RECOFTC

Languages

ปลูก ดูแล ติดตาม เพื่อเปลี่ยนแปลง: “ต้นไม้ของเรา” ภารกิจเร่งด่วนสู่ความยั่งยืน

16 January 2024
Nitchanun Tantapong
โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) กำลังจะครบรอบการดำเนินงานในปีที่ 2 ด้วยจำนวนต้นไม้ที่ปลูกแล้ว 12,532 ต้นโดยเกษตรกรที่ทำสัญญาบันทึกข้อตกลงกับโครงการแล้ว 97 ราย พร้อมเดินหน้าระดมทุนให้ถึงเป้าหมาย 2,200,000 บาทภายในปี 2567 เพราะภารกิจปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรและฟื้นฟูป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่รอไม่ได้
Talk of the Forest
โครงการต้นไม้ของเราจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้และสาธิตระบบติดตามต้นไม้ในแปลงปลูกของเกษตรกรที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่านในเดือนสิงหาคม 2566

ปัญหาของโครงการปลูกต้นไม้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ตายเพราะไม่มีคนดูแล วัดความสำเร็จไม่ได้ หรือขาดความโปร่งใส อาจทำให้หลายคนลังเลที่จะสนับสนุน แต่การปลูกและติดตาม ต้นไม้ของเรากำลังเปลี่ยนแปลงการระดมทุนปลูกต้นไม้ให้โปร่งใสและเกิดผลดีอย่างยั่งยืน ปลุกความเชื่อมั่นในการสนับสนุนทั้งสำหรับบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ 

ด้วยยอดบริจาคทางเว็บไซต์ระดมทุนเทใจดอทคอมที่พุ่งจาก 400,000 กว่าบาทในฤดูฝนปี 2565 สู่ยอดกว่า 1,200,000 บาทในฤดูฝนปี 2566 เกษตรกรจึงสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มได้กว่า 8,000 ต้น ทำให้ขณะนี้มีต้นไม้ที่ปลูกภายใต้โครงการต้นไม้ของเราทั้งหมด 12,532 ต้นในพื้นที่ดำเนินโครงการที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน

จากการเก็บข้อมูลการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกในฤดูฝนปี 2565 จำนวน 4,200 ต้น พบว่าต้นไม้รอดตายถึงร้อยละ 94.30 นับเป็นหลักฐานความเปลี่ยนแปลงสำคัญ จากกิจกรรมปลูกต้นไม้ทั่วไปที่มักจบด้วยการถ่ายรูปที่ระลึกและผู้เข้าร่วมแยกย้ายกันกลับบ้านโดยไม่สามารถดูแลและติดตามต่อได้ว่าต้นไม้รอดหรือไม่ สู่การปลูกต้นไม้ที่มีเกษตรกรคอยดูแลและรายงานผลให้ผู้บริจาคเงิน ด้วยความหวังว่าต้นไม้จะเติบโตมาสร้างผลดีด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง 

ณ เดือนมกราคม 2567 โครงการดำเนินการเก็บข้อมูลการเติบโตและอัตราการรอดตายของต้นไม้ที่ปลูกในปีที่ผ่านมาใกล้เสร็จแล้ว เพื่อจะรายงานผลการปลูกต้นไม้ช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ปลูกและดูแล: จุดประกายความเปลี่ยนแปลง ด้วยการตอบโจทย์เกษตรกร

อธิวัฒน์ สุธรรม เกษตรกรที่ควบบทบาทรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข ชี้ว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงจะต้องสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่ติดอยู่ในวงจรการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพราะขาดแคลนเงินทุนในการปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร ความสามารถของเกษตรกรในการปลูกและดูแลต้นไม้ไม่เป็นรองใคร แต่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรเริ่มปลูกต้นไม้และมีความมั่นใจว่าเมื่อปลูกแล้วจะช่วยเขา ช่วยสังคม และช่วยโลกได้ การปลูกต้นไม้แบบเดิมยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องหากลไกที่เหมาะสม

