ชุมชนท้องถิ่นกับการสร้างธุรกิจจากนโยบายไม้มีค่า
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ได้ร่วมจัดทำโครงการเสริมศักยภาพให้เกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย เเละเรียนรู้การจัดการสวนป่าที่ดีเพื่อให้ไม้มีคุณภาพและเข้าสู่ตลาดได้ โดยการทดลองนำร่องการทำระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้ด้วยตนเอง ผ่านการจัดทำระบบฐานข้อมูลต้นไม้และแผนที่ GIS เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการขอขึ้นทะเบียนสวนป่าในพื้นที่ ส.ป.ก. และการแสดงแหล่งที่มาของไม้บนที่ดิน คทช. เพื่อเป็นต้นแบบการจัดทำระบบรับรองต้นไม้ในพื้นที่ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจและแผนการทำธุรกิจเพื่อวางฐานให้แข็งแรงเมื่อกฏหมายปลดล็อกการทำไม้ในที่ดินรัฐ ก็สามารถขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านสินทรัพย์บนดินของตนเองได้
วันที่ 27 พ.ย. 2562 เกษตรกรผู้ปลูกไม้สัก 9 คนจาก ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และเกษตรกรผู้ปลูกไม้สัก 6 คนจาก อ.สันติสุข จ.น่าน เข้าร่วมศึกษาการควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้ (Supply Chain Control: SCC) ที่เป็นระบบที่ได้รับมาตรฐาน ตั้งแต่โมเดลการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐานการรับรองของ Forest Stewardship Certificate (FSC) ในพื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมี จนถึงกระบวนการแปรรูปไม้ในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมไม้ (โรงเลื่อยร้องกวาง) จ.แพร่ ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ผู้จัดการศูนย์ถ่ายทอดฯ ชี้แจงถึงความสามารถในการแปรรูปไม้และขั้นตอนต่างๆ ของการนำไม้จากสวนป่าของ ออป. ในพื้นที่ภาคเหนือจนถึงการประดิษฐ์ชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ พบว่ามีไม้เข้า 510 ลบ.ม. ต่อเดือน หรือ 6,000 ลบ.ม. ต่อปี ซึ่งสามารถแปรรูปไม้ได้ถึง 64,000 ลบ.ฟุต ต่อปี โดยคิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาตรไม้ท่อน มีคนงานกว่า 400 คนปฏิบัติงานในหลากหลายแผนก พบว่าแนวโน้มของไม้ท่อนในปัจจุบันมีขนาดที่เล็กลงเนื่องจากไม้รุ่นเก่านั้นถูกตัดออกไปแล้ว ทำให้มีไม้รุ่นใหม่อายุน้อยถูกส่งเข้ามามากขึ้น นอกจากนั้น ออป. ได้พัฒนาเทคโนโลยีการใช้เศษไม้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าสูงสุดในรูปแบบของการตัดต่อแบบมือประสาน (finger joint) ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาดมากขึ้น จากที่กล่าวว่าโรงเลื่อยร้องกวางรับไม้ท่อนจากสวนป่า ออป. ทั้งหมด โดยคุณชัยชนะ โสภา หัวหน้าสวนป่าขุนแม่คำมีบอกเล่าความเป็นมาของการริเริ่มสวนป่าไม้ขุนแม่คำมีสักตั้งแต่ปี 2511 โดยมีพื้นที่จัดการสวนป่าทั้งหมดประมาณ 19,000 ไร่ ใช้ระบบการจัดการสวนป่าตามมาตรฐานของ FSC และระบบการควบคุมตรวจสอบติดตามการทำไม้ (COC) เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม้ที่ประกอบขึ้นเป็นเฟอร์นิเจอร์นั้นที่ต้นกำเนิดมาจากแหล่งใด ซึ่งเป็นข้อบังคับของการส่งออกไม้ไปต่างประเทศ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ ออป. ดำเนินการจะขายเฉพาะตลาดในประเทศโดยเฉพาะส่งขายให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดแพร่
จากฐานข้อมูลที่รวบรวมอย่างมีส่วนร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกไม้สักใน ต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ และ อ.สันติสุข จ.น่าน พบว่า ต.แม่ทา จ.เชียงใหม่ มีจำนวนต้นไม้ทั้งหมด 60,740 ต้น แบ่งเป็น พื้นที่ คทช. 43,443 ต้นและ พื้นที่อื่นๆ (ฉโนด นส.3 ) 17,297 ต้น จากผู้เข้าร่วม 595 ราย และ อ.สันติสุข จ.น่าน มีจำนวนต้นไม้ทั้งหมด 26,051 ต้น แบ่งเป็น พื้นที่ คทช. 7,897 ต้น และ สปก.18,154 ต้น จากผู้เข้าร่วม 55 ราย ที่อยู่ในแปลงของเกษตรกรนั้นส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 ปี
