RECOFTC Thailand
រឿង

ถาม-ตอบ ข้อควรรู้เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับใหม่

12 April 2018
วสุ วิภูษณะภัทร์
In Focus
การประชุมเครือข่าย
อัฉราภรณ์ ได้ไซร้

จากการที่ พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่อยู่ในระหว่างการจัดทำร่าง และปัจจุบันเพิ่งเสร็จสิ้นขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์ ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การยกเลิกการขออนุญาตกันตัดโค่นไม้หวงห้าม (ยกเลิกมาตรา 7 และแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 ) ทางศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ( RECOFTC ) ได้รวบรวมสาระสำคัญจากร่าง พ.ร.บ ป่าไม้ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะมีการประกาศใช้ภายในกลางปี 2562 ดังนี้

ทำไมต้องมีการแก้ พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับปัจจุบัน?

เนื่องจากพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน และถูกสะท้อนว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีบทบัญญัติบางประการ เช่น มาตรา 7 และแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 ที่ได้กำหนดเกี่ยวกับไม้หวงห้ามที่ขึ้นอยู่ในที่ดินที่มิใช่ป่า ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการทำไม้ในที่ดินของประชาชน และบทบัญญัติที่บังคับถึงการอนุญาตทำไม้ การแปรรูปไม้ และการควบคุมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการการประกอบการเกี่ยวกับไม้ทั้งระบบ ตลอดถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการสัมปทานการทำไม้ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีการอนุญาตให้สัมปทานการทำไม้แล้ว รวมถึงบทบัญญัติที่กล่าวถึงการจัดการของกลาง ค่าธรรมเนียม มาตรการควบคุมผู้ประกอบการ มาตรการควบคุมการดูแลป่า ที่ไม่ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานาน จึงสมควรที่ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ตอนนี้การแก้ไข ร่างพ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับใหม่มีความคืบหน้าถึงไหน? 

5 มกราคม 2561

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เห็นตรงกันว่าควรมีการปรับเเก้กฎหมายบางมาตราในพ.ร.บ.ป่าไม้ โดยเฉพาะมาตรา 7 และแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 โดยมองว่าการยกเลิกมาตรากฎหมายนี้จะสร้างแรงจูงใจและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในการทำไม้ ไปสู่การผลักดันอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจของประเทศ

15 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2561

กรมป่าไม้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) จังหวัด ขอนแก่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครศรีธรรมราช(ภาคใต้) และกรุงเทพมหานคร (ภาคกลาง) 27 มีนาคม – 15 เมษายน 2561 เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างฯ หลังกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ในเว็ปไซต์ http://www.lawamendment.go.th/index.php/laws-department/item/1221-27-256...

พฤษภาคม – ธันวาคม 2561 เสนอร่างฯหลังกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะเสนอเข้า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ปี 2562 (ยังไม่ระบุเดือน) บังคับใช้เป็นกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ............

 

มาตราอะไรบ้างที่มีการแก้ไขใน ร่างพ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับใหม่?

1. ยกเลิกมาตรา 7 สามารถตัดไม้ที่ปลูกเองในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองได้ทุกชนิด

เนื่องจากมาตรา 7 พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 ได้กําหนดให้ชนิดไม้ 18 ชนิด ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง เป็นต้นไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร เป็น” ไม้หวงห้ามประเภท ก.” ซึ่งต้องมีการขออนุญาตก่อนตัดโค่น หากมีการใช้ในที่ดินของตนเองโดยไม่ได้รับการอนุญาต จะต้องรับโทษ 1- 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 2,000, 000 บาท ประชาชนทั่วไปได้สะท้อนว่าบทบัญญัตินี้มีขั้นตอนการขออนุญาตที่มีความซับซ้อน โดยที่ทางการขาดการให้ความรุู้แก่ประชาชน จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบว่าต้องมีการขออนุญาตในการทําไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามชนิดไม้ข้างต้น จึงสร้างความหวาดกลัวกับประชาชนว่าหากทำไม้จะถูกจับ มาตราดังกล่าวจึงไม่ส่งเสริมแรงจูงใจให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมไม้ได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้พ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับใหม่จึงได้ยกเลิกมาตรา 7 เพื่อที่จะทำให้ไม่มีการกำหนดไม้ในประเภทดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นไม้หวงห้ามในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของประชาชนอีกต่อไป