โครงการต้นไม้ของเราได้พัฒนากลไกการเงินเพื่อป่าและคนที่ดูแลป่า เพื่อเชื่อมคนปลายน้ำที่มีเงินทุนและต้องการบริจาคเงินดูแลสิ่งแวดล้อมกับเกษตรกรต้นน้ำที่มีพื้นที่และศักยภาพในการปลูกและดูแลต้นไม้ โดยมีระบบที่สามารถระบุตำแหน่งของต้นไม้ ติดตามการเติบโต และรายงานผลการปลูกต้นไม้ผ่านเว็บไซต์ trees4allthailand.org เป็นกุญแจสู่ความเปลี่ยนแปลง เว็บไซต์ดังกล่าวเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566

เราจะต้องตอบได้ว่าต้นไม้ที่ปลูกนั้นโตอยู่ที่ไหนและเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาไม่มีใครตอบได้เลย ดังนั้น เราต้องปลูกและดูแลพร้อมติดตาม อธิวัฒน์กล่าวที่เวทีแนะนำการทำงานและสาธิตการใช้ระบบติดตามต้นไม้ของเราที่แปลงของเกษตรกรในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน วันที่ 5 สิงหาคม 2566

อธิวัฒน์ สุธรรม ตัวแทนเกษตรกรหวังว่ากลไกการเงินจากโครงการต้นไม้ของเราจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรได้
อธิวัฒน์ สุธรรม ตัวแทนเกษตรกรหวังว่ากลไกการเงินจากโครงการต้นไม้ของเราจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรได้

ดร. สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่าจากกรมป่าไม้แสดงความเห็นว่าโครงการปลูกต้นไม้ส่วนใหญ่จะใช้ขนาดของพื้นที่ปลูกต้นไม้เป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จ แต่โครงการต้นไม้ของเราเลือกใช้จำนวนต้นไม้ต่อไร่เป็นตัวชี้วัด การมองความสำเร็จจากจำนวนต้นไม้ที่รอดและเติบโตได้เป็นหลักนี้เป็นแนวคิดใหม่ที่ควรส่งเสริม เพราะทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โปร่งใส และยังช่วยให้เกษตรกรมีบทบาทในการปลูก ติดตาม และรับประโยชน์โดยตรง

ติดตาม: ตอบโจทย์ภาคเอกชนและจูงใจสาธารณชน ให้ร่วมสนับสนุนความเปลี่ยนแปลง

ระบบที่ช่วยให้เกษตรกรรายงานการปลูกต้นไม้ให้ผู้บริจาคเป็นหลักประกันที่ทำให้ทุกคนเห็นว่ามีการนำเงินบริจาคไปปลูกต้นไม้จริง และเมื่อผู้บริจาคสามารถติดตามต้นไม้ได้ จะเกิดแรงผลักดันต่อไปให้เกษตรกรดูแลต้นไม้จนเติบโตขึ้นมาสร้างประโยชน์ และความสำเร็จนี้เองจะสร้างแรงจูงใจในวงกว้างขึ้น ให้บุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจเห็นคุณค่าของการปลูกต้นไม้และเข้ามาบริจาคเงินสนับสนุนการปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีทุนในการปลูกต้นไม้เพิ่มต่อไป 

สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการ ChangeFusion ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ระดมทุนเทใจดอทคอม กล่าวว่า โครงการต้นไม้ของเราเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าต่างคนต่างทำ กลไกนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหลายส่วนที่มีทักษะและความชำนาญต่างกัน ซึ่งการสร้างความร่วมมือในลักษณะนี้คือเทรนด์ของโลก”

ทั้ง RECOFTC (รีคอฟ) องค์กรภาคีเครือข่าย เกษตรกร และผู้บริจาคทุกคนล้วนเป็นพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โครงการนี้ไม่ใช่เพียงการระดมทุนออนไลน์ แต่ระบบติดตามต้นไม้ trees4allthailand.org กำลังค่อยๆ สร้างกลุ่มคนที่มีความสนใจอย่างต่อเนื่องในการดูแลและฟื้นฟูธรรมชาติ

พุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) ที่ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างช้อปปี้และการีนา แบ่งปันมุมมองในฐานะองค์กรที่ร่วมบริจาคเงินปลูกต้นไม้ว่า ภาคธุรกิจถือเป็นพลเมืองทางสังคมเช่นกันและควรใส่ใจความยั่งยืน โครงการตอบโจทย์ภาคเอกชนคือการปลูกต้นไม้แบบวัดผลได้ ซึ่งมีความยั่งยืนและช่วยรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง

เชื่อว่าผู้บริโภคในปัจจุบันให้คุณค่ากับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การร่วมสนับสนุนครั้งนี้อาจช่วยให้ลูกค้าของบริษัทรู้จักโครงการมากขึ้น มีความเชื่อมั่นจากระบบติดตามที่แสดงผลเป็นตัวเลขรูปธรรม เช่น จำนวนต้นไม้ที่ปลูก การคาดการณ์ปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้จะสามารถดูดซับได้เมื่อเติบโต สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มีคนร่วมสนับสนุนมากขึ้นและเกิดการขยายผลต่อพุทธวรรณกล่าว

ชณัฐ วุฒิวิกัยการ แห่งเพจเฟสบุ๊กและติ๊กต็อก KongGreenGreen ครีเอเตอร์สายสิ่งแวดล้อมชื่อดังเป็นอีกหนึ่งผู้บริจาคเงินสนับสนุนโครงการ ในฐานะสื่อที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ชณัฐอยากเสริมสร้างความตระหนักในปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ส่งผลกับชีวิตประจำวันของทุกคน และอยากสร้างความเข้าใจว่ายังมีวิธีดูแลสิ่งแวดล้อมที่คนทั่วไปสามารถทำได้ง่าย แต่วิธีการดังกล่าวซึ่งรวมถึงการปลูกต้นไม้นั้นจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ทาง KongGreenGreen จึงร่วมเป็นกระบอกเสียงเชิญชวนทุกคนมาติดตามผลการปลูกต้นไม้กับโครงการ

แนวคิดของโครงการต้นไม้ของเราตอบข้อสงสัยของเราได้หลายอย่าง เราไม่ได้ไปปลูกเพียงเพื่อเป็นกิจกรรม แต่มีการคัดเลือกพันธุ์ไม้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกต้นไม้อย่างเกษตรกรพร้อมคอยดูแลให้ต้นไม้เติบโต เราสามารถดูได้ว่าเกษตรกรคนไหนดูแลต้นไม้และติดตามผลได้อย่างง่ายดายผ่านเว็บไซต์ ได้เห็นภาพมุมสูงเป็นแผนที่ต้นไม้ที่ปลูก นับเป็นต้นแบบที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคนเมืองที่ไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้แต่อยากมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ 

ชณัฐ วุฒิวิกัยการ หรือ KongGreenGreen ดูวิธีการเช็คพิกัดต้นไม้ร่วมกับเกษตรกร

เทใจบริจาคได้ทันที

หลังชณัฐประกาศบริจาคเงินปลูกต้นไม้ในเพจเฟสบุ๊ก KongGreenGreen ได้มีผู้ติดตามเข้ามาแสดงความสนใจหลายราย บางส่วนแปะสลิปโอนเงินเข้าโครงการต้นไม้ของเราผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอมให้ชณัฐดูในคอมเมนต์ว่าร่วมบริจาคเงินสนับสนุนแล้ว นับเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจได้อย่างรวดเร็วแม้ไม่สะดวกออกจากบ้านไปปลูกต้นไม้เอง

พุทธวรรณเน้นความสำคัญของการเริ่มลงมือทำทันทีเริ่มแรกอยากให้ปรับวิธีคิดว่าการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่วาระพิเศษ แต่เป็นวาระเร่งด่วน ถ้าเราช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยอย่างต่อเนื่อง เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ บางคนมองว่าการปลูกต้นไม้เป็นเรื่องลำบากเพราะต้องเดินทางไปพื้นที่ หรือผู้ที่เคยลองเข้าร่วมกิจกรรมอาจเห็นว่าไม่ยั่งยืน แต่โครงการต้นไม้ของเราช่วยเปลี่ยนแปลงการปลูกต้นไม้ให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และยั่งยืนขึ้น เพียงเข้าไปในเว็บไซต์ก็บริจาคได้เลย จากนั้นเกษตรกรจะช่วยปลูกและดูแลต้นไม้ให้อย่างต่อเนื่อง เราจึงเราสามารถลงมือทำได้ทันทีโดยการบริจาค

