RECOFTC Thailand
Câu chuyện

ชีวิตของพลเมืองผู้ขับเคลื่อนป่าชุมชน

29 September 2022
รีคอฟ แผนงานประเทศไทย
เรื่องราว “ชีวิตของพลเมืองผู้ขับเคลื่อนป่าชุมชน” บนเส้นทางของ “เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง” ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายด้านป่าไม้ กับการอธิบายบทบาทของพลเมืองคนหนึ่งกับพยายามรักษาฐานงานป่าชุมชนของชุมชนตัวเอง พร้อมกับการขับเคลื่อนเครือข่ายให้ได้เดินหน้าไปพร้อมกัน
Stories of Change

คำว่า “ประชาสังคม” เป็นคำคูลๆ เท่ห์ ๆ ในการบ่งบอกถึงความก้าวหน้าของสังคม ๆ หนึ่ง เพราะความเป็นประชาสังคมคือการสะท้อนความเป็นอิสระจากรัฐและจากทุน และการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและการรวมพลังของพลเมือง เพื่อการต่อรองและแสดงจุดยืนที่ของผู้ที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความเป็นธรรม แต่ภารกิจของการเป็นประชาสังคมของพลเมืองคนหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนขบวนการและเครือข่ายให้ได้รับการยอมรับนั้นหลายครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย และมักจะเป็นเรื่องที่อาจต้องทุ่มเทแบบสุดชีวิต  

ในเรื่องของงานทรัพยากรธรรมชาติ ขบวนงานป่าชุมชนนั้นถือว่าเป็นซีรีย์เรื่องยาว การมีจุดยืนที่ต่างกัน การขึ้นรูปและกำหนดการรวมตัวเป็นเครือข่ายป่าชุมชนของไทยในปัจจุบันก็ดูเหมือนไม่มีข้อสรุป ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะกรอบกฎหมายที่ออกมาล่าสุด การนิยามและกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเครือข่ายป่าชุมชนก็ยิ่งท้าทายขึ้น บนความแตกต่างที่มีกันมากยิ่งขึ้น เมื่อ พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่บัญญัติออกมากำหนดว่า “ป่าชุมชน” คือพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่อนุรักษ์ การเปิดพื้นที่ของคำว่า“ป่าชุมชน”ให้กว้างด้วยคำว่า“ป่าไม้ภาคพลเมือง” จึงเป็นตอนใหม่ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวสี่ปีก่อนหน้านี้ อันเป็นความพยายามของประชาสังคมบางส่วนที่ทำให้คำว่า “ป่า” นั้นเป็นพื้นที่ของทุกคน

ซีรีย์สามเรื่องราวของคนสามคน ผู้ที่ได้มาร่วมเดินทางบนเส้นทาง “เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง” นี้เป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายทอดความเป็นไปและสะท้อนบทเรียนของการแสดงบทบาทของประชาสังคมในด้านงานป่าไม้บนการพยายามเปิดและรักษาหัวใจของสิทธิของพลเมืองต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้  ในขณะที่ต้องขับเคลื่อนชีวิตของตัวเองไปพร้อมกับภารกิจบนหมวกหลายใบ และการรักษาชีพจรของเครือข่ายและบทบาทของภาคประชาสังคมร่วมกัน

กิตติศักดิ์ สุรกิจบวร: มือประสานแห่งป่าตะวันออก

กิตติศักดิ์ สุรกิจบวร อายุ 46 ปี เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้พลเมืองระดับภาคของภาคตะวันออก เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี เป็นเจ้าของสวนยางขนาดย่อม ๆ และเป็นคุณพ่อลูกสาม 

กิตติศักดิ์อาจดูไม่เหมือนคนทำงานป่าชุมชนที่เราคุ้นเคย บ้านของเขาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ป่า ไม่ได้หาของป่ามาขายหรือยังชีพ เขาเพิ่งได้ยินคำว่า “ป่าชุมชน” เมื่อราวปี 2550 ตอนที่เป็นสมาชิก อบต. และได้รับมอบหมายจากผู้บริหาร อบต.ให้ช่วยประสานงานจัดตั้งป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่ขึ้นตามนโยบายของกรมป่าไม้ในขณะนั้น ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จ ป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่ได้รับการบันทึกว่าเป็นป่าชุมชนแห่งแรก ๆ ใน จ.ชลบุรี

ภารกิจจัดตั้งป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่เหมือนเปิดโลกใหม่ให้กิตติศักดิ์ เขาได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ได้รู้จักผู้รู้เรื่องป่า ได้ศึกษากฎหมายป่าไม้ที่ดิน ได้โชว์ฝีมือการเป็นผู้ประสานสิบทิศ ยิ่งทำยิ่งสนุก มารู้ตัวอีกที เขาก็หลงรักการทำงานด้านป่าชุมชนจนถอนตัวไม่ขึ้น เมื่อเครือข่ายป่าไม้พลเมืองทาบทามให้เป็นผู้ประสานงานภาคตะวันออก เขาจึงรับหน้าที่นี้ด้วยความเต็มใจและทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่มาตั้งแต่ปี 2562


กิตติศักดิ์ สุรกิจบวร

จุดเริ่มต้น: ป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่ 

รถกระบะสีบลอนด์เงินคันเก่าหักเลี้ยวเข้ามาจอดหน้าบ้านชั้นเดียวริมทางหลวงชนบทหมายเลข 4107 ใน ต.พลวงทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ที่ล้อมรอบด้วยสวนยางพารา ไม่ได้กลับมานานหลายปี แต่ความทรงจำของเจที่มีกับป่าชุมชนแห่งนี้ยังแจ่มชัด ทันทีที่รถเลี้ยวเข้าเขตป่าชุมชน เรื่องราวต่าง ๆ ก็พรั่งพรู พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติคลองตะเคียนที่รัฐนำมาจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของอดีตแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์หรือที่ต่อมาเรียกว่าผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อกรมป่าไม้มีนโยบายจัดตั้งป่าชุมชนในช่วงปี 2550 อบต.พลวงทอง ซึ่งดูแลบ้านเขาใหญ่เห็นควรให้กันพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าชุมชน และเจซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกสภา อบต. หนุ่มไฟแรงในวัย 30 ต้น ๆ และเป็นคนสนิทของรองนายก อบต. พลวงทอง ก็ได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจนี้ 

เขาเพิ่งจะได้ยินคำว่า “ป่าชุมชน” เป็นครั้งแรกก็ตอนนั้น “ได้ยินครั้งแรกก็งง จะจัดตั้งป่าชุมชน ผมยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ความรู้ก็ไม่มี เข้าใจแค่ว่ามันคือป่าที่ใช้ร่วมกัน เป็นของสาธารณะ เป็นของชุมชน…แต่ทำก็ทำ”

