ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานและการจัดการป่าไม้แลกเปลี่ยนมุมมองในเวทีเสวนาสถานการณ์การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และนำเสนอบทเรียนการส่งเสริมมาตรฐานป่าไม้ในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ทางรีคอฟ ประเทศไทย ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund - WWF) สำนักงานประเทศไทย ร่วมจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์ผ่านวงเสวนา 2 หัวข้อ ประกอบด้วย
- “สถานการณ์และทิศทางของการจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมมาตรฐานป่าไม้ในประเทศไทย”
- “บทเรียนและประสบการณ์ของการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงการรับรองมาตรฐานป่าไม้”
เวทีแลกเปลี่ยนนี้จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในห่วงโซ่มูลค่าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ในการเข้าสู่มาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้ (Sustainable Forest Management Certification) และมาตรฐานรับรองห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากไม้ (Chain of Custody Certification) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในทางการค้าระหว่างประเทศ สร้างประโยชน์ทางการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคำนึงถึงสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีมุมมองวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ ในวงเสวนาได้กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง
"นโยบายป่าไม้ของประเทศไทยได้เพิ่มมิติทางเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับเป้าหมายสากลในการลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ตั้งแต่พ.ศ. 2535 แต่มีข้อจำกัดเรื่องขาดฐานข้อมูลป่าไม้ในระดับชาติ และคำนิยามของ “พื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว” มีความแตกต่างจากความหมายที่ใช้ในระดับนานาชาติ สำหรับการรับรองมาตรฐานใประเทศไทยปัจจุบันเป็นมาตรฐาน Forest Stewardship Council ทั้งหมด จำนวน 34 ราย เป็น ยางพารา มากที่สุด ถึงแม้การขอรับรองมาตรฐานมีความซับซ้อน แต่จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการตลาดให้กับเกษตรกร และในระยะยาวเกิดความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมในการจัดการป่าไม้ของประเทศ" ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คุณไพร สุดจิตร์ หัวหน้ากองส่งเสริมมาตรฐานสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เสริมมุมมองกยท.ว่า "กยท. มีบทบาทสนับสนุนเกษตรกรสวนยางให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานได้ เช่น ให้ความรู้ด้านการจัดการสวนยางที่ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนงบประมาณการปลูกแทนยางเดิม สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาผลผลิต ให้สวัสดิการแก่เกษตรกรชาวสวนยาง สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร และค้นหาช่องทางตลาดเพื่อรองรับผลผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมถึงพัฒนาบุคลากรของกยท.เพื่อให้ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยได้อย่างเต็มที่"
คุณบุญสุธีย์ จีระวงค์พานิช นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กรมป่าไม้ มองแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรของกรมป่าไม้ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกเศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรม สนับสนุนกล้าไม้ และคำแนะนำเชิงวิชาการ สำหรับพื้นที่ คทช. มี โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 สนับสนุนกล้าไม้ เงินทุน และคู่มือชนิดพรรณไม้ที่แนะนำปลูกในพื้นที่ คทช.
คุณวิชชา พิชัยณรงค์ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พยายามสร้างมาตรฐานของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับระดับสากล โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ ‘One test, Accepted everywhere. Certified once, accepted everywhere.’ ที่ผ่านมาได้จัดทำและพัฒนามาตรฐานระบบจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ป่าไม้ไทยยิ่งขึ้น คือ มาตรฐานเลขที่ มอก. 14061 เล่ม 1-2559 ซึ่งมาตรฐานนี้ได้รับการเทียบเคียงกับมาตรฐานของ Programme for the Endorsement of Forest Certification หรือ PEFC
คุณปรัศนีย์ ทิพย์รักษา ผู้แทน Forest Stewardship Council (FSC) ประจำอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้กล่าวถึงข้อท้าทายของการรับรองมาตรฐาน คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดยังความรู้เรื่องมาตรฐาน และเกษตรกรจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ควรสร้างการรับรู้และเสริมความรู้ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดนโยบายสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรขอรับรองมาตรฐานและลดข้อกำหนดที่ไม่เอื้อต่อการขอมาตรฐาน สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรและเตรียมความพร้อมด้านการตลาด เพื่อให้เกิดการค้าขายอย่างยั่งยืน
คุณประเสริฐ จรัญฤทธิกุล ประธานสหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด กล่าวเพิ่มว่า "สหกรณ์ฯ เป็นหน่วยงานอันดับต้นๆในประเทศที่ขอรับรองมาตรฐาน FSC โดยปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือ ความมุ่งมั่นของผู้นำและความร่วมมือของกลุ่มที่เข้าใจและมีจุดมุ่งหมายตรงกัน สหกรณ์ฯใช้เวลา 3 ปีจึงได้รับมาตรฐานสำหรับยางก้อนถ้วย สามารถขยายฐานสมาชิก มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และได้ราคาที่สูงขึ้นจากการได้รับรองมาตรฐาน แล้วความท้าทายของเกษตรกร คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อขอรับรอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความเข้าใจเรื่องมาตรฐาน และการเลือกมาตรฐานขึ้นอยู่กับคู่ค้าว่าต้องการตัวใด ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้กลุ่มได้"
คุณพัทธธัญญ์ พิมพ์กินรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานป่าไม้ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวถึงข้อท้าท้ายการดำเนินงานด้านมาตรฐานป่าไม้ประเทศไทย คือ ขาดเจ้าภาพด้านมาตรฐานและด้านการตลาด ขาดการดำเนินงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติ และขาดการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นควรมีการประชุมผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง หาเจ้าภาพกลาง และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการรับรองมาตรฐานในประเทศไทย
คุณอัครินทร์ วงศ์อภิรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (มอก.) ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างทางสำนักงานการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย ร่วมกับ มอก. ผลักดันมาตรฐาน มอก. ให้ได้รับเทียบเคียงกับ PEFC อย่างเป็นทางการในปี 2562 และส่งเสริมการเข้าถึงการรับรอง FM และ COC ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาด และมีความตั้งใจจะทำให้ต้นทุนการขอรับรองมาตรฐานถูกลง การรับรองมาตรฐานป่าไม้เป็นสิ่งจำเป็นและมีแนวโน้มถูกผลักดันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ
เวทีเสวนาออนไลน์ครั้งนี้จัดขึ้นร่วมกันภายใต้โครงการ การค้าไม้อย่างยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Sustainable forest trade in the lower Mekong region project) ซึ่งสนับสนุนโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และแผนงาน UN-REDD และโครงการการพัฒนาผู้มีส่วนร่วมแบบหลายภาคส่วนระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพารา (Development of a multi-actor partnership in South-East Asia to promote sustainable agricultural value chains in the rubber sector Project) ที่สนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
โปรดติดตามรายงานพิเศษสำหรับเสวนานี้(ฉบับเต็ม) ที่นี่ เร็วๆ นี้
ภารกิจของรีคอฟ นั้นเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนหลักจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งสวีเดน (Sida)