ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าจัดงาน " เทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ถักทอผืนป่า Forest Quilt "
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) จัดเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ชูแคมเปญ "ถักทอต่อผืนป่า "Forest Quilt" ชวนคนเมืองเปิดมุมมองและร่วมสนับสนุนการฟื้นฟูผืนป่าที่ทำให้ป่าเพิ่มและคนท้องถิ่นอยู่รอดไปพร้อมกัน เชื่อสามารถสร้างป่าได้ทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ได้ทั้งการเพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ และเศรษฐกิจที่ดีของคนท้องถิ่น พร้อมเปิดต้นแบบการจัดการป่าอย่างยั่งยืนของชุมชนต้นน้ำแม่แจ่มที่ชุมชนใช้เทคโลยีและการวางแผนที่ดินเพื่อทำให้ป่าต้นน้ำได้รับการปกป้องคู่กับการทำกินที่สอดคล้องกับระบบนิเวศ และแนวคิดป่าเศรษฐกิจที่จะช่วยสร้างพื้นที่ป่าใหม่ ขณะที่นักวิชาการ เปรียบ กรุงเทพเมืองหัวโตขาลีบ วางผังเมืองไม่คำนึงถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว แนะออกมาตรการลดหย่อนภาษีที่ดินให้ภาคเอกชนเพื่อจูงใจให้สละพื้นที่ปลูกป่า พร้อมเสนอรัฐยกที่ดินให้เป็นสาธารณะเพื่อใช้สร้างป่าในเมืองให้เพิ่มมากขึ้น ชูโมเดล “นิวยอร์ค-บอสตัน” ต้นแบบป่าในเมือง
วันนี้ (4 มีนาคม 2561) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ได้จัดงานเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ขึ้นในหัวข้อ "ถักทอต่อผืนป่า Forest Quilt" โดยประเด็นหลักในการจัดงานครั้งนี้คือการนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้หรือ Forest Landsacpe Restoration (FLR) ซึ่งเป็นแนวคิดการฟื้นฟูป่าที่เชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพื้นที่ป่าในรูปแบบที่หลากหลายที่ตอบโจทย์ทั้งการฟื้นฟูบริการของระบบนิเวศน์ให้กับคนทั้งประเทศและส่งเสริมความกินดีอยู่ของประชาชนได้ ทั้งนี้การจัดงานในครั้งนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ งานนิทรรศการและงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงต้ว อย่างการเพิ่มพื้นที่ป่าจากพื้นที่ต้นน้ำบนเขาถึงทะเล แนวทางการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ในเมือง การออกร้านจำหน่ายสินค้าจากชาวบ้านจากบริเวณป่าชุมชน กิจกรรมถักทอต่อผืนป่าบนผืนผ้าขนาดใหญ่ (Forest Quilt) ที่เปิดโอกาสให้คนประชาชนที่เข้าร่วมงาน ได้ร่วมกันนำใบไม้ เศษไม้ จากบ้านมาประดิษฐ์ และถักทอบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่เพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ในการปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้ในประเทศไทยร่วมกัน นอกจากนี้ไฮไลท์ที่สำคัญภายในงานคือการเสวนาในหัวข้อ “ฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ ความหวังใหม่ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน” โดยมีวิทยาการที่ทำงานด้านการฟื้นฟูป่า นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ป่าชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก
น.ส. วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC)กล่าวในเวทีเสวนาว่า สืบเนื่องจากการขยายตัวของพื้นที่เมือง การเพิ่มของจำนวนประชากร การเติบโตของการเกษตรเชิงเดี่ยว และอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการที่ดินป่าที่ขาดประสิทธิภาพ ส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการลดลงของพื้นที่ป่า โดยสถานการณ์ล่าสุดของป่าไม้ในประเทศไทยเหลืออยู่เพียงแค่ 102.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.60 ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมด ดังนั้นการฟื้นฟูป่าจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ หรือประมาณ 26 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าจะบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ เนื่องจากการฟื้นฟูป่ามีการขับเคลื่อนกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว
"ในปีพ.ศ. 2528 ตอนนั้นมีคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดไว้ว่าประเทศไทยควรมีป่าร้อยละ40 เเต่จากวันนั้นจนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ได้เข้าถึงเป้าหมายนั้น เหตุผลหลักๆ คือเรายังไม่ได้ลดต้นตอสาเหตุหลักที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรมและหายไปอย่างจริงจัง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการที่คนท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูป่า มากไปกว่านั้นภาครัฐยังคงใช้แนวทางการอนุรักษ์นำแทนที่จะเน้นการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมให้ชุมชนมาร่วมดำเนินการ" ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC)กล่าว
น.ส.วรางคณา กล่าวต่อว่าคำตอบของโจทย์ของการฟื้นฟูป่าไม้ในครั้งนี้คือ การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ หรือ Forest Landscape Restoration (FLR) ซึ่งเป็นกระบวนการของการฟื้นฟูระบบนิเวศควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภูมิทัศน์ที่มีป่าไม้ที่เสื่อมโทรม การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้นั้นไม่ใช่แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่คือการฟื้นพื้นที่ในภูมิทัศน์ทั้งหมดให้สามารถตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่เกษตรขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง โดยหัวใจสำคัญคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันถักทอผืนป่าไปพร้อมๆ กัน
"เสมือนกับการผสานป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อยให้กลายเป็นผืนใหญ่ คล้ายกับผ้านวมหรือผ้าห่ม ที่ถักทอจากเศษผ้าหลากหลายสี ให้กลมกลืนกันทั้งผืน โดยหัวใจสำคัญคือการให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันถักทอผืนป่าไปพร้อมๆกัน" ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าว
น.ส.วรางคณากล่าวว่า ในปัจจุบันการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ภาครัฐเองก็มีการปรับใช้แนวทางนี้ในการฟื้นฟูป่ามากขึ้น และมีตัวอย่างที่ดีที่รัฐและคนในเมืองน่าจะสามารถสนับสนุนชุมชนกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ขยายผลได้มากยิ่งขึ้น เช่นตัวอย่างที่องค์กรภาคีที่รีคอฟร่วมทำงานด้วย ซึ่งไล่มาตั้งแต่พื้นที่ป่าต้นน้ำจนถึงป่าชายเลน
1.ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ
ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำของประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 72 ล้านไร่ หรือร้อยละ 22 ของประเทศ เป็นพื้นที่สูงชัน โดยส่วนใหญ่จัดการโดยกรมอุทยาน ในขณะที่หลายพื้นที่มีชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่
แนวทางการฟื้นฟูและดูแลที่สำคัญคือการสร้างการจัดการร่วมในการจัดการป่า บนฐานของการมีข้อมูลป่าและแนวเขตที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เช่นการทำงานของชุมชนแม่ละมูป อ.กลัยาณีวัฒนา จ.เชียงใม่ ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่แจ่ม ที่ไหลสู่แม่น้ำปิง ซึ่งนอกจากการทำงานข้อมูลการใช้ที่ดินที่ชัดเจนแล้วยังมีการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังตรวจตราพื้นที่ร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชนดั้งเดิม พบว่าการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากกว่าการจัดการโดยรัฐเพียงอย่างเดียว
2. ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมกว่า 3 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตของป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งป่าลักษณะนี้สามารถสร้างประโยชน์ไม่ใช่แค่การฟื้นระบบนิเวศป่า แต่รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจจากฐานป่าไม้ ที่มาจากทั้งการใช้ไม้โดยตรง รวมถึงของป่า โดยที่สามารถจัดการในรูปสวนป่า หรือวนเกษตร นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แปลงเกษตรในพื้นที่สปก.อีกจำนวนมากกว่า 22 ล้านไร่ที่มีศักยภาพในการเป็นป่าเศรษฐกิจ การทำวนเกษตรของดร.เกริก มีมุ่งกิจ ที่จ.สระแก้ว นั้นได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าในพื้นที่เพียง 50 ไร่นั้นสามารถมีพันธุ์ไม้มากกว่า 400 ชนิด ดังนั้นการสร้างป่านอกเขตป่านั้นสามารถเกิดได้ และสร้างรายได้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง
3.ป่าชายเลน ปัจจุบันมีอยู่เกือบ 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 9 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่าในแง่ของอาหาร การเป็นแหล่งเพาะเลี้ยง อาชีพ จนถึงการลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติทางทะเล การฟื้นฟูป่าชายเลนที่ดีที่สุดทางหนึ่งคือการสร้างองค์ประกอบให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ร่วมกับการทำงานกับชุมชนท้องถิ่นที่ช่วยกันเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง เช่นตัวอย่างของชุมชนไหนหนัง จ.กระบี่ที่ได้ฟื้นฟูป่าชายเลนเสื่อมโทรมกลับคืนมาโดยการใช้การวิจัยระบบนิเวศโดยชุมชนก็สามารถทำให้พื้นที่ป่าชายเลนนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารให้กับคนท้องถิ่นได้
4. ภูมิทัศน์เมืองก็ควรมีระบบบริการทางนิเวศที่ดีเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง จะเห็นได้ว่าอัตราพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ต่อจำนวนประชากร 5.42 ตร.ม. ต่อคน ขณะที่ World Health Organization (WHO) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ตารางเมตร. ต่อคน การเพิ่มป่าหรือพื้นที่สีเขียวในเมือง ควรเริ่มจากการวางผังเมือง คงรักษาพื้นที่สวน หรือพื้นที่สีเขียวดั้งเดิม และการสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นใหม่ทั้งในชุมชนขนาดเล็กและพื้นที่แนวตั้ง
การฟื้นฟูป่าในเมืองสามารถเริ่มได้จากตัวเราเเละสามารถทําได้ใกล้บ้าน ทั้งในชุมชนที่เราอาศัยอยู่หรือพื้นที่สาธารณะ เเต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคนเมืองสามารถร่วมสะท้อนเสียงให้รัฐบาลเกิดการจัดการป่าไม้ทั้งระบบ ที่ไม่ได้มองเฉพาะป่าในเมืองเท่านั้น เเต่เป็นการสนับสนุนการฟื้นฟูป่าจากป่าต้นน้ำจนถึงชายทะเล ที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์ของการฟื้นร่วมกันทั่วประเทศ รวมถึงคนเมือง ที่จะด้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูพื้นที่เหล่านี้ เช่น การที่ คนที่ต้นน้ำแม่แจ่มเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำปิง ซึ่งเขาพยายามทำการฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ของเขาให้มีความสมบูรณ์ฺ ซึ่งก็จะเกิดต้นน้ำปิงที่มีความอุดมสมบูรณ์รวมมาเป็นเเเม่น้ำเจ้าพระยาที่ให้คนเมืองได้ใช้ใช้ทรัพยากรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อีกสิ่งหนึ่งที่คนในเมืองควรสนับสนุนคือการสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่ทำหน้าที่ดูแลฟื้นฟูป่าเช่นนี้ พร้อมไปกับสร้างพื้นที่ป่าในเมืองให้เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้เกิดฟื้นฟูป่าไม้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน
น.ส.ปรานิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าป่า ในเมือง คือการนำต้นไม้จำนวนมากมารวมกัน แต่แท้จริงยังมีวิธีการอื่นอีก เช่น การปลูกต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ที่เป็นถนนหนทางของเมือง โดยพื้นที่ข้างล่างของต้นไม้ใหญ่ คนเมืองสามารถใช้ประโยชน์ ได้ แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าผังเมืองของกทม. ไมได้ถูกวางให้เอื้อต่อการที่จะทำให้เป็นป่าในเมืองมากนัก เพราะผังเมืองกทม.ไม่ได้กันให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียวเอาไว้แต่อย่างใด สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของกทม.เกือบทั้งหมดเกิดจากความบังเอิญ ไม่ได้เกิดจากการผังเมืองเพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวขึ้น อีกทั้งพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกต้นไม้ เช่น ตามแนวถนน หรือ ตามริมคลองก็มีพื้นที่ที่ไม่เพียงพอต่อการเติบโตของต้นไม้ขนาดใหญ่ ถนนเท่าที่มีอยู่ที่พอปลูกต้นไม้ได้ แต่จะต้องดำเนินการในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในระบบไหลเวียนของน้ำ ซึ่งเรายังไม่มีผู้รู้ที่ทำเรื่องนี้มากเท่าที่ควร ทั้งนี้มีส่วนที่น่าสนใจในเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่ขณะนี้ภาคเอกชนไปไกลกว่าภาครัฐมากในเรื่องนี้มาก เพราะบนอาคารสูง หรือ คอนโด แม้แต่ห้างสรรพสินค้า ของภาคเอกชนก็ได้พยายามจัดให้มีพื้นที่สีเขียว มีสวนสวยงาม ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่เดิม แต่คนเข้าไปใช้สอยพื้นที่ได้ไม่เต็มที่ เพราะเปิดปิดเป็นบางเวลา หรือบางหน่วยงานมีที่ดินกว้างขวาง แต่นำไปทำเป็นที่จอดรถหมด รัฐจึงควรคิดในเรื่องนี้ใหม่
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้ยกตัวอย่างของเมืองขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่สีเขียวในต่างประเทศ ว่าในต่างประเทศหลายแห่งได้มีตัวอย่างของการจัดการเมืองกับพื้นที่สีเขียวไว้อย่างน่าสนใจและตนคิดว่าเมืองไทยก็สามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการจัดการพื้นที่สีเขียวในเมืองได้เช่นที่เมืองนิวยอร์ก ที่มีสวนสาธารณะหรือเซ็นทรัลปาร์คขนาดใหญ่เป็นปอดของผู้คนในเมืองของเขา โดยที่มาที่ไปของการสร้างปอดขนาดใหญ่แห่งนี้เริ่มมาตั้งแต่การวางผังเมือง ได้มีการกำหนดให้พื้นที่บริเวณเซ็นทรัลปาร์คจะต้องเป็นสวนสาธารณะที่ประชาชนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยรัฐได้วางแผนจับจองพื้นที่และสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่แห่งนี้ขึ้น และได้มีการปรับระดับถมดินทำเนินต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และเหมาะสมกับการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากสวนสาธารณะขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัลปาร์คแล้วที่เมืองแห่งนี้ยังได้มีการกระจายพื้นที่ของสวนสาธารณะขนาดเล็กที่เกาะตามแนวระบบขนส่งมวลชน จึงทำให้ช่วงเมืองที่แม้จะเป็นกลุ่มตึกหนาแน่นแต่เมื่อเดินออกไปไม่ไกลก็จะเจอสวนสาธารณะแล้วจึงถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการจัดการเมืองและพื้นที่สีเขียวได้เป็นอย่างดี
น.ส.ปรานิศากล่าวถึงเมืองที่มีการจัดการพื้นที่สีเขียวในต่างประเทศเพิ่มเติมว่า เมืองบอสตันก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีการจัดการพื้นที่สีเขียวได้เป็นอย่างดีโดยที่เมืองแห่งนี้จะมีพื้นที่สีเขียวและมีต้นไม่ใหญ่กระจายอยู่รอบเมืองเต็มไปหมด และที่นี่ยังมีสวนสาธารณะบอสตัน (Boston Public Garden) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองบอสตัน เป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นจากการวางผังเมืองด้วย นอกจากนี้ที่เมืองแห่งนี้ยังมีการกำหนด แนวกันชนสีเขียว หรือ Green Belt ซึ่งมีไว้สำหรับการจำกัดการขยายตัวของมหานครไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกของการวางผังเมืองแล้วจึงทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองแห่งนี้ไม่ถูกทำลายและยังขยายตัวขึ้นในแต่ละพื้นที่ด้วย ในเมืองแห่งนี้จึงมีทั้งสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ มีถนนสวยๆ ที่มีต้นไม้ใหญ่สองข้างทางเต็มไปหมด