บริษัท Sea (ประเทศไทย) ร่วมปลูกต้นไม้ในฤดูฝน 2566 และสนใจตามไปชมการติดตามต้นไม้ถึงแปลงที่น่าน
บริษัท Sea (ประเทศไทย) ร่วมปลูกต้นไม้ในฤดูฝน 2566 และสนใจตามไปชมการติดตามต้นไม้ถึงแปลงที่น่าน

กลไกการเงินนี้กำลังช่วยให้ผืนดินที่เคยพังทลายจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชไร่เชิงเดี่ยวเริ่มมีกล้าไม้ยืนต้นหลากหลายชนิดเติบโตขึ้นมา ในวันที่กล้าไม้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ เกษตรกรจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและใช้ประโยชน์ต่อไปได้ แต่ขณะนี้เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงในหมู่เกษตรกรแล้วจากการร่วมปลูกและดูแลต้นไม้กับโครงการและการพัฒนาศักยภาพในการติดตามการเติบโตของต้นไม้

วรารัตน์ วุฒิ เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 27 ปีและหนึ่งในสมาชิกทีมเก็บข้อมูลการเติบโตของต้นไม้เล่าว่าเงินอุดหนุนจากโครงการช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกและดูแลต้นไม้ จากจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 33 รายในปี 2565 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่ม 64 รายในปี 2566 ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรถึง 97 รายแล้ว

มองย้อนกลับไปในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มดำเนินโครงการ เกษตรกรได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างการใช้เครื่องมือติดตามการเติบโตของต้นไม้เพื่อรายงานผลให้ผู้บริจาค เช่น การใช้ GPS เพื่อระบุตำแหน่งสำหรับติดตามต้นไม้แต่ละต้น การวัดความสูงและความเติบโตของต้นไม้ และการบันทึกข้อมูลต้นไม้เข้าสู่แอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน Trees4All จนเกิดเป็นทีมเก็บข้อมูลต้นไม้ของโครงการในระดับอำเภอ และทีมนี้ได้กลายเป็นทีมพี่เลี้ยงช่วยสอนวิธีติดตามการเติบโตของต้นไม้ให้เกษตรกรที่สมัครเข้าโครงการใหม่ในปี 2566

ปัจจุบันเกษตรกรในโครงการส่วนมากเริ่มมีความคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือมากขึ้นแล้ว โดยเกษตรกรประมาณร้อยละ 80 เริ่มใช้อุปกรณ์เป็นและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพต่อไปอย่างสม่ำเสมอ ฝั่งเกษตรกรตั้งเป้าหมายว่าแต่ละตำบลจะตั้งทีมเก็บข้อมูลของตนเอง โดยให้มีเยาวชนในทีมเพื่อช่วยเกษตรกรสูงวัยในการใช้เทคโนโลยี 

วรารัตน์ วุฒิ และอาภาภรณ์ ทองเสงี่ยม ผู้ประสานงานโครงการต้นไม้ของเรา รีคอฟ ประเทศไทย นำทีมเกษตรกรสาธิตการติดตามต้นไม้ในแปลงปลูก
วรารัตน์ วุฒิ และอาภาภรณ์ ทองเสงี่ยม ผู้ประสานงานโครงการต้นไม้ของเรา RECOFTC ประเทศไทย นำทีมเกษตรกรสาธิตการติดตามต้นไม้ในแปลงปลูก

ขณะนี้อุณหภูมิทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น มีการตั้งเป้าหมายหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา ภารกิจนี้จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของทุกคน พวกเราทุกคนต้องพึ่งพิงระบบนิเวศและพึ่งพาอาศัยกัน การยื่นมือเข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกและดูแลต้นไม้พร้อมติดตามผลนั้นจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ทุกคนจะเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ที่รอช้าไม่ได้ วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการ RECOFTC ประเทศไทยกล่าว

