RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

จาก อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ป่าไม้ไทยกับมุมมองหลากหลายรุ่น

02 March 2020
ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) ประเทศไทย
“ประเทศไทยมีต้นไม้ มีป่ามากกว่า 30% และมีชุมชนที่เข้มแข็งหลายพื้นที่ เพียงแต่ยังขาดระบบธรรมาภิบาลป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของป่า รวมถึงขาดศักยภาพของผู้ประกอบการเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานทรัพยากรป่าไม้”
In Focus
เวที “คน ป่าไม้ โลกร้อน” People and Forest Forum 2020 “ให้ป่าปกป้องโลก ให้คนท้องถิ่นปกป้องป่า”
Cr. ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า แผนงานประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสโลกที่ตื่นตัวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาที่มีสาเหตุจากการใช้พลังงานฟอสซิลทำให้เกิดมลพิษในอุตสาหกรรมและระบบขนส่งต่างๆ ที่เห็นได้ชัดคือฝุ่นอนุภาคเล็ก หรือ pm 2.5 นอกนั้นยังมีขยะที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย และการรุกคืบจากระบบทุนสู่การทำลายป่าเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นแปลงเกษตรเชิงเดี่ยว  หลายปัจจัยมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น แล้วมาตรการใดบ้างที่จะเป็นทางออกของการจัดการและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ดีที่สุด คำตอบนั้นคือ การปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าใช่หรือไม่? 

เวทีคนป่าโลกร้อน2020
คุณพิศาล แสงจันทร์ (ยอด) และคุณทายาท เดชเสถียร (บอล) สองหนุ่มจากรายการหนังพาไป

บอกเล่าประสบการณ์โดยตรงจากคนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวงอย่างคุณพิศาล แสงจันทร์ (ยอด) และคุณทายาท เดชเสถียร (บอล) สองหนุ่มจากรายการหนังพาไป มองว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป คนอยู่ในเมืองก็ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ ฝุ่น pm 2.5 ที่มาจากระบบขนส่งที่ไม่มีการจัดการที่ดี ความไม่สมดุลของพื้นที่สีเขียวและอาคารบ้านเรือนในเมือง จะเห็นว่าหลายประเทศที่ได้เดินทางไปพบเจอนั้นมีระบบการวางผังเมืองที่ดีมาก เช่น สิงคโปร์ และไต้หวัน พอพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับป่าหรือป่าชุมชน คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของชนบทอยู่ไกลเมือง แต่ไม่ใช่เลย การสร้างป่าในเมืองนั่นถือเป็นระบบการวางผังเมืองที่ดีที่สุด เพราะจะช่วยดูดซับมลพิษพร้อมทั้งเป็นพื้นที่สันทนาการของคนเมืองอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการวางผังเมืองและระบบการจัดการมลพิษของกรุงเทพฯ [ประเทศไทย] นั้นห่วยแตก [ไม่มีประสิทธิภาพ] ทั้งสองท่านทิ้งท้ายด้วยความสงสัยอีกว่า ป่าที่อยู่ในเมืองแล้วคนในเมืองสามารถเข้ามาทำกิจกรรม จัดการและใช้ประโยชน์พื้นที่นั้นเรียกว่า ป่าชุมชนได้หรือไม่

เวทีคนป่าโลกร้อน2020
ผศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ)

คำถามนี้ได้รับการตอบโดย ผศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) จากที่ได้ทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ทั่วโลก พบว่าการจะเรียกว่าป่าชุมชนได้นั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือผู้อยู่อาศัยแวดล้อมกับป่า โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ และอเมริกา นั่นถือว่าป่าในเมืองก็เป็น ป่าชุมชนมีประชาชนมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมสันทนาการ ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย ลานดนตรี เป็นต้น นอกจากการมีส่วนร่วมแล้ว ยังมองถึงความหลากหลายทางชีวภาพของป่าด้วย แต่ปัจจุบันความหลากหลายเหล่านี้ถูกผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรของมนุษย์ที่เกินสมดุล เกิดปรากฏการณ์ฝนไม่ตกตามฤดูกาล อุณหภูมิสูงขึ้น หลายๆ ปัจจัยรวมถึงการทำเกษตรที่ใช้การเผาโดยไม่มีการควบคุม จะเห็นว่าจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะมีการเผาไร่ ซึ่งเป็นการกำจัดเศษวัสดุในแปลงเพาะปลูก การจะเผานั้นต้องกำหนดวันให้ชัดเจน และทุกคนในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันเพื่อป้องกันการลุกลามไปสู่พื้นที่ข้างเคียงและพื้นที่ป่าไม้ แต่ปัจจุบันการเกษตรเริ่มห่างจากวิถีปฏิบัติเดิม ปลูกพืชเพื่อขายจริงจัง ขาดความระมัดระวังเกิดไฟลามเข้าป่า