โดยไม้หวงห้ามจะมีเฉพาะ “ ในป่า ” เท่านั้น  เท่านั้นที่จะต้องมีการควบคุมตามกฎหมายนี้ต่อไป ซึ่งคาดหวังว่าการแก้ไขนี้จะนำไปสู่การเตรียมพร้อมสู่การพัฒนาระบบการรับรองไม้ในที่ดินของเอกชนเพื่อให้รู้แหล่งที่มาของไม้

จากกรณีไม้ล้มทับในพื้นที่จากเหตุสุดวิสัยหรือจากภัยพิบัติ ในหลายๆกรณีที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น นางหนึ่งฤทัย สารภัคดี อายุ 51ปี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนหลังจากพายุพัดเอาไม้พะยูงโค่นล้มทับบ้านได้รับความเสียหายตั้งแต่เดือนเมษายนในปี 2560 แต่ไม่กล้าตัดเพราะกลัวโดนจับ ด้วยเหตุดังกล่าว พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับปรับปรุงแก้ไขจึงกำหนดให้ว่าประชาชนสามารถทําไม้หวงห้าม กรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน เมื่อปรากว่าไม้หวงห้ามจะล้มทับบ้านเรือน เช่น จากกรณีภัยพิบัติ เมื่อมีการทําไม้หวงห้ามออกแล้วให้รีบแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบโดยด่วน และให้เจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตทําไม้หวงห้ามให้กับผู้นั้นต่อไป

3.ยกเลิกเรื่องการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่เข้าเขตด่านป่าไม้ (ยกเลิกมาตรา 40 และมาตรา 41)

ในอดีต เมื่อมีการขนไม้จะต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านป่าไม้ทุกด่าน ซึ่งเป็นอุปสรรคและเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการและประชาชน เนื่องจากต้องเข้ารายงานทุกด่าน ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับใหม่กำหนดให้มีการแจ้งเฉพาะเขตด่านป่าไม้จุดนำเข้าและปลายทางเท่านั้น และยกเลิกเรื่องการนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ผ่านด่านป่าไม้ในระหว่างเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น

4. เปลี่ยนชื่อ “ ใบเบิกทาง” เป็น “ ใบอนุญาตนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่” ในการเคลื่อนย้ายไม้ ( ร่างมาตรา 32)

เมื่อผู้ใดนำไม้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่หลังจากตัดโค่น จะต้องมีใบเบิกทาง เป็นเอกสารประกอบแนบไปกับการเคลื่อนย้ายไม้ ซึ่ง ใน พ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับปรับปรุงแก้ไขมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ ใบอนุญาตนำไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ ” ให้มีความเหมาะสมกับหลักเกณฑ์ การอนุญาต และวิธีการตามกกระทรวงทรัพย์ฯ

5.เพิ่มหมวดการรับรองไม้ภาคสมัครใจ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม   ป่าไม้ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (ร่างมาตรา 28 และมาตรา 29)

ในร่าง พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับปรับปรุงแก้ไข ได้เพิ่มหมวด “ การรับรองไม้” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือรับรองไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือมีเจ้าของรับรอง เพื่อที่จะสามารถรับรองแหล่งที่มาของไม้ ซึ่งเป็นต้นทางในการขายไม้ หรือส่งออกไม้ในปัจจุบัน

6.มอบอำนาจให้อธิบดีกรมป่าไม้ในการอนุมัติคืนของกลางจากคดีความป่าไม้ (ร่างมาตรา 54 มาตรา 58 )

กรณีมีเจ้าของหรือมีสิทธิ์ในการขอรับคืน หากมีการคืนของกลางจากในคดีป่าไม้ เจ้าของหรือผู้มีสิทธิขอรับคืนของกลางจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้อธิบดีกรมป่าไม้มีอำนาจอนุมัติแทนรัฐมนตรี ในการอนุมัติในการคืนของกลางที่ตามอธิบดีกำหนด ซึ่งหากอธิบดีไม่อนุมัติคืนสามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ซึ่งการมอบอำนาจให้กับอธิบดีทําให้ขั้นตอนมีความสะดวก รวดเร็ว และลดถูกการฟ้องจากการคืนของล่าช้า กรณีไม้ไม่มีเจ้าของ ของกลางนั้นนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามกำหนดระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนดเช่นกัน