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองกรุงเทพมหานครไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า เนื่องจากกรุงเทพมหานครไม่ได้ถูกวางผังเมืองมาสำหรับพื้นที่สีเขียว จึงทำให้เมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่กระจุกตัวกันอยู่อย่างหนาแน่นไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่แซมในตึกรามบ้านช่องได้มากนัก ตนจึงมองว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะอุทิศพื้นที่ที่เป็นเขียวอยู่แล้วให้เป็นที่สาธารณะ หรือ บางหน่วยงาน ที่มีความคับแคบในเรื่องสถานที่ก็อาจจะต้องย้ายหน่วยงานออกจากพื้นที่หากไม่มีความจำเป็นต้องอยู่จุดตรงนั้นและนำพื้นที่นั้นไปสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมืองซึ่งหากทำแบบนี้ได้เราจะได้พื้นที่สีเขียวกลับคืนมาเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน
“กรุงเทพฯก็เป็นเหมือนเมืองหัวโต ขาลีบ ทุกคนยังต้องเข้ามาที่แห่งนี้เพราะเป็นทั้งแหล่งงาน แหล่งเงิน ไลฟ์สไตล์ต่างๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวรัฐควรจะต้องดำเนินการในเชิงรุกและต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งวันนี้แม้แต่ประเทศสิงคโปร์ที่มีขนาดเล็กกว่าเราเยอะแต่เขากลับมีพื้นที่สีเขียวมาก ในขณะที่กทม. เมื่อพูดถึงสถิติพื้นที่สีเขียวก็ยังมีตัวเลขที่น้อยมาก และพื้นที่สีเขียวที่มีก็เป็นพุ่มไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็กที่ไม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดด์ออกไซด์ได้ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับภูมิทัศน์ของเมืองใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นเพื่อสุขภาพของคนเมืองทุกคนด้วย ”น.ส.ปรานิศา กล่าว
นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะที่นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การฟื้นฟูป่าไม้ในเมืองในไทยควรที่จะเชื่อมโยงกับ 3 เรื่องสำคัญ คือ การเกษตร สวัสดิการของประชาชน และ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งโจทย์ของการพื้นฟูป่าไม้แบบภูมิทัศน์ใหม่ คือการฟื้นฟูให้ 3 เรื่องนี้ไปพร้อมกันได้ เช่น เราสามารถทำป่าไม้ในพื้นที่เกษตร หรือที่เรียกว่า วนเกษตร ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ในส่วนที่เป็นรายได้ ในส่วนของสวัสดิการนั้น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย มีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้และระบบกฎหมายที่เอื้อให้ใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันของชีวิตในช่วงปลายได้ เช่น ที่กำแพงเพชร มีโมเดล ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่อายุ 40 ปีในวันนี้ ตอนเกษียณมีเงิน 4แสนบาท ซึ่งการออมที่ดีที่สุดคือ การปลูกต้นไม้ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เพราะอีก 20 ปี เนื้อไม้เหล่านี้จะมีมูลค่ามาก และสุดท้ายคือการเชื่อมโยงเข้าไปสูระบบนิเวศน์ที่คำนึงถึงความเหมาะสม หรือ ความแตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่
