RECOFTC Thailand
सूचना

การประเมินและตรวจวัดปริมาณคาร์บอนของกลุ่มเยาวชนต้นกล้า

RECOFTC News

ชุมชนซำผักหนาม ประเทศไทย, สิงหาคม 2011:   เฉกเช่นชุมชนที่ตั้งอยู่ในป่าชุมชนหลายๆ แห่งในประเทศไทย ชุมชนบ้านซำผักหนามซึ่งตั้งอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดขอนแก่น ก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่อยู่ในผืนป่า จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ  และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจากรัฐบาลไทย  ขณะนี้ชุมชนกำลังพยายามแสวงหาโอกาสขยายทางเลือกด้านอาชีพ จากวิถีชีวิตดั้งเดิมตามประเพณีที่อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เน้นคุณค่าของการเก็บผลิตภัณฑ์จากป่าแบบยั่งยืน  สู่ชนรุ่นหลังที่เป็นผู้นำด้านการจัดการทรัพยากรป่าที่มุ่งแสวงหาผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ จากป่ามากขึ้น อาทิ การเก็บกักคาร์บอน เพื่อเป็นทางเลือกอาชีพที่ผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับป่า

การตรวจวัดคาร์บอน

รีคอฟ ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนตามความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป  และได้จัดทำการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 3 วัน สำหรับผู้นำเยาวชนด้านการจัดการป่าและสมาชิกของชุมชนที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเยาวชนต้นกล้า  เครือข่ายนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้การสนับสนุนกลุ่มเยาวชน 20 กลุ่มในประเทศไทย ให้มีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การประชุมเชิงปฏิบัติวันแรกเน้นเรื่องการติดตามและการประเมินระดับคาร์บอนที่มีอยู่ในป่า  ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ร่วมทีมไปด้วย เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการฝึกอบรม และพบปะกับสมาชิกของชุมชนบ้านซำผักหนาม
เจ้าหน้าที่จากรีคอฟกำลังสาธิตวิธีการวัดคาร์บอนให้กับกลุ่มเยาวชน
การตรวจวัดต้นไม้เพื่อหาปริมาณคาร์บอน

หลังจากประเทศต่างๆ ได้ลงนามในข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยลดการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า  REDD+ (Reducing Emissions through reduced Deforestation and forest Degradation) ในงาน UNFCCC COP ที่โคเปนเฮเกนและที่คันคูน การฝึกอบรมด้านการวัดระดับคาร์บอนจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการสร้างผู้นำป่าไม้    ข้อตกลงเหล่านี้ให้ความสำคัญกับป่าไม้ที่จะมีบทบาทอันสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งนี้เพราะป่าไม้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในบรรยากาศได้เป็นอย่างดี  และยังมีบทบาทอื่นที่สำคัญเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ อาทิ  ทำหน้าที่ควบคุมความชุ่มชื้นของบรรยากาศโลกและฝนให้เป็นปกติสม่ำเสมอ   ถ้ามีการดำเนินงานด้าน  REDD+  เมื่อใดในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ป่าไม้รุ่นหลังจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการวัดคาร์บอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  เพื่อใช้ประโยชน์จากคาร์บอน

คุณระวี ถาวร เจ้าหน้าที่ของรีคอฟ แผนงานประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการสาธิตวิธีการวัดคาร์บอน โดยแบ่งผืนป่าออกเป็นแปลงๆ ซึ่งออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน  เพื่อให้แต่ละแปลงประกอบด้วยต้นไม้และพรรณพืชชนิดต่างๆ ให้มากที่สุด  บางแปลงมีขนาดใหญ่กว่าแปลงอื่นๆ   บางแปลงก็คลุมพื้นที่ลาดชัน การแบ่งผืนป่าลักษณะนี้ก็เพื่อให้ได้เห็นความซับซ้อนของภูมิทัศน์ผืนป่าอย่างถูกต้อง