เจเล่าถึงประสบการณ์แรกที่เขามีต่อป่าชุมชน การตัดสินใจ “ทำก็ทำ” ในตอนนั้นได้นำพาเจไปรู้จักคำใหม่ ๆ ความรู้ใหม่ ๆ และคนใหม่ ๆ อีกนับไม่ถ้วน เขาทำทุกอย่างตั้งแต่เดินสำรวจพื้นที่ว่าตรงไหนเป็นป่า ตรงไหนเป็นที่ทำกิน พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ประสานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หาพิกัดจีพีเอสเพื่อทำแผนที่ แนวเขตป่าชุมชน ทำไป เรียนรู้ไป ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่เรียนหนังสือถึงชั้น ป.6 และจบ ม.ปลายด้วยวุฒิ กศน. ที่จะทำงานนี้ได้สำเร็จ ถ้าไม่ใช่เพราะความมุ่งมั่นและใจนักสู้ พอกันแนวเขตได้แล้วก็ประสานให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านมาประชุมกัน รับรู้ร่วมกันว่าตรงไหนเป็นเขตป่าชุมชนตรงไหนเป็นเขตป่าอนุรักษ์ “เราตกลงกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าถ้าเป็นพื้นที่ป่าชุมชน ห้ามจับนะ แล้วก็บอกชาวบ้านว่าห้ามบุกรุกเพิ่มนะ เป้าหมายของเราคือ ป่าที่มันเหลืออยู่เท่านี้ ถึงจะฟื้นฟูให้มันกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ให้มันคงอยู่เท่านี้ ให้ลูกหลานได้เห็น” 

แม้จะเป็น “มือใหม่” ในตอนนั้น แต่เจก็มีหลักการและวิธีคิดของตัวเองในการกันแนวเขตป่าชุมชน คือ เขาไม่เน้นเรื่องการกันแนวเขตให้ได้ป่าชุมชนเป็นผืนเดียวขนาดใหญ่ เพราะเชื่อว่าหากทำเช่นนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับชาวบ้าน ดังนั้นหากพื้นที่ไหนชาวบ้านบุกเบิกเป็นที่ทำกินแล้ว เขาจะกันออกจากเขตป่าชุมชนและตกลงกับชาวบ้านว่าต้องไม่ขยายที่ทำกินเพิ่ม ป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่จึงมีลักษณะเป็นหย่อมป่า 3 หย่อมแยกจากกัน 

“เจ้าหน้าที่  ป่าไม้ยังถามผมเลยว่าทำไมป่าชุมชนของเจมันมีหลายหยัก หลายจุด ทำไมมันเป็น หย่อม ๆ ผมก็เลยชี้ให้เขาดูว่าตรงนี้เป็นป่า ตรงนี้เป็นที่ทำกิน ชาวบ้านรับปากแล้วว่าจะไม่บุกรุกเพิ่ม ผมก็เลยเสนอเขาว่าลองใช้แนวทางแบบนี้สิ ตรงไหนมีที่ทำกินก็กันออกให้เขา แล้วความขัดแย้งมันจะไม่มีเลย” 

มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เจถึงขั้นถูกขู่ทำร้าย วันหนึ่งทีมลาดตระเวนพบว่าต้นอ้อยช้างต้นใหญ่ถูกตัดไป แม้เพียงต้นเดียว แต่เมื่อผิดระเบียบการใช้ป่าชุมชน เจจึงผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรการลงโทษอย่างจริงจัง จนนำมาสู่การปรับคนที่ตัดต้นไม้เป็นเงิน 5,000 บาท เจเรียกมันว่า “ตำนานต้นไม้ 5,000 บาท” และมักจะเล่าให้คนที่มาดูงานป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่ฟังเป็นตัวอย่างของการบังคับใช้ระเบียบป่าชุมชนที่เห็นผลจริงที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในเวลานั้น 

“ป่าชุมชนแปลงนี้ผมเคยส่งเข้าประกวดของกรมป่าไม้ได้รางวัลระดับจังหวัดหลายปีนะ” เขาเล่าอย่างภูมิใจและบอกว่าทุกครั้งที่เขาได้กลับมาที่ป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่เขารู้สึก “เหมือนได้กลับบ้าน” 

การเดินทาง: จากป่าชุมชนใกล้บ้านสู่ผู้ประสานงานเครือข่ายป่าไม้พลเมืองภาคตะวันออก

ภารกิจจัดตั้งป่าชุมชนบ้านเขาใหญ่ทำให้เจเริ่มเป็นที่รู้จักของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในภาคตะวันออก งานเหล่านั้นชักนำให้เจได้มาร่วมงานกับองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก และช่วงนี้เองที่เจได้สั่งสมประสบการณ์และเรียนรู้งานด้านป่าชุมชน ทั้งในเชิงเทคนิค แนวคิดและวิธีการทำงานอย่างเข้มข้นลึกซึ้ง โดยเฉพาะจาก “พี่ทนงศักดิ์” (ทนงศักดิ์ จันทร์ทอง อดีตเจ้าหน้าที่รีคอฟ) และ “พี่ธวัช” (ธวัช เกียรติเสรี เจ้าหน้าที่ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 9 สาขาปราจีนบุรี)    

นอกจากจะได้ความรู้และประสบการณ์แล้ว ทั้งพี่ธวัชและพี่ทนงศักดิ์ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำงานป่าชุมชนอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นและทำให้เขาค้นพบว่าตัวเองชอบการเดินทาง ชอบการประสานงาน ชอบพูดคุยกับผู้คนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองท้องถิ่น หรือชาวบ้าน และเริ่มมีเป้าหมายในใจว่า“อยากให้คนท้องถิ่นมีสิทธิในการดูแลจัดการทรัพยากร”

ต่อมาเมื่อศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าหรือรีคอฟและองค์กรพันธมิตรตั้ง “เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง” ขึ้นในปี 2562 เจได้เข้ามาร่วมงานด้วยในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดฯ และกลาย มาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายป่าไม้พลเมืองอย่างเต็มตัวในปีถัดมา เมื่อได้รับการทาบทามให้เป็นผู้ประสานงานภาคตะวันออกของเครือข่ายฯ ซึ่งเจก็ตอบรับด้วยความเต็มใจแม้จะมีความเครียดและไม่มั่นใจอยู่บ้าง เพราะคิดว่าตัวเองยังมีความรู้ด้านป่าไม้ไม่มากนักเพราะงานหลักของเขาคือเป็นสมาชิกสภาอบต.อีกทั้งยังไม่ได้มีวิถีชีวิตอยู่กับป่าเหมือนผู้นำป่าชุมชนคนอื่น ๆ

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองเริ่มต้นมาจากความร่วมมือของรีคอฟ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นพื้นที่กลางของกลุ่ม หน่วยงาน หรือเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านการจัดการป่าที่มีชุมชนและประชาชนเป็นฐาน ซึ่งอาจจะเป็นทั้งในรูปแบบของป่าชุมชนในพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ หรือป่าสาธารณะประโยชน์ ฯลฯ รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน ในแปลงเกษตร และแม้แต่ในพื้นที่เมือง