“ในพื้นที่เมือง แม้ว่าจะเป็นป่าเล็กป่าน้อยก็เป็นป่าได้เหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปโอบกอดกับพื้นที่ป่า ป่าในเมืองมีหน้าที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะของมัน เช่น เรื่องสุขภาพ ซึ่งโดยตรงกว่าป่าที่อยู่ห่างไกลเสียอีก ดังนั้นป่าในเมืองคือการเชื่อมโยงกับคน ให้คนมีโอกาสสัมผัสและสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากกว่า ทั้งนี้เห็นว่าในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองนั้น ในอนาคตรัฐควรเพิ่มแรงจูงใจให้กับเจ้าของที่ดิน เช่น มาตรการลดภาษีที่ดิน คือลดภาษีที่ดินให้กับที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่ หรือ มีให้ผลตอบแทนกับเจ้าของที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่และเปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ ”
หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวและว่ามีการคำนวณกันว่าคนไทยหนึ่งคนใช้ทรัพยากรเท่ากับป่าไม้ 3 ไร่ แต่เมื่อเทียบระหว่างคนเมืองและคนต้นน้ำอย่างชนเผ่าปกาเกอะญอ ใช้ทรัพยากรต่างกันเท่าไหร่พบว่าคนเมืองใช้ทรัพยากรคนละ 5 ไร่ซึ่งเกินกว่าพื้นทีทรัพยากรที่เรามี ในขณะนี้พี่น้อง ปกาเกอะญอกลับใช้กันเพียงคนละ 1 ไร่
นายเดชรัตน์ยังระบุเพิ่มเติมว่าในต่างประเทศมีผลการศึกษาระบุว่าพื้นที่สีเขียว หรือ ต้นไม้ในห้างสรรพสินค้าจะทำให้คนซื้อของมากขึ้น ทำให้เห็นว่าของเหล่านี้ไม่มีราคา แต่มีมูลค่า และคุ้มค่าที่จะลงทุนเพราะได้รับผลตอบแทนกลับมา” หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุ
นายวิจิตร พนาเกรียงไกร กรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป ลุ่มน้ำแม่ละอุปเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนในพื้นที่ต้นน้ำของจังหวัดเชียงใหม่กโดยนายวิจิตรกล่าวว่า ถ้าพูดเรื่องป่าตนมองว่าไม่ว่าจะเป็นป่าในส่วนเมืองหรือส่วนนอกเมืองนั้นก็มีความสำคัญและเชื่อมโยงกันหมด ซึ่งจากปัญหาในพื้นที่ของพวกตนนั้นเดิมทีนั้นชาวบ้านในเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปมีปัญหาเรื่องการจัดการป่าในพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งป่าในพื้นที่ของเราเป็นป่าสงวนชั้นหนึ่งเอและเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่กรมป่าไม้ได้มีข้อยกเว้นให้ชาวบ้านสามารถทำกินและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าได้ โดยในช่วงแรกที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่กันเองทำไร่ทำนาทำการเกษตรก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อมีนายทุนเข้ามาและเสนอความต้องการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ในพื้นที่ในปริมาณที่มาก ทำให้ชาวบ้านบุกรุกแผ้วทางพื้นที่ป่ามากขึ้นจนทำให้พื้นที่ป่าหายไปเป็นจำนวนมากและส่งผลกระทบทำให้น้ำท่าที่เคยสมบูรณ์หายไปหมด เมื่อไม่มีน้ำในการทำการเกษตรก็เกิดความขัดแย้งของชาวบ้านจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ เมื่อปัญหาลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเห็นว่าหากปล่อยให้เหตุการณ์เป็นแบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งเกิดปัญหาในพื้นที่มากขึ้น ลูกๆ หลานๆ ของพวกเราก็ใช้ชีวิตในอนาคตได้ยากลำบากมากขึ้นเราจึงรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม
กรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนแรกของการแก้ปัญหานั้นได้มีการรวมตัวของชาวบ้านจาก 5 หมู่บ้านในตำบลแม่ละอุป มาพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและร่วมกันออกแบบว่าหากเราต้องการแก้ปัญหานี้ให้เป็นรูปธรรมและเราจะใช้ประโยชน์จากป่าให้มีความยั่งยืนนั้นเราจะต้องทำอย่างไร เราก็ได้สำรวจข้อมูลในการแบ่งป่าที่ชัดเจน โดยแบ่งพื้นที่ป่าไม้ในกลุ่มออกเป็นสามส่วนคือ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย และป่าธรรมดา ซึ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าธรรมดานั้นจะไม่มีใครไปบุกรุกหรือทำอะไรกับป่าในสองส่วนนี้ โดยป่าที่ชาวบ้านสามารถใช้สอยทำประโยชน์ก็คือพื้นที่ป่าที่ถูกกำหนดให้เป็นป่าใช้สอย และชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านในเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปก็ยังมีหน้าที่ในการดูแลไม่ให้มีใครไปบุกรุกป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าธรรมดาด้วย ซึ่งหลังจากที่เริ่มดำเนินการในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ตามรูปแบบนี้พื้นที่ของป่าก็กลับมา ปริมาณของน้ำก็เพิ่มมากขึ้นทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นอย่างมากด้วย
นายวิจิตรยังได้มีแง่คิดที่น่าสนใจในเรื่องของการจัดการป่าไม่อย่างยั่งยืนเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหาเรื่องการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เราจะสามารถถักทอต่อผืนป่าได้ทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำอย่างพวกตน หรือผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ในเมืองที่จะสามารถช่วยสนับสนุนกิจกรรมของคนในพื้นที่ป่าต้นน้ำร่วมเป็นอาสาสมัครกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น และง่ายที่สุดก็คือเริ่มสำรวจตัวเองว่าได้มีพฤติกรรมอะไรที่จะทำให้เกิดการกระทบต่อป่าต้นไม่หรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่แล้วก็หยุดพฤติกรรมดังกล่าวและง่ายที่สุดก็คือ ปลูกต้นไม้ในห้องให้ได้คนละหนึ่งต้น ต้นอะไรก็ได้ปลูกและดูแลรักษาด้วยความรักก็จะทำให้เรามีพื้นนี่สีเขียวเพิ่มขึ้นและเข้าใจและรักต้นไม้ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
นายคมกฤช ตระกูลทิวากร นักธุรกิจเพื่อสังคมจากบริษัทหนึ่งสี่หนึ่งที่เป็นธุรกิจของเล่นเด็กที่สร้างจากไม้เหลือใช้ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของนักธุรกิจเล็กๆ อย่างบริษัทของตนนั้น แนวคิดในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาก็เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เมื่อเราได้แนวทางหลักในการประกอบธุรกิจแล้วการออกแบบธุรกิจของเราจึงเป็นการออกเพื่อรับผิดชอบต่อทุก ๆส่วนในสังคมด้วย บริษัทของตนเป็นบริษัทที่ทำของเล่นเด็กจากไม้ ซึ่งของเล่นจากไม้จะช่วยถึงพัฒนาการของเด็กได้และจะสามารถเสริมสร้างจินตนาการตามวัยของเขาได้ และของเล่นที่เป็นประโยชน์กับเด็ก ๆแบบนี้จึงจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ตนจึงเลือกและคัดสรรวัตถุดิบที่จะมาผลิตของเล่นซึ่งตนได้ใช้ไม้จากต้นยางที่ไม่มีน้ำยางแล้วและกำลังจะถูกตัดทิ้งมาแปรรูปเป็นของเล่น และยังใช้ไม้หลักๆ จากไม้มือสองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วเช่นไม้ที่มาจากบ้านที่ถูกรื้อ จากประตูหน้าต่างที่ไม่ได้ใช้แล้วตนก็นำมาสร้างของเล่นเพื่อจำหน่ายให้กับเด็กๆ โดยของเล่นแต่ละชิ้นในร้านของเรานั้นจะไม่เหมือนใครเพราะไม้ที่เราได้มาไม่ใช่ไม้ที่สวยมากแต่เป็นไม้ที่มีตำหนิเมื่อคนมาซื้อของเล่นที่ร้านเราเราจะบอกลูกค้าเลยว่า ของเล่นเราทำมาจากไม้อะไรและมีตำหนิที่ไหน บางชิ้นก็จะเป็นไม้ที่มีปุ่มไม่เรียบเราก็จะบอกลูกค้าเลยว่าชีวิตของคนจริงๆ มันก็ไม่ได้ราบเรียบหรือสมบูรณ์แบบเสมอไปเหมือนของเล่นของเราซึ่งลุกค้าเขาก็ซื้อจากความที่มันเป็นไม้มือสองเป็นไม้ที่ไม่สมบูรณ์
