RECOFTC Thailand
Câu chuyện

รายงานพิเศษเสวนาออนไลน์ "ธรรมาภิบาลป่าไม้: การจัดการร่วมของชุมชน สู่ป่าแห่งอนาคต”

26 November 2021
รีคอฟ ประเทศไทย
Good Society Summit 2021 จัดร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวคิด “การร่วมลงทุนเพื่อป่าไม้แห่งอนาคต” แลกเปลี่ยนมุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคการเงิน ภาคธุรกิจ ภาคชุมชน ถึงบริบทและสถานการณ์การบริหารป่าไม้ของไทยในปัจจุบัน และแนวทางการยกระดับธรรมาภิบาลภาคป่าไม้ที่ทุกภาคส่วนจะสามารถมีส่วนร่วมได้
Special Report
เสวนาออนไลน์

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมและตัวแทนชุมชนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวทางการการเสริมพลังชุมชนท้องถิ่น เพื่อรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนในเวทีความร่วมมือเพื่อแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “Good Society Summit 2021” ดำเนินรายการโดยคุณสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ สถาบัน Change Fusion  และมีผู้เข้าร่วมเสวนา ดังนี้

 

  • คุณกฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
  • คุณเรวดี ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • คุณสุพรรณ บูรณะเทศ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านศรีบุญเรือง หมู่ 2 ต.พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน
  • คุณวรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) หรือ รีคอฟ ประเทศไทย
  • คุณอภิญญา สิระนาท UNDP
  • คุณธวัชชัย โตสิตระกูล ผู้จัดการฯ บริษัท มีวนา จำกัด
  • ดร.วีนัส ต่วนเครือ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุณสุนิตย์: แนะนำวงเสวนา และประเด็นการนำเสนอของวง

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับป่า ณ ตอนนี้ คือ เรื่องการประชุมหารือ COP26 โดยมีผลในเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก คือ การหยุดตัดไม้ทำลายป่า และฟื้นฟูป่าภายในปี 2030 นอกจากนี้ประเด็นใหญ่ที่สำคัญ คือ การรองรับบทบาทชุมชนท้องถิ่น เช่นกลุ่มชาติพันธุ์ (indigenous group) ในการร่วมจัดการป่า ซึ่งทำได้ดีไม่น้อยกว่าพื้นที่ป่าของภาครัฐ ทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อดูแลและฟื้นฟูป่าไม้ของตน

สำหรับการพูดคุยครั้งนี้จะมุ่งเน้น เรื่องธรรมาภิบาลป่าไม้กับชุมชนท้องถิ่น ชุมชนจัดการร่วมกันอย่างโปร่งใสและเป็นระบบ และมีส่วนร่วมได้อย่างไร โดยประเด็นที่จะพูดคุย ได้แก่

  • บทบาทของป่าและชุมชน
  • แนวคิดป่าแห่งอนาคต
  • ตัวอย่างความสำเร็จป่าที่จัดการโดยชุมชน
  • ข้อเสนอการสร้างความร่วมมือและหนุนเสริมการร่วมลงทุนป่าไม้แห่งอนาคต

ทั้งนี้บทบาทของภาคธุรกิจนอกเหนือจากการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ การสนับสนุนให้เกิดและฟื้นฟูพื้นที่ป่าก็สำคัญ การทำงานร่วมกับภาครัฐและชุมชนโดยตรงจะได้ผลทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะสนับสนุนป่าชุมชนได้ทั้งในเรื่อง ธรรมาภิบาลป่าไม้ ชุมชน และสังคมได้อย่างครบถ้วน

คุณกฤษฎา: บทบาทของป่า และชุมชน

เราอยู่ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เรามีต้องการพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงพอต่อการรักษาระบบนิเวศ แต่รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารความกินดีอยู่ดี ขณะที่คนทั่วโลก 1,500 ล้านคนต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากป่า ตัวอย่างงานวิจัย FAO ที่ผืนป่าอะเมซอน แถบบราซิล เปรู โบลิเวียและอื่นๆ นับร้อยกรณี พบว่าพื้นที่ป่าที่ชุมชน ชนพื้นเมืองดูแลอาศัย ใช้ประโยชน์และจัดการ สามารถปกป้องป่าและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้มากกว่าพื้นที่ป่าที่ไม่มีชุมชนดูแลถึงสองเท่า 