หากการทำงานกับเครือข่ายป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดฯ เป็นการเรียนระดับปริญญาตรี การได้มาร่วมงานกับเครือข่ายป่าไม้พลเมืองก็เหมือน กับเป็นการเรียนต่อปริญญาโท เจบอกว่าเขาได้ต่อยอดความรู้หลายอย่างในเรื่องป่าชุมชนและพ.ร.บ.ป่าชุมชนที่มีผลบังคับใช้ในปีที่เขารับตำแหน่งผู้ประสานภาคตะวันออกของเครือข่ายป่าไม้พลเมืองพอดี รวมทั้งการประสานงานที่ต้องขยายจาก 5 จังหวัด เป็น 8 จังหวัดภาคตะวันออก แถมยังได้ทำงาน “ข้ามภาค” ออกไปพบปะกับคนทำงานป่าชุมชนในภาคอื่น ๆ ด้วย  

ทุกครั้งที่ไปร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายป่าไม้พลเมือง เจมักจะใช้ประสบการณ์จากการทำงานใน อบต.ให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ขณะเดียวกันเขาก็ได้เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ วิถีชีวิตคนกับป่าจากพี่น้องจากภาคอื่น ๆ 

ความท้าทาย: ป่าชุมชนของคนภาคตะวันออก

การเดินสายพบปะแวดวงป่าชุมชนจากหลายพื้นที่ ทำให้เจมองเห็นว่าป่าชุมชนในภาคตะวันออกแตกต่างจากที่อื่น ๆ คือ หนึ่ง- ป่าชุมชนเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับคนในภาคตะวันออก ไม่เหมือนภาคอื่น ๆ ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่ามาเนิ่นนาน สอง-  ป่าชุมชนในภาคตะวันออกส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์หลักคือการอนุรักษ์เพื่อรักษาระบบนิเวศ ชาวบ้านไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์พึ่งพาโดยตรง และสาม-ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีทั้งภูเขาและทะเล ทำให้ภาคตะวันออกมีพื้นที่ป่าหลากหลายรูปแบบ ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายและการดูแลจากหลายหน่วยงาน

เจวิเคราะห์ด้วยว่า ภาคตะวันออกเป็นภาคที่จัดตั้งเครือข่ายป่าชุมชนได้ค่อนข้างยาก เพราะเป็น “ดงอิทธิพล” และ“การเมืองแรง” ช่วงเวลากว่า 15 ปีที่ทำงานด้านป่าชุมชน เจผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย ขัดแย้งกับบางคนจนเลิกคบหากันไปก็มี แต่เขายังคงเดินหน้าทำงานและเรียนรู้ต่อ แม้ประสบการณ์จะมากขึ้น มีความรู้เกี่ยวกับป่าชุมชนมากขึ้น แต่หลายเรื่องก็ยังไม่ง่ายนักสำหรับเขา “บางทีเราก็ตื่น ๆ เพราะเราไม่ใช่นักวิชาการไม่ได้เรียนมาทางด้านป่าไม้ พอเจ้าหน้าที่ถามเรื่องไม้เรื่องอะไร ผมก็ตอบไม่ได้ ผมรู้แต่ว่าเรื่องนี้ต้องจัดการยังไง ต้องทำอะไรบ้าง” 

ในการประชุมเครือข่ายป่าพลเมืองภาคตะวันออกที่ จ.ระยอง ช่วงต้นปี 2565 เจขุดเอาประสบการณ์และทักษะการทำงานด้านป่าชุมชนที่สั่งสมออกมาใช้ทุกกระบวนท่า เขาลงมือทำเองแทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบกิจกรรม เขียนโครงการของบประมาณ ลงพื้นที่ประสานผู้เข้าร่วม ไปจนถึงดำเนินรายการเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายภาคประชาชนที่ดูแลป่าใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก 

“หลังจาก พ.ร.บ.ป่าชุมชนมีผลบังคับใช้ ทำให้มีป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชน และป่าที่ชุมชนที่พี่น้องดูแลกันอยู่ โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ. จึงไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งเราคิดว่าป่าประเภทนี้ไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเฉพาะป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน แต่เราให้ความสำคัญกับป่าทุกแห่งที่พี่น้องเราดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเราเรียกว่าป่าไม้ภาคพลเมือง เพราะพลเมืองทุกคนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง” เจอธิบายให้ผู้เข้าร่วมประชุมฟัง

จากนั้น เขาก็หันไปทางกลุ่มเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มาเข้าร่วมประชุมด้วย แล้วเปิดใจพูดด้วยท่าทีเป็นมิตร “ตั้งแต่ทำงานเรื่องทรัพยากรป่าไม้มา ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่มองเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมในด้านลบ ผมอยากให้คิดว่าพวกเรามาทำงาน พวกเราอยากร่วมด้วยช่วยกัน อยากช่วยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือรักษาทรัพยากรป่าชุมชน” ตามแผนการสร้างเครือข่ายป่าไม้พลเมืองภาคตะวันออกที่เจวางไว้ เขาแบ่ง 8 จังหวัดเป็น 2 กลุ่มตามบริบทของสภาพป่าในพื้นที่ คือ ป่าตะวันออกโซนบน (สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก) และป่าตะวันออกโซนล่าง (จันทบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี) แต่ละกลุ่มจะได้ประชุมพบปะกันก่อนที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมใหญ่รวม 8 จังหวัด 

การประชุมสำเร็จตามที่ตั้งใจ มีคนเข้าร่วมตามเป้าหมาย ทุกคนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลป่าในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งมีทั้งป่าชุมชน ป่าชายเลน ป่าครอบครัว ป่าในพื้นที่สาธารณะ ผู้เข้าร่วมประชุมคุยกันถึงการใช้ประโยชน์จากป่าที่อยากเห็น การจัดการป่าที่อยากให้เป็น และช่วยกันวิเคราะห์อุปสรรคที่อาจขัดขวางไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เจได้พบปะผู้นำชาวบ้าน-ผู้นำท้องถิ่นที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายฯ ได้ แต่เขาก็ยังกังวลว่าเครือข่ายป่าพลเมืองภาคตะวันออกจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และยังมีหลายอย่างที่เขาอยากให้มันดีกว่านี้ 

สาคร สงมา: เกือบ 30 ปี บนเส้นทาง “คนกับป่า” สู่บทบาทของการเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัด

