ปี 2019 ก่อนการระบาดใหญ่ของโควิท-19 มาร์ดา ทิลล่าห์ (Mardha Tillah) ได้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับภาวะผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศ ในเวลานั้นเธอเป็นกรรมการบริหารของสถาบันด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย (RMI-Indonesian Institute for Forest and Environment)
“การสนทนาเบื้องต้นในที่ประชุมมุ่งเน้นไปที่การฝึกสติและการตระหนักรู้ในตนเอง” ทิลล่าห์เล่า “ตอนแรกฉันไม่เข้าใจหรอกว่าหัวข้อเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้นำยังไง” แต่เมื่อหลักสูตรดำเนินไป ความชัดเจนก็เริ่มปรากฎตัวเป็นรูปร่างขึ้น และทิลล่าห์ก็มีชั่วขณะที่พูดได้ว่า ‘อ๋อ เข้าใจล่ะ’
“ฉันตื่นเต้นมาก” ทิลล่าห์เล่า “การฝึกอบรมเน้นย้ำถึงตัวตนทางด้านเพศสภาวะและการมองเข้าไปข้างในเพื่อสำรวจอคติที่มีอยู่เดิมว่า ความเป็นชายหรือหญิงนั้นมีความหมายอย่างไรในฐานะก้าวแรกสู่การเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาห้าวันนั้น ฉันคิดถึงการมีโอกาสได้รู้แจ้งเช่นนี้ของผู้นำคนอื่นๆ ด้วย”
หลังจากนั้น เธอยังส่งข้อความหาเพื่อนร่วมงาน แม่ และสามีของเธอว่า “ถ้าเราจะสามารถจัดการประชุมแบบนี้ได้และทุกคนจะค้นพบถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเช่นนี้ที่อินโดนีเซีย”
ขับคลื่นอุดมการณ์
ทิลล่าห์และผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการอีก 30 คนเป็นผู้นำทางด้านความเสมอภาคเพศกลุ่มแรกในโครงการ WAVES ของรีคอฟ โดย WAVES นั้นเป็นชื่อย่อของ Weaving Leadership for Gender Equality
พวกเขามาร่วมกันพร้อมกับประสบการณ์ที่หลากหลายและกว้างขวาง โดยผู้เข้าร่วมนั้นมีตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมาร์ เนปาล ไทย และเวียดนาม ทั้งยังมีข้าราชการ นักการเมือง นักวิชาการ ผู้อำนวยการองค์กรภาคประชาสังคม ผู้จัดการภาคธุรกิจ และผู้สื่อข่าว ซึ่งผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ก็มีผู้ชายด้วยเช่นกัน บางคนนั้นมีคำว่า 'การพัฒนาด้านเพศสภาวะ' ในชื่อตำแหน่งหน้าที่หรือคำบรรยายลักษณะงาน ส่วนบางคนนั้นแม้จะเคยได้ยินคำว่า 'ความเสมอภาคทางเพศ' มาก่อน แต่ก็รู้เรื่องนี้ไม่มากนัก
ผู้เรียนรู้ทุกคนมีนโยบาย โครงการ หรือแนวคิดที่ต้องการลงมือทำ ซึ่งจะสร้างสรรค์พื้นที่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้นในการตัดสินใจในการจัดการป่าและสิ่งแวดล้อม
“พวกเขาทั้งหลายต้องการให้ผู้หญิงเป็นที่ยอมรับจากงานที่ทำอยู่แล้ว และมอบโอกาสในการมีประสบการณ์ทางตรงอันพึงมีต่อการชี้แนะนโยบาย” กัลปนา คีรี (Kalpana Giri) ผู้เชี่ยวชาญดูแลปกป้องป่าซึ่งเป็นผู้นำโครงการ WAVES ของรีคอฟกล่าว “พวกเขาต้องการได้ยินว่าผู้หญิงในชุมชนคิดอะไร เพื่อสะท้อนผลประโยชน์ที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะได้รับในแผนและนโยบายจัดการป่าไม้ นอกจากนี้พวกเขายังต้องการรู้ถึงบทบาทของผู้หญิงในการลาดตระเวนและปกป้องป่าอีกด้วย”
แต่แม้จะมีความปรารถนาอันแรงกล้าแค่ไหน ผู้เข้าร่วมทั้งหลายต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุเป้าหมาย
