กลุ่มสตรีไทยรวมตัวกันเพื่อปกป้องป่าชุ่มน้ำของชุมชน
กลุ่มสตรีจากบ้านบุญเรืองมีบทบาทสำคัญและพยายามที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยล้มเลิกแผนการแปลงพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ 3,020 ไร่ ซึ่งเป็นที่พึ่งพาอาศัยของชาวบ้านให้กลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรม พวกเธอได้ช่วยสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมเกี่ยวกับประเด็นชุมชนคัดค้านนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่ออนาคตของป่าชุ่มน้ำของบ้านบุญเรือง ความพยายามนี้มีส่วนช่วยให้ชุมชนได้รับ รางวัล Equator Prize จากโครงการพัฒนาสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2563
ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรืองตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย โดยจะเกิดน้ำท่วมตามฤดูกาลด้วยน้ำจากภูเขาที่รายล้อม และเป็นส่วนหนึ่งในเขตลุ่มแม่น้ำอิงที่มีความยาว 260 กิโลเมตรไหลจากจังหวัดพะเยาถึงจังหวัดเชียงรายในเขตภาคเหนือของประเทศไทย และไหลต่อไปยังแม่น้ำโขง ป่าชุ่มน้ำนี้เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และเกื้อกูลการดำรงชีวิตของชาวบ้านในเชิงระบบนิเวศ เช่น เป็นแหล่งน้ำสะอาดทั้งน้ำกินน้ำใช้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความรุนแรงของภัยน้ำท่วม เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน และสร้างสมดุลระดับน้ำให้กับแหล่งน้ำบาดาลอีกด้วย
ผู้เขียนได้พูดคุยกับจันทร์แรม เรืองวิลัย ตัวแทนผู้หญิงคนเดียวของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง เนียม จันทะเรือง ประธานของกลุ่มแม่หญิงบุญเรือง และกรรณิการ์ จินะสาม สมาชิกของกลุ่มสตรีในชุมชน พวกเธอได้บอกเล่าถึงความคิด เหตุผลและวิธีการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณมาเข้าร่วมกับกลุ่มสตรี?
จันทร์แรม เรืองวิสัย: “ฉันมีความผูกพันกับป่าชุ่มน้ำนี้มาตั้งแต่เกิด เพราะคุณพ่อเป็นชาวประมงพื้นบ้านและจะกลับบ้านมาพร้อมกับปลา ผัก เห็ด และหน่อไม้ แล้วคุณแม่ก็จะนำไปทำอาหารให้ทุกคน คุณพ่อจะเก็บผลไม้ป่ามาให้และยังคิดถึงรสชาติของผลไม้ป่าที่พ่อเก็บมาฝากอยู่เสมอ พอมีเวลาว่างฉันก็จะไปจับปลาบริเวณเดียวกันที่คุณพ่อเคยจับปลาในป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง”
เนียม จันทะเรือง: “ผู้หญิงทุกคนในชุมชนนี้เป็นสมาชิกของกลุ่ม ฉันเข้ากลุ่มนี้ตั้งแต่สามีกับฉันย้ายกลับมาที่บ้านบุญเรืองในปี 2557”
กลุ่มสตรีของชุมชนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง?
เนียม จันทะเรือง: “เราทำงานที่เกี่ยวกับป่าชุ่มน้ำร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง รวมถึงมีการร่วมมือกับเครือข่ายภายนอกด้วย โดยเข้าร่วมประชุมพูดคุยและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอกอย่างเครือข่ายแม่ญิงพะเยา”
กรรณิการ์ จินะสาม: “กลุ่มสตรีมุ่งเน้นให้ผู้คนมีความรักความหวงแหนต่อป่าชุ่มน้ำ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม เช่น ฉันจะแจ้งข่าวเรื่องป่าชุ่มน้ำให้กับลูก ๆ ที่เรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ลูก ๆ ก็รักและอยากจะปกป้องป่าชุ่มน้ำนี้ไว้เหมือนกับฉัน ถึงแม้จะอยู่ไกลบ้าน ลูก ๆ ก็ยังรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้านบุญเรืองนี้”
คุณรู้สึกอย่างไรตอนที่ได้ยินว่ารัฐบาลอยากนำพื้นที่ป่าชุ่มน้ำให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ?
เนียม จันทะเรือง: “ฉันรู้สึกร้อนใจมากเวลาที่มีภัยและส่งผลกระทบกับป่าชุ่มน้ำ ฉันนอนไม่หลับเลยเพราะกลัวว่าจะมีใครมาเอาป่าไปจากพวกเราจริงๆ”
จันทร์แรม เรืองวิลัย: “ฉันรู้สึกเศร้าและเป็นกังวลมาก จึงเข้าร่วมกับคนอื่น ๆ ในชุมชนเพื่อปกป้องพื้นที่นี้”
กลุ่มสตรีช่วยปกป้องป่าชุ่มน้ำบุญเรืองอย่างไรบ้าง?
เนียม จันทะเรือง: “ทุกคนในชุมชนมีบทบาทในการปกป้องรักษาป่าไว้ ผู้หญิงทุกคนมีส่วนร่วมในเกือบจะทุกแง่มุม เราทำงานร่วมกับผู้อาวุโสในกิจกรรมทางวัฒนธรรมและพิธีกรรมตามความเชื่อท้องถิ่น จัดเตรียมพิธีและเครื่องเซ่นไหว้เพื่อสืบชะตาให้ผืนป่า อีกทั้งยังได้เตรียมการต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยมเยือนชุมชนและป่าชุ่มน้ำ”
จันทร์แรม เรืองวิลัย: “เราช่วยสื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียและช่องทางอื่น ๆ ในการบอกเล่าเรื่องราวของพวกเรากับผู้คนนอกชุมชน จากการโพสต์ของลูกหลานไปยังภายนอก เราร่วมมือกับเครือข่ายแม่หญิงลุ่มน้ำอิงเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานและแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิง ซึ่งกลุ่มผู้หญิงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องไม่ให้พื้นที่ป่าชุ่มน้ำถูกนำไปเป็นแหล่งอุตสาหกรรม”
###
พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค เป็นผู้ประสานงานของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยได้สนับสนุน RECOFTC และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายในการดำเนินโครงการสร้างเสริมความแข็งแกร่งกับเครือข่ายท้องถิ่นและผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการลุ่มแม่น้ำอิงอย่างยั่งยืน จากโครงการนี้ ชุมชนได้เก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการสะสมคาร์บอนของป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง
เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของ พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค แต่เพียงผู้เดียว และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป
งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)