าที่ด้านป่าไม้ เป้าหมายของการทำงานของภาครัฐยังไม่ทะลุที่จะตอบโจทย์ปัญหาที่เป็นอยู่และต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจจะมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ และการสูญเสียโอกาสในการดึงการสนับสนุนทางด้านป่าไม้จากเอกชนและต่างประเทศ หากการบริหารจัดการป่าไม้ของไทยยังคงติดล็อคด้านระเบียบกฎหมายและการดำเนินงานที่ยังคงล่าช้าไปทันเวลา
2. ทางด้าน GISTDA มีข้อเสนอว่า ปัญหาป่าไม้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินควรทำด้วยความรวดเร็ว กรมป่าไม้ควรส่งเสริมเรื่องการรังวัดชุมชน การรังวัดภาคเอกชน โดยที่กรมป่าไม้ควรมีรูปแบบและกติกาเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและทำหน้าที่เป็นเพียงผู้กำกัดดูแลแทนการดำเนินการโดยรัฐเพียงอย่างเดียว นอกจกจากนี้กรมป่าไม้ควรส่งเสริมการปลูกป่าภาคเอกชนอย่างจริงจังและทำให้นำไม้จากการปลูกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยทำการปลดล็อคระเบียบที่หยุมหยิมเกินไป และควรเน้นให้ประชาชนได้รับการแบ่งปันประโยชน์จากการสะสมคาร์บอนเครดิต โดยภาครัฐเป็นผู้ส่งเสริมการรักษาป่าตามกลไกโลกร้อน
3. อาจารย์ไพสิฐ พานิชกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนว่าในปัจจุบันระบบบริหารราชการแบบที่เป็นอยู่นั้นไม่เอื้อ เพราะมุ่งเน้นการงานให้เพียงบรรลุตัวชี้วัด KPI มากเกินไป จนไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการทำงาน และการใช้เครื่องกฎหมายที่ไม่เน้นการตอบสนองปัญหาและแข็งตัว สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือควรเน้นการบริหารจัดการที่เป็นการสร้างความร่วมมือในลักษณะการจัดการร่วม ในส่วนของตัวแทนเครือข่ายชนเผ่ามองว่าภาครัฐควรเร่งให้การรับรองสิทธิดั่งเดิมของชุมชนที่อยู่มาก่อน ส่วนทางด้านเกษตรกรสวนยางเสนอให้รัฐส่งเสริมการจัดทำสวนยางยั่งยืน อย่ามองสวนยางเป็นผู้ร้ายของการทำให้ป่าลดลง แต่ให้มองว่าจะดึงให้สวนยางมาเป็นคำตอบให้กับการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวได้อย่างไร และสร้างมาตรการที่ยืดหยุ่นสำหรับสิทธิที่ดินของสวนยางในพื้นที่ป่าด้วยการส่งเสริมการจัดทำสวนยางยั่งยืน
4. ข้อเสนออื่น ๆ จากผู้เข้าร่วม
- ด้านกฎหมาย ผู้เข้าร่วมเสนอให้ภาครัฐมอบอำนาจให้ท้องที่ท้องถิ่นกระจายให้หน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้จัดทำข้อมูลที่ดิน เพื่อเร่งการจัดทำข้อมูลการถือครองที่ดิน เพื่อจะสามารถทำให้การดำเนินการจัดสรรที่ดินทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเร่งรับรองสิทธิชุมชนที่อยู่มาก่อนกฎหมายประกาศ ชุมชนที่พิสูจน์ว่าอยู่มาก่อนจะต้องยกเว้นการเป็นพื้นที่ป่า โดยใช้เครื่องมือแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นเกณฑ์ แก้ไขกฎหมายป่าไม้ให้นิยามป่าคือที่ ๆ ยังไม่ได้มาตามประมวลกฎหมาย ไม่ใช่จำกัดอยู่ที่ประมวลกฎหมายที่ดิน และให้สิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายด้วยชุดความคิดโฉนดชุมชน เป็นสิทธิชุมชนตามมาตรา 43 (2) ตามรัฐธรรมนูญ
- ด้านการใช้ประโยชน์ การจัดการที่ดิน ผู้เข้าร่วมเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนโอกาสให้ชุมชนจัดการไม้ใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างองค์ความรู้เรื่องการจัดการไม้ให้ชุมชน สร้างมาตรการร่วมในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าแต่ละประเภท โดยมีประเมินศักยภาพพื้นที่ก่อนการจัดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องกำหนดขอบเขตการมีส่วนร่วม การจัดการและการใช้ประโยชน์ สร้างข้อตกลง หาข้อสรุปการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ 1Aจะใช้อย่างไร
- ด้านมาตรการการทำงานและกลไกความร่วมมือ ภาครัฐควรเน้นการบริหารจัดการที่ “ยืดหยุ่น” ขับเคลื่อนได้จริง มีสัดส่วนที่เป็นธรรม ระบบข้อมูล ร่วมทำงานกับท้องถิ่น โดยใช้เครื่องมือของท้องถิ่น เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระบบกองทุน พร้อมกับส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ (ความรู้และเทคโนโลยี) ระบบการติดตามและตรวจสอบ โดยมีตำบลเป็นฐาน เพื่อทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กรชุมชน ซึ่งมาร่วมตัวกันเป็นคณะทำงานธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมตำบล ซึ่งมีตัวแทนจากท้องที่ และภาครัฐมาทำงานร่วมกัน
สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนด้านนโยบายการบริหารจัดการป่าไม้ของไทย จากกรมป่าไม้นั้นมีความสอดคล้องกับสถานการณ์และกลไกสากลในหลายด้าน แม้จะไม่ได้มีข้อผูกมัดทางกฎหมายระหว่างประเทศ และมีการประกาศเป้าหมายทางนโยบายเพื่อลดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนไม่น้อยกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดรับกับปฏิญญา New York Declaration ด้านป่าไม้ ที่นานาประเทศได้ร่วมกันประกาศให้การสูญเสียพื้นที่ป่าลดลงเหลือศูนย์ภายในปี 2030 หรือปี 2573 นอกจากนี้ กรมป่าไม้ ได้จัดเตรียมข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนภาคสมัครใจ เฟล็กที กับทางสหภาพยุโรป ข้อตกลงนี้จะทำให้ประเทศไทยมีระบบการรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ผู้ซื้อไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปว่า สินค้าไม้ที่มีการค้าขายไปจากประเทศไทย เป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีการปลอมปนไม้เถื่อน ซึ่งทางกรมป่าไม้เชื่อมั่นว่า ระบบนี้จะช่วยทำให้เกิดการจัดการป่าไม้ที่มีธรรมาภิบาลได้ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความโปร่งใสในการค้าขายไม้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงการส่งออกมากยิ่งขึ้น
และทางคณะผู้จัดฯ ได้เชิญผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน เยี่ยมชมพื้นที่บ้านปางกบ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมาด้วย โดยมีนายสมชาย แซ่เล้า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้การต้อนรับและนำเสนอแผนการดำเนินการจัดการป่าร่วมกับเขตพื้นที่อุทยานขุนน่าน รวมทั้งได้พาดูบริเวณป่าใช้สอย ป่าพิธีกรรม ฯลฯ ซึ่งหมู่บ้านนี้เป็นชุมชนชาติพันธุ์ม้งได้เข้ามาอาศัยอยู่อาศัยทำกินมามาเป็นเวลาช้านาน ทั้งนี้ พื้นที่นี้ได้มีการประสานและสนับสนุนจากโครงการฯ เพื่อเข้าไปเสริมศักยภาพประชาชนให้สามารถจัดการดูแลป่าไม้ได้ และเริ่มมีแนวคิดเรื่องการกักเก็บคาร์บอนนำมาใช้ในพื้นที่นี้ อีกทั้งทาง GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สนใจที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นพื้นที่นำร่องในอนาคตด้วย
“ในอดีต ชาวบ้านที่นี่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่มาตลอด ทุกคนอยู่ด้วยความหวาดกลัวและไม่มั่นใจ เพราะไม่รู้ว่ามีสิทธิในที่ทำกินของเรามากน้อยแค่ไหน ถึงแม้ว่า สถานการณ์ตอนนี้จะดีขึ้นจากการจัดการแนวเขตพื้นที่ป่าไม้และที่ทำกินรอบๆร่วมกันระหว่างชุมชนและภาครัฐ แต่ในความเป็นจริง เราก็ยังอยู่ในเขตอุทยานอยู่ดี ก็ไม่รู้วันไหนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีก” ตัวแทนชุมชนได้กล่าวไว้
การเปิดเวทีและเยี่ยมชมพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ทั้งภาครัฐ ประชาสังคมและชุมชนได้มาร่วมปรึกษาหารือที่จะสามารถเป็นแนวทางที่ดีของการสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ให้เกิดขึ้นได้ทางหนึ่ง อีกทั้งยังแสดงถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง และทางคณะผู้จัดขอขอบคุณภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสนใจและติดตามประเด็นนี้มา ณ ที่นี้ด้วย
#V4MF#IamtheForest #RecoftcTH #WeGrowTogether #GoveranceisKey
และอ่านข่าวเกี่ยวกับเวทีนี้เพิ่มเติมได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=4lc3mH86C7o
http://www.nationmultimedia.com/detail/big_read/30360530
https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/863418
http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php…
http://thainews.prd.go.th/…/n…/print_news/TNSOC6112130010064