พลิกสถานการณ์
รีคอฟทำงานเพื่อเสริมสร้างพลังให้ชุมชนป่าไม้จัดการและอนุรักษ์ป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำที่พวกเขาพึ่งพาเพื่อความอยู่รอดและเติบโตมาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ของงานเหล่านั้น ผู้ชายเป็นคนตัดสินใจ คีรีบอกว่า ในภาคงานจัดการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาตินั้น พันธสัญญาระดับชาติเพื่อรับรองความเสมอภาคทางเพศต้องเผชิญกับอุปสรรคที่มองไม่เห็น
“ไม่มีใครพูดว่า 'ฉันไม่อยากทำงานด้านความเสมอภาคทางเพศ'” เธอเสริม “พวกเขาพูดว่า 'ใช่ ความเสมอภาคทางเพศสำคัญมาก แต่ไม่มีงบประมาณที่จะทำเรื่องนี้ " ดังนั้น คีรีจึงเริ่มมองหาวิธีที่จะทลายกำแพงที่มองไม่เห็นนั้นลงมา
อันดับแรก เธอตัดสินใจโยนการฝึกอบรมความรู้ด้านเพศสภาวะแบบครั้งเดียวทิ้งไป WAVES กลายเป็นเครือข่ายการเป็นผู้นำและฝึกอบรมยาวสามปี ที่มาพร้อมกับการสนับสนุนด้านเทคนิค การเงิน และจิตสังคม
จากนั้น WAVES ก็นำโมเดลความเป็นผู้นำเชิงสัมพันธ์ (relational leadership model) ซึ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน มาเป็นแรงบันดาลใจในแนวทางการทำงาน โดยความเป็นผู้นำเชิงสัมพันธ์นั้นให้คุณค่าแก่การหลอมรวม การสร้างเสริมพลัง ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น จริยธรรม และการยึดมั่นในกระบวนการ
“การฝึกอบรมเน้นย้ำถึงตัวตนทางด้านเพศสภาวะและการมองเข้าไปข้างในเพื่อสำรวจอคติที่มีอยู่เดิมว่า ความเป็นชายหรือหญิงนั้นมีความหมายอย่างไรในฐานะก้าวแรกสู่การเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
มาร์ดา ทิลล่าห์
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาตนเอง ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ที่จะสำรวจภายในและตรวจสอบอคติของตน จากนั้นพวกเขาได้พิจารณาเงื่อนไขทางสังคมของผู้อื่นและพิจารณาอคติของผู้คนเหล่านั้นว่าเป็นผลมาจากการขัดเกลาทางสังคมอย่างไร การเข้าใจแนวความคิดเหล่านี้ทำให้พวกเขาเปลี่ยนวิธีที่ปฏิบัติต่อผู้อื่น
ผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศไม่ได้เปลี่ยนงานของตัวเอง แต่เปลี่ยนวิธีการทำงาน มันทำให้พวกเขาทำงานที่มีอยู่แล้วหรืองานที่วางแผนไว้ด้วยวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น
การตระหนักรู้ในตนเองกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง
การสัมภาษณ์ติดตามผลสองปีหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกพบว่า ผู้เข้าร่วมทั้งหมดจบหลักสูตรโดยมีมุมมองที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการเป็นผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศที่ดี และพวกเขาก็มีโอกาสนำทฤษฎีและสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงเมื่อกลับไปทำงานที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
ทิลล่าห์ตระหนักว่า การสำรวจภายในตนเองควรถูกนำไปใช้กับองค์กรของเธอด้วย ดังนั้นเธอจึงระดมเพื่อนร่วมงานเพื่อจัดทำนโยบายด้านเพศสภาวะที่ถูกทิ้งมานานหลายปี พวกเขาริเริ่มการตรวจสอบบนมิติทางเพศสภาวะ (gender audit) เพื่อดูว่าเครื่องมือติดตามและประเมินผลของพวกเขามีมุมมองทางเพศสภาพไหม และโปรแกรมของพวกเขามีความระวังไหวในเรื่องเพศสภาวะหรือไม่
