โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) เปิดตัว “ระบบติดตามต้นไม้ของเรา” สะพานเชื่อมเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้กับผู้อุปถัมภ์ต้นไม้
รีคอฟ ประเทศไทย เปิดตัวเว็บไซต์ trees4allthailand.org ช่องทางติดตามผลการปลูกต้นไม้เพื่อผู้บริจาคเงินในโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) สร้างความมั่นใจว่าเงินทุกบาทถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้และช่วยฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำได้จริง
โครงการต้นไม้ของเรา เป็นโครงการระดมทุนปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรใช้ปลูกและดูแลต้นไม้ในที่ทำกินของตัวเอง เพื่อชุบชีวิตผืนดินที่เสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวด้วยไม้ยืนต้นพันธุ์พื้นถิ่น ต้นไม้เหล่านี้ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ แต่ยังสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้หลายทางอีกด้วย
นับจากเปิดระดมทุนทางเว็บไซต์เทใจดอทคอมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงขณะนี้มีบุคคล บริษัทและองค์กรต่างๆ บริจาคเงินเข้ามาแล้วกว่า 7.5 แสนบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2566) โดยเงินบริจาค 100 บาท ช่วยให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ได้ 1 ต้น ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 33 ราย ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 4,000 ต้น โครงการตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ 2.2 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ยอดเงินบริจาคและจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเป็นเป้าหมายสำคัญก็จริง แต่หัวใจของโครงการ Trees4All คือกลไกการเงินที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เงินถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ และผู้บริจาคติดตามการเติบโตของต้นไม้ที่อุปถัมภ์ได้
รีคอฟ ประเทศไทย และองค์กรภาคี ได้แก่ สถาบัน ChangeFusion คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกลุ่มรักษ์สันติสุข จังหวัดน่าน จึงริเริ่ม “ระบบติดตามต้นไม้ของเรา” ขึ้นมาและร่วมพัฒนาระบบกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ผู้บริจาคสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลของต้นไม้ที่อุปถัมภ์ได้ทางเว็บไซต์ trees4allthailand.org
รวมข้อมูลที่ผู้อุปถัมภ์ต้นไม้อยากรู้
อาภาภรณ์ ทองเสงี่ยม ผู้ประสานงานโครงการต้นไม้ของเรา อธิบายในงานเปิดตัว trees4allthailand.org เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ว่าโจทย์ที่ใช้ในการออกแบบและพัฒนาระบบติดตามต้นไม้ของเราคือ “ง่ายสำหรับเกษตรกรผู้รายงานข้อมูลต้นไม้” และ “ง่ายสำหรับผู้บริจาคในการเข้าถึงข้อมูลของต้นไม้ที่อุปถัมภ์”
ฝั่งของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้นำข้อมูลเข้าสู่ระบบ จะได้รับการพัฒนาทักษะในการเก็บข้อมูลการเติบโตของต้นไม้ตามหลักวิทยาศาสตร์ และทักษะในการบันทึกข้อมูลและภาพถ่ายผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต ข้อมูลเหล่านี้จะแสดงผลบนเว็บไซต์ trees4allthailand.org โดยเกษตรกรจะรายงานผลการปลูกต้นไม้ทุก 6 เดือน ตลอดระยะเวลา 3 ปีของโครงการต่อจากนี้
สำหรับผู้อุปถัมภ์ต้นไม้ ระบบจะส่งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านสำหรับล็อกอินเข้าสู่ trees4allthailand.org ไปยังอีเมลที่ใช้บริจาคเงินในเว็บไซต์เทใจดอทคอม เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคและต้นไม้ที่อุปถัมภ์ เช่น
- จำนวนเงินที่บริจาคและจำนวนต้นไม้ที่ปลูกจากเงินบริจาคนั้น (100 บาทต่อ 1 ต้น)
- พิกัดทางภูมิศาสตร์ของต้นไม้แต่ละต้น
- ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงตำแหน่งของต้นไม้ที่ปลูกและพื้นที่โดยรอบ
- ข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ เช่น ชนิด ชื่อเกษตรกรผู้ปลูก ความสูง เส้นรอบวง พร้อมภาพถ่ายต้นไม้
