RECOFTC Thailand
हाम्रा सिकाइहरु

ชุมชนต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้างต่อ พรบ.ป่าชุมชน ที่กำลังจะประกาศใช้?

13 May 2019
ระวี ถาวร, ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) ประเทศไทย
สืบเนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. .... การประชุมพิจารณาวาระ 3 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โดยร่างกฎหมายป่าชุมชนมีทั้งหมด 8 หมวด 104 มาตรา
In Focus
เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

ปัจจุบันร่างกฎหมายป่าชุมชนนี้อยู่ระหว่างการทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธย แล้วเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นกฎหมาย และประกาศใช้ต่อไป ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าวทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยชุมชนต้องมีการเตรียมความพร้อมที่สำคัญๆ อย่างน้อย 4 ประการ

ประการที่ 1 การทำความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายที่สำคัญๆ เช่น การจัดตั้งป่าชุมชนในกรณีที่ขอจัดตั้งป่าชุมชนว่ามีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมเอกสาร ข้อมูลอะไรประกอบการยืนขอจัดตั้งป่าชุมชน โครงสร้าง บทบาท หน้าที่คณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป่าชุมชน และสมาชิกป่าชุมชน รวมทั้งเงื่อนไขหลักในการจัดการ ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันกรมป่าไม้ได้จัดทำเอกสารสร้างเข้าใจเบื้องต้น กฎหมายว่าด้วยป่าชุมชนเผยแพร่ การเข้าร่วมเวทีทำความเข้าใจกฎหมาย ที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ

ประการที่ 2 การเตรียมความพร้อมในการทำแผนการจัดการป่าชุมชน โดยเฉพาะกรณีป่าชุมชนที่จะขอจัดตั้งใหม่จะต้องแนบเอกสารแผนจัดการป่าชุมชนประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด (มาตรา ๓๓) ดังนั้นการเตรียมชุดข้อมูลทั้งข้อมูลเกี่ยวกับป่าชุมชนทั้งขอบเขต ที่ตั้ง (แผนที่) ข้อมูลสภาพป่า การแบ่งโซนป่า การพึ่งพิงการใช้ประโยชน์ ผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการป่าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการจัดการโดยต้องมีการระบุวัตถุประสงค์การจัดการป่าชุมชน กิจกรรมจัดการป่าว่า ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ใครรับผิดชอบ รวมทั้งกฎระเบียบ ข้อตกลง กติกาต่างๆ ทั้งนี้แผนจัดการป่าชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดแล้วใช้ได้ 5 ปี และต้องจัดทำแบบใหม่เสนอ ในกรณีที่ป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้อยู่แล้วจะได้รับการรับรองอัตโนมัติเมื่อกฎหมายป่าชุมชนประกาศใช้ (ตามมาตรา ๙๙ และ ๑๐๐) แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเสนอแผนการจัดการป่าชุมชนภายใน 2 ปี หลังกฎหมายประกาศใช้ มิเช่นนั้นจะถูกเพิกถอน (ตามมาตรา ๑๐๒) ดังนั้น กล่าวโดยสรุปทุกป่าชุมชนไม่ว่าจะจัดตั้งใหม่ หรือ ที่ขึ้นทะเบียนอยู่แล้วต้องทำแผนการจัดการป่าชุมชน

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง

ประการที่ 3 การเตรียมตัวแทนเพื่อเข้าไปอยู่ในโครงสร้างคณะกรรมการระดับต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวแทนที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจงานด้านป่าชุมชนที่จะเป็นตัวแทนที่สามารถสะท้อนความคิดเห็นแทนชุมชนได้อย่างแท้จริง จึงเป็นหัวใจสำคัญ  ทั้งในระดับคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีสัดส่วนของภาคประชาสังคม ภาคประชาชนจำนวน 8 คนในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ โดย 4 คนนั้นมาจากด้วยผู้แทนประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด 4 คน (จาก 4 ภาค)  ดังนั้นเครือข่ายป่าชุมชนต้องมีการเตรียมตัวแทนที่สามารถสะท้อนความคิดเห็น สะท้อนเสียงในระดับนโยบายแทนได้ เพราะคณะกรรมการนโยบายมีบทบาทที่สำคัญ โดยเฉพาะการออกระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการป่าชุมชน นอกจากนี้การเตรียมตัวแทนให้เข้าไปในโครงสร้างคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดซึ่งมีบทบาท หน้าที่สำคัญ คือ พิจารณาจัดตั้งป่าชุมชน อนุมัติแผนการจัดการป่าชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องได้ตัวแทนที่เข้าใจงานป่าชุมชนที่สะท้อนความเป็นจริง ทั้งนี้ในระดับจังหวัด จะมีประธานเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประธานกรรมการ(ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการที่ได้รับมอบหมาย) แต่งตั้ง 7 คน การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระบวนการได้มาซึ่งคณะกรรมการจึงมีความสำคัญ

ประการสุดท้าย การมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายลำดับรอง อนุบัญญัติ ระเบียบต่างๆ กว่า 31 ฉบับ เป็นเรื่องที่สำคัญที่เครือข่ายป่าชุมชนต้องมีการตื่นตัว และให้ข้อคิดเห็นต่อกฎหมายลำดับรองเพราะจะระบุรายละเอียดในการจัดการป่าชุมชนในทางปฏิบัติ เช่น การกำหนดขนาดพื้นที่ป่าชุมชน ระเบียบการสรรหาคณะกรรมการชุดต่างๆ การกำหนดแนวทางการทำแผนการจัดการป่า หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ไม้ ของป่า ผลผลิต และบริการต่างๆ จากป่าชุมชน รวมทั้งกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลป่าชุมชน ซึ่งกฎหมายลำดับรองจะมีความสำคัญในการกำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติการในการจัดการป่าชุมชนต่อไป

ดังนั้นชุมชน และเครือข่ายป่าชุมชนในแต่ละแห่งจะต้องมีความเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดขับเคลื่อนป่าชุมชนให้สอดคล้องกับแต่ละบริบทพื้นที่ และเป็นประโยชน์ต่อป่าต่อชุมชนให้มากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