RECOFTC Thailand
हाम्रा सिकाइहरु

ผู้หญิงในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในป่าชุมชนของบ้านทุ่งยาว

06 September 2010
Estelle Srivijittakar
Notes from the Field
The Center for People and Forests

ปี พ.ศ. 2530  ชาวบ้านทุ่งยาว กำลังถือป้ายประท้วงกรมป่าไม้ มีข้อความว่า  “คืนป่าของพวกเรามา” และ  “เรารักแผ่นดินของเรา  เรารักป่าของเรา  เราจะปกป้องไว้ให้ลูกหลานของเรา” ตามข้อมูลของหมู่บ้านที่เล่าถึงเหตุการณ์ไว้ว่า  กรมป่าไม้แจ้งมาว่า จะจัดตั้งผืนป่าของบ้านทุ่งยาวเป็นอุทยานแห่งชาติ  ชาวบ้านเห็นว่า สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็นและไม่เห็นด้วย  เพราะชุมชนได้เป็นผู้ดำเนินการจัดการป่าในชุมชนอย่างได้ผลมาตลอด  ชาวบ้านเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถร่วมกันดูแลรักษาป่าของพวกเขาต่อไปได้ในฐานะชุมชน

บ้านทุ่งยาว จังหวัดลำพูน ประเทศไทย :  วาระหนึ่งของแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า  คือการชักนำผสมผสานประเด็นความเท่าเทียมกันของเพศหญิงเพศชาย  และความตระหนักรู้ในประเด็นหญิง-ชาย  เข้าสู่กระแสหลักของงานวนศาสตร์ชุมชน  แผนงานประเทศไทย ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในท้องถิ่น  ความสำเร็จ และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ของเครือข่ายวนศาสตร์ชุมชนที่อยู่ในโครงการของแผนงานประเทศไทย  ชุมชนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ คือ บ้านทุ่งยาว ที่อยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย  ที่ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการป่าไม่ในท้องถิ่น  ทำให้เกิดความตระหนักเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมของสตรี หรือการเป็นผู้แทนอย่างเท่าเทียมระหว่างเพศหญิงและชาย  กรณีบ้านทุ่งยาวนี้มีบทเรียนมากมาย ที่สามารถนำไปแบ่งปันกับชุมชนอื่นๆ ที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น    ในช่วงปี พ.ศ. 2466  หลังจากที่ชาวบ้านได้มาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านในจังหวัดลำพูนได้ไม่ถึง 10 ปี  หัวหน้าหมู่บ้านคนแรกของหมู่บ้านทุ่งยาว  ได้ประกาศให้พื้นที่ป่าลุ่มน้ำจำนวน 9.6 เฮคแตร์ เป็นพื้นที่คุ้มครอง  เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน   นับแต่นั้นมา ชาวบ้านได้จัดวางป่าไว้เป็นศูนย์กลางของชุมชน  และป่าได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องมือหล่อหลอมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของชุมชนของพวกเขา

บ้านทุ่งยาวสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ที่สามารถสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ  โดยเน้นการใช้ความเชื่อทางจิตวิญญาณ และการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับ  เป็นเครื่องมือสำหรับการอนุรักษ์ป่าไม้และการให้ความเคารพต่อป่าที่มีคุณ  บ้านทุ่งยาวได้รับการยอมรับภายในเครือข่ายป่าชุมชนของโครงการประเทศไทย ให้เป็นรูปแบบการจัดการป่าชุมชนที่ได้ผล  ผู้หญิงของหมู่บ้านทุ่งยาวมีบทบาทอย่างมากมาตลอด ในการจัดการและการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้าน  เป็นทั้งผู้ติดตามด้านสิ่งแวดล้อม เป็นนักวิจัย  เป็นผู้ตัดสินใจ  ผู้ป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง  และเป็นครู