- ต้นไม้ที่ปลูกทั้งหมดคิดเป็นพื้นที่รวมกี่ไร่
- คะแนนสุขภาพของต้นไม้ 0-3 คะแนน (3 คะแนน - ต้นไม้สมบูรณ์, 2 คะแนน - ต้นไม้สมบูรณ์บาง ส่วน, 1 คะแนน - ต้นไม้ใกล้ตาย, 0 คะแนน - ต้นไม้ตาย เกษตรกรจะปลูกต้นใหม่ทดแทน)
- คำนวณปริมาณคาร์บอนที่คาดการณ์ว่าต้นไม้แต่ละต้นจะดูดซับได้
ข้อมูลทั้งหมดนี้ ผู้บริจาคสามารถดาวน์โหลดเป็นเอกสารรูปแบบ pdf ตลอดจนใช้เป็นเอกสารรับรองการมีส่วนร่วมขององค์กรในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
บริจาค-ติดตาม-สุขใจ
การสร้างระบบรายงานผลการปลูกต้นไม้เป็นนวัตกรรมที่ทำให้โครงการต้นไม้ของเราแตกต่างจากโครงการปลูกต้นไม้อื่นๆ เพราะทำให้ผู้บริจาคมั่นใจได้ว่าเงินทุกบาทไปถึงมือเกษตรกรผู้ปลูกและดูแลต้นไม้ และผู้บริจาคยังสามารถติดตามความเติบโตของต้นไม้ที่อุปถัมภ์ได้ทุกๆ 6 เดือน
เบญจกร ทุ่งสุกใส ผู้ร่วมสนับสนุนโครงการและอินฟลูเอนเซอร์ด้านแม่และเด็กจากเพจเฟสบุ๊ก Little Tada’s World บรรยายความรู้สึกจากการได้ติดตามความเป็นไปของต้นไม้ที่เธอมีส่วนช่วยปลูกว่า “เหมือนได้เฝ้าดูลูกเติบโต ถ้าต้นไม้โตขึ้นเราก็สุขใจที่ได้เห็นผลลัพธ์จากเงินที่เราบริจาค”
เบญจกรยังเกิดไอเดียที่จะพาลูกสาวเดินทางไปเยี่ยมต้นไม้และพบเกษตรกรที่ปลูกต้นไม้ เพราะในฐานข้อมูลระบุตำแหน่งที่อยู่ของต้นไม้และชื่อเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ให้ผู้บริจาคได้ทราบด้วย เธอมองว่าทริปเช่นนี้จะช่วยให้ลูกได้สัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้ถึงความสำคัญของต้นไม้ และการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า
เอด้า จิรไพศาลกุล กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอม ผู้อยู่เบื้องหลังกลไกการระดมทุนและเป็นหนึ่งในผู้อุปถัมภ์ต้นไม้กล่าวว่า ระบบติดตามต้นไม้ของโครงการ Trees4All สอดคล้องกับแนวคิดของเทใจดอทคอมที่มองว่า การบริจาคเงินเป็นการช่วยแก้ปัญหาสังคมด้วย ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการติดตามว่าเงินที่บริจาคไปนั้นทำให้เกิดผลอะไรขึ้นบ้าง
“ระบบติดตามต้นไม้เป็นจุดเด่นของโครงการนี้ เพราะทำให้ผู้บริจาครู้ว่าเงิน 100 บาท ช่วยให้มีต้นไม้เพิ่ม 1 ต้น และติดตามได้ว่าในอีก 3 ปี ต้นไม้ต้นนี้จะเป็นอย่างไร ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และได้รู้จักเกษตรกรที่ปลูกและดูแลต้นไม้ให้เรา ถ้ามีกิจกรรมพาไปดูต้นไม้ที่เราอุปถัมภ์ ก็น่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของน่านได้ด้วย” กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอมกล่าว
วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทย กล่าวว่า การปลูกต้นไม้เป็นวิธีการที่ง่ายในการช่วยลดโลกร้อนและฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ แต่สิ่งที่ยากคือการดูแลต้นไม้ให้รอดและเติบโต
“เกษตรกรเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้ต้นไม้อยู่รอด โครงการของเราจึงมุ่งเน้นให้เงินที่ได้จากการระดมทุนถึงมือเกษตรกรโดยตรง โครงการนี้จะเป็นสะพานเชื่อมให้คนปลายน้ำมีส่วนช่วยคนต้นน้ำปลูกต้นไม้ หากเราทำได้สำเร็จ อย่างน้อยเราก็จะได้เห็นพื้นที่ต้นน้ำในจังหวัดน่านมีต้นไม้เพิ่มขึ้น มีระบบนิเวศที่ดีขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อทุกชีวิตในระยะยาว”
ทุกคนสามารถช่วยเกษตรกรปลูกต้นไม้ของเรา โดยบริจาคเงินผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอมและติดตามผลการปลูกต้นไม้ทาง trees4allthailand.org สามารถรับชมบันทึกการถ่ายทอดสดงานเปิดตัวระบบติดตามต้นไม้ รวมถึงกิจกรรมสนทนากับผู้ร่วมสนับสนุนโครงการและวงเสวนาหัวข้อกลไกการเงินเพื่อป่าและคนที่ดูแลป่าได้ที่นี่)
บทความนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Global EbA Fund และ Wyss Academy for Nature เนื้อหาในบทความนี้เป็นความรับผิดชอบของรีคอฟ และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของ Global EbA Fund และ Wyss Academy for Nature สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) ได้ที่หน้ารายละเอียดโครงการ