เมื่อแบ่งแปลงผืนป่าตัวอย่างได้แล้ว  ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติแต่ละทีมก็เริ่มทำการวัดทรัพยากรป่า  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ดูเหมือนจะพึงพอใจมากกับการฝึกอบรมเรื่องนี้คือ  พ่อแก้ว วงค์ไกร ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้าน  ได้กล่าวขึ้นว่า “ที่หมู่บ้านของตน มีการสำรวจที่ดินในผืนป่าชุมชนเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ยินดีมากที่ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการพิเศษสำหรับการวัดคาร์บอนของชุมชน” สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ  ในชุมชนที่ยึดถือเป็นประเพณีมาช้านาน ให้ผู้ชายมีบทบาทหลักในชุมชน  แต่ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง  ผู้เขียน/ข้าพเจ้าพูดถึงประเด็นนี้กับ แม่ขุม ซึ่งเป็นผู้นำป่าไม้สตรีคนสำคัญของหมู่บ้านสามปากน้ำ  ดูเธอไม่ประหลาดใจกับเรื่องนี้   อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบของเพศหญิง-ชายในจำนวนผู้เข้าร่วม เป็นประเด็นใหญ่สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ  การดึงเด็กผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากขึ้น บ่งชี้ว่าการทำงานในภาคส่วนที่ผู้ชายมักเป็นผู้ควบคุมนั้น มีการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น    การพัฒนาผู้จัดการป่าไม้สตรีรุ่นเยาว์ให้มีทักษะต่างๆ ที่จำเป็น จึงเป็นขั้นตอนสำคัญ สำหรับการพัฒนาปรับปรุงการจัดการป่าไม้ในประเทศไทยให้ดีขึ้น

การพึ่งพิงอยู่กับป่า
แม้จะมีอายุแล้ว แต่แม่ขุมยังดูไม่แก่และและมีพลังเต็มเปี่ยม  ทุกวันแม่ขุมจะออกไปเก็บหาอาหารสดๆ ที่ปราศจากสารพิษ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากป่าอันเป็นที่รักของเธอมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว แม่ขุมจะเก็บของป่าเกือบทุกอย่างที่เธอจำเป็นต้องใช้สอย ที่มีอยู่ในเขตป่าชุมชนที่กันไว้เป็นป่าใช้สอย  นับได้ว่า แม่ขุมเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากป่าอย่างมีจิตสำนึกและมีความชำนาญมากที่สุด
แม่ขุม ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านซึ่งชำนาญเรื่องการฝึกอบรม

แม่ค่ำ

แม่ขุมชี้ให้ดูบ้านของเธอด้วยดวงตาเป็นประกายด้วยความภาคภูมิใจ  บ้านของเธอมีผนังบ้านที่ทำจากลำไม้ไผ่ หลังคาทำจากใบปาล์มที่นำมาจักสานกันอย่างแน่นหนา  ข้างๆ เธอมีหม้อดินใบใหญ่ที่แม่ขุมกำลังใช้ปรุงอาหารอยู่โดยใช้ฟืนและถ่านที่ทำจากฟืนที่เก็บมาจากป่าใช้สอย  แม่ขุมเล่าว่า “อาหารที่เธอรับประทานส่วนใหญ่มาจากป่า” “ป่าเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรมากกว่า 3 ชนิด  ขิง 2 ชนิด  เห็ดสีขาวหลายชนิดของไทย  มะม่วง ส้มโอ และขนุน”  นอกจากนี้ แม่ขุมยังทำใบชาเองจากสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่นำไปตากแห้งด้วยแสงอาทิตย์บนเสื่อที่ทำจากไม้ไผ่ที่มาจากป่า   

แม่คำ 2

บ้านไม้ของแม่ขุมและเครื่องใช้ไม้สอยเกือบทุกอย่างที่จำเป็นของเธอมาจากป่าอันเป็นที่รักของเธอทั้งสิ้น
ก่อนที่หมู่บ้านของเธอจะมีไฟฟ้าใช้  แม่ขุมเคยขุดน้ำมันจากผืนดินมากลั่นเป็นน้ำมันก๊าดสำหรับจุดตะเกียงใช้เอง เป็นตะเกียงที่ทำจากกระป๋องอลูมิเนียมที่นำกลับมาใช้ใหม่  เธอยังจำได้ว่า “ทุกอย่างเป็นธรรมชาติและปลอดสารพิษ  มีชีวิตได้อย่างเป็นสุขอย่างแท้จริง”  น้ำสำหรับบริโภคในครัวเรือนก็หาได้จากแอ่งน้ำใต้ดินที่อยู่แถบบริเวณเชิงเขา  บางแห่งก็เป็นเพียงแค่แอ่งน้ำขนาดเล็กบนผิวดินในพื้นที่ชื้นแฉะ  สิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติที่สุดคือ โทรทัศน์ที่ใช้แบตเตอรี่ที่มีอยู่เพียงเครื่องเดียวในหมู่บ้าน ที่ต้องนำเข้าไปอัดไฟในเมืองเป็นประจำ เพื่อจะได้มีไว้ดูละครทีวีในยามค่ำคืน
 
ในฐานะรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่ามากว่า 30 ปี  แม่ขุมจึงถูกขอให้ไปเป็นผู้ฝึกอบรมอยู่บ่อยๆ   เมื่อข้าพเจ้า/ผู้เขียนถามว่า เธอเป็นผู้ที่เสนอวิธีป้องกันไฟป่าด้วยการเลือกตัดต้นไม้ใช่ไหม  เป็นความคิดที่แปลกใหม่อย่างมากเมื่อก่อนนี้  แม่ขุมหัวเราะหึๆ  “อย่างนั้นหรือ พวกเราทุกคนต้องมีส่วนเข้ามาช่วยในกระบวนการวางแผนของชุมชนอยู่แล้ว”  เธอยืนยันให้ผู้เขียนมั่นใจ    
 
เนื่องจากคุณค่าของการจัดการป่าไม้ชุมชนเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในความสำคัญมากขึ้นในโครงการการจัดการป่าไม้ระดับโลก ชนรุ่นหลังที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการป่าชุมชนในหมู่บ้านทั้งหลาย เช่น หมู่บ้านซำผักหนาม จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่เปลี่ยนไปและโอกาสใหม่ๆ  และสามารถผสมผสานวิธีการจัดการป่าชุมชนอย่างยั่งยืนแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคนิควิธีการใหม่ๆ เพื่อนำโอกาสด้านการประกอบอาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์  อาทิ  REDD+  ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการป่าชุมชนในอนาคต
“นำมาใช้เฉพาะที่จำเป็น”

ผู้เฒ่าแห่งบ้านซำผักหนามเต็มใจรับความคิดใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นหนทางแก้ปัญหา  แต่ผู้เฒ่าได้เน้นย้ำอย่างระมัดระวัง ถึงความสำคัญของวิธีปฏิบัติที่เรียบง่ายที่ได้ผลมาช้านานแล้ว  พ่อแก้วกล่าวขึ้นว่า  “สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะสอนลูกหลานของเราได้คือ ความสำคัญของการดำรงชีวิตแบบพอเพียง ใช้เฉพาะที่จำเป็น  เป็นแนวคิดเดียวเท่านั้นที่ปลูกฝังสำนึกของการเอามาใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น    จะทำให้เยาวชนของเราได้รู้ว่า เรามีระบบที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว นั่นก็คือ การเกษตรแบบยั่งยืนจะทำให้เรามีอยู่มีกินอย่างเพียงพอ  แต่การเป็นหนี้จะทำลายชีวิตเรา

เยาวชนหญิงร่วมกันทำการตรวจวัดคาร์บอน

เมื่อกลับคืนสู่งานในสำนักงานรีคอฟ คุณระวีก็ยังทุ่มทั้งเวลาและความพยายามเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในพื้นที่  “ป่าชุมชนจะช่วยให้ชาวบ้านได้เป็นเจ้าของและได้สิทธิในที่ดินของตนรวมทั้งทรัพยากรในที่ดินดังกล่าว  ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดที่มีอยู่ในป่าสำหรับการดำรงชีพของพวกเขา” อย่างไรก็ดี  คุณระวีอยากให้เยาวชนในท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องในงานด้านนี้อย่างแข็งขันมากกว่านี้  คุณระวีกล่าวว่า “การทำให้เยาวชนเหล่านี้เกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของงานป่าไม้ชุมชน และบทบาทของป่าชุมชนที่มีต่อชีวิตของพวกเขาและของคนอื่นๆ ทุกคนนั้น  เป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก”   เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าที่มีการจัดตั้งขึ้นแล้วนั้น จะช่วยทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริงได้

เมื่อถูกถามว่าต้องการการสนับสนุนอะไรเพื่อให้งานป่าชุมชนของหมู่บ้านก้าวหน้าขึ้น  พ่อแก้วตอบอย่างมั่นใจว่า อยากให้มีการฝึกอบรมเช่นเดียวกับที่รีคอฟจัดให้มากขึ้น หมู่บ้านซำผักหนามนั้น ถ้าได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ทำงานและมีแนวคิดเหมือนกัน  มีผู้เชี่ยวชาญและผู้ใช้ประโยชน์จากป่าไม้ชุมชนที่มีความรู้ดีที่คอยให้การสนับสนุนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์  บ้านซำผักหนามจะสามารถตักตวงผลประโยชน์จากป่าได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่เยาวชน  จะช่วยให้แน่ใจว่าการจัดการป่าชุมชนของชนรุ่นหลัง สามารถนำเทคโนโลยี่ใหม่ๆ และวิธีการจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลมาใช้เป็นทุนสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต