คนปลายน้ำ-ต้นน้ำร่วมมือกันปลูก “ต้นไม้ของเรา” คืนความเขียวให้ผืนป่าน่าน
กลางฤดูฝนปี 2565 หญิงสาวสองคนที่อยู่ไกลกันกว่า 700 กิโลเมตร คนหนึ่งอยู่ต้นแม่น้ำน่าน อีกคนอยู่ปลายแม่น้ำเจ้าพระยา โคจรมาพบกันบนเนินเขาแห่งหนึ่งใน จ.น่าน
ทิพย์สุดา นาคทั่ง อายุ 36 ปี นักธุรกิจเจ้าของกิจการขนส่งใน จ.นนทบุรี กำลังช่วยวรารัตน์ วุฒิ เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 26 ปี ปลูกต้นไม้ลงบนที่ไร่ในหมู่บ้านศรีบุญเรือง ต.พงษ์ อ.สันติสุข
ครอบครัวของวรารัตน์ได้รับสิทธิทำกินบนที่ดิน 19 ไร่ จากโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) หรือที่เรียกว่า “ที่ดิน คทช.” ที่ดินผืนนี้ผ่านการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานหลายปี คุณภาพดินก็เสื่อมโทรมลงมาก แม้จะเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ก็ได้ผลไม่ค่อยดีนัก ไม่ต่างจากที่ดินโดยรอบที่แทบไม่เหลือร่องรอยว่าเคยเป็นผืนป่ามาก่อน
ความแห้งแล้งที่แผ่ขยายและอากาศที่ร้อนจัดขึ้นทุกทีในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้พืชผลที่ปลูกไว้ถูกไฟไหม้ไปถึงสองครั้งในช่วงเวลาห่างกันไม่กี่ปี วรารัตน์เริ่มคิดว่า ถ้ายังคงทำการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบนี้ต่อไป ที่ดินผืนนี้คงเสื่อมโทรมลงจนปลูกอะไรไม่ได้อีก
เมื่อกลุ่มรักษ์สันติสุข องค์กรชุมชนที่ทำงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นใน อ.สันติสุข ร่วมกับศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) เปิดตัวโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนเพื่อนำเงินมาสนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำกินในเขตต้นน้ำและป่าเสื่อมโทรม ลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว-เพิ่มจำนวนไม้ยืนต้น เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและสร้างรายได้เสริม วรารัตน์จึงสมัครเข้าร่วมโครงการทันที
31 กรกฎาคม 2565 วรารัตน์ลงมือปลูกต้นไม้ในที่ดินของเธอในกิจกรรมปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรกของโครงการ โดยมีโดยมีกลุ่มแฟนคลับศิลปิน “เป๊ก ผลิตโชค” ที่ร่วมบริจาคเงินสนับสนุนโครงการ เดินทางมาช่วยปลูกต้นไม้อย่างแข็งขัน
“เรารู้ดีว่าการฟื้นฟูป่าเป็นหน้าที่ของทุกคน แต่พวกเราอยู่ไกล ไม่มีโอกาสช่วยได้โดยตรง ก็เลยขอมีส่วนร่วมด้วยการบริจาคเงินและมาช่วยปลูกต้นไม้นำร่องในวันนี้” ทิพย์สุดา สมาชิกกลุ่มแฟนคลับบอกกับวรารัตน์ “ฝากคนในพื้นที่ช่วยดูแลต้นไม้ และขอเป็นกำลังใจในการฟื้นฟูที่ตรงนี้ให้เป็นป่าต้นน้ำของเราตลอดไปนะคะ”
วรารัตน์พยักหน้าพร้อมรอยยิ้มกว้าง และรับปากว่าจะดูแลต้นไม้ทุกต้นอย่างดีที่สุด
ทำไมต้องเป็นน่าน
ผืนป่าในจังหวัดน่านเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยา ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่ากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามาจากแม่น้ำน่าน ปริมาณและคุณภาพของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่หลายสิบล้านชีวิตพึ่งพา จึงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำที่นี่
แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของน่านถูกทำลายไปมากกว่า 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อราว 30 ปีก่อน ที่ทำให้เกิดการแผ้วถางป่าขนานใหญ่เพื่อทำไร่ข้าวโพด
การสูญเสียพื้นที่ป่า ความเสื่อมถอยของระบบนิเวศ วิกฤตภัยแล้ง น้ำป่า หมอกควันพิษและการปนเปื้อนของสารเคมีในผืนดินและแหล่งน้ำจากการปลูกพืชไร่ระยะสั้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้คนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น การแห่ปลูกพืชไร่ระยะสั้น ยังทำให้เกษตรกรจำนวนมากยากจนและติดอยู่ในวังวนหนี้สินจากราคาพืชผลที่ผันผวน ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและระบบเกษตรพันธสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
องค์กรชุมชนอย่างกลุ่มรักษ์สันติสุขมองเห็นปัญหานี้ และปรารถนาจะพลิกฟื้นระบบนิเวศป่าไม้ พร้อมทั้งนำพาเกษตรกรใน อ.สันติสุข ให้พ้นจากวงจรการทำเกษตรเชิงเดี่ยว จึงจับมือกับรีคอฟช่วยกันคิดและออกแบบโครงการต้นไม้ของเราขึ้นมา
กลไกใหม่ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
