เริ่มเปลี่ยนที่แปลง สู่เปลี่ยนภูมิทัศน์: รวมพลังยกระดับการฟื้นฟูพื้นที่คทช. และชีวิตชุมชนน่าน
หลายปีที่ผ่านมา มีชุมชนจำนวนไม่น้อยในเขตป่าที่ไร้สิทธิ์ในที่ดินทำกิน ประเทศไทยผ่านยุคสมัยของนโยบายจัดสรรที่ดินทำกินเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมมาหลายยุค แม้จะชุมชนจะได้รับการจัดสรรที่ดินไปบ้างแล้ว แต่ชาวบ้านยังคงขาดรายได้ที่มั่นคงท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื้อรัง
จนกระทั่งปีพ.ศ. 2558 ภาครัฐได้ออกนโยบายใหม่เพื่อรับรองสิทธิ์ทำกินของชุมชนในพื้นที่ป่าสงวนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือที่เรียกว่าคทช. นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมให้กลับมามีบริการทางนิเวศ ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพเพื่อคนท้องถิ่น โดยมีเงื่อนไขคือเกษตรกรจะต้องปลูกไม้ยืนต้นหลากหลายตามสัดส่วนที่กำหนดและเหมาะสมกับประเภทที่ดินคทช. กลุ่มที่ตนเองถือครอง นับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ดินกับน้ำ และเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนให้ชุมชนต่อไป
หนึ่งในพื้นที่นำร่องทางนโยบายคทช. ที่สำคัญของประเทศคืออำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ซึ่งมีจำนวนประชากร 15,595 ราย (ข้อมูล ณ ปีพ.ศ. 2566) อำเภอสันติสุขเป็นพื้นที่ภูเขาสูงที่มีป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยแต่ได้เสื่อมโทรมลงไปมากในปัจจุบัน กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่อำเภอจัดเป็นพื้นที่คทช. คิดเป็นพื้นที่ถึง 272,648 ไร่ที่ต้องเร่งชุบชีวิตเพื่อคนและป่า
ถึงแม้ว่าอำเภอสันติสุขรวมถึงจังหวัดน่านจะมีความก้าวหน้าในการออกเอกสารรับรองสิทธิ์ทำกินในที่ดินคทช. ได้ครบทั่วพื้นที่แล้วและภาครัฐได้เปิดโอกาสให้หลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเกษตรกรในการฟื้นฟูที่ดินและพัฒนาอาชีพ แต่ความสำเร็จยังคงจำกัดอยู่ที่ระดับแปลงของเกษตรกรบางรายในพื้นที่ทำงานของแต่ละองค์กร
“การทำงานพัฒนาพื้นที่คทช. ที่ผ่านมาในอำเภอสันติสุขยังขาดการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรและภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าไปทำงานเพื่อกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกันจึงเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อยกระดับการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพในพื้นที่คทช. สู่ระดับภูมิทัศน์ทั่วอำเภอ” วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทย (RECOFTC Thailand) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่คทช. อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ผ่านโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) กล่าว
ผนึกกำลังรัฐ-ประชาสังคม-เอกชน เพื่อยกระดับงานพัฒนาพื้นที่คทช. สู่ระดับภูมิทัศน์
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 รีคอฟ ประเทศไทย ได้จับมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มูลนิธิฮักเมืองน่าน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) วิทยาลัยชุมชนน่าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน และมูลนิธิรักษ์ไทย จัดเวทีขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คทช. อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
ผู้เข้าร่วมเวทีฯ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐซึ่งรวมถึงกรมป่าไม้และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตัวแทนภาคธุรกิจ องค์กรไม่แสวงผลกำไร สถาบันการศึกษา และเกษตรกรในพื้นที่ ได้ร่วมกันหารือเพื่อทบทวนสถานการณ์ ตั้งเป้าหมายในการทำงานร่วมกันแบบครบวงจรการพัฒนาพื้นที่คทช. และจัดตั้งกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่คทช. ในอำเภอสันติสุข โดยได้ข้อสรุปเรื่องเป้าหมายที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันดังนี้
ในด้านการสำรวจและการมอบเอกสารรับรองสิทธิ์การถือครองที่ดินคทช. สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือการจัดสรรประชาชนลงพื้นที่คทช. ตามเอกสารสิทธิ์ให้ครบ และดูแลการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรนี้ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของภาครัฐ
สำหรับด้านการฟื้นฟูที่ดินและการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสม ยังต้องสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นนอกจากยางพาราให้มากขึ้น โดยต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเกษตรกรจะมีรายได้ระหว่างรอต้นไม้ชนิดอื่นโต ให้ความรู้และพัฒนาทักษะของเกษตรกรเกี่ยวกับการปลูกพืชชนิดอื่นมากขึ้น
ด้านการพัฒนาอาชีพทางเลือกและการทำตลาดให้กับเกษตรกรนั้น จะต้องมุ่งเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลผลิตร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ และสิ่งสำคัญคือต้องสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อหาตลาดรับซื้อทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากการรับรองสิทธิ์ในที่ดินทำกินของชุมชนตามแนวทางคทช. การฟื้นฟูพื้นที่โดยการปลูกพืชผสมผสาน การพัฒนาอาชีพและส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนแล้ว การจัดการไฟยังเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของการจัดการภูมิทัศน์พื้นที่คทช. เนื่องจากอำเภอสันติสุขเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดไฟทุกปีทั้งไฟป่าและไฟในพื้นที่เกษตร วงหารือเพื่อการพัฒนาพื้นที่คทช. จึงเชิญโครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐานที่ดำเนินการโดยรีคอฟมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากการแก้ปัญหาไฟในบริบทการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูง
ในปี 2567 จังหวัดน่านตั้งเป้าหมายลดการเกิดไฟให้ได้ร้อยละ 50 ของปี 2566 และการจัดการไฟในพื้นที่คทช. จะมุ่งเน้นไปที่การจัดทำแผนจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน ภายใต้กรอบการจัดการไฟ ได้แก่ การทบทวนสถานการณ์และการจัดการไฟที่ผ่านมา การลดความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม การปฏิบัติเมื่อเกิดไฟ และการฟื้นฟูพื้นที่หลังเกิดไฟ
การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดการไฟและการพัฒนาศักยภาพชุมชนตามความจำเป็นยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงการวิเคราะห์แนวทางการสนับสนุนเทคโนโลยีวิเคราะห์ที่เหมาะสมในการจัดการไฟตามบริบทพื้นที่ นอกจากนี้ ข้อเสนอจากวงหารือกลุ่มย่อยยังให้ความสำคัญกับการปรับทัศนคติความเชื่อเรื่องการใช้ไฟเพื่อเก็บหาของป่า การสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์สำหรับอาสาสมัครดับไฟ และการให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับชุมชนที่จัดการไฟได้ดี
ทำตลาดเพื่อสร้างโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต
ณ เวทีขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คทช. อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ฟื้นฟูภูมิทัศน์และฟื้นฟูชีวิตคนในพื้นที่คทช.” ซึ่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทุกวงการ ทั้งมุมมองระดับนโยบาย มุมมองของผู้ทำงานจริงในพื้นที่ และมุมมองของกลุ่มที่มีความสนใจในภาคป่าไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างภาคธุรกิจ โดยทุกฝ่ายต่างลงความเห็นว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการดึงดูดภาคธุรกิจเข้ามาเพื่อทำตลาดและเพิ่มรายได้จูงใจเกษตรกรไปอีกขั้น คือหนทางสู่ความสำเร็จในการขยายผลการฟื้นฟูภูมิทัศน์และคุณภาพชีวิตในพื้นที่คทช. สู่ระดับภูมิทัศน์
ชลธิศ สุรัสวดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการที่ดิน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กล่าวว่า รัฐบาลเปิดกว้างทางนโยบายมากขึ้นแล้วและจังหวัดน่านมีความพร้อมสูงในการพัฒนาพื้นที่คทช. หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ต้องมองการใช้ประโยชน์พื้นที่คทช. ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการขายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้พื้นที่
เกษตรกรต้องมีความรู้เรื่องเงื่อนไขและประโยชน์ในการปลูกไม้ยืนต้น ทั้งราคาขาย พืชที่ปลูกควบคู่กันไปได้ และการแปรรูป เช่น ปลูกสักและแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นต้น ต้องมีการจัดการและพัฒนาที่ดินอย่างเป็นระบบ เช่น มีการจัดการแหล่งน้ำ จัดสรรพื้นที่ไว้เลี้ยงสัตว์และปลา ปลูกสมุนไพร ทั้งนี้ภาครัฐจะช่วยหาเงินทุน ลดภาษี และสร้างมาตรการทางการเงินที่เอื้อให้คนในพื้นที่คทช.