สู่ความยั่งยืน: มองไกลเกิน 3 ปีในการทำโครงการ มองกว้างกว่าคาร์บอนเครดิต

วรางคณาย้ำความสำคัญของการร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถทำงานได้ในระยะยาวและนำไปสู่ความยั่งยืน พื้นที่ในประเทศไทยล้วนมีผู้จับจองหรือใช้อยู่แล้วรวมถึงคนในท้องถิ่น เราจึงต้องทำงานกับชุมชน ให้พวกเขาร่วมตัดสินใจว่าทำอย่างไรชุมชนจะสามารถอยู่ได้และฟื้นฟูป่าไปด้วย ไม่ใช่ฟื้นฟูป่าแล้วคนในท้องถิ่นต้องย้ายออกไปและไม่สามารถทำกินในพื้นที่ต่อได้ เราจึงพยายามติดอาวุธและเตรียมความพร้อมให้ชุมชนได้รัประโยชน์จากการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกเรา 

วรางคณาอธิบายต่อว่าระยะเวลา 3 ปีแรกถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและตั้งไข่ เป็นทั้งระยะเวลาขั้นต่ำในการดูแลต้นไม้ให้รอดตายและช่วงเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับผู้บริจาคและเกษตรกร เมื่อจูงใจคนในพื้นที่ได้แล้ว ยังต้องมีระยะพี่เลี้ยงเพื่อให้เติบโตไปด้วยกัน ตั้งเป้าหมายว่าเมื่อชุมชนได้เรียนรู้และมีความพร้อมมากขึ้น ชุมชนจะสามารถยืนได้ด้วยตนเองหลังจบระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา ชุมชนสามารถจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นไม้ของเราเพื่อเป็นกลุ่มส่งเสริมงานในพื้นที่ได้แล้ว

ก่อนหน้านี้มักเกิดคำถามว่ารับบริจาคมาแล้วนำเงินไปทำอะไร ติดตามผลได้หรือไม่ RECOFTC จึงติดเครื่องมือให้ชุมชนอย่างระบบติดตามและรายงานผลการปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความโปร่งใส เราจะพัฒนาศักยภาพชุมชนต่อไปและเตรียมแผนหลังระยะเวลา 3 ปีไว้ แม้ในอนาคตจะไม่มี RECOFTC เป็นผู้บริหารโครงการ ทางชุมชนก็สามารถเป็นผู้บริหารหลักและลงมือทำเองได้ เพราะว่าจะสามารถอัปเดตข้อมูลให้ผู้บริจาคเงินปลูกต้นไม้ดูเองได้แล้วใน trees4allthailand.org”

เกษตรกร เจนจิรา คำนาน วัดการเติบโตของต้นไม้
เกษตรกร เจนจิรา คำนาน วัดการเติบโตของต้นไม้

การระดมทุนเพื่อปลูกและดูแลต้นไม้เป็นกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนปรับลดการปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวและหันมาปลูกพืชหลากหลายชนิดขึ้น แต่เป้าหมายหลักที่แท้จริงอยู่ที่ประโยชน์ระยะยาวที่เกษตรกร ระบบนิเวศ และเราทุกคนจะได้รับจากต้นไม้

การฟื้นฟูป่าไม่ใช่ปลูกต้นไม้อะไรก็ได้ เราเลือกปลูกไม้พื้นถิ่นที่สามารถโตได้ในพื้นที่และสอดคล้องกับวิถีท้องถิ่นของเรา อย่างยางนาเมื่อโตจะมีเชื้อเห็ด ใบร่วงเป็นปุ๋ยในพื้นที่และเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านด้วย ต้นไม้ของเราจะอยู่ได้ยาว ไม่ใช่เฉพาะช่วงเวลาสามปีของโครงการ เราปลูกเพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน วรารัตน์ ยกตัวอย่างประโยชน์จากการปลูกต้นไม้