7.ยกเลิกการสัมปทานไม้ (ยกเลิกมาตรา 68 มาตรา 76)

ในปัจจุบันไม่มีการอนุญาตให้สัมปทานการทำไม้แล้ว จึงมีการยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการสัมปทานาไม้ เช่น การจัดการของกลาง ค่าธรรมเนียม มาตรการควบคุมผู้ประกอบการ มาตรการควบคุมการดูแลป่าจากการสัมปทาน เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

8.กำหนดบทลงโทษให้สูงขึ้นหากก่อสร้างหรือทําลายป่าเกิน 25 ไร่ (ร่างมาตรา 72 ร่างมาตรา 73)

ใน พ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับปรับปรุงแก้ไข กําหนดโทษจำคุกไม่เกินตั้งแต่ 2 -15 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทําความผิดทําลายป่าเกิน 25 ไร่ จะต้องเพิ่มเงินปรับตั้งแต่ 10,000 – 300,000 บาท จาก 100,000 บาท และหากฝ่าฝืน จะต้องถูกระวางโทษปรับวันละ 1,000 บาท เพื่อเป็นการป้องปรามให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัวในบทลงโทษ

9.กำหนดหน้าที่ให้เจ้าหน้ารัฐมีหน้าที่ตราประทับไม้ (ร่างมาตรา 30)

ร่าง พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับปรับปรุงแก้ไข ได้กำหนดไว้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประทับตรา ของตราประทับไม้ของรัฐบาลที่ใช้ประทับไม้ และให้รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เพราะปัจจุบันไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการออกระเบียบไว้ว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด

10.ยกเลิกตราประทับไม้ของเอกชน (ร่างมาตรา 77)

ปัจจุบันภาคเอกชนไม่มีการใช้ตราประทับไม้ ซึ่งมีการใช้แต่เพียงภาครัฐเท่านั้น จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีการยกเลิกการใช้ตราประทับไม้ในร่าง พ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับใหม่

11.กำหนดเพิ่มเติมให้ไม้ที่มีหนังสือรับรองของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม้ที่มีหนังสือรับรองของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม้ที่มีหลักฐานแสดงว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย (ร่างมาตรา 51 ข้อ 6,7 )

ไม้ที่ตัดมาจากที่ดินกรรมสิทธิ์ จากเดิมมีปัญหาในการนําไม้เข้าสู่โรงงานแปรรูปไม้ เนื่องจากไม่มีที่มาของไม้ จึงไม่สามารถแสดงหลักฐานการครอบครองได้ ทั้งนี้จึงมีการข้อความให้มีการแสดงที่มาของไม้ ดังต่อไปนี้

(ข้อ 6) ไม้ที่มีหนังสือรับรองของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม้ที่มีหลักฐานแสดงว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย                                                                                                                                              (ข้อ 7) ไม้ที่อธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้ไม้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ เป็นการเขียนรองรับเรื่องกระบวนการรับรองไม้และเขียนให้รองรับกับไม้ที่อธิบดีมีอำนาจอนุญาตนำไม้ไปให้ใช้ประโยชน์ 

ซึ่งประชาชนที่มีไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือผู้รับซื้อไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์สามารถนําเข้าไม้ในโรงงานแปรรูปไม้ได้อย่างสะดวกหากมีในขณะเดียวกันก็มอบอำนาจให้อธิบดีรับรองแหล่งที่มาของไม้

 

ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมเฟล็กทีได้ผลักดันเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไรบ้าง

 เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมเฟล็กที ซึ่งเป็นเครือข่ายของเกษตรกรรน- เฟล็กทีได้เคลื่อนไหวกับ ปายย่อยและประชาสังคมทั่วประเทศ ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามและผลักดันให้การทำข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจเฟล็กที วีพีเอ (FLEGT VPA) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตกลงเข้าร่วมการทำข้อตลกงนี้กับสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเป็นกลไกในปรับปรุงการบริหารจัดการป่าไม้ของประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมาภิบาลโดยมีการส่งเสริมสิทธิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากไม้ของประชาชนได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน หากการทำข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผลโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ประเทศไทยจะสามารถสร้างระบบการรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ที่เป็นที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และการส่งเสริมการค้าไม้ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจจากฐานราก รวมถึงการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ยั่งยื ทั้งนี้จากการเข้าร่วมดำเนินการและติดตามการจัดทำข้อตกลงดังกล่าวของรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอการปรับเเก้ พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484 กับพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม เเละดร. ขวัญชัย ดวงสถาพร กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเกิดการปรับปรุงเเก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ที่สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกร โดยข้อเสนอ ประกอบด้วย เสนอยกเลิกไม้หวงห้ามมาตรา 7 ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ หรือการประกาศยกเว้นให้ไม้ในกลุ่มรายชื่อที่เป็นไม้หวงห้ามที่ปลูกในที่ดินที่ประชาชนได้รับสิทธิการถือครองที่ถูกต้อง พ้นจากความเป็นไม้หวงห้ามตามที่กฎหมายกำหนด กรณีไม้ที่ไม่ใช่ไม้หวงห้าม เสนอให้มีระบบการรับรองตนเองโดยการแสดงเอกสารหลักฐานให้การรับรองความเป็นเจ้าของไม้ การแปรรูปไม้ การผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ และโรงค้าไม้มีความยุ่งยากของการขออนุญาตจำนวนมากเกินไป ควรทำให้เกิดระบบใบอนุญาตใบเดียว ที่เข้าใจได้ง่าย ควรลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงงานแปรรูปไม้เหลือเพียงฉบับเดียวซึ่งสามารถแปรรูปไม้ ทั้งเลื่อย อบ ไส ซอย แปรรูป เป็นสิ่งประดิษฐ์หรือไม้แปรรูปเพื่อการค้าในประเทศและส่งออก ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติของพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เรื่องใบเบิกทางและใบกำกับไม้ด้วยการลดขั้นตอนเพื่อให้สะดวก มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เสียงสะท้อนจากตัวเเทนภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าที่ยั่งยืน- เฟล็กที ต่อ พ.ร.บ. ป่าไม้ฉบับใหม่

นายวิเชียร สัตตธารา ตัวแทนเกษตรกรอำเภอเมืองลีง จังหวัดสุรินทร์ จากเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าที่ยั่งยืน - เฟล็กที กล่าวว่า การยกเลิกมาตรา 7 นั้น ทำให้ช่วยลดขั้นตอนในการทำไม้ให้มีความสะดวกขึ้น ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกต้นไมเพื่อเลี้ยงชีพมากขึ้น อย่างไรก็ตามเขาเสนอว่า การเพิ่มมาตราในการรับรองตนเอง (มาตรา 28) เพื่อช่วยตรวจสอบแหล่งที่มาไม้ควรเพิ่มแนวทาง “ การรับรองไม้จากเกษตรกร " ในมาตรานี้ เพื่อให้สิทธิกับเกษตรกรที่เป็นเจ้าของไม้ รับรองไม้ว่ามาจากแหล่งที่ปลูกได้ นอกจากนี้เขายังเสนอว่าในมาตรา 29 ควรมีแนวทางที่ชัดเจนในการรับรองไม้ผ่านระบบอิเลกทรอนิกที่มีความหลากหลาย

ในขณะที่พิกุล กิตติพล เกษตรกรหญิงตำบลกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อีกหนึ่งตัวแทนเครือข่ายฯเห็นพ้องกันว่าการรับรองไม้ ควรมีระบบการรับรองที่มีแนวทางที่หลากหลาย เช่น การรับรองโดยเกษตรกร การรับรองโดยสหกรณ์สวนป่า เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในการใช้ประโยชน์ไม้ นอกจากนี้ยังช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ในการรับรองไม้ที่อาจจะใช้เวลานาน ซึ่งพิกุลเสนอว่า หากมีการรองรับการับรองแนวทางจากหลายภาคส่วน ภาครัฐจะต้องออกแบบแบบฟอร์มเพื่อรับรองแนวทางนี้ เพื่อให้การขาย-ส่งออกไม้ของเกษตรกรมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อ้างอิงข้อมูลจาก ร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. (ระบบออนไลน์) 

เเหล่งที่มา

 http://www.lawamendment.go.th/index.php/laws-department/item/1221-27-256....( 10 เมษายน 2561)