“น่าดีใจที่การตรวจสอบพบว่า เรามีความใส่ใจเรื่องเพศสภาวะ” ทิลล่าห์กล่าว “เราได้คะแนนดี แต่ก็มีสิ่งที่ต้องปรับปรุง” และเมื่อเวลาผ่านไป เธอค้นพบว่าการเปลี่ยนวิถีปฏิบัติที่ฝังรากมานานเป็นสิ่งที่ท้าทายเพียงใด อาทิ การที่ผู้นำชายของหมู่บ้านพูดแทนผู้หญิง หรือเยาวชนชายผูกขาดโอกาสการฝึกอบรมในชุมชนพื้นเมือง
การตระหนักรู้นี้กระตุ้นให้ทิลล่าห์และทีมงานทำการร่างแนวนโยบายที่ระบุให้ทีมภาคสนามต้องมีกระบวนกรชายหนึ่งคนและหญิงหนึ่งคน โดยกระบวรกรหญิงจะเป็นผู้นำการอภิปรายกลุ่มเฉพาะของสตรี
“ทีมได้จัดตั้งสหกรณ์เพื่อผู้หญิง สำหรับผู้หญิงในหมู่บ้านที่ถูกปฏิเสธโอกาสในการฝึกอบรม” ทิลล่าห์เล่า “ตอนนี้เรามีหญิงสาวชาวพื้นเมืองเข้าร่วมอย่างแข็งขันในกลุ่มเยาวชนที่เราทำงานอยู่ด้วย พวกเขาริเริ่มทำการเกษตรแบบร่วมกัน ซึ่งพวกเขาจะเก็บผลผลิตร่วมกันร่วมกันเพื่อการบริโภค”
ในทำนองเดียวกัน เมื่อกลับมาถึงเมียนมาร์ ขิ่น เญง คาน มอน (Khin Nyein Khan Mon) ก็ครุ่นคิดว่าเหตุใดการฝึกอบรมจึงเริ่มต้นด้วยความตระหนักรู้ในตนเอง แล้วเธอก็เกิดชั่วขณะ ‘อ๋อ เข้าใจล่ะ’ เช่นกัน
“ผู้หญิงในประเทศและในที่ทำงานของฉันได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม” มอน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของเครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแห่งเมียนมาร์ หรือ Myanmar Environment Rehabilitation-conservation Network กล่าว “เราไม่รู้ เราจึงยอมรับและมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่แท้จริงแล้วมันไม่ปกติ มันไม่ธรรมดา ดังนั้นเราต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะทำงานเพื่อความเท่าเทียมได้อย่างไร"
ทลายกำแพงอุปสรรค
ดีปา โอลี (Deepa Oli) นักพิทักษ์ป่าและผู้ประสานงานกลางของหน่วยพัฒนาด้านเพศสภาวะ ภายใต้กระทรวงป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ประเทศเนปาล กลับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างมาก เธอกลับไปทำงานด้วยความเข้าใจที่มากขึ้นและด้วยความรู้ต่อสิ่งที่เคยเป็นอุปสรรคซึ่งกวนใจเธอมานาน สองปีหลังจากการประชุมสิ้นสุดลง เธอบอกว่า มันสอนเธอให้จัดการกับการเลือกปฏิบัติและอคติอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นแทนการรับมือด้วยความโกรธ
เธอบอกว่า และนั่นก็ทำให้ทุกอย่างแตกต่างไปจากเดิม
"ในวันแรกๆ WAVES สอนวิธีประเมินตนเองถึงบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคมที่ฝังลึกอยู่ในกระบวนการคิดของเรา” โอลีเล่าว่า “เราเรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง รักตัวเอง และโอบกอดตัวเอง มันเป็นสิ่งที่ฉันจะไม่มีวันลืม ฉันประทับใจในเนื้อหานี้มากที่สร้างแรงบันดาลใจให้ฉันทำงาน ฉันมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นฉันจึงเห็นคุณค่าในผู้อื่นด้วย”