สำหรับประเทศไทย ธรรมาภิบาล หรือ good governance  คือ คุณลักษณะและสภาวะการเมืองและการบริหารสาธารณะที่ดี ซึ่งธรรมาภิบาลป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการเมืองอำนาจโดยไทยมีรูปแบบระบบรัฐราชการอำนาจนิยม กลุ่มทุนอุปถัมภ์และผูกขาด  และการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย ซึ่งควรมีหลักการจำกัดอำนาจรัฐ เพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและเพิ่มอำนาจประชาชน แต่การอ้างธรรมาภิบาลป่าไม้บนฐานรัฐอำนาจนิยม (อำนาจรัฐเป็นศูนย์กลางในการผูกขาด ควบคุม ด้วยระบบกฎหมาย กลไกรัฐ) ที่ตรึงปัญหาและความขัดแย้งมายาวนานตั้งแต่รัฐชาติสมัยใหม่ ทำให้เกิดประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมต่อป่าและประชาชนมาต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้ได้แก่

  • สัมปทานไม้ต่อเนื่องยาวนาน 100 กว่าปี เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางระบบนิเวศและต่อผู้คนครั้งใหญ่
  • กลุ่มธุรกิจอุตสาหรรมเกษตรอาหารที่เป็นตัวขับเคลื่อนพืชเชิงเดี่ยว ได้ทำลายพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรเพื่อธุรกิจ เพื่อการส่งออกซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก แต่กลับทำให้สังคมโทษไปว่าชาวบ้านเป็นต้นเหตุ
  • โครงการกิจกรรมที่มีผลต่อพื้นที่ เช่น การสร้างเขื่อน เหมืองแร่ ถนน เมือง ฯลฯ
  • การเอาระบบป่าอนุรักษ์แบบสุดขั้ว มากีดกัน ปิดกั้นสิทธิชุมชนที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อนเกิดรัฐชาติ
    ็Photo credit: รีคอฟ ประเทศไทย
    Photo credit: รีคอฟ ประเทศไทย

 ซึ่งทำให้เรายังไม่เห็นป่าเป็นคำตอบแห่งอนาคต เพราะด้วยวิธีคิดที่เป็นมายาคติ 4 ประการคือ

  1. “ป่า” เป็นเรื่องความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ จากการทำไม้ สู่เหมืองแร่ พืชพาณิชย์ การท่องเที่ยว และคาร์บอนเครดิต
  2. “ป่า” เป็นสรวงสวรรค์บริสุทธิ์ที่ต้องปลอดคน (ชุมชน) ขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยมีคนอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่แล้ว แต่เราอยากสร้างพื้นที่ป่าที่ปลอดคนที่เคยไม่อยู่จริง แต่กลับพยายามสถาปนาความเป็น “จริง” ด้วยการประกาศเขตป่าครอบทับชุมชน และปฏิเสธการดำรงอยู่ของชุมชน ทำให้ชุมชนเป็นผู้ผิดกฎหมาย หรือกลายเป็นคนบุกรุก (ขณะนี้มีชุมชนอยู่ในป่าอนุรักษ์ไม่ต่ำกว่า 4 พันชุมชน) สลายโศกนาฏกรรมการทำลายป่าต่างๆ แทนที่ด้วยมายาคติว่าปัญหามาจากชุมชน
  3. “ป่า” คือ แดนอำนาจผูกขาดเบ็ดเสร็จของรัฐ ในนามของความมั่นคงของชาติที่ต้องขจัดอิทธิพลทั้งการตัดไม้ การค้ายาเสพติด ชนกลุ่มน้อย คนหนีรัฐ ฯลฯ ป่าจึงเป็นพื้นที่ที่รัฐจะไม่ยอมกระจายอำนาจ เพื่อสิทธิชุมชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ
  4. “ป่า” ถูกใช้เป็นหน้าตาและศักดิ์ศรีของรัฐ เพื่อใช้แสดงออกนานาประเทศ เช่น การพยายามผลักดันมรดกโลกกรณีป่าแก่งกระจาน แม้จะถูกวิจารณ์การละเมิดสิทธิชาวกะเหรี่ยงบางกลอยก็ตาม แต่เมื่อได้สำเร็จ รัฐก็ไม่ได้มีหลักประกันพื้นที่ป่ามรดกโลกทั้งหลายจะไม่ถูกรัฐใช้เอาไปพัฒนาอย่างอื่น 

สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ได้ นั่นคือ การสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกอุดมการณ์ของรัฐ ที่สร้างมายาคติ “ป่าบริสุทธิ์” เป็น “My Precious” ที่จะถูกทำร้าย โดยเฉพาะจากชุมชนในป่า แต่กระบวนการสร้างความกลัวนั้นไม่ขยายไปถึงตัวนโยบาย กลไกของรัฐและทุนเองที่เป็นสาเหตุทำลายป่า นั่นทำให้รัฐ สังคมและนักอนุรักษ์ มองชุมชนในพื้นที่ป่าเป็นปรปักษ์ ละเลยโศกนาฏกรรมเชิงโครงสร้าง และพากันมุ่งสถาปนา “ธรรมาภิบาล” รัฐอำนาจนิยม ที่รัฐคือศูนย์กลางของความถูกต้อง ชอบธรรมในการใช้กฎหมาย กลไกควบคุม ปิดล้อม ชุมชนในพื้นที่ป่า ปฏิเสธธรรมาภิบาลแนวเสรีนิยมที่มุ่งความโปร่งใส ความเท่าเทียม ความมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบ ความพร้อมรับผิด และการมีส่วนร่วม และปฏิเสธธรรมาภิบาลสิทธิชุมชน ที่เน้นวิถีแห่งปกป้องฐานทรัพยากร การเกื้อกูลจัดการทรัพยากรร่วมเพื่อชีวิตของชุมชนทั้งในทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

แต่ความหวังยังมีจากการลุกขึ้นสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อย นโยบายสัมปทานไม้ล้มเลิกไปได้เพราะชุมชนในพื้นทีป่าร่วมกับประชาสังคมคัดค้าน รวมไปถึงโครงการสร้างเขื่อน เหมืองแร่และอื่นๆ ที่ประชาชนคัดค้าน มีชุมชนจำนวนไม่น้อยหมื่นกว่าแห่งในพื้นที่ป่าสงวนลุกขึ้นมาจัดการป่าชุมชน ขณะที่รัฐพยายามเข้ามารับรองในภายหลัง มีรูปแบบจัดการป่าหลากหลาย ทั้งป่าครอบครัว ป่าชุมชน โฉนดชุมชน เขตวัฒนธรรมพิเศษของชนเผ่ากะเหรี่ยงและชาวเล ชุมชนจัดการลุ่มน้ำ และชุมชนชายฝั่ง บนฐานอำนาจที่ชุมชนจัดการเพื่อการดำรงชีพของชุมชนและสร้างบริการนิเวศให้แก่สังคม มีการสร้างนวัตกรรม เช่น ชุมชน 7 พื้นที่ในภาคเหนือ ร่วมกับอบต.จัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ใช้เทคโนโลยี GIS และอื่นๆ มาสำรวจศึกษา ผลจากการที่ชุมชนทั้งหลายไม่ยอมจำนนต่อระบบอำนาจนิยมของรัฐ ทำให้ป่าของประเทศยังคงดำรงอยู่ หลายพื้นที่เกิดการฟื้นฟู สร้างบริการนิเวศและสังคมแก่ชุมชน ประเทศ สอดคล้องกับข้อค้นพบและแนวนโยบายระดับสากล

เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อยู่ในสถานการณ์วิกฤติสุขภาพและเศรษฐกิจจากโควิด ที่คนขาดความมั่นคงทางอาหาร ฐานทรัพยากรอาหารจากธรรมชาติ จากป่าจะมีความสำคัญมากที่ต้องมีการจัดการที่ดี เราต้องการส่งเสริมหรือร่วมมือกับชุมชนจัดการป่าและทรัพยากรชีวภาพ จะสร้างเศรษฐกิจ  BIO Circular Green (BCG) ที่เข้มแข็งจากฐานรากสู่ระดับชาติ เราเข้าสู่สังคมสูงวัยต้องการสวัสดิการสังคม ซึ่งสวัสดิการจากบริการนิเวศป่าจะมีความสำคัญต่อคนยากจนในชนบท 

เราต้องก้าวออกจากโครงสร้างอำนาจจัดการป่าที่ขัดแย้งรุนแรง ที่สร้างโศกนาฏรรมแก่ป่าไม้และสังคมไทยมายาวนาน โดยเปลี่ยนผ่านจากธรรมาภิบาลรัฐอำนาจนิยม ไปสู่ธรรมาภิบาลเสรีนิยม และธรรมาภิบาลสิทธิชุมชน

ใช้หลัก SDGs ไม่ใช่เพียง 17 ข้อ แต่คือหลักการ 5 ด้านที่ผสานไปพร้อมกัน คือ ประชาชน (people) สันติ (peace) ความรุ่งเรือง (prosperity) การเป็นหุ้นส่วน (partnership) และเพื่อโลก (planet) และหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรมของประชาธิปไตย ด้วยการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างชุมชน ประชาสังคม ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ ฯลฯ สร้างรูปธรรมความร่วมมือขึ้นมาใหม่เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เราจะมีป่าที่ตอบโจทย์อนาคต ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าวัฒนธรรม ที่ทุกกลุ่มจัดการ ร่วมจัดการ ได้ในทุกพื้นที่ทั้งชนบทและเมือง ทั้งพื้นที่ของรัฐ ของชุมชน และเอกชน  ด้วยธรรมาภิบาลป่าไม้แบบใหม่แห่งอนาคต

คุณเรวดี: ตัวอย่างความสำเร็จการจัดการป่าโดยชุมชน พื้นที่ป่าเลน

ธรรมาภิบาลการจัดการทรัพยากรป่ามีหลายพื้นที่ที่สามารถฝ่าฟันโครงสร้างและอำนาจ และเกิดจากฐานชุมชนได้สำเร็จ ยกตัวอย่างพื้นที่จังหวัดตรัง ชุมชนชายฝั่งบ้านน้ำราบ-ควนตุ้งกู มีวิถีชีวิตพึ่งพิงทรัพยากรทางทะเล ซึ่งไม่ใช่แค่กุ้ง หอย ปู ปลา แต่เป็นเรื่องทรัพยากรความหลากหลายในพื้นที่ตรงนั้น เวลาเราพูดถึงป่าในวิถีชีวิตชาวเลเราไม่สามารถพูดเรื่องป่าโดยไม่ทำความเข้าใจระบบนิเวศทั้งหมดได้ ต่างกับพื้นที่ป่าบกที่พื้นที่มีขอบเขตชัดเจน แต่ป่าชายเลนต้องดูระบบองค์รวมทั้งหมดเชื่อมโยงกับทรัพยากรป่าไม้และวิถีชีวิตซึ่งมีระบบนิเวศที่พึ่งพากันและกัน คนที่เข้าถึงการใช้ทรัพยากร เช่น ชาวประมง เขามีอาหาร มีรายได้ เพราะเขาสามารถเข้าถึง ร่วมคิด ร่วมใช้ ร่วมจัดการ ซึ่งคือหลักธรรมาภิบาลการจัดการทรัพยากรเชิงนิเวศ ขณะที่ผู้ที่เข้าถึงไม่ใช่คนในพื้นที่เพียงอย่างเดียวแต่หมายถึงคนจากทุกพื้นที่ ดังนั้นธรรมาภิบาลไม่ใช่จุดนิ่งเพียงหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง แต่คือระบบองค์รวมทั้งหมด

แต่เดิมพื้นที่นี้มีปัญหาเรื่อง ทรัพยากรลดลง เนื่องด้วยการใช้เครื่องมือภาคประมงขนาดใหญ่ เป็นการกระทำของประมงขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ทำให้ทรัพยากรลดลง เมื่อเกิดปัญหานี้จึงเกิดการพูดคุยกัน เกิดการประสานงานกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่วนประการังเกี่ยวข้องกับฝ่ายอนุรักษ์ เรื่องประมงอยู่ฝ่ายประมง เพราะฉะนั้นการประสานเรื่องป่าชายเลนต้องเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนโดยมีชุมชนร่วมกัน

ในพื้นที่ป่าชายเลน บ้านน้ำราบ-ควนตุ้งกู เป็นฐานอนุบาลกุ้ง หอย ปู ปลา มีเขตหญ้าทะเลมีโลมา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเกิดการพูดคุยทั้งระบบนิเวศ เพื่อให้เกิดการจัดการหญ้าทะเล การจัดการเรื่องเครื่องมือประมง การแบ่งเขตอนุรักษ์ เขตใช้สอย เขตอภัยทาน รวมถึงเขตสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อการศึกษา ต้องลงรายละเอียดให้ชัด เพื่อสร้างกลไกให้เหมาะสม เกิดเป็นข้อตกลงซึ่งหากนำไปใช้ที่อื่นอาจมีผลแตกต่างกันไป สิ่งที่ได้ คือ อำนาจเกิดจากพื้นที่เอง จากคนที่หลากหลาย โดยมีชาวบ้านเป็นหลัก เกิดระบบอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งอิงกับระบบทางการท้องถิ่น โดยชุมชนใช้กฎหมายให้สนับสนุนเขา ทำให้ชุมชนสามารถรักษาสภาพพื้นที่ป่าได้ มีการอนุญาตให้ตัดไม้โดยกำหนดว่าใครได้รับสิทธิ์ในการตัด และกฎระเบียบในการลงโทษเมื่อมีการฝ่าฝืน เกิดแผนการทบทวนพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบ และแผนการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนและสตรี แผนเรื่องการตรวจสอบ ดังนั้น การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ทำให้ป่าชายเลนที่เคยเสื่อมโทรม 5000 ไร่ซึ่งมีชุมชนช่วยกัน ขณะที่รัฐมีบุคลากรจำกัด เกิดการสื่อสารพูดคุยประชาสัมพันธ์กัน และสร้างระบบทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