นักธุรกิจเพื่อสังคมจากบริษัทหนึ่งสี่หนึ่งกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ของเล่นที่ตนทำขึ้นนั้นก็เพื่อถมช่องว่างของคนสังคมให้ใกล้กันขึ้น ซึ่งตนได้ออกแบบให้ของเล่นบางชิ้นในร้านสามารถแยกออกไปบริจาคให้กับเด็กคนอื่นได้ เข่นคุณซื้อไม้ที่เป็นรูปนาฬิกาในไม้ชิ้นนั้นก็จะช่องแบบไม้ออกเป็นตุ๊กตาหมีที่จะถูกดึงออกไปบริจาคให้กับเด็กๆในพื้นที่ห่างไกลเมื่อคุณนำของเล่นไปให้ลูกเล่นก็จะเห็นช่องว่าของหมีตัวนั้นและก็สามารถบอกลูกได้หรือเป็นเครื่องเตือนใจได้ว่าของเล่นชิ้นนี้มันได้รับการแบ่งปันไปให้เด็กๆ คนอื่นๆในพื้นที่ห่างไกลได้ เรามีความเชื่อว่าเราจะทำธุรกิจด้วยการไม่เบียนเบียนคนอื่นไม่เบียนเบียนสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราพยายามทำถึงแม้จะมีขั้นตอนซับซ้อนและไม่สะดวกเท่ากับธุรกิจอื่นๆ แต่ถ้าเราเริ่มที่การลงมือทำด้วยตัวเองอย่างน้อยเราก็ได้ใช้วัตถุดิบที่แทนที่จะเอาไปทิ้งเอาไปทิ้งเอาไปเผาเราก็สามารถนำมันกลับมาใช้ได้อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์และมีคนเห็นคุณค่าของมันลดการทำลายป่า และไม่ทำลายระบบนิเวศของป่า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของป่าขึ้นได้ และถ้ามุมมองของผู้ประกอบการรายใหญ่เขาเห็นคุณค่าเหล่านี้ด้วยมันก็จะยิ่งดีแน่ๆ ตนเชื่อว่าแบบนั้น
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการจัดงานศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรยังได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. ขอเสนอให้รัฐเน้นการฟื้นฟูป่า ที่ทำให้ประเทศไทยได้มีป่าเพิ่มควบคู่ไปกับการส่งเสริมสิทธิแก่คนในท้องถิ่นได้ร่วมดูแลป่า รวมถึงได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูนี้ มากกว่าแนวทางการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว เพราะการสร้างการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันให้ชุมชนได้ประโยชน์จากป่า คือวิธีการฟื้นฟูป่าที่ยั่งยืนที่สุด
2.ภาคธุรกิจควรเข้ามาร่วมสนับสนุนและลงทุนกับการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการสนับสนุนที่เป็นระยะยาวและสามารถสร้างต้นแบบการสร้างป่าที่ให้ประโยชน์ทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
3.ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสนับสนุนโครงการถักทอต่อผืนป่า เพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถติดตามแนวทางการดำเนินงานตามโครงการนี้ได้ที่เว็ปไซต์ https://www.recoftc.org/country/thailand/project/national-flr-forum หรือเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/recoftcinThailand/
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) เป็นองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่เชื่อว่าการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของชุมชนจะนำไปสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน “คนท้องถิ่น คือ กุญแจที่สำคัญสู่ป่าที่สมบูรณ์” ที่ทำงานครอบคลุม 7 ประเทศในภูมิภาคประกอบด้วย ไทย กัมพูชา ลาว เนปาล เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า โดยมีความเชี่ยวชาญโดยตรงทางด้านการเสริมสร้าง ศักยภาพด้านวนศาสตร์ชุมชนและการพัฒนาการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนผ่านงานด้านฝึกอบรม งานศึกษาวิจัย และการสร้างพื้นที่สาธิต โดยทำงานครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาตั้งแต่ปี 2530 ภายใต้วิสัยทัศน์ ชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการจัดการป่าไม้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และกรอบการทำงาน คน ป่าไม้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ การขยายงานป่าชุมชน และการจัดการป่าอย่างยั่งยืน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตท้องถิ่น และการลดปัญหาความขัดแย้งด้านป่าไม้
เว็ปไซต์
https://www.recoftc.org/country/thailand/project/national-flr-forum
หรือเฟสบุค
https://www.facebook.com/recoftcinThailand/
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
วสุ วิภูษณะภัทร์ เจ้าหน้าที่ประสานงานสื่อ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า
โทร 084 811 9948 อีเมล wasu.vipoosanapat@recoftc.org