คุณสุดา กองแก  ผู้แทนสตรีจากกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากบ้านห้วยหินดำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี บอกเล่าเพิ่มเติมว่าการอยู่กินกับผืนป่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มองเห็นทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและทิศทางนโยบายการพัฒนาชนบทของประเทศ ป่าไม้เริ่มห่างจากวิถีชีวิตมากขึ้นเมื่อถูกล้อมกรอบด้วยกฏหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรม แต่ยังคงทำไร่ข้าวในรูปแบบไร่หมุนเวียนในพื้นที่จำกัดเพื่อบริโภคและเริ่มมีการปรับและใช้ไฟเท่าที่จำเป็นในการกำจัดเศษวัสดุในไร่ เริ่มมีการนำชนิดพันธุ์จากป่ามาปลูกในสวนใกล้บ้านมากขึ้น และใช้วัสดุจากส่วนต่างๆ ของต้นไม้นำมาทำเป็นสีธรรมชาติเพื่อย้อมเส้นด้ายก่อนถักทอด้วยฝีมือจากกลุ่มสตรีกะเหรี่ยงตามประเพณีจากบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันก็สังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ โดยฝนตกช้ากว่าฤดูกาล ทำให้ต้องเลื่อนวันหยอดเมล็ดข้าว และมีฝุ่นที่เกิดจากการปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวมีการใช้สารเคมี ถ้าทำไว้บริโภคในครัวเรือน เราจะทำน้อยแบบพอดี แต่ถ้าทำไว้ขาย เราจะทำมาก ทั้งนี้ก็พบปัญหาแรงงานในครัวเรือนด้วย เด็กรุ่นใหม่ไปเรียนหนังสือมากขึ้น ไม่มีคนช่วยพ่อแม่ จึงจำเป็นที่จะต้องหาอาชีพเพื่อให้เด็กได้กลับมาสานต่อวัฒนธรรมในชุมชน การตั้งกลุ่มทอผ้าก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งของชุมชน

เวทีคนป่าโลกร้อน2020
ผลิตภัณฑ์กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากบ้านห้วยหินดำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

นอกจากชิ้นส่วนของต้นไม้จะให้สีธรรมชาติในการทอผ้าแล้วนั้น ไม้ก็มีประโยชน์ในการกักเก็บคาร์บอนที่เป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว ประโยชน์ทางเคมีของไม้ก็มีหลากหลาย ดังเช่นที่คุณคมวิทย์ บุญธำรงกิจ อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ กล่าวเปรียบเปรยไม้ว่าเป็น ทองคำสีเขียวเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะมีมูลค่ามากขึ้นกว่าทองคำเสียอีก เนื้อไม้นอกจากจะนำสร้างบ้านเป็นวัสดุที่ทนทานและสวยงามแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์เชิงเคมีจากต้นไม้ได้ทุกส่วน ถือว่าเป็น Zero waste ของจริง [ของเสียเหลือเป็นศูนย์] ตั้งแต่การนำมาใยมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง biomass ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วย สมาคมธุรกิจไม้เน้นการทำงานเชิงสังคม สร้างความเข้าใจและเปลี่ยนทัศนคติจากการอนุรักษ์นิยมสู่การค้าไม้แบบยั่งยืนบนฐานการจัดการสวนป่าที่ดีและทิศทางของ Forest Bio-Economy (เศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรชีวภาพป่าไม้) ให้เป็นวาระหลักของการพัฒนาประเทศ

เวทีคนป่าโลกร้อน2020
คุณนันทิชา โอเจริญชัย (น้องหลิง) ผู้ก่อตั้ง “Climate Strike Thailand