ในวัย 57 ปี นักพัฒนาเอกชนแห่งมูลนิธิคนเพียงไพร จ.พิษณุโลก ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งทำงานด้านป่าชุมชน ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมายาวนานเกือบ 30 ปี ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิป่าชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 สาครเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวบ้านในการจัดตั้งป่าชุมชนหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือป่าชุมชนบ้านปลวกง่าม-ร่องท่อน ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 300 ไร่ ปัจจุบันเป็นแหล่งน้ำ-แหล่งอาหารของชุมชนรอบเขาพนมทอง ได้ร่วมขับเคลื่อน เรียกร้อง พ.ร.บ.ป่าชุมชนมาตลอด แต่เมื่อพบว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาและมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2562 มีปัญหาตั้งแต่คำนิยามไปจนถึงวิธีคิดของผู้บังคับใช้กฎหมาย สาครจึงเลือกที่จะเข้าไปเป็นกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดของพิษณุโลก เพื่อมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนการจัดการป่าชุมชน และร่วมกับเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2562 เพราะเห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์การทำงานที่ไม่ได้เน้นเฉพาะป่าชุมชน แต่ขยายไปสู่ป่าทุกประเภทในทุกพื้นที่ที่ดูแลโดยพลเมือง ซึ่งถูกละเลยและไร้สถานภาพหลังมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน 

สาคร สงมา

สาคร สงมา พร้อมชาวบ้านสิบกว่าคนเดินขึ้นเชิงเขาพนมทอง สำรวจแนวเขตป่าชุมชนบ้านปลวกง่าม-ร่องท่อน เพื่อเตรียมทำแนวกันไฟก่อนถึงหน้าแล้ง  คนกลุ่มใหญ่เดินไปหยุดพักตรงแหล่งน้ำซับ  ซึ่งสามารถมองเห็นบ่อพักน้ำ ท่อประปารูปแบบง่ายๆ ต่อลงไปหล่อเลี้ยงสำนักสงฆ์และหมู่บ้านข้างล่าง น้ำซับที่ไหลตลอดปีดูเหมือนเป็นไฮไลต์ของป่าชุมชนแห่งนี้ เพราะบ่งชี้ถึงความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ของป่าเขาเป็นอย่างดี ยังไม่รวมเรื่องเล่าประกอบว่าในอดีตเคยมีคนบุกรุกขึ้นมาถางป่าทำไร่สับปะรด ไร่กล้วย บริเวณใกล้ ๆ น้ำซับ แต่ก็ยอมคืนให้ส่วนรวม ผ่านการประสานของหลวงพ่อแห่งสำนักสงฆ์วัดป่าร่องท่อน ต่อมาชาวบ้าน ช่วยกันรักษาป่าชุมชนไว้และไม่มีใครบุกรุกทำลายป่าลักษณะนั้นอีก 

กำเนิดป่าชุมชนบ้านปลวกง่าม-ร่องท่อน

บ้านร่องท่อน เป็นกลุ่มบ้านที่ขยายมาจากบ้านปลวกง่าม ต.ชมพู ตามการขยายพื้นที่นา ไร่มันสำปะหลัง ไร่สับปะรด ฯลฯ และไม่นานมานี้ชาวบ้านร่องท่อนหันมานิยมทำสวนมะม่วง มะปราง หลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจากสามสี่หมู่บ้านใกล้เคียงร่วมกันรักษาป่าชุมชนไว้ผืนหนึ่ง อยู่ติดเชิงเขาพนมทอง ซึ่งเป็นภูเขาสูงโดดเด่นแยกจากพื้นที่โดยรอบชัดเจน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้ง บริเวณเชิงเขาเป็นป่าเบญจพรรณ มีต้นไผ่กระจายอยู่ทั่วไป

จุดเริ่มของการรักษาป่าตั้งแต่สมัยที่ยังไม่รู้จักคำว่า ป่าชุมชน ผู้นำกลุ่มเล่าไว้ว่า ราว 50 ปีก่อนคนได้เข้ามา ตัดไม้ไปใช้และนำไปเผาถ่าน ถางป่าทำไร่ เกิดไฟป่า ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์จึงเสื่อมโทรม น้ำซับที่เคยไหลตลอดปีก็หยุดไหล ราวปี 2525 หลวงพ่อน้อย(คำแสน) ที่ธุดงค์มาจากอีสานจึงพาชาวบ้านฟื้นฟูป่า เริ่มจากการปลูกต้นสักรอบๆ สำนักสงฆ์วัดป่าร่องท่อน ทำแนวกันไฟปีละครั้งช่วงหน้าแล้ง จากสภาพป่าหญ้าเพ็กไม่มีต้นไม้ ป่าก็เริ่มฟื้น น้ำซับจึงกลับมาไหลดังเดิม ในปี 2536 กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งวนอุทยานเขาพนมทองซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชน ทว่ามีการผ่อนปรนในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ป่าชุมชนเสมอมา 

สาครอธิบายความหมายของป่าชุมชน ตามความเข้าใจของเขาว่า 

“ป่าชุมชนคือป่าที่ชุมชนดูแลรักษาไว้เพื่อตอบสนองการมีชีวิตของเขา ทั้งในแง่ของอาหาร เศรษฐกิจ ป้องกันภัยพิบัติ ในการดูแลรักษาอาจเกิดจากคนข้างนอกมาชวนทำบ้าง หรือชุมชนทำเพราะมีจิตสำนึกในการรักษา ซึ่งอาจจะอยู่ทั้งในหรือนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์” 

สาครตั้งข้อสังเกตว่า ป่าชุมชนในภาคเหนือตอนล่างไม่เหมือนป่าชุมชนของภาคเหนือตอนบน ที่มีพี่น้องชนเผ่าทำป่าชุมชนอยู่แล้ว การขับเคลื่อนเรื่องป่าชุมชนในภาคเหนือตอนล่างจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่การอธิบายให้ชาวบ้านเห็นเป็นรูปธรรมว่าป่าชุมชนช่วยแก้ปัญหาปากท้องได้อย่างไร หนึ่งในคำอธิบายที่สาครหยิบยกมาพูดคุยกับชาวบ้านคือเรื่องการกลับมาของ “อึ่ง” ที่เขาพนมทอง พอฝนแรกมาช่วงปลายเดือนเมษายน ชาวบ้านมักจะพากันออกไปเก็บอึ่งมาขาย ช่วงป่าเสื่อมโทรมอึ่งไม่ค่อยมี แต่หลังจากที่ป่าฟื้นตัวจากการที่ชุมชนช่วยกันดูแลมาได้ระยะหนึ่ง อึ่งมีจำนวนมากขึ้นถึงขนาดที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า “อึ่งแตก” คืออึ่งจำนวนมากไหลลงมาจากเขาพร้อมน้ำฝน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการหาอึ่งคนละไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 บาท ในช่วงเวลาเพียงสองคืน

“นี่เป็นผลพลอยได้จากป่าชุมชน ซึ่งตอนแรกชาวบ้านก็ไม่ได้คิดว่าเป็นผลจากการที่เขาช่วยกันดูแลป่า ไม่ไปบุกรุกทำการเกษตร พ่นสารเคมี จนมันอุดมสมบูรณ์ เวลาไปเราก็ต้องชี้ให้เขาเห็น ถ้าไม่ชี้ชาวบ้านก็จะพูดแค่ว่าเขาหากินจากป่าชุมชน แต่จริงๆ แล้วมันตีเป็นมูลค่าได้”

“การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนของแต่ละครอบครัวก็แตกต่างกัน บางครอบครัวมีที่ทำกินก็ไม่ได้หาเยอะแค่ไปเก็บผักมากิน คนที่ไม่มีที่ทำกินก็ไปเก็บผักเก็บเห็ดมาขายตามฤดูกาล คนที่ฐานะดีหน่อยไม่ได้เข้าไปหาของป่าเองก็ซื้อจากพรรคพวก แต่คนส่วนใหญ่ในชุมชนต้องอาศัยป่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น เรื่องน้ำ ป่าที่เขารักษาไว้มันก็ให้น้ำเอามาทำประปาหมู่บ้าน ลงทุนทีเดียวต่อน้ำมาจากภูเขาแล้วมาเปิดใช้ เขาก็จ่ายค่าน้ำน้อยกว่าคนที่อยู่ในเมือง เขารักษาป่า ได้ใช้น้ำตลอดปี”จากเรื่องปากท้อง เมื่อทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับปัญหาโลกร้อน และพื้นที่ป่ากลายเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ สาครก็เริ่มเชื่อมโยงผืนป่าชุมชนแห่งนี้กับการแก้ปัญหาโลกร้อนและการลดผล กระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สาครพูดถึงอดีต ปัจจุบันและอนาคตของป่าชุมชนผืนนี้ว่า

“วันที่ผมเข้ามา เริ่มรู้จักผู้นำในชุมชน สมัยนั้นมีการคืนป่าสับปะรดให้หลวงพ่อ ป่านี้เล็กมาก แต่ผมเห็นความคึกคักของคน เห็นความศรัทธาหลวงพ่อ จากนั้นเราพยามมาสร้างกลไกให้คนสนใจการอนุรักษ์ป่า คนเข้ามา มีส่วนร่วมเยอะมากกับเรื่องนี้ จนนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องโลกร้อน ผู้นำชาวบ้านมีส่วนอธิบายให้เห็นว่าป่านี้ทำให้ดินชื้นและมีน้ำซับออกมา หาน้ำง่ายกว่าที่อื่น น้ำบนดินจะไหลลงไป น้ำใต้ดินก็จะซึมไป ถึงตอนนี้รู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของแล้ว ชาวบ้านคิดกิจกรรมกันทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่ต้องให้เราหรือเอ็นจีโอพาทำ 

พ.ร.บ.ป่าชุมชน: สิ่งที่ไม่น่าพอใจและยุทธวิธีแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกใจ 

การร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งบนเส้นทางการทำงานด้านป่าชุมชนของสาคร เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทางอีกหลาย ๆ คนที่เห็นว่าการออกกฎหมายนี้ได้สำเร็จนับเป็นหมุดหมายสำคัญ แต่เนื้อหาและผลที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ของ พ.ร.บ. ป่าชุมชน ยังไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็น สาครยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับภาคประชาชนเป็นร่างที่ตอบโจทย์มากที่สุด แต่น่าเสียดายที่หลักการสำคัญต่าง ๆ ของร่างนี้ถูกปัดตกและหายไปในระหว่างกระบวนการพิจารณากฎหมายในสภา 

สาครยกตัวอย่างเรื่องนิยามของป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่เขาสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าถ้ายึดตามกฎหมายฉบับนี้ ป่าชุมชนจะทำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ได้ นั่นหมายถึงว่าป่าชุมชนราว 4,000 แห่ง ที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ในขณะนี้ไม่ได้ถูกรับรองตามกฎหมาย แล้วยังมีป่าในพื้นที่อื่น ๆ อีกมากมายที่ชุมชนดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนมายาวนาน แต่เมื่อไม่เข้าตามนิยามของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ก็ไม่ได้รับสถานะป่าชุมชน

“พรรคพวกที่ทำงานกับชุมชนเหล่านี้เขาก็ตัดพ้อมาว่า พอมี พ.ร.บ.ป่าชุมชนแล้วถูกทิ้ง ตอนที่ผลักดัน พ.ร.บ.พวกเขาก็ช่วยผลักดันด้วย แต่พอ พ.ร.บ. ออกมาแล้วชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์กลับขึ้นทะเบียนไม่ได้ พรรคพวกพี่น้องบางส่วนก็ไม่พอใจ บางส่วนคิดว่ามันออกมาแล้วเราจะช่วยทำให้มันดีได้ยังไง บางส่วนก็ปฏิเสธไปเลย บอกว่าไม่ต้องไปร่วมแล้วในขบวนเองก็ถกกันไม่ตก” สาครเล่าถึงบรรยากาศในแวดวงคนทำงานหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน

นอกจากปัญหาเรื่องนิยามป่าชุมชนแล้ว พ.ร.บ.ป่าชุมชนยังส่งผลให้เกิดการแบ่งป่าชุมชนเป็นผืนย่อย ๆ เพราะการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนตามกฎหมายจะต้องระบุชัดว่าชุมชนไหนดูแลป่าไหน พื้นที่เท่าไหร่  

“ป่าชุมชนบางแห่งเป็นป่าใหญ่ มีชุมชนสามตำบลช่วยกันรักษาไว้ แต่พอมี พ.ร.บ.ออกมา การขึ้นทะเบียนป่าชุมชนป่าจะถูกแบ่งเป็นป่าย่อย ๆ เป็นหมู่ เพราะมีการกำหนดว่าชุมชนนี้รักษาป่าเท่านี้ๆ ความเป็นป่าใหญ่ก็จะหายไป พลังของชุมชนที่เป็นเครือข่ายป่าชุมชนทั้งเทือกเขาก็หายไป”

เมื่อเห็นปัญหาที่ตามมาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน สาครเลือกที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตามกฎหมาย โดยสมัครและได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดพิษณุโลกในฐานะ “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม” ด้วยความหวังว่าจะมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนการจัดการป่าชุมชนและ ปรับกระบวนการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น “จะพอใจหรือไม่พอใจ มัน (พ.ร.บ. ป่าชุมชน) ก็เป็นกฎหมายออกมาแล้ว แต่แนวคิดเริ่มต้นสุดของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน คือการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนให้ตอบสนองต่อชุมชนมากที่สุด ผมอยากมีส่วนร่วมในการทำให้แผนจัดการป่าชุมชนมีคุณภาพ

"ตอนนี้คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดหลายคนก็ยังไม่เข้าใจว่าทำป่าชุมชนเพื่ออะไร แต่ก็เร่งพิจารณาและอนุมัติแผนจัดการป่าชุมชนที่เสนอเข้ามา ทั้งที่แผนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคุณภาพ บางชุมชนก็ไปลอกแผนจัดการป่าของกรมป่าไม้มา” 

แม้ตัว พ.ร.บ. ป่าชุมชนจะมีปัญหาในหลายมิติ แต่สาครก็คาดหวังว่า อย่างน้อยแผนการจัดการป่าชุมชนที่ชุมชนเสนอเข้ามาประกอบการขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนจากคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด จะเป็นแผนที่มีคุณภาพ มีความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และอยากให้กลไกนี้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงศักยภาพว่าพวกเขาสามารถดูแลป่าได้ 