ถ้าเราสามารถทำให้กลไกนี้มีความยั่งยืนได้สำเร็จ การจัดการพันธุ์ไม้ก็สามารถเป็นอาชีพ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงธุรกิจในประเทศไทย เราสามารถสร้างธุรกิจหมุนเวียนเพราะไม้เป็นสิ่งที่หมุนเวียนได้ และสุดท้ายป่าไม้จะกลายเป็นแหล่งผลิต วรางคณาเอ่ยถึงความคาดหวังในระยะยาว

ขณะนี้โครงการกำลังดำเนินการต่อยอดด้านอาชีพของเกษตรกรเพื่อเพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้ระหว่างรอต้นไม้เติบโต กลุ่มเกษตรกรกำลังเตรียมการทดลองเลี้ยงผึ้งและชันโรงในแปลงปลูกเป็นรายได้เสริม 

อีกหนึ่งประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ที่เป็นที่พูดถึงมากในปัจจุบันคือการทำคาร์บอนเครดิต อย่างไรก็ตาม โครงการต้นไม้ของเราเสนอให้มองมากกว่าเรื่องคาร์บอน 

ผศ.ดร. สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้มีส่วนร่วมออกแบบโครงการต้นไม้ของเรา กล่าวว่า โครงการนี้ให้ความสำคัญกับ “นิเวศบริการ” ซึ่งหมายถึงประโยชน์ที่ได้จากต้นไม้และการปลูกป่า เช่น การตัดไม้ไปใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ มีของป่าให้ชาวบ้านเก็บไปกินหรือขาย การอนุรักษ์ดินและน้ำ ลดฝุ่นควัน เป็นต้น มองความยั่งยืนของชุมชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นความสำเร็จ 

“การปลูกป่าช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนได้จริง และเราต้องตามว่าปลูกต้นไม้แล้วจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไหร่ แต่อาจไม่ได้นำไปสู่การทำคาร์บอนเครดิตตามที่หลายโครงการเน้นเสมอไป เพราะการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่ามีขั้นตอนที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง โครงการต้นไม้ของเราจึงมองคาร์บอนเครดิตเป็นผลพลอยได้และเสนอว่าควรประเมินประโยชน์ของการปลูกป่าในมิติอื่นๆ ด้วย”

ระวี ถาวร ผู้ประสานงานวิจัยและพัฒนาศักยภาพ RECOFTC ประเทศไทย ย้ำความยั่งยืนจากการคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพในการปลูกต้นไม้แทนการมุ่งปลูกเพื่อคาร์บอนเท่านั้น

ถ้าเรามองเรื่องคาร์บอนอย่างเดียว เราอาจจะปลูกพืชชนิดเดียว เราต้องสื่อสารกันใหม่ว่าเวลาปลูกต้นไม้ต้องสนใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศด้วย ระบบนิเวศที่ฟื้นขึ้นมาจะให้น้ำและทำให้เรามีกินมีใช้ นี่คือความยั่งยืนที่พวกเราอยากเห็น

เวทีเปิดตัว trees4allthailand.org เสนอจุดยืนของโครงการที่มองที่นิเวศบริการและประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ในภาพรวม
เวทีเปิดตัว trees4allthailand.org เสนอจุดยืนของโครงการที่มองที่นิเวศบริการและประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ในหลายมิติ

ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการมีผู้บริจาคเงินสนับสนุนแล้วกว่า 1,600 ราย ยอดรวมกว่า 1,500,000 บาทจากเป้าหมาย 2,200,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มกราคม 2567) ทุกคนสามารถช่วยเกษตรกรปลูกและดูแลต้นไม้ของเรา โดยบริจาคเงินได้ทันทีผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอมและติดตามผลการปลูกต้นไม้ทาง trees4allthailand.org 

###

บทความนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Global EbA Fund และ Wyss Academy for Nature เนื้อหาในบทความนี้เป็นความรับผิดชอบของ RECOFTC และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของ Global EbA Fund และ Wyss Academy for Nature 

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) และดาวน์โหลดเอกสารแนะนำโครงการได้ที่ www.recoftc.org/thailand/projects/trees4all/about/trees4all

งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนของ Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) และ Swedish International Development Cooperation Agency (SIDA)