หลายภาคส่วนพยายามผลักดันทิศทางการพัฒนาสู่การมีความรับผิดชอบต่อสังคมและตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ในฐานะยานพาหนะสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต การเรียกร้องให้สังคมวงกว้างตระหนักถึงภัยและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปโดยการนัดกันลาหยุดกิจกรรมประจำเพื่อมาเรียกร้องและทวงคืนต้นไม้ ป่าไม้และธรรมชาติที่สมดุลผ่านขบวนการ Climate Strike Thailand ที่มีคุณนันทิชา โอเจริญชัย (น้องหลิง) เป็นผู้ก่อตั้งและประสานงาน ย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและจะรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต ถ้าวันนี้คนในเมืองและชนบทยังไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิถีปฏิบัติเพื่อลดปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงนั้น ขบวนการ Climate Strike เป็นแนวคิดและการริเริ่มของเกรตา ธันเบิร์ก สาวน้อยนักกิจกรรมด้านภูมิอากาศจากประเทศสวีเดน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นกระบอกเสียงพร้อมการรวมตัวจากคนทุกๆ ภาคส่วนเพื่อเรียกร้องและรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังในทุกๆ วันศุกร์ ด้วยความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ ชอบทำกิจกรรมที่ได้สัมผัสกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นเด็กในเมือง มีโอกาสไม่บ่อยที่จะเห็นพื้นที่สีเขียว เมื่อได้เปิดประตูสู่กิจกรรมนอกห้องเรียนจึงเริ่มเห็นคุณค่าและทราบซึ้งถึงบุญคุณของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ โดยมนุษย์ต้องตอบแทนคืนธรรมชาติด้วยหน้าที่และบทบาทที่จะเป็นผู้พิทักษ์ให้เกิดความสมดุล พื้นฐานความคิดและทัศนคติเหล่านี้ปลูกฝังมาจากวัยเด็กและการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ทั้งนี้น้องหลิงเน้นย้ำว่าการจะวางนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้และพื้นที่สีเขียวของเมืองได้นั้น อยากจะเชิญชวนให้นักการเมืองหรือผู้กำหนดนโยบายได้มีโอกาสออกไปสัมผัสธรรมชาติเพื่อจะรับรู้ปัญหาและแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง โดยไม่ใช่แต่จะนั่งในห้องสีเหลี่ยมเพื่อปั้นแต่งนโยบายเท่านั้น

เราจะมองอนาคตและเดินไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างไร คำถามสุดท้ายในเวทีสนทนาครั้งนี้ อาจจะไม่ได้มีเพียงผู้ร่วมสนทนาเป็นผู้ตอบเท่านั้น แต่ยังสะท้อนไปถึงผู้ร่วมงานและทุกภาคส่วนอีกด้วย ประเด็นสำคัญที่เราต้องคำนึงคือการหากุญแจที่จะไขประตูและนำพาพวกเราทุกคนออกไปสู่แสงสว่างนั้นได้พร้อมกันโดยเน้นย้ำถึงสโลแกนจากยุทธศาสตร์ชาติที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” 

กรณีป่าชุมชน ความมั่นคงนั้นต้องมีพื้นฐานจากทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนธรรมชาติ และทุนกายภาพที่มีความมีชอบธรรม ทุกคนสามารถเข้าถึง มีสิทธิและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเป็นธรรม มีความมั่นใจในการตัดสินใจที่จะดูแล จัดการป่าของตนเองได้บนพื้นฐานของทัศนคติ การศึกษาในระบบที่ให้คุณค่าของวิถีวัฒนธรรมในท้องถิ่น  และ ความมั่งคั่งเป็นทุนการเงินที่จะเป็นผลต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นในสิทธิและการใช้ที่ดินป่าไม้นั้น ชุมชนสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ที่หลากหลายจากสินค้าและบริการจากทรัพยากรป่าชุมชนได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนป่าเศรษฐกิจสู่การพัฒนาสีเขียวบนฐานทรัพยากรป่าไม้  ที่สำคัญคือ มูลค่าของต้นไม้จะเพิ่มขึ้นถึง 200 เท่าตลอดระยะเวลาที่เติบโตจนถึงการตัดขาย และท้ายที่สุดคือการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ความยั่งยืนที่ต้องอาศัยการเป็นหุ้นส่วนจากทุกภาคส่วน 

พร้อมหรือยัง ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงอนาคตด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในปัจจุบัน

 

ภารกิจของศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งสวีเดน (Sida)