จากป่าชุมชนถึงป่าไม้ภาคพลเมือง

นอกจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไก พ.ร.บ.ป่าชุมชนโดยตรง สาครยังคงทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านป่าชุมชนอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่ดูแลป่า เพื่อไม่ให้พื้นที่สีเขียวและชุมชนเหล่านี้ “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” เพียงเพราะไม่เข้านิยามหรือเป็นไปตามเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน

เมื่อศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าหรือรีคอฟและองค์กรพันธมิตรตั้ง “เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง” ขึ้นในปี 2562 สาครจึงเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่ต้น เพราะเห็นว่า “คอนเซ็ปต์เรื่องป่าไม้พลเมืองดีตรงที่ขยายไปสู่ป่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายอย่างเดียว”

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่กลางของชุมชน หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานด้านการจัดการป่าที่มีชุมชนและประชาชนเป็นฐาน ครอบคลุมพื้นที่สีเขียวที่ “พลเมือง” เป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจจะเป็นป่าชุมชน ป่าครอบครัว ป่าสาธารณะประโยชน์ พื้นที่สีเขียว หรือแปลงเกษตรก็ได้ 

“พ.ร.บ.ป่าชุมชนจะนับเฉพาะป่าชุมชนที่เข้าตามนิยามในกฎหมาย แต่นิยามป่าไม้ภาคพลเมืองของรีคอฟ คือทุกป่าเป็นป่าชุมชนหมด ป่าที่ชุมชนรักษา ถึงจะไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม เพื่อชวนให้ประชาชนทุกกลุ่มมาทำและจะได้ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ตอนนี้เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองกำลังออกแบบวิธีการทำงานที่ประสานกับชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ด้วย” 

“ผมเข้าร่วมเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองมาประมาณ 4 ปี ร่วมบนพื้นฐานว่าเอาชุดประสบการณ์ของผมไปแบ่งปัน เพื่อให้คนอื่นสร้างกลไกที่เข้าใจป่าชุมชนและป่าพลเมือง ซึ่งมันดีตรงที่ป่าพลเมืองมันขยายไปสู่ป่าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ป่าชุมชนอย่างเดียว เมื่อก่อนเราหมกมุ่นอยู่กับป่าชุมชน คือ ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนนอกเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งป่าชุมชนนอกเขตป่าอนุรักษ์ตอนนี้มี พ.ร.บ. รับรอง แต่ป่าพลเมืองไม่ได้คุยกันแค่ป่าสองประเภทนี้ เราคุยกันเรื่องป่าครอบครัว ป่าสงวนที่ชุมชนดูแลอยู่แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน”

ป่าที่ขยายไปมากกว่าคำว่าป่าชุมชน เช่น ป่าครอบครัว ซึ่งหมายถึงการปลูกต้นไม้ในที่ดินของตัวเองเพื่อเป็นแหล่งอาหารหรือสวนป่า ป่าหัวไร่ปลายนา พื้นที่วัฒนธรรมพิเศษก็เข้าร่วมเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองได้

สาครมองว่า การเกิดขึ้นของเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองไม่เพียงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและคนทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าในยุคหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน แต่ยังมีความสำคัญในระดับสากลเพราะป่าไม้ภาคพลเมืองคือหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

ป่าไม้พลเมืองแก้วิกฤตโลกร้อนได้อย่างไร สาครสรุปไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ หนึ่่ง - ในอนาคตภัยพิบัติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้น โรคระบาดรุนแรงขึ้น เกิดโรคอุบัติใหม่  มีหลายพื้นที่ที่สามารถชะลอความเร็วของน้ำ ตัวอย่างจากกรณีน้ำหลากแถวเพชรบูรณ์ พื้นที่ที่เป็นไร่ข้าวโพดล้วนๆ น้ำก็จะหลากมาทั้งโคลนทั้งน้ำ แต่ถ้าพื้นที่ไหนมีป่าชุมชนอยู่ในละแวกใกล้บ้าน การไหลของน้ำก็จะชะลอลง ความเสียหายก็จะลดลง สอง - ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น โรคอุบัติใหม่อย่างโควิด ป่าชุมชนเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญที่สามารถสนับสนุนในยามเกิดภัยพิบัติได้ สาม - แง่มุมทางธุรกิจ ป่าที่พลเมืองดูแลสามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต เพราะป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน ซึ่งประเด็นนี้จะต้องมีการถกเถียงและระดมความคิดกันอีกมาก เพื่อให้แน่ใจว่ากลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะเป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนที่ดูแลป่าและช่วยลดโลกร้อนได้จริง    

เขาหวังว่าเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองจะเข้มแข็งและมีพลังมากขึ้นในอนาคต

“อยากเห็นเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองยังอยู่ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำคนเดียว เราจะมีอัตลักษณ์ มีตัวตนที่จะไปบอกว่าเราไม่ได้ทำคนเดียว เราสามารถไปเจรจา ไปพูดคุย บอกได้ว่าฉันมาจากเครือข่ายป่าพลเมือง ฉันทำงานแบบนี้ แล้วก็จะร่วมมือกันทำงาน”

จรูญพิศ มูลสาร : พลังผู้หญิงผู้ปกป้องป่าใกล้เมือง ป่าของชุมชนที่ไม่อยู่ในคำนิยาม

อายุ 51 ปี เป็นลูกชาวนาบ้านหนองร้านหญ้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เธอเรียนคณะศึกษาศาสตร์เพื่อตามใจพ่อแม่ที่อยากให้เป็นครู แต่สุดท้ายก็ค้นพบตัวเองว่าอยากทำงานพัฒนาชุมชนเพราะทำงานกับชาวบ้านแล้ว “รู้สึกดี” เมื่อจบออกมาจึงสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่าย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จ.ขอนแก่น ได้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานฯ ของ สส. เปิดโอกาสให้จรูญพิศหรือ “โอ๋” ทำงานในลักษณะกึ่งๆ เอ็นจีโอ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชาวบ้านในการปกป้องสิทธิชุมชน เช่น เครือข่ายลุ่มน้ำชีและชาวบ้านน้ำพองที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานกระดาษที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น บ้านหนองร้านหญ้าบ้านเกิดของเธอ มีแหล่งทรัพยากรสำคัญสองแห่ง คือ ป่าบุ่งป่าทามแก่งละว้าและป่าสาธารณะโคกหนองม่วง ซึ่งเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่เมืองที่เหลืออยู่ไม่  กี่แห่งในอีสาน จรูญพิศเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้าน วางแนวทางในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากแก่งละว้าและป่าโคกหนองม่วง เป็นการจัดการป่าไม้โดยพลเมืองหรือ “ป่าไม้พลเมือง” ที่อาจเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ 