การจัดตั้งกลุ่มสตรี

 แม้ว่าผู้หญิงของหมู่บ้านทุ่งยาว จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชน ก่อนช่วงเศรษฐกิจรุ่งเรืองของประเทศ ทำให้ผู้ชายพากันอพยพออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานในภาคเศรษฐกิจ ส่งผลสำคัญยิ่งต่อชุมชน ผู้หญิงถูกทิ้งให้อยู่ในชุมชน ต้องทำหน้าที่เป็นคนจัดการการทำนา การทำสวนผลไม้และป่าชุมชน ในปี พ.ศ.2532 บ้านทุ่งยาวจะได้รับการประกาศให้เป็นศูนย์เรียนรู้ป่าชุมชนแป่งแรกในภาคเหนือของประเทศไทย ผู้หญิงในชุมชนรับบทบาทสำคัญในการจัดการป่า ต้อนรับแขกผู้มาเยือนและเป็นผู้ดำนเินกิจกรรมการศึกษาท่องเที่ยวป่าชุมชนของพวกเขา เมื่อไม่มีผู้ชายในชุมชนในช่วงเวลานั้น สิ่งที่เป็นภาระรับผิดชอบเร่งด่วนที่ตกเป็นหน้าที่ผู้หญิงในเบื้องต้นในเวลานั้น ได้เติบโตกลายเป็นหนทางการให้อำนาจแก่กลุ่มสตรีของบ้านทุ่งยาวในเวลาต่อมา

บทบาทของผู้หญิงที่คนมักไม่ค่อยรู้กันในชุมชนป่าชุมชน คือ บทบาทในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของครัวเรือน  ผู้หญิงเป็นผู้ทำหน้าที่ออกไปเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากป่าที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ไม้อยู่เสมอ  และเป็นผู้ติดตามสิ่งแวดล้อมของป่า  ในกรณีบ้านทุ่งยาว กลุ่มสตรีได้แสดงให้เห็นบทบาทของพวกเธอในการดำรงวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน  ด้วยการจัดทำการศึกษาเพื่อประเมินรายได้เสริมของทั้งหมู่บ้านที่มาจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ไม้จากป่าชุมชน  ในปี พ.ศ. 2541  ผู้หญิงแห่งบ้านทุ่งยาวจัดทำการสำรวจข้อมูลครัวเรือนรายวัน  และค้นพบว่า ในปีนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านเก็บผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ไม้จากป่ามีมูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท หรือ 33,350 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันนี้  จากข้อมูลนี้ พวกเขายังทำการประเมินระดับการพึ่งพาทรัพยากรป่าชุมชนของชาวบ้านในชุมชน  และระบุฤดูกาลและมูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์อื่นๆ (ที่ไม่ใช่ไม้) จากป่าชุมชน  รวมทั้งระบุด้วยว่าชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรกันอย่างไร

คุณรวิวรรณ  กันไชยศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยวิถีชีวิตและผู้นำกลุ่มของกลุ่มสตรีกล่าวว่า  “เราได้รู้ว่าทุกคนในชุมชนพึ่งพิงกับทรัพยากรป่าถ้าไม่ใช่โดยตรงก็โดยทางอ้อม  ผู้ใช้ประโยชน์จากป่าโดยตรงจะเข้าไปเก็บหาของป่าด้วยตนเอง  ส่วนผู้ใช้ประโยชน์ทางอ้อมจะซื้อผลิตภัณฑ์จากป่าจากพวกเขา” “เราพบว่า ผู้ใช้ประโยชน์จากป่าโดยตรงทุกคน ต้องพึ่งพิงทรัพยากรจากป่าวันต่อวัน  พวกเขาจะเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์จากป่าที่สามารถงอกใหม่ได้รวดเร็ว  เพื่อจะได้มีอาหารสำหรับสมาชิกในครอบครัวทุกวัน  แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการเก็บหาของป่าคือการหาอาหารกลับบ้าน  แต่ครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ประโยชน์จากป่า จะเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์อื่นจากป่าเพื่อนำไปขายด้วย”
การทำความเข้าใจกับการพึ่งพิงกันเชิงนิเวศ

การศึกษาวิจัยของกลุ่มสตรี ทำให้เกิดความเข้าใจป่าในเชิงนิเวศ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าของชุมชนมากขึ้น    จึงได้ดำเนินการปรับปรุงนโยบายของชุมชน เพื่อเอื้อให้การจัดการป่าชุมชนมีความยั่งยืนและมีประสิทธิผลมากขึ้น  จากการสังเกตระยะเวลาที่ใช้สำหรับการงอกใหม่ของทรัพยากรป่า   เป็นที่ชัดเจนว่าชุมชนจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบใหม่สำหรับการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์จากป่า ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ไม้และไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ไม้  การเจริญเติบโตของต้นไม้ที่เป็นไปอย่างช้าๆ  ทำให้มั่นใจมากขึ้นในการมีกฎระเบียบและการลงโทษที่ไม่ซับซ้อนของชุมชน สำหรับผู้ที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  และสำหรับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าบางประเภท อาทิ พืชผักและแมลง ซึ่งมีการใช้ประโยชน์อยู่บ่อยๆ และการมีการงอกต้นใหม่อยู่เสมอ  ชุมชนจึงออกระเบียบใหม่ให้ชัดเจน เช่น “ถ้าจะเก็บไข่มดแดง ต้องไม่ใช้ควันไฟ หรือขุดหน่อไม้ขึ้นมา” ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบังคับใช้วิธีการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์จากป่าอย่างยั่งยืน