โอลียังพูดถึงความเข้าใจของเธอที่มีต่อคำว่า 'กระบวนการขัดเกลาทางสังคม' ซึ่งเธอไม่เคยได้ยินมาก่อน เธอได้ตระหนักว่าถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เธอและนักกิจกรรมเพื่อความเท่าเทียมทางเพศคนอื่นๆ เผชิญก็คือ การอบรมสั่งสอนและกระบวนการขัดเกลาทางสังคมซึ่งผลิตคนที่ต่อต้านความคิดเธอหรือท้าทายเธอ
การตระหนักรู้ในเรื่องใหม่นี้เปลี่ยนวิถีที่เธอมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่กังวลว่าการพูดคุยเรื่องเพศสภาวะจะนำไปสู่การแข่งขันระหว่างชายและหญิง
“ฉันสู้กับอุปสรรค แทนที่จะสู้กับคน” เธอกล่าวถึงคนที่ตั้งคำถามถึงความตั้งใจของเธอในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ “การใจเย็นและหนักแน่นให้มากขึ้นก็คือการจัดการเรื่องเดียวกันในวิธีที่แตกต่าง มันคือการเผชิญหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ เวลาที่ฉันมีปฏิกิริยาโต้ตอบในทันที แรงต่อต้านที่ได้รับกลับมานั้นสูงเกินไป ตอนนี้ฉันสู้ด้วยวิธีที่ไม่เหมือนเดิม และตอนนี้ผู้คนก็ได้ยินว่าฉันกำลังพูดอะไร””
ชุดคำศัพท์นั้นมีความหมาย
นอกจากนี้ โอลียังพูดถึงการเคลื่อนไหวภายในแวดวงป่าไม้ของเนปาลเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียม การล่วงละเมิดทางเพศ และการละเมิดอื่นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเป็นผู้นำสตรี
“เรารู้ว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไปในการสร้างพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี แต่เราไม่มีวิธีที่จะจัดการกับมัน” โอลีกล่าว “WAVES ให้ชุดคำศัพท์ที่อธิบายกระบวนการทั้งหมดแก่เรา ซึ่งช่วยให้วางกรอบการเล่าเรื่องใหม่และหากลยุทธ์ที่จะก้าวต่อไป”
การฝึกอบรมที่มีประเด็นอ่อนไหวในเรื่องเพศสภาวะของกระทรวงป่าไม้และสิ่งแวดล้อมได้นำแนวคิดเรื่องการขัดเกลาทางสังคมมาสู่นักอนุรักษ์ป่าไม้
“เราแสดงให้พวกเขาเห็นว่า วิธีคิดที่แต่ละคนมีไม่ใช่ 'ความผิดของคุณ' หรือ 'ความผิดของฉัน' มันเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมของเรา ตอนนี้ทุกๆ คน ไม่ว่าชายหรือหญิง ต่างก็กำลังฟังและเห็นด้วยกับสิ่งที่เรากำลังพูด”
เธอบอกว่า ขณะนี้เครือข่ายนักพิทักษ์ป่าไม้หญิงในเนปาลมุ่งความสนใจไปยังสิ่งสำคัญสี่ประการ นั่นก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นผู้นำ การสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี การเสริมสร้างความเสมอภาคทางเพศเป็นภารกิจหลัก และการสร้างพันธมิตรกับเพศชายให้มากขึ้น
เครือข่ายนักพิทักษ์ป่าไม้หญิงยังได้เพิ่มเสริมประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศเข้าไปในการฝึกอบรม ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์สเปกตรัมของการล่วงละเมิด เพื่อช่วยให้ผู้คนแยกแยะได้ระหว่างความหยาบคายและการละเมิด นี่คือสิ่งที่ช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลง
“นักพิทักษ์ป่าไม้หญิงเริ่มรายงานกรณีล่วงละเมิดทางเพศ เพราะว่าในที่สุดประวัติศาสตร์ได้เปลี่ยนไปแล้ว” โอลี บอก “นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตัวเอง”
ผู้ชายในฐานะผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศ
“ผู้หญิงทำงานด้านป่าไม้? ผู้หญิงลาดตระเวนในป่า? จริงๆ หรือ!"