จรูญพิศ มูลสาร

แก่งละว้า ป่าโคกหนองม่วง เป็นสัญลักษณ์ทางการต่อสู้ของผู้หญิง คนหนึ่ง

แก่งละว้า  พื้นที่ชุ่มน้ำ ระบบนิเวศย่อยของลำน้ำชี เวลาน้ำหลากมาจะเกิดเป็นหนอง แก่ง ทางน้ำลัดมากมาย เก็บน้ำไว้ตามฤดูกาล เกิดระบบนิเวศที่รู้จักกันในอีสานว่า ป่าบุ่งป่าทาม  เนื้อที่ 17,000 ไร่ของแก่งละว้าเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับประปาในเขต อ.บ้านไผ่ อ.โนนศิลาและ อ.บ้านแฮด ทั้งเป็นแหล่งประกอบอาชีพและซูเปอร์มาเก็ต 24 ชั่วโมงให้ผู้คนอย่างน้อย 13 หมู่บ้านที่อาศัยโดยรอบ 

ป่าใกล้เมือง ป่าสาธารณะโคกหนองม่วงได้รับนิยาม “ป่าใกล้เมือง” โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเห็นว่าเป็นป่าที่อยู่ใกล้เมือง (บ้านไผ่) มาก ห่างจากห้างโลตัสไม่ถึง 10 กม.แทบจะเป็นป่าเดียวในอีสาน ในที่อื่นๆ ป่าใกล้เมืองมักถูกพัฒนา นำไปก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเกือบหมดสิ้น   

เนื้อที่ 209 ไร่เศษ ขึ้นทะเบียนในหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) อยู่ในความดูแลของชุมชนหนองร้านหญ้าและ อบต.หัวหนอง ความพิเศษคือเป็นป่าสาธารณะที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ให้ชุมชนได้หาอยู่หากิน และเป็นที่พึ่งของคนจนในการอาศัยพักพิง เก็บหาของป่ากิน ขาย หรือแลกเปลี่ยน  และป่าผืนนี้ยังมีความหมายในเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นกองฟอนเผาศพหรือป่าช้าเก่าของชุมชน ต่อมามีการสร้างศาลปู่ตา ทำให้ชาวบ้านรักและหวงแหน มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อปกป้องผืนป่า

ทั้งป่าบุ่งป่าทามแก่งละว้าและป่าสาธารณะโคกหนองม่วงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตำนานการต่อสู้ของชุมชนคนท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา แม้ป่าทั้งสองแห่งนี้จะไม่ได้ มีสถานะเป็น “ป่าชุมชน” ตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชน แต่หากว่ากันตามนิยามป่าชุมชนของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) แล้วล่ะก็ ป่าบุ่งป่าทามแก่งละว้าและป่าโคกหนองม่วงย่อมเรียกได้ว่าเป็นป่าชุมชนที่จัดการโดยพลเมืองหรือ “ป่าไม้พลเมือง” อย่างชัดเจน

รีคอฟให้ความหมายของป่าชุมชนอย่างกว้างไว้ว่า เป็นรูปแบบการจัดการป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม มีชุมชนเป็นฐานและเป็นหลักในการตัดสินใจ มีเป้าหมายอยู่ที่การลดความยากจน โดยป่านั้นอาจจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ธนารักษ์ พื้นที่ น.ส.ล.หรือพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่นอกการบริหารจัดการของกรมป่าไม้/กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชก็ได้

ก้าวข้ามความกลัว

ย้อนกลับไปสมัยยังไม่มีเครือข่ายอนุรักษ์ใดๆ ในพื้นที่ โอ๋เริ่มต้นจากช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ นั่นคือโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแก่งละว้าของกรมชลประทาน (ก่อสร้างระหว่างปี 2527-2529 ทว่าปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องจากนั้นยาวนาน) การสร้างถนนเป็นคันดินรอบแก่งฯ ทำให้ที่ดินชาวบ้าน โดยรอบถูกน้ำท่วม แต่ในแก่งฯ น้ำแห้ง  

หลายหมู่บ้านไม่เพียงเผชิญปัญหาในการทำนา วิถีชุมชนก็กระทบ ผู้คนเคยใช้ประโยชน์สัมพันธ์กับแก่งละว้า เช่น ทำนาแซง ปลูกผัก หาปลา ก็ทำไม่ได้  ระหว่างปี 2550-2553 คนจาก 13 หมู่บ้าน ได้รวมตัวกันไปประท้วง ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำช่วงฤดูน้ำหลากจนสำเร็จ ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศกลับคืนมา มีปลาเข้ามาชุกชุม ครั้งนั้นถือเป็นชัยชนะเริ่มต้นที่รัฐหันมาฟังเสียงของชาวบ้าน   

บทบาทลูกสาว แม่ และหัวหน้าโอ๋

ทุกคนมีความขัดแย้งกับที่บ้านเล็กบ้างใหญ่บ้าง พ่อของโอ๋เคยพูดว่า “กูคาดหวังว่าจะให้เป็นครู ทำไมมึงมาแต่งตัวซกมก” ขณะนั้น ปี 2550 ลองนึกภาพผู้หญิงทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานฯ ที่คนเริ่มรู้จักและมักเรียกว่า “หัวหน้าโอ๋” เธอต้องดูแลครอบครัว ลูกชาย 1 คนเพิ่งเข้าเรียนชั้นประถม อีกทั้งพ่อแม่ที่ไม่ค่อยเข้าใจงานที่ลูกทำ จนเธอต้องพาทั้งยาย-หลานไปลงพื้นที่ชุมชนใน อ.น้ำพอง (กรณีน้ำพองเน่าเสียเนื่องจากโรงงานกระดาษ) พอได้เห็นว่าชาวบ้านรักลูก เอาข้าวปลามาให้กิน ยายจึงเริ่มเห็นคุณค่าในงานของลูก

เริ่มจากคุยปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนา ชุมชนที่ไม่มีสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง มักมีแต่คนข้างนอกมาสร้างแล้วเกิดผลกระทบกับคนในพื้นที่ จากนั้นก็พูดเรื่องการฟื้นฟู การเฝ้าระวังพื้นที่อนุรักษ์ หรือแม้แต่เรื่องวิถีชีวิตทั่วๆ ไป ขยายพื้นที่จากรอบๆ แก่งละว้าไปสู่ป่าต้นน้ำ โดยเฉพาะป่าชุมชนโคกหนองม่วง ขนาด 209 ไร่เศษ 

เมื่อมีการจัดตั้ง “เครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า” ขึ้นมาเป็นแกนหลักในปี 2550 ภายใน เครือข่ายนี้จะมีกลุ่มแยกย่อยออกไปตามกิจกรรมและแยกตามชุมชน เช่น กลุ่มเลี้ยงควาย กลุ่มประมง กลุ่มอนุรักษ์ป่าโคกหนองม่วง โดยกรรมการของเครือข่ายฯ แก่งละว้านอกจากทำหน้าที่กรรมการกลางแล้ว ยังมีบทบาทอื่นในกลุ่มย่อย และสมาชิกในกลุ่มย่อยก็เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ แก่งละว้าด้วยเช่นกัน 