โครงการต้นไม้ของเรา เป็นโครงการระดมทุนผ่านทางเว็บไซต์ taejai.com เปิดรับบริจาคขั้นต่ำ 100 บาท สำหรับการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ 1 ต้น โดยตั้งเป้าหมายระดมทุนให้ได้ 1 ล้านบาทภายในระยะเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565-24 กุมภาพันธ์ 2566
เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปสนับสนุนให้เกษตรกรใน อ.สันติสุข จำนวน 100 คน ปลูกไม้ยืนต้นพันธุ์พื้นถิ่นจำนวน 100 ต้น บนพื้นที่ 1 ไร่ในที่ดินทำกินของตัวเอง และดูแลรักษาเป็นเวลาสามปี ทำให้ อ.สันติสุขมีต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10,000 ต้น กระจายอยู่ในที่ดินทำกินของเกษตรกร
สถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุข ภายใต้การดูแลของกลุ่มรักษ์สันติสุข เป็นผู้บริหารจัดการด้านการเงิน โดยแบ่งจ่ายเงินค่าปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นงวด ๆ ตลอดระยะเวลาสามปี รวมเป็นเงิน 6,000 บาท หลังจากสามปี เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ต้องเป็นไปตามสิทธิในที่ดินของเกษตรกรแต่ละคน
เกษตรกรจะเป็นคนเลือกชนิดของต้นไม้ที่ปลูกเอง ซึ่งทางโครงการแนะนำให้ปลูกพันธุ์ไม้พื้นถิ่นที่พบในป่าแถบนี้ซึ่งเติบโตได้ดี มีอัตรารอดสูง เอื้อต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ และเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น มะขามป้อม สมอพิเภก และสมอไทย เกษตรกรหลายคนหวังเก็บเห็ดขายเป็นรายได้เสริม จึงเลือกปลูกไม้ตระกูลยาง เช่น ยางนา ยางเหียง เต็ง รัง พะยอม เพื่อนำพาความชุ่มชื้นที่ชักนำให้เห็ดนานาชนิดเติบโต
ปฏิบัติการชุบชีวิตผืนดิน
หลังจากเปิดระดมทุนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีการเปิดรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ
เกษตรกร 17 รายแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการล้วนมีที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ปลูกพืชเชิงเดี่ยวต่างชนิดกันไป ทั้งยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ โกโก้ และอะโวกาโด แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่ระยะสั้น หันมาปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างรายได้เสริม
“อยากให้พื้นที่ตรงนี้กลับมาเป็นสีเขียว” วรารัตน์ หนึ่งในเกษตรกร 17 คน เผยถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ เธอเชื่อมั่นว่าไม่นานนักต้นไผ่ พะยูง และยางนาที่ปลูกใหม่จะเติบใหญ่ให้ร่มเงาและนำความชุ่มชื้นกลับมาสู่ที่ดินผืนนี้
“ตรงนี้มีเชื้อเห็ดอยู่ เคยมีเห็ดโคนขึ้น ถ้ามีไม้ยืนต้นมันก็จะชุ่มชื้นและมีเห็ดออก เราก็เก็บไปขายได้ราคาดี” วรารัตน์บอกอย่างมีความหวัง
สยาม วงษ์เทศ เกษตรกรวัย 47 ปี ซึ่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวไร่ในที่ดิน คทช. 8 ไร่มาหลายปี บอกว่าเธอรับรู้ถึงผลกระทบจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งต่อตัวเกษตรกรและสภาพแวดล้อม
“เราคิดมาตลอดนะว่าทำยังไงให้บริเวณนี้กลับมาชุ่มชื้น มีเห็ด มีหน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของเรา แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ลงมือทำ โครงการนี้เป็นจังหวะดีที่เราจะได้เริ่มต้น”
หลังจากได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการ สยามรีบปรับเปลี่ยนพื้นที่ 1 ไร่ ที่เคยปลูกข้าวโพด เพื่อเตรียมลงยางนาและสักก่อนจะหมดฤดูฝน
“เงินที่ได้รับการสนับสนุนอาจจะไม่ได้เยอะ แต่ก็ช่วยแบ่งเบาค่าบำรุงดูแลต้นไม้ได้บ้าง ที่สำคัญคือเป็นกำลังใจให้เกษตรกรในการปลูกและดูแลต้นไม้” สยามกล่าว
เกษตรกรมองว่าโครงการต้นไม้ของเราช่วยให้พวกเขาปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนผู้บริจาคมองว่าโครงการนี้เปิดโอกาสให้คนเมืองมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ แล้วภาคส่วนอื่นมองอย่างไร?
กฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน มองว่า ต้นไม้ของเราเป็นโครงการที่จะช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเกษตรกรน่าน จากผู้ทำลายเป็นผู้พิทักษ์แหล่งต้นน้ำ และช่วยฟื้นอัตลักษณ์ “เมืองสีเขียว” ของน่านให้กลับคืนมา
“คนน่านน้อยใจที่ถูกมองว่าเราเป็นคนทำลายป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต ปัจจุบันคนน่านยืนยันว่าเราจะเป็นผู้สร้างป่า เป็นผู้รักษาต้นน้ำ เป็นคนที่ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาคงอยู่” รองผู้ว่าฯ กล่าวระหว่างร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรกของโครงการต้นไม้ของเรา