มาย กว๋าง ฮุ่ย (Mai Quang Huy) ได้ยินคำวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรมและการล้อเลียนผู้หญิงมากมาย ในขณะที่เขาก้าวขึ้นสู่แหน่งผู้อำนวยการของ Phong Dien Forestry ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและค้าไม้ซุง เรซิน ต้นกล้าป่า และสมุนไพรในเวียดนาม เขารู้สึกมาตลอดว่าอคติของเพื่อนร่วมงานและลูกค้าในเรื่องบทบาทและความรับผิดชอบของผู้หญิงในวงการป่าไม้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
นับตั้งแต่ที่ได้ร่วมงานกับ WAVES ฮุ่ยได้สั่งการให้บริษัทของเขาปฏิบัติตามนโยบายที่มีความอ่อนไหวทางเพศสภาวะ ขจัดการแบ่งแยกเพศของแรงงาน และเพิ่มประเด็นการวิเคราะห์ผ่านมุมมองเพศสภาวะในรายงานประจำปี ปัจจุบันบริษัทของเขากำหนดให้มีผู้หญิงในการประชุมระดับชุมชน โดยมีทั้งชื่อสามีและภรรยาอยู่ในเอกสารสัญญาเดียวกัน
“เพื่อนร่วมงานถามผมว่า ทำไมผมถึงสนใจประเด็นเรื่องเพศสภาวะ และทำไมผมไม่มุ่งไปที่การสอดส่องดูแลการบุกรุกป่าไม้ หรือการป้องกันและควบคุมไฟป่า” ฮุ่ยเล่า “ผมตอบว่า ประเด็นเพศสภาวะเป็นรากปัญหาของเรื่องเหล่านี้ และการแก้ไขปัญหาเรื่องเพศสภาวะก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้”
ในช่วงแรกๆ ของการเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เด ชุน ฮัก (The Chhun Hak) พูดเรื่องสิทธิสตรี วาระการประชุมระดับโลกขององค์การสหประชาชาติและแรงกดดันระดับชาติให้มีการปฏิบัติตามพันธสัญญาสากล จนถึงวันนี้ เขาเป็นอธิบดีของกรมพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศและเศรษฐกิจ ภายใต้กระทรวงกิจการสตรีของกัมพูชา
เขาบอกว่า WAVES สอนให้เขามุ่งสร้างพันธมิตรที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
ผมมีวิธีที่ดีขึ้นในการทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ฮักกล่าว “ผมได้เรียนรู้วิธีสร้างพันธมิตร มันเป็นเรื่องในระยะยาว มันเกี่ยวกับการพาทุกคนไปสู่เป้าหมายที่มีร่วมกัน”
ปลูกจิตสำนึกในคนหนุ่มสาว
การฝึกอบรมความตระหนักรู้ในตนเองเบื้องต้นยังส่งผลอย่างลึกซึ้งกับฮักอีกด้วย โดย WAVES นั้นสอนให้เขาเป็นคนที่ "เปลี่ยนแปลงได้" (transformative) และเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หากคนหนุ่มสาวเรียนรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียมและความเป็นผู้นำก่อนที่จะก้าวมาเป็นผู้นำ
ในปี 2020 ฮักริเริ่มโครงการห้องทดลองผู้นำเยาวชนเพื่อความเสมอภาคทางเพศ หรือ Youth Leadership Lab for Gender Equality ซึ่งมีหัวข้อการตระหนักรู้ในตนเองอยู่ด้วย ปัจจุบันโครงการนี้มีระยะการฝึกอบรมหนึ่งปีเพื่อบ่มเพาะความเป็นผู้นำและความเสมอภาคทางเพศในกลุ่มเยาวชน คนหนุ่มสาวเสนอโครงการเพื่อการวิจัยหรือเสริมสร้างพลังให้ชุมชน และได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อนำไปต่อยอดดำเนินงานจากโครงการนี้
นอกจากนี้ เขายังริเริ่มแคมเปญความเป็นผู้นำภายในกระทรวงกิจการสตรีเพื่อกระตุ้นและเสริมพลังให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย
“มันทำให้กระทรวงนี้ดูมีพลังและชีวิตชีวาขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดคนหนุ่มสาวซึ่งกำลังมองหางานและเลือกทำงานที่นี่ด้วย” เขาเล่า “พวกเขาได้แรงบันดาลใจเพราะเห็นว่าความเสมอภาคทางเพศไม่ได้เป็นเพียงความเข้าใจที่คับแคบว่าเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น หากแต่มันเป็นสิ่งที่กว้างกว่าซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงให้สังคมของพวกเขา”
ส่วนที่อินโดนีเซียนั้น เมื่อทิลลาห์กลับมายังสถาบันของเธอหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ WAVES ครั้งแรก เธอได้นำโปรแกรมใหม่มาให้คนหนุ่มสาวเช่นกัน เธอจัดทำบทเรียนเรื่องการฝึกสติ การเหมารวม และอคติ ในหลักสูตรระยะสั้นสำหรับนักเรียนวนศาสตร์ นักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย และคนหนุ่มสาวในพื้นที่ชนบทห่างไกล
“คำตอบจากผู้เข้าร่วมในระหว่างดำเนินหลักสูตรบ่งชี้ว่า พวกเขามีอคติและการเหมารวมซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกคนเป็นอย่างมาก” เธอกล่าว “พวกเขาให้คุณค่ากับการฝึกอบรมและพื้นที่ซึ่งหลักสูตรมีให้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องความไม่เท่าเทียมบนฐานของเพศสภาวะ”
การสนับสนุนระดับบุคคลช่วยสร้างความมั่นใจ
โครงการ WAVES นั้นครอบคลุมกว้างขวาง โดยมีทั้งการฝึกอบรม ความช่วยเหลือด้านเทคนิค และเงินทุน เป็นเวลาสามปีหรือนานกว่านั้น สำหรับโครงการที่ผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศต้องการทำให้ลุล่วง นอกจากนี้ WAVES ยังก่อตั้งศูนย์ประสานงานกลางในเจ็ดประเทศเพื่อพูดคุยกับผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาแบบกลุ่ม หรือแบบตัวต่อตัว
ระหว่างการรายงานประจำเดือนในที่ประชุมออนไลน์ หากพบว่ามีสิ่งใดที่เกิดขึ้นอย่างเป็นแบบแผน คีรีจะจัดการฝึกอบรมออนไลน์เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้คีรียังเข้าร่วมในการสนทนาแบบกลุ่มและเปิดโอกาสให้ผู้นำแต่ละคนได้พูดคุยกับเธอบ่อยครั้ง
“มันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว” ฮักกล่าว “ถึงไม่ใช่การลงทุนที่มากมาย แต่นับเป็นการสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรา เรามั่นใจมากขึ้นที่รู้ว่ามีคนสนับสนุนอยู่”
คีรียอมรับว่าการสนับสนุนด้านจิตสังคมไม่ได้ถูกใส่มาในการออกแบบโปรแกรม “เราจัดหาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเสียงสะท้อนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เราใส่ใจ” คีรีกล่าว “หากผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศไม่บรรลุเป้าหมายของโครงการ เราจะพูดว่า ‘โอเค เกิดอะไรขึ้น เล่าเรื่องของคุณให้เราฟังนะ’ ในวงรับฟังเสียงสะท้อน เมื่อพวกเขามาร่วมและบอกเล่าเรื่องราว อุปสรรคที่พวกเขาเล่าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเด็นทางเทคนิคเท่านั้น พวกเขาเล่าว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้น พวกเขารู้สึกแตกสลาย พวกเขาพร้อมที่จะลาออก”
ฟองน้ำกลุ่มเล็กๆ รวมกันเป็นคลื่นแห่งอนาคต
หลังจากการฝึกอบรม WAVES ครั้งแรก ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่ามีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แม้สิ่งเล็กๆ ที่สามารถส่งผลกระทบใหญ่ทั้งในตอนนี้และอนาคต