โดยเฉพาะในอำเภอสันติสุข จ.น่าน มีการขายไม้สักในลักษณะของการเหมาสวนที่มีพ่อค้าคนกลางเป็นนายหน้าติดต่อระหว่างเจ้าของสวนสักและโรงเลื่อยผู้รับซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดแพร่ การไม่มีข้อมูลความโตของสัก ราคากลางเมื่อคิดเป็นปริมาตรแล้ว มีความจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉินล้วนเป็นปัจจัยบีบบังคับให้เกษตรกรต้องขายสักในราคาที่ถูกกว่า จึงเป็นที่มาของการฝึกอบรมในวันที่ 28-29 พ.ย. 2562 เพื่อเรียนรู้และวางแนวทางการสร้างอำนาจต่อรองโดยการรวมกลุ่มกันทำงานในรูปของ “วิสาหกิจ หรือ สหกรณ์ผู้ปลูกสัก” เกษตรกรจากพื้นที่แม่ทา จ.เชียงใหม่ ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถทำเป็นธุรกิจได้นั่นคือการขายไม้ท่อน เช่นเดียวกับพื้นที่สันติสุข จ.น่าน ที่ประเมินศักยภาพว่าไม้ท่อนและการทำผลิตภัณฑ์จากเศษไม้ปลายไม้ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสักจากเศษที่เหลือจากการขายไม้ท่อนได้ ทั้งสองพื้นที่ได้สร้างแนวทางการพัฒนาธุรกิจผ่านเครื่องมือแผนภาพโมเดลธุรกิจ (Business canvas) เริ่มวิเคราะห์จากคุณค่าที่กลุ่มจะฝังไว้ในผลิตภัณฑ์และส่งมอบคุณค่าต่อให้ลูกค้า ทั้งสองกลุ่มได้สะท้อนว่าเราไม่ได้ขายเฉพาะไม้ท่อนที่มีคุณภาพเพียงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงการฟื้นฟูป่าไม้โดยคำนวณถึงความหลากหลายของระบบนิเวศ การกักเก็บคาร์บอน และการสร้างธรรมภิบาลการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม้แต่ละท่อนมาจากสวนใคร เดินทางไปที่ใดบ้าง ซึ่งถือเป็นการลงทุนในการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน นอกจากนั้นการวิเคราะห์ตลาดเพื่อทำความเข้าใจผู้ดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไม้ในห่วงโซ่มูลค่า ทั้งผู้รับซื้อ หรือพ่อค้าคนกลาง โรงเลื่อย ผู้ประกอบการแปรรูปไม้ และกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจที่หลากหลาย โดยวิเคราะห์กลไกราคาและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนในวิสาหกิจสามารถคำนวณต้นทุนและราคาขาย พร้อมทั้งวางแนวทางการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจะได้ประกอบแผนภาพโมเดลธุรกิจให้เป็นแผนการทำธุรกิจและพร้อมจะนำไปใช้เพื่อกำหนดการระดมทุนและประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ได้
นางนงเยาว์ คำนาน เกษตรกรผู้ปลูกสักจาก อ.สันติสุข จ.น่าน ชี้แจงว่าการดูงานที่จังหวัดแพร่ ช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาอาชีพจากทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะไม้สัก ได้เห็นการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของไม้สักที่มีคุณภาพและการจัดการสวนป่าที่ดี ได้รู้ว่าการที่เราจะพัฒนาอาชีพจากไม้สัก ณ ตอนนี้เราอยู่จุดไหนเมื่อเปรียบเทียบกับจุดที่เราอยากให้เป็น ทั้งยังช่วยประเมินศักยภาพของตัวเราว่าเราสามารถทำได้จริงหรือไม่ จากในอดีตที่ภาพของการสร้างวิสาหกิจจากไม้สักไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้เริ่มเห็นภาพมากขึ้นและชัดเจนขึ้นว่า หากต้องการพัฒนาวิสาหกิจ เราต้องทำกระบวนการอย่างไร ต้องทำงานเป็นกลุ่มอย่างไร ซึ่งหลังจากกลับไปจะประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลแก่เกษตรกรที่สนใจ หากใครที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสวนป่า ก็จะไปช่วยให้ข้อมูล เช่นเดียวกับ
นายราเมศ ดวงแก้วเรือน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 4 ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่เป็นหนึ่งในทีมงานเก็บข้อมูลต้นไม้ของตำบล ได้อธิบายถึงประโยชน์ของการมาเรียนรู้และทำความเข้าใจการทำระบบการควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้ ตั้งแต่ปลูก ตัดโค่น เคลื่อนย้าย ขาย ทำให้มองย้อนกลับมาที่ระบบการทำฐานข้อมูลต้นไม้ในพื้นที่ของตน ว่าควรจะมีการบริหารจัดการระบบอย่างไร จะลำดับ ขั้นตอน อะไรก่อนเพื่อให้มีระบบที่เกิดขึ้นจริงกับพื้นที่ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่มีความต้องการขายไม้ได้จริง ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ปลูกไม้ไว้ในที่ดิน คทช.อยู่มาก เมื่อถึงวันที่กฎหมายถูกแก้ไขจะดีมากที่เราเตรียมความพร้อมไว้ก่อนแล้ว และลำดับต่อไปคือการเริ่มมาวางแผนธุรกิจของเราอย่างจริงจัง และปรับปรุงแผนธุรกิจของเราให้เหมาะสมกับพื้นที่
หากเกษตรกรผู้ปลูกสักบนที่ดินรัฐเตรียมรากฐานการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจผู้ผลิตสักคุณภาพได้สมบูรณ์เพียงใด แต่ถ้ากฏหมายและนโยบายยังไม่มีความชัดเจนที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนปลูกต้นไม้ได้ ทิศทางการเพิ่มพื้นที่ป่าและส่งเสริมคุณภาพชีวิตบนฐานทรัพยากรป่าไม้อาจจะเป็นเพียงการพัฒนาแบบเข้าเกียร์ถอยหลังและอาจจะไม่ใช่คำตอบของความยั่งยืนเพื่อสร้างฐานความเข้มแข็งของชุมชนและท้องถิ่นอีกต่อไป