ข้อเสนอ คือ ต้องปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ ป่าชายเลนที่ปัจจุบันมีการแยกส่วนการทำงาน จะทำอย่างไรให้ใช้พื้นที่โดยดึงภาคส่วนต่างๆ ร่วมคิดร่วมตัดสินใจ และให้ชุมชนเป็นหลัก ใช้กลไกตรวจสอบเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

โจทย์ คือ การสร้างหลักประกัน การใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมได้ประโยชน์ จะร่วมกันได้อย่างไร นำรูปธรรมตัวอย่าง หาช่องว่าง และหาแนวทางเพื่อการรักษาทรัพยากรและความหลากหลายที่หนุนเสริมเศรษฐกิจฐานราก นำไปสู่ความยั่งยืน และสามารถลดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น พื้นที่บ้านน้ำราบสามารถช่วยลดผลกระทบสึนามิได้ เป็นต้น

คุณสุพรรณ: ตัวอย่างพื้นที่ป่าจัดการโดยชุมชน ภาคเหนือ

การจัดการป่าชุมชนบ้านศรีบุญเรือง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน แต่เดิมพื้นที่ชุมชนใช้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชเชิงเดี่ยว มีการบุกรุกทำลายป่าดั้งเดิมมากขึ้น ไม่มีการกันขอบเขตที่ชัดเจน จนกระทั่งปี 2535 ฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามที่คาดหวัง ชาวบ้านอพยพถิ่นเข้าเมืองหลวงเพื่อหางานทำ ทำให้มีการปล่อยทิ้งพื้นที่จนป่าเกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ในเวลาต่อมาเมื่อคนในพื้นที่เห็นว่าป่าฟื้นฟูขึ้น จึงเกิดความต้องการที่จะร่วมกันจัดการการฟื้นฟู โดยการขอบริจาคพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมในชุมชน และแบ่งเขตเป็นพื้นที่ป่าชุมชนเพื่ออนุรักษ์เป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายตามธรรมชาติให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าชุมชน 536 ไร่ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเกิดลำห้วยสาขาจากป่าชุมชน ซึ่งทำให้ชุมชนมีการปรับเปลี่ยนอาชีพเดิมจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชเชิงเดี่ยว จึงหันมาปลูกพืชที่หลากหลายและผสมผสานมากขึ้น เช่น ไม้ผล ทำนาข้าว เนื่องจากน้ำช่วยให้ชุมชนมีรายได้ตลอดทั้งปีจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

จากพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจที่หลากหลาย เช่น เกิดกลุ่มผลิตชาชงสมุนไพร วิสาหกิจลูกประคบ มีสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง และบริษัทเอกชนเข้ามาให้ความรู้เรื่อง ผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งวัตถุดิบทั้งหมดมาจากป่าชุมชนและในชุมชนทั้งสิ้น ปัจจุบันป่าชุมชน 536 ไร่ เป็นพื้นที่ให้อาหาร เป็นแหล่งยารักษาโรค สรา้งน้ำและอากาศที่ดี เรามีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมอนุรักษ์ แต่ยังมีพื้นที่อีกมากมายที่เราอยากเห็นและอยากให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้เหมือนกัน เราจึงมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่หัวไร่ปลายนา และพื้นที่สาธารณะ โดยปลูกป่าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์โดยใช้ไม้ถิ่นที่คุ้นชินกับพื้นที่ มีการจัดกิจกรรมเรือนเพาะชำซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย RECOFTC มีการเพาะกล้าไม้ที่มีคุณภาพ และพันธุ์ไม้หายากที่หายไปจากป่า 

นอกจานี้ กิจกรรมของป่าชุมชนเน้นเรื่อง การเก็บข้อมูล ซึ่งมีพี่เลี้ยง คือ สถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง และRECOFTC สนับสนุนเรื่องการตรวจสอบข้อมูลความหลากหลายของป่า และวางแผนพัฒนา ติดตามต้นไม้ที่ปลูก มีการจัดเก็บข้อมูลการเติบโตของต้นไม้ และพี่เลี้ยงช่วยขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ในชุมชน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น มีแบบแผนและเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

เราตั้งเป้าหมายว่าใน 5 ปีข้างหน้าสภาพป่าชุมชนต้องมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่น มีการจัดการที่หลากหลาย สร้างงานและรายได้ให้ชุมชน โดยคนจะอยู่กับป่าได้ด้วยการเกื้อกูลกัน มีสมดุลกันระหว่างคนกับป่า ซึ่งสิ่งที่คาดหวังจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยภาคีภายนอก เครือข่ายสนับสนุนในการต่อยอดความคิดของเรา เช่น โครงการต้นไม้อุปถัมภ์ เพื่อขยายพื้นที่ป่าของเราให้มากขึ้น ถึงแม้บ้านของท่านจะห่างไกลจากป่าของเรา แต่น้ำที่ท่านใช้ หรืออากาศที่หายใจ การลดภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ป่าของเราย่อมมีผลกับสิ่งเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย
Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย

คุณธวัชชัย : โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า มีวนา

กาแฟอินทรีย์ มีวนา เป็นผลผลิตจากโครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่าที่ทำงานร่วมกับชุมชนภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย เริ่มจากชุมชนใน อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งขณะนั้นมีการแผ้วถางป่าเพื่อปลูกเสาวรส ทำให้ป่าถูกทำลาย มูลนิธิสายใยแผ่นดินจึงเริ่มทำโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาการทำลายป่า โดยส่งเสริมการปลูกกาแฟแทนการปลูกเสาวรส เพราะกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกในป่าร่วมกับต้นไม้ใหญ่ได้ และมูลนิธิฯ ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นเพื่อรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้าน

ปัจจุบันบริษัท มีวนา จำกัด ร่วมทุนโดยบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ดำเนินกิจการในแนวทางธุรกิจเพื่อสังคม เป็นธุรกิจกาแฟอินทรีย์อย่างครบวงจร คือ ส่งเสริมการปลูกกาแฟอินทรีย์ มีการตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ตรวจประเมินกาแฟใต้ร่มเงาไม้ และรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายภายใต้แบรนด์ มีวนา ( Mivana Coffee )

ความตั้งใจของบริษัทคือ เป็นแบบอย่างของธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างวิถีการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าอย่างยั่งยืน และเกื้อกูลต่อผู้บริโภค รวมทั้งประชาชนที่อยู่ห่างไกลออกไป

ปัจจุบันขยายพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมป่าต้นน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ ป่าต้นน้ำแม่ลาว ป่าต้นน้ำแม่สรวย และป่าต้นน้ำแม่กรณ์ ในพื้นที่รวม 6,250 ไร่ มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกในโครงการฯ 356 ครอบครัว มีผลผลิตปีละ 1,700 ตันกาแฟสด สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในโครงการฯ กว่า 37 ล้านบาทต่อปี 

ปัจจัยสำคัญที่สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า คือ

  • แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ คือ สิ่งสำคัญ โดยเราประกันการรับซื้อผลผลิตกาแฟอินทรีย์แน่นอนในราคาที่เป็นธรรม มีการเพิ่มเงิน Premium สำหรับผลผลิตอินทรีย์และสำหรับกาแฟใต้ร่มเงาไม้ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรอยากปลูกต้นไม้แทรกเสริมเข้าไปในสวนกาแฟ เพราะเขาได้รับเงิน Premium จากบริษัทด้วย ซึ่งภายหลังชาวบ้านหลายคนสามารถสร้างรายได้จากผลผลิตไม้ผลบางชนิด เช่น แมคคาเดเมีย และอะโวคาโด เป็นต้น ซึ่งมีรายได้สูงกว่าเงินพรีเมี่ยมที่ได้จากบริษัท 
  • สร้างกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และประเมินกาแฟใต้ร่มเงาไม้อย่างจริงจัง โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรับรอง โดยการทำระบบการควบคุมภายใน (ICS)  ซึ่งชาวบ้านที่เป็นผู้ตรวจฟาร์ม จะได้รับการอบรมตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล และมาตรฐานกาแฟใต้ร่มเงาไม้ที่บริษัทกำหนดขึ้น 

โครงการนี้ มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือของเกษตรกรในการทำแนวกันไฟร่วมกับภาครัฐ เช่น อุทยานแห่งชาติขุนแจ และหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ลาว เป็นต้น เพื่อป้องกันไฟป่าครอบคลุมพื้นที่ 51.42 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,000 กว่าไร่ ซึ่งมากกว่าพื้นที่ปลูกกาแฟในโครงการฯ 4.5 เท่า มูลค่าระบบนิเวศของป่าที่รักษาไว้ได้นี้ มากกว่ามูลค่ากาแฟที่เป็นผลผลิตจากโครงการฯ เกินกว่า 10 เท่า ความร่วมมือของชุมชนและภาคประชาสังคมกับภาครัฐในการช่วยกันดูแลรักษาป่านี้ เป็นเจตนารมณ์สำคัญอีกประการหนึ่งของบริษัท ซึ่งถือว่ามีคุณค่ามากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ

โครงการนี้จะยั่งยืนและขยายออกไปได้อีกมาก หากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้บริโภค เมื่อโครงการฯ ขยายพื้นที่ได้ก็จะมีเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ามากขึ้น พร้อมกับมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนให้พวกเรามีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่า ด้วยการเลือกดื่มกาแฟอินทรีย์ เพราะพลังของผู้บริโภคจะมีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดวิถีการผลิต

คุณวรางคนา: การร่วมลงทุนป่าไม้แห่งอนาคต

เราจะสามารถขยายผลการทำให้ชุมชนร่วมจัดการป่าเพื่อรักษาระบบนิเวศ และประโยชน์เรื่องเศรษฐกิจ และอื่น ๆ ได้อย่างไร โดยให้ภาคธุรกิจและผู้มีความสนใจเข้าร่วมได้ ดังนั้นจึงต้องมีกลไกที่สามารถทำงานร่วมกันได้

ประเด็นป่าไม้แห่งอนาคน อนาคตของเรา คือ อนาคตที่อยู่ร่วมกันได้ทั้งระบบนิเวศ-คน-เมือง บนฐานทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน เราใช้ประโยชน์จากน้ำที่ชุมชนท้องถิ่นรักษาอยู่บนดอย เราอยู่กรุงเทพฯ จะช่วยกันดูแลได้อย่างไร ป่า ที่ดินใกล้ป่าล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่านั้นทั้งหมด ซึ่งเป็นหน้าตาป่าแห่งอนาคต

Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย
Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย

บันได 5 ขั้นของการลงทุนร่วมสู่ป่าแห่งอนาคตซึ่งออกแบบโดยหน่วยงานที่ร่วมกันในวงเสวนานี้เป็นผู้ก่อการเริ่มต้น ประเด็นสำคัญ คือ ขั้นที่ 1 เรื่อง ธรรมาภิบาลที่ทำให้เกิดการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วม  และมีความโปร่งใส ต่อมา คือ ป่าเป็นเรื่องของการลงทุนไม่ใช่เพียงเพื่อรักษาไว้แต่การต่อยอดพัฒนาต้องการการสนับสนุนทุนที่เหมาะสม นโยบายการทำให้ชุมชนเป็นผู้ร่วมจัดการได้กับภาครัฐต้องมีนโยบายที่เหมาะสม และการทำงานร่วมกันกับสังคมและเครือข่ายเพื่อนำไปสู่บันไดขั้นต่อไป คือ การฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าใหม่และที่มีอยู่เดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ต้องการป่าไม้จำนวนมาก ขณะที่ป่าเดิมที่มีอยู่ก็ต้องการชุมชนท้องถิ่นร่วมรักษา ขั้นต่อไป คือ ต่อยอดให้ชุมชนสร้างรายได้จากการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรขึ้นมา เช่น การแปรรูปสมุนไพร เป็นต้น ถ้าเขามีทุนต่อยอด สามารถสร้างวิสาหกิจชุมชน และแปรรูปสินค้าที่มีคุณภาพ สุดท้าย คือ เรื่องระบบเศรษฐกิจระยะยาว เช่น ธุรกิจกาแฟมีวณาซึ่งคือ ปลายทางการนำไปสู่การยกระดับธุรกิจ ทั้งนี้ การไปสู่เป้าหมายระดับนี้จำเป็นต้องมีแนวทางความร่วมมือกันระหว่างบริษัท บุคคลทั่วไป เพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลง คือ

  • การสร้างป่าไม้ คือ แนวคิดต้นไม้อุปถัมภ์ เราสามารถสนับสนุนชุมชนเพิ่มต้นไม้ในแปลงเกษตรที่มีอยู่แล้ว ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกต้นไม้เพิ่ม เพื่อให้ได้ป่าเพิ่มขึ้นในพื้นที่เกษตร 
  • การอนุรักษ์ป่าเดิมคือป่าชุมชนพื้นที่ต้นน้ำ
  • การร่วมทำธุรกิจจากป่าในฐานะผู้รับซื้อและผู้บริโภค 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางการทำงานร่วมกัน นอกจากนั้น การระดมทรัพยากรเพื่อสร้างการรับรู้ ติดตามผลที่ทำ ซึ่งไม่เพียงติดตามแค่เรื่องการปลูก แต่ต้องติดตามได้ว่า นำไปสู่อะไร โดยการริเริ่มจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้เกิดกลไกชุมชนระดับเครือข่าย ใช้เครื่องมือติดตามที่สามารถรายงานผลได้ การร่วมติดตามไม่ใช่เพียงเรื่องป่า หรือเรื่องคาร์บอน แต่ต้องทำงานร่วมกับชุมชน เครื่องมือที่ชุมชนสามารถให้ข้อมูลได้ เป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงกับป่าชุมชน โดยช่องทางหนึ่ง คือ  thaicfnet.org ช่องทางเชื่อมโยงป่าชุมชนทั่วประเทศจัดทำโดยRECOFTF และภาคีป่าชุมชนหลายแห่ง ซึ่งสามารถค้นหาป่าชุมชนได้มากกว่า 38 จังหวัด นำเสนอตัวอย่างป่าชุมชนที่พร้อมจะทำงานร่วมกันและเพื่อการสนับสนุนการสร้างป่าไม้แห่งอนาคต สามารถสนับสนุนเพิ่มเติมได้ผ่านเทใจดอทคอม 

Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย
Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย

 

ดร.วีนัส: ตัวอย่างการประเมินบริการทางนิเวศ

บริการทางนิเวศเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งจะสามารถวัดได้อย่างไร โดยแนวทางการประเมินบริการทางนิเวศ มีตัวอย่างแนวทาง คือ 

  • พิจารณาสภาพพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ หรือพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่เกษตรหรือพื้นที่จากป่าเสื่อมโทรม
  • เลือกตัวชี้วัดให้ชัดเจนที่สามารถตรวจวัดได้จริง และสามารถอ้างอิงกับข้อมูลทางชุมชน ชุมชนสามารถเรียนรู้ และร่วมตรวจวัดได้โดยชุมชนเอง พร้อมกำหนดเกณฑ์เปรียบเทียบการตรวจวัด
  • ติดตั้งเครื่องมือการเก็บข้อมูล 

ตัวอย่างการประเมินบริการทางนิเวศ ได้แก่

Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย

Photo Cr. รีคอฟ ประเทศไทย

 

คุณอภิญญา: ป่าไม้แห่งอนนาคตและความเชื่อมโยงกับภาคการเงิน

เรื่องธรรมาภิบาลป่าไม้ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่สามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG ครบทั้ง 17 ด้าน ซึ่งความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน บริษัทที่จดทะเบียนกับ กลต. และภาคการเงิน คือ ภาคการเงินจะคุ้นเคยกับ Financial Report และ One Report ซึ่งปีหน้าต้องมีการรายงานผลการดำเนินงาน โดย CSR หรือการบริจาคอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องรายงานว่า มีผลเกิดขึ้นอย่างไร

สิ่งสำคัญ คือ ต้องสามารถวัดผลได้ โดยการสนับสนุนป่าชุมชนสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ ขณะที่มีเครื่องมือวัดผลอย่างง่าย สามารถตอบโจทย์เอกชนให้ร่วมลงทุน และสามารถรายงานใน One Report เพื่อนำเสนอต่อกลต.ต่อไป ถือเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนอย่างชัดเจน

โดย กลต.และ UNDP ได้ทำงานใกล้ชิดในส่วนนี้ เพื่อหาแนวทางกิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์ SDG และตอบสนองต่อเอกชนให้สามารถนำรายงานนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ สิ่งนี้เป็นเทรนที่เกิดขึ้นทั่วโลก สถาบันขนาดใหญ่ทั่วโลก ต่อไปการรายงานเพียง Financial Report ไม่เพียงพอ แต่ Sustainability เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่เราต้องผลักดัน

เป้าหมาย

1. สร้างความเข้าใจของสังคม ภาคเอกชน-การเงิน สื่อมวลชลต่อประเด็นธรรมาภิบาลป่าไม้ โดยเฉพาะในมิติการจัดการร่วมกับชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาความยั่งยืนของคนกับป่า

2. นำเสนอกรอบหลักปฏิบัติป่าไม้แห่งอนาคตที่จัดการโดยชุมชนร่วมกับทุกภาคส่วน

3. นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการร่วมโดยชุมชนที่จับต้องได้ มีความหลากหลาย วัดผลความสำเร็จได้ทั้งมิติธรรมชาติ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และขยายผลได้ 3-4 กรณี

4. นำเสนอพื้นที่ความร่วมมือเพื่อการสร้างป่าไม้แห่งอนาคตที่จัดการโดยชุมชน

 

ขอขอบคุณ Good Society Submit 2021 รวมถึงสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, รีคอฟ ประเทศไทยและภาคีเครือข่ายร่วมยกระดับธรรมาภิบาลป่าไม้ สำหรับพื้นที่แลกเปลี่ยนและร่วมเรียนรู้ธรรมาภิบาลป่าไม้เพื่อการจัดการร่วมของชุมชน สู่ป่าแห่งอนาคต และหาความเป็นไปได้เพื่อการสร้างป่าแห่งอนาคตร่วมกัน 

###

เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดวงเสวนา และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป

งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)