ไม่ว่าในเครือข่ายหลักหรือกลุ่มย่อยจะมีระเบียบข้อตกลง มีการกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์/บำรุงรักษาทรัพยากรร่วมกันเป็นหลักฐาน และต้องมีฝ่ายเฝ้าระวังภัยคุกคามที่เข้าบ่อนทำลายพื้นที่อนุรักษ์เครือข่ายนี้จึงเป็นการรวมตัวที่เป็นกลุ่มก้อนเข้มแข็งพอสมควร 

ป่าชุมชนโคกหนองม่วง สนามประลองพลังพลเมืองกับรัฐและทุน

จนปัญหาคลี่คลายไประดับหนึ่ง และก็ต้องเตรียมพร้อมตั้งรับกับปัญหาที่จะเกิดต่อๆไป 

ภานุมาส พรหมเอี่ยม หนึ่งในทีมงานคนรุ่นใหม่ของโอ๋ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ป่าโคกหนองม่วงเป็นที่ น.ส.ล.เป็นป่าขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลของชุมชน ซึ่งป่า น.ส.ล.นั้นอาจเปลี่ยนสถานะเป็นอย่างอื่นได้ตลอด ทันทีที่มีนโยบายลงมา แต่ละปีภาครัฐพร้อมจะทำแผนปรับปรุง ประเมินค่าทางเศรษฐกิจตลอดเวลา

“ป่าโคกหนองม่วงมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่ซับซ้อน ต่างจากป่าชุมชนที่อื่นมักเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เพียงกระทรวงเดียว แต่ที่ น.ส.ล.นั้นต้องมองหลายมิติ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต้องคอยติดตามนโยบายต่าง ๆ ของรัฐว่าจะมีผลกระทบเราไหม เช่น แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่จะให้ อ.บ้านไผ่ เป็นฮับอะไรอย่างนี้ ซึ่งการต่อสู้กับกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้นยากมาก” ภานุมาสให้ความเห็น

“คนสนใจป่าโคกหนองม่วงในประเด็นว่า ทำไมพี่โอ๋และเครือข่ายจึงชะลอการเปลี่ยนแปลง ป่า น.ส.ล.ตรงนี้มาได้นานหลายปี ทั้งที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจหรือนโยบายลงมา ป่าใกล้ๆ กันฝั่งโน้นเป็นป่า น.ส.ล. และป่าสาธารณะเหมือนกัน เขายังซื้อที่ทำโรงงานรอบๆ ได้” ภานุมาสตอบคำถามนี้ไว้ให้เสร็จสรรพ “เมื่อเขามองมุมเศรษฐกิจ เราจึงต้องนำด้านเศรษฐกิจมาสู้ คือ ป่าเป็นที่หาอยู่หากิน มูลค่าจากการเก็บเห็ดสร้างรายได้ให้คนจนมากกว่านั้น” ทุกวันนี้ ป่าโคกหนองม่วงยังอยู่ในสถานะที่ไม่ปลอดภัยนักโดยเฉพาะจากแผนการพัฒนาเส้นทางคมนาคม รถไฟความเร็วสูงที่จะนำความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาสู่ภาคอีสาน 

“ป่านี้มันจะหายไปไหม เราต้องคิดล่วงหน้า...เครือข่ายก็ต้องเตรียมพร้อม ชาวบ้านต้องพร้อมอยู่เสมอ เพื่อจะนำมาเตรียมการ คนที่จะทำตรงนี้ต้องมีการวางแผนและมีภาคีที่เชื่อมเพื่อข้อมูลข่าว” ด้านผู้นำขบวนอย่าง จรูญพิศช่วยสรุปว่า

“ป่าชุมชนในแต่ละพื้นที่อาศัยกลยุทธ์การต่อสู้ต่างกัน เราต้องดูปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อย่างที่บอกว่าของเราปัจจัยซับซ้อนมากกว่า บางพื้นที่เกี่ยวข้องกับกรมป่าไม้อย่างเดียว แต่ของเราเกี่ยวทั้งหน่วยงานรัฐ ทุน ชาวบ้านเอง หรือข้าราชการที่อยากเข้ามาจับจองที่”  

“การขับเคลื่อนเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองเป็นขบวนใหญ่ เครือข่ายของภาคอีสานก็มีการประชุมและเสนอทบทวนกฎหมายลูกบางฉบับที่อาจเกิดปัญหาหรือเอื้อประโยชน์ให้นายทุน  ส่วนขบวนย่อยๆ ของแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่จะเคลื่อนเรื่องอะไร กระบวนท่าย่อยก็สู้กันไป”

ที่เราสู้เพราะมันเป็นบ้านเรา

จากการพูดคุย โอ๋พูดเสมอๆ เรื่องฐานทรัพยากร ศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการพัฒนาเปลี่ยนแปลง  จากรัฐ และการอธิบายให้ชาวบ้านได้เห็นภาพทั้งหมด เพราะทั้งสองสามส่วนนี้สัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน เธอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงจัง ขณะนี้เครือข่ายของเธอไม่เพียงขับเคลื่อน ต่อสู้เฉพาะประเด็นป่าชุมชน เพราะปัญหาใกล้ตัวที่ใหญ่กว่าคือ นโยบายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับที่ลงมาในพื้นที่สามอำเภอ คือ อ. บ้านไผ่ อ. บ้านแฮด อ.โนนศิลา โครงการกินพื้นที่ 4,000 ไร่ จึงมีการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาสูง ตามแผนจะเริ่มต้นโรงงานไฟฟ้าชีวมวล โรงงานน้ำตาล แล้วจะขยายอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก อาหารสัตว์ และการแพทย์ ฯลฯ ในอนาคต  

“เราอยากพาชาวบ้านขับเคลื่อนในฐานะที่เป็นประชาชนเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะเรามีตำแหน่งหรือบทบาทหน้าที่ แต่เราช่วยเพราะมันเป็นบ้านเรา เราไม่อยากให้หมู่บ้านของเราล่มสลายเหมือนจังหวัดทางภาคตะวันออก"

“เราคุยกับคนเฒ่าคนแก่ว่าบ้านเราเป็นหมู่บ้านที่มีความสุข อุดมสมบูรณ์มากที่สุดไม่ไกลเมือง อาหารธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ คนข้างนอกได้มาพึ่งเรา พอเราพูดไปมากเรื่อยๆ ชาวบ้านก็เริ่มอิน เริ่มคิดตามเรา และเห็นคุณค่าในหมู่บ้านตัวเอง” 

“เราชัดเจนในการต่อสู้ว่าทุนนั้นเป็นประโยชน์กับนายทุนแค่สองสามคน แต่ถ้าเรารักษาฐานทรัพยากรนี้ไว้จะเป็นประโยชน์กับคน 100 คน ถ้าตีมูลค่ารัฐอาจตีว่าได้ 1,000 ล้านแต่นั่นคือได้กับคนหนึ่งคน แต่ของเราอาจได้ 100 ล้าน ต่อคนหลายร้อยคน”

###

เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป

งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)