ศักดา มณีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินกรมป่าไม้ ในฐานะตัวแทนจากหน่วยงานที่ออกแบบนโยบายและพิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินคทช. ได้เน้นความสำคัญของการเคลื่อนงานต่อภายใต้ระเบียบและกฎหมาย ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้พยายามปลดล็อคเงื่อนไขทางกฎหมายเพื่อเอื้อเกษตรกรและสร้างกรอบที่ยืดหยุ่นสำหรับปรับใช้ในพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังต้องพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจจากการปลูกพืชตามเงื่อนไขการใช้ที่ดินต่อไป โดยเน้นการสร้างเอกลักษณ์และการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง อำเภอสันติสุขยังต้องการมืออาชีพอย่างธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับความสามารถและพืชของเกษตรกรมาช่วยส่งเสริมด้านการตลาด เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพและหาตลาดที่จะออกไปจำหน่วย สิ่งสำคัญคือนักธุรกิจต้องมีความยุติธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเกษตรกร
สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับชุมชน
สำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการฟื้นฟูและจัดการที่ดิน ให้ความสำคัญกับความเข้าใจของชุมชนเกี่ยวกับกฎหมายและเงื่อนไขการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูที่ดินคทช. ในกลุ่มต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีเงื่อนไขและรายละเอียดปลีกย่อยที่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจไม่เต็มที่
นอกจากนี้ ยังควรมีการจัดการและถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยรวมถึงเทคโนโลยีเพื่อช่วยชุมชนจัดการพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำในพื้นที่สูง ผังการจัดการที่ดินที่เหมาะสม และวิธีการเร่งฟื้นฟูหน้าดินในพื้นที่ที่ไม่มีวัสดุเหลือทางการเกษตรโดยเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Regenerative agriculture) เช่น การทำปศุสัตว์ที่มีมูลสัตว์ การปลูกพืชที่ช่วยฟื้นฟูดินได้เร็ว เป็นต้น ต้องมีการส่งเสริมการคิดแบบตลาดนำและช่วยให้ชุมชนได้ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ นอกจากนี้ในสังคมสูงวัย การถ่ายโอนความรู้ให้คนรุ่นต่อไปและการศึกษาที่ช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ผ่านการปฏิบัติเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
คมวิทย์ บุญธำรงกิจ อุปนายกสมาคมธุรกิจค้าไม้และผู้บริหารบริษัทชาเลต์ฟอเรสต์ไทยแลนด์ ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนการใช้ไม้และค้าไม้ถูกกฎหมาย ได้ให้ความเห็นว่าภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญมากในการร่วมฟื้นฟูพื้นที่กับชุมชน ปัจจุบันจังหวัดน่านยังต้องการบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาสนับสนุนชุมชน ในขณะเดียวกันเกษตรกรรมในพื้นที่ก็ควรตอบโจทย์ความต้องการตามกระแสยุคใหม่ในด้านความรักษ์โลกและสุขภาพ รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดตลาด ถึงแม้ว่าการพัฒนาพื้นที่คทช. จะต้องมองในระดับภูมิทัศน์และประโยชน์ระยะยาว เราจะต้องไม่ทิ้งรายได้และผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชุมชน
ดร. วุฒิกร สระแก้ว อาจารย์สาขาสัตวศาสตร์และประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน เน้นย้ำการให้ความสำคัญกับทั้งป่าและชุมชน โดยควรส่งเสริมปศุสัตว์เป็นแนวทางช่วยเรื่องปากท้องของประชาชนและสร้างผลดีต่อพื้นที่ป่าไปพร้อมกัน ชุมชนควรได้รับความรู้เพิ่มเติมเรื่องปศุสัตว์ ควรดัดแปลงนวัตกรรมปศุสัตว์สำหรับที่ราบให้เหมาะกับบริบทพื้นที่สูง และส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรต่อไปเพื่อพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน โดยการสร้างเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการลดคาร์บอนและความรักษ์โลกจะเป็นกุญแจสู่การทำตลาด
บูรณาการความร่วมมือสู่ความสำเร็จระดับภูมิทัศน์
วรางคณา ได้กล่าวปิดท้ายวงเสวนาว่า “จากการหารือเพื่อทบทวนสถานการณ์และตั้งเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน มาจนถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนา เชื่อว่าการขยายผลการพัฒนาพื้นที่คทช. จากระดับแปลงสู่ระดับภูมิทัศน์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันตามความเชี่ยวชาญของตนเอง เลือกใช้แนวทางที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และดำเนินการพัฒนาพื้นที่คทช. โดยมองงานให้ครบตลอดทั้งวงจรตั้งแต่เริ่มปลูกพืชจนถึงการทำตลาด โดยมีภาคธุรกิจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ”
ทั้งนี้ รีคอฟ ประเทศไทย และองค์กรภาคีเครือข่ายจะร่วมกันออกแบบแผนการทำงานเพื่อสร้างภูมิทัศน์ที่สมบูรณ์และชีวิตที่มั่นคงในอำเภอสันติสุขต่อไป โดยมูลนิธิฮักเมืองน่านจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในกลไกความร่วมมือ
นิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ซึ่งเข้าร่วมเวทีขับเคลื่อนการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คทช. อำเภอสันติสุข ด้วยได้แสดงความคาดหวังว่า “การริเริ่มความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่คทช. ในพื้นที่อำเภอสันติสุขนี้ จะช่วยกำหนดทิศทางในการทำงานและเร่งขยายผลภารกิจหลักของจังหวัดน่านในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน และการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มั่นคง โดยจังหวัดน่านยินดีเป็นหนึ่งในแกนหลักของกลไกการทำงานดังกล่าว”
###
นิชนันท์ ตันฑพงศ์ เป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารประจำรีคอฟ ประเทศไทย (RECOFTC Thailand)
โครงการจัดการไฟโดยชุมชนเป็นฐาน (Community-based Fire Management หรือ CBFiM) ในเอเชีย เกิดขึ้นได้ด้วยข้อตกลงความร่วมมือห้าปีระหว่างโครงการระหว่างประเทศของกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และ RECOFTC โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจําภาคพื้นอินโดแปซิฟิก (United States Indo-Pacific Command หรือ USINDOPACOM) ของกระทรวงกลาโหม รวมถึงเงินทุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และโครงการระหว่างประเทศของกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ
โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) ได้รับทุนสนับสนุนจาก Global EbA Fund และ Wyss Academy for Nature
งานของรีคอฟ (RECOFTC) เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนของ Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) และ Government of Sweden