เนื่องจากผู้ใช้ประโยชน์จากป่าโดยตรงในบ้านทุ่งยาวนั้น ส่วนใหญ่คือผู้หญิง  กลุ่มสตรีจึงมีบทบาทมากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของป่าชุมชนที่มีต่อวิถีชีวิตชุมชน  เมื่อเกิดสถานการณ์ที่คนนอกชุมชนเข้ามาเก็บผลิตภัณฑ์ป่าที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ไม้จากป่าของพวกเขา  ผู้นำหมู่บ้านจึงพิจารณาปรับปรุงร่างนโยบายของชุมชนใหม่  เพื่อกันคนนอกชุมชนไม่ให้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชุมชนของพวกเขา  แต่กลุ่มสตรีขอร้องไว้ไม่ให้ทำเช่นนั้น

คุณรวิวรรณ เล่าเท่าที่เธอจำได้ว่า  “เนื่องจากทรัพยากรเหล่านี้มีวงจรชีวิตสั้น   จึงต้องมีการเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์  ถ้าพวกเราไม่เก็บเกี่ยว ก็ควรให้ผู้อื่นเก็บเกี่ยวไป เช่น คนงานที่โรงงาน ไม่เช่นนั้น ทรัพยากรเหล่านี้ก็จะเสียไปเปล่าๆ  อีกประการหนึ่ง (คนที่ไม่ใช่ชาวบ้านในชุมชน) พวกเขาไม่ได้มาเก็บเกี่ยวทรัพยากรเหล่านี้เพื่อเอาไปขาย  แต่เอาไปกิน  คิดแล้วก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่พวกเขาทำงานกันอย่างหนัก  แต่ก็ยังมาหาอาหารที่ป่าของเรา  เราจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับชุมชนอื่น  หากเราไม่ใช้ทรัพยากรป่าของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด และก็ยังไม่อนุญาตให้คนยากจนเอาไปกิน” การมีผู้หญิงเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจ นอกเหนือจากการช่วยลดความขัดแย้งได้บ้างแล้ว  ยังทำให้มีการคำนึงถึงผู้อื่นที่พึ่งพิงอยู่กับทรัพยากรป่าของทุ่งยาวด้วย   การจัดการทรัพยากรป่าในแนวทางนี้  เป็นการเน้นย้ำแนวความคิดและความพยายามของชุมชน ในการยึดถือแนวทางการจัดการและการดูแลรักษาป่าเพื่อคน

ความก้าวหน้าของการได้รับเลือกเป็นผู้แทนระหว่างเพศหญิง-ชาย

การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการจัดการป่าชุมชน ที่ส่งผลให้เกิดผลสำเร็จมากขึ้น  ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงกับการจัดการทรัพยากรของชุมชนมากขึ้น  ควบคู่ไปกับวิวัฒนาการของบทบาทสตรี   ผู้หญิงของบ้านทุ่งยาวยอมลงทุนเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาต่างๆ ของชุมชน  เพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิง-ชายในการเป็นผู้แทนของชุมชนในสถาบันการเมืองให้มีความสมดุลมากขึ้น    ในปี พ.ศ. 2540  มีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการป่าชุมชนของบ้านทุ่งยาว  และในระดับจังหวัด  ผู้หญิงของบ้านทุ่งยาวได้เข้าร่วมอยู่ในคณะกรรมการป่าชุมชนของจังหวัดลำพูน  ปัจจุบันคณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้าน มีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการมากกว่า 1 ใน 3 (12 คน) เป็นผู้บริหารจัดการผืนป่า 2,500 ไร่

