รายงานการประเมินพ.ร.บ.ป่าชุมชนของไทยชี้แนวทางเสริมสร้างความเข็งแรงให้กับกฎหมายลูกของพ.ร.บ.
ป่าชุมชนเป็นวิถีปฏิบัติของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและใกล้พื้นที่ป่าในประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ ทว่าสิทธิของพวกเขาเพิ่งได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในปี พ.ศ.2562 เมื่อมีการผ่านพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562
RECOFTC และ ClientEarth ได้จัดทำรายงานการประเมินของพระราชบัญญัติป่าชุมชน นี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรายงานนี้มีชื่อว่า Thailand’s Community Forest Act: Analysis of the legal framework and recommendations (พระราชบัญญัติป่าชุมชนของไทย: บทวิเคราะห์ทางกฎหมายและข้อเสนอแนะ) โดยการประเมินนี้จะช่วยให้ข้อมูลและสนับสนุนรัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ในการพัฒนากฎระเบียบข้อบังคับเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ การประเมินยังค้นพบบทเรียนที่ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อีกด้วย
ทีมผู้จัดทำรายงานการประเมินนี้ใช้หลักคิด “เสาหลัก 10 ประการของการดำเนินการป่าชุมชน” ซึ่งพัฒนาโดย ClientEarth เพื่อเป็นเครื่องมือการศึกษาวิเคราะห์พระราชบัญญัติป่าชุมชน การประเมินพบว่ากฎหมายนี้คือได้มุ่งไปยังทิศทางที่ถูกต้องแล้ว พระราชบัญญัติป่าชุมชนวางรากฐานเพื่อเสริมสร้างการยอมรับบทบาทของชุมชนในการจัดการป่าอย่างเป็นทางการ ตามกฎหมายนี้ ชุมชนสามารถจัดการพื้นที่ป่าไม้ได้ภายใต้แผนการจัดการ 5 ปีที่ได้รับอนุมัติ โดยกฎหมายกำหนดให้ “ชุมชน” ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวนมากกว่า 50 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การประเมินนี้ยังพบช่องว่างของพระราชบัญญัติป่าชุมชน ในภาพรวมนั้น ขอบเขตของพระราชบัญญัติป่าชุมชนยังมีความจำกัดคับแคบ เนื่องจากชุมชนสามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้เฉพาะนอกพื้นที่ป่าคุ้มครองของประเทศไทยและเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ในขณะที่สมาชิกชุมชนสามารถหาเก็บและใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าในการดำรงชีวิต แต่พวกเขาได้รับอนุญาติให้ใช้ผลผลิตจากป่าเพื่อยังชีพเท่านั้น ไม่สามารถใช้มันเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า
พระราชบัญญัติป่าชุมชนกำหนดหลักการสำคัญของการทำป่าชุมชนเอาไว้ โดยในลำดับต่อไปผู้กำหนดนโยบายต้องพัฒนากฎระเบียบข้อบังคับที่สนับสนุนการนำหลักการให้ไปปฏิบัติใช้จริง โดยในการประเมินนี้ RECOFTC และ ClientEarth ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจและองค์กรภาคประชาสังคมนำไปพัฒนากฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยคำแนะนำนั้นตั้งอยู่บนเสาหลัก 10 ประการ
10 แนวทางสร้างความเข้มแข็งให้พ.ร.บ.ป่าชุมชนของไทย
- การถือครองที่ดินและป่าไม้: กฎระเบียบข้อบังคับตามพระราชบัญญัติป่าชุมชนควรรับประกันว่าการใช้ป่าและที่ดินซึ่งมีอยู่แล้ว รวมถึงการใช้ป่าและที่ดินโดยชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น จะได้รับการพิจารณาก่อนการจัดสรรป่าชุมชน
- ขั้นตอนการจัดสรรป่าชุมชน: คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนควรออกแบบกระบวนการจัดสรรป่าชุมชนที่เรียบง่าย โดยมีขั้นตอนน้อยที่สุดและเอกสารที่สมเหตุสมผล มีเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกป่าชุมชนหรือเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนน้อยที่สุด และอนุญาตให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
- ธรรมภิบาลในชุมชน: กฎระเบียบข้อบังคับควรให้รายละเอียดหลักการและการคุ้มครองเพื่อรับประกันการมีตัวแทนที่ชอบธรรม มีความรับผิดชอบ และความโปร่งใสในหมู่สมาชิกชุมชน ส่วนกฎเกณฑ์ที่วางกรอบสมาชิกภาพและการทำงานของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการและสมาชิกของชุมชนนั้นควรถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น และมีความยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับชุมชนในการปรับใช้กับบริบทของพวกเขา