ตัวอย่างเช่น ผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศคนหนึ่งในอินโดนีเซียเปลี่ยนข้อกำหนดที่ว่าสตรีมีครรภ์ไม่สามารถเข้าร่วมการฝึกอบรมได้ ทั้งยังจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวันสำหรับบุตรของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ส่วนผู้นำอีกคนก็ได้บูรณาการประเด็นเพศสภาวะในหลักสูตรวนศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ขณะที่ในกัมพูชา ผู้นำหลายคนมีอิทธิพลต่อแผนและยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านเพศสภาวะ ในเนปาล พวกเขามุ่งบ่มเพาะผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศ 300 คนในสาขาของตนในระยะเวลาสองปีข้างหน้า โดยใช้การฝึกอบรม การสัมมนาออนไลน์ และการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ
สิ่งสำคัญที่สุดอาจเป็นเรื่องที่ว่า WAVES ได้ช่วยสร้างความชอบธรรมในเชิงหลักการให้กับคำว่า “ความเสมอภาคทางเพศ” ก็เป็นได้
“ผู้หญิงในประเทศและในที่ทำงานของฉันได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ด้วยความไม่รู้ เราจึงยอมรับมัน เราคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่แท้จริงแล้วมันไม่ปกติ มันไม่ธรรมดา ดังนั้นเราต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะทำงานเพื่อความเท่าเทียมได้อย่างไร?”
ขิ่น เญง คาน มอน
“มันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนทำได้อีกต่อไปแล้ว” ดิบยา กูรูง (Dibya Gurung) นักประเมินอิสระกล่าวในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ WAVES เมื่อไม่นานมานี้ “มันเคยเป็นวิถีปฏิบัติสำหรับใครก็ได้ที่จะนำเข้าข้อมูลเอกสาร แพล็ตฟอร์ม หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับเพศสภาวะ ขณะนี้องค์กรต่างๆ จะต้องทำให้แน่ใจว่าคนที่จะนำเข้าข้อมูลนั้นมีความรู้หรือประสบการณ์ ความชอบธรรมเช่นนี้ คุณค่าเช่นนี้ กำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ”
คีรีเห็นด้วย
“เมื่อใดก็ตามที่ฉันถามทีมเมียนมาร์ว่า WAVES ช่วยให้พวกเขาบรรลุสิ่งใด พวกเขาตอบว่า 'การยอมรับ' ก่อนหน้านี้ผู้คนพูดกับพวกเขาว่า 'ไม่ ไม่ เพศสภาวะไม่สำคัญ เราทำเรื่องป่าชุมชนก็พอแล้ว' ทุกวันนี้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการสัมมนาออนไลน์ที่พวกเขาจัด เพราะการประเมินบางอย่างที่พวกเขาทำ เพราะการส่งเสียงดัง ผู้คนกำลังได้ยินสารสำคัญ มันมีการเชื่อมต่อกันอยู่”
และคีรีก็เห็นว่า ผู้นำด้านความเสมอภาคทางเพศอย่างมอนนั้นพร้อมแล้ว
“เธอรู้แล้วว่านี่คือจุดยืนของเธอ” คีรีกล่าว “เธอต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับแรงต่อต้าน และเพื่อบูรณาการเรื่องเพศสภาวะภายในป่าชุมชนให้มากขึ้น แต่ขณะนี้เธอตอบว่า 'โอเค มาเลย ฉันรับได้”
###
Weaving Leadership for Gender Equality (WAVES) เพิ่มพูนทักษะความเป็นผู้นำและส่งเสริมศักยภาพของผู้นำในการรณรงค์ความเสมอภาคทางเพศ RECOFTC ดำเนินโครงการ WAVES ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida) ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ WAVES ติดตามดูเพิ่มเติมได้ที่เพจนี้
งานของรีคอฟเกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)