คุณรวิวรรณ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งใน 12 คน ที่เป็นกรรมการป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว  และเป็นผู้แทนของบ้านทุ่งยาวที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคที่ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าจัดขึ้น  รวมทั้งเข้าร่วมการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเครือข่าย  เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการป่าชุมชนที่ได้ผลดียิ่งขึ้น  และนำกลับไปใช้ในชุมชนของเธอ  คุณรวิวรรณกล่าวว่า “การได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เป็นโอกาสที่ทำให้เธอได้เรียนรู้จากชุมชนอื่น  ได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนของบ้านทุ่งยาวที่ได้สั่งสมมา  การที่ฉันได้มาอยู่ที่นี่ มีความหมายมากสำหรับชุมชนทุ่งยาว ที่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนพูดคุยในประเด็นร่วมสมัยในระดับนานาชาติ  อาทิ การเปลี่ยนแปแลงสภาพภูมิอากาศ และการปฏิรูปนโยบาย” หากพิจารณาถึงกรณีที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ    ที่สาระข้อตกลงที่ตกลงกันในระดับสูง  ไม่มีการตอบรับดำเนินการในระดับชุมชน  การเข้าร่วมของคุณรวิวรรณในกิจกรรมแลกเปลี่ยนพูดคุยเหล่านี้  เป็นหนทางหนึ่งในหลายๆ หนทางที่จะทำให้สาระของการพูดคุยเหล่านั้น  มีการนำไปดำเนินการต่อให้คืบหน้าในระดับท้องถิ่น

เพื่อใช้แรงขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์  ขณะนี้ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กำลังร่วมมือกับคุณรวิวรรณ เตรียมการจัดทำการฝึกอบรมเรื่องการปรับตัวและการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหมู่บ้านทุ่งยาว  หากไม่มีกลุ่มสตรีเข้าร่วมกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนพูดคุยในระดับต่างๆ ในระดับที่สูงขึ้น  การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถในลักษณะนี้ สำหรับคนในชุมชนของผู้หญิงเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องที่ยังห่างไกลจากความเป็นจริง ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กลุ่มสตรีแห่งบ้านทุ่งยาวช่วยจัดทำกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชนทุ่งยาว  อาทิ การเสริมสร้างบทบาทของสตรีในเครือข่ายป่าชุมชนและเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าของประเทศไทยให้แข็งแกร่งขึ้น
ผู้หญิงในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

หากผู้หญิงได้รับการยอมรับในทุกกรณีในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกัน  บ้านทุ่งยาวจะกลายเป็นหมู่บ้านใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง  กลุ่มสตรีที่ขยันขันแข็งของบ้านทุ่งยาวเป็นรูปแบบที่ดีสำหรับการพัฒนา  ช่วยกระตุ้นส่งเสริมกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนยากจน  สำหรับกรณีสตรีบ้านทุ่งยาว การเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น  ในการจัดการป่าชุมชน  ทำให้ได้เห็นบทบาทของสตรีเด่นชัดขึ้น  พวกเขาไม่ใช่เป็นเพียงแต่ “ผู้หญิง”แต่เป็นสมาชิกของหมู่บ้านที่คอยให้การสนับสนุนงานชุมชน เพื่อให้ชุมชนเจริญขึ้น  บทบาทของผู้หญิงในการพิทักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน  ทำให้พวกเขาและครอบครัวของพวกเขาสามารถดำรงชีพในแต่ละวันได้อย่างเพียงพอ   ขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาดูแลผืนดิน ป่า และน้ำ และชุมชนของพวกเขาให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ที่ชัดเจนของการมีส่วนร่วมมากขึ้นของสตรีคือ : ในการจัดการป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วม การมีตัวแทนของผู้หญิงมากขึ้น  ทำให้มีโอกาสรับฟังและได้แก้ไขปัญหาด้านสิทธิของสตรีและผลประโยชน์ของสตรีมากขึ้น  ส่งผลให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงชุมชนและป่าชุมชนให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น  เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่ยังคงมีอุปสรรคมากมายเกี่ยวกับการให้สิทธิและการยอมรับชุมชนที่อยู่ในผืนป่า  เป็นสิ่งที่จะต้องพิสูจน์กับรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย และประชาสังคมให้เห็นว่า การจัดการป่าอย่างยั่งยืนโดยชุมชนนั้นได้ผล  จึงจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีชุมชนที่เข้มแข็ง  เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานป่าชุมชนให้คืบหน้า  อีกทั้งจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีและกลุ่มสตรี  โดยประยุกต์ใช้ทักษะความรู้และวิธีปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมของพวกเขา  เพื่อให้กลายเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งและประสบความสำเร็จ