ทำไมต้องมีโครงการนำร่องเพื่อการทำไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย?
ปัญหาไม้เถื่อนในประเทศไทย
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการปิดป่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เพื่อรักษาทรัพยาการป่าไม้ แต่การกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับป่าไม้ โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่า ก็ยังคงมีให้เห็นถึงปัจจุบัน ซึ่งการขาดธรรมมาภิบาลเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการค้าไม้เถื่อน เพื่อจะแก้ไขอุปสรรคนี้ประเทศไทยจึงได้เข้าสู่การทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนโดยความสมัครใจเรื่องการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า ที่เรียกว่า “การเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ วีพีเอ” กับทางสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสามารถตรวจสอบที่มาของไม้ว่าไม่ได้เกิดจากกระบวนการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย แต่หากเกิดผ่านกระบวนการสร้างความชัดเจนของการบังคับใช้กฎหมาย ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ทำไมต้องมีการทำโครงการนำร่องเพื่อการทำไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เพื่อการตรวจสอบที่มาของไม้ว่ามีที่มาถูกต้องตามกฎหมาย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) จึงได้ดำเนินโครงการ “ การเสริมสร้างความสามารถเกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงการทำไม้และการค้าไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ปฏิบัติตามกระบวนการวีพีเออย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองและสาธิตกระบวนการและขั้นตอนที่สามารถแก้ไขข้อจำกัดและเหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยในการทำไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและสร้างกระบวนการทำงาน โดยมีความร่วมมือของฝ่ายราชการ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแนวทางการทำไม้ที่ถูกต้องของชุมชนและเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่นำร่องฯ
กระบวนการคัดเลือกพื้นที่โครงการนำร่องฯ
กระบวนการคัดเลือกพื้นที่โครงนำร่องเพื่อการทำไม้ที่ถูกต้องเริ่มวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา จากการประชุม “เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคในการเข้าร่วมการทำไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมายของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน” ผลของการจัดกิจกรรมได้มีการคัดเลือกพื้นที่นำร่องเพื่อการค้าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย 3 พื้นที่ จาก 9 โครงการทั่วประเทศ โดยใช้เกณฑ์ของร่างคำนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของการทำไม้ 3 กรอบ ที่ประกอบด้วย ประเภทของที่ดิน ชนิดไม้ที่ปลูกในพื้นที่ และกรอบกฎหมายที่ใช้ในการนำร่องฯโดยกระบวนการนำร่องฯนี้จะดำเนินการอยู่บนหลักการการมีส่วนร่วมและความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการจะดำเนินการต่ออย่างมีประสิทธิภาพ
พื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือก
ภายใต้โครงการนำร่องเพื่อการทำไม้ที่ถูกต้องตามกฏหมายของเกษตรกรรายย่อย มีดังต่อไปนี้
1.ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออนจังหวัด เชียงใหม่ ประเภทที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช)
2.ตำบลเมืองลีง อำเภอเมืองลีง จังหวัดสุรินทร์ประเภทที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน (โฉนดที่ดิน)
3. ตำบลพลวงทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ประเภทที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ( ส.ป.ก.)
การเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ
ในเดือนมกราคม เเละกุมภาพันธ์ 2560 รีคอฟได้เปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อการทำไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านกิจกรรมการการเสวนาและการเปิดตัวโครงการในแต่ละพื้นที่ ดังต่อไปนี้
พื้นที่ประเภทที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออนจังหวัด เชียงใหม่ การนำร่องในโครงการพื้นที่นี้มีจุดประสงค์เพื่อทราบถึงสิทธิการใช้ที่ดิน การวิเคราะห์สิทธิ์การใช้ที่ดินที่ได้รับมอบจากคณะกรรมการที่ดินเเห่งชาติ( คทช.) โดยมีการเปิดตัวโครงการนำร่องฯ วันที่ 19 มกราคม 2560 โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานและเสนอแนะแนวเพื่อนำไปสู่การทำไม้ที่ถูกต้องในพื้นที่ เช่น ประชาชนในพื้นที่สามารถขออนุญาตการใช้ไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 เเต่ยังมีข้อห่วงใยคือ การดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายนั้นยังมีความยุ่งยาก เเละผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติคำขออนุญาต ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการดำเนินการยาวนาน อย่างไรก็ดีหน่วยงานที่เข้าร่วมได้ยังแสดงความสนใจในการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการโครงการนำร่องฯในพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การผลักดัน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าอย่างยั่งยืนในพื้นที่ในอนาคต