- การมีส่วนร่วมและการเป็นตัวแทนของชุมชน: เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกชุมชนทั้งหลายมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย กฎระเบียบข้อบังคับควรบัญญัติถึงการเตรียมการให้ผู้หญิง ชนพื้นเมือง และคนชายขอบผู้ขัดสน ซึ่งถูกมองข้ามในการพัฒนาและจัดการป่าชุมชนในอดีตเข้ามามีส่วนร่วม โดยสามารถทำได้ด้วยการขอให้ชุมชนค้นหาคนกลุ่มเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงแรกของกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งป่าชุมชน และจัดให้มีกลไกสร้างพื้นที่ที่ชัดเจนสำหรับพวกเขาในกระบวนการตัดสินใจ
- การจัดการป่าชุมชน: แผนจัดการป่าชุมชนควรเรียบง่ายและชัดเจน ทั้งยังควรปรับให้เข้ากับขนาดของป่าและรูปแบบของกิจกรรมที่ถูกนำเสนอ ตัวอย่างเช่น แผนจัดการป่าชุมชนไม่จำเป็นต้องมีบัญชีรายการไม้อย่างละเอียดหากไม้นั้นถูกนำไปใช้เพียงเพื่อการยังชีพ แต่ควรมีเอกสารที่เป็นแนวทางให้ เช่นแบบฟอร์มต่างๆ นอกจากนั้น ชุมชนก็ควรเข้าถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิจัย และฝ่ายอื่นๆ ได้ด้วย
- การเข้าถึงตลาด: กฎระเบียบข้อบังคับควรกำหนดให้ชัดว่าอะไรคือประเภทของผลิตผลและบริการที่ชุมชนสามารถใช้ได้ รวมทั้งเงื่อนไขในการใช้ สิ่งนี้จะทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากป่าชุมชน และให้แรงจูงใจในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
- การแบ่งปันผลประโยชน์: ควรมีความชัดเจนว่ารายได้จะมาจากป่าชุมชนและไปสู่กองทุนชุมชนอย่างไร ควรมีการกำหนดกลไกที่รับประกันการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมในหมู่สมาชิกชุมชน โดยรวมถึงกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสที่สุดด้วย
- การแก้ปัญหาความขัดแย้ง: ควรมีความชัดเจนว่าจะใช้วิธีการดั้งเดิมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างไร และวิธีการใดที่จะใช้ได้ในกรณีพิพาทเรื่องการใช้ป่าและการจัดสรรทรัพยากรในหมู่ชุมชน ทั้งนี้ พระราชบัญญัติป่าชุมชนให้สิทธิแก่คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชุมชนในศาลยุติธรรม
- การบังคับใช้ตามกฎหมาย: กฎระเบียบข้อบังคับควรให้รายละเอียดประเภทและจำนวนของสิ่งที่รัฐบาลจะควบคุมและตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เห็นภาพที่ชัดเจนของชุมชนและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมาย ทั้งยังจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ นอกจากนี้ กฎระเบียบข้อบังคับยังควรคุ้มครองบทบาทและหน้าที่ของระบบติดตามตรวจสอบแบบเพื่อนถึงเพื่อน (peer-to-peer) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระดับชุมชนด้วย
- การสนับสนุนจากภายนอก: กฎระเบียบข้อบังคับควรให้รายละเอียดว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอก อาทิ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ภาคเอกชน และคนอื่นๆ สามารถสนับสนุนชุมชนในการสมัครและจัดการป่าชุมชนได้อย่างไร หากว่าชุมชนและเมื่อชุมชนประสงค์ให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม
RECOFTC ได้ร่วมนำเสนอผลการประเมินนี้กับเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง (Citizens’ Forest Network) โดยเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองได้ใช้การประเมินนี้ปรับปรุงการมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎระเบียบข้อบังคับเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองมีส่วนร่วมในการจัดการภูมิทัศน์ป่าและการตัดสินใจเพื่อยกระดับสิทธิและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนป่าไม้ สมาชิกของเครือข่ายทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนและเครือข่ายป่าไม้ในพื้นที่กว่า 38 จังหวัดของประเทศไทย อีกทั้งสมาชิกของเครือข่ายยังมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการเสนอระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ด้วย
การประเมินนี้ชี้แนวทางเสริมสร้างความแข็งแรงต่อพระราชบัญญัติป่าชุมชน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายป่าชุมชน 10 ล้านไร่ ภายในปี พ.ศ.2568 ซึ่งรวมถึงป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 15,000 แห่ง
###
บทความนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของ RECOFTC แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่อาจสะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป และสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ Voice for Mekong Forests (V4MF), รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://voices4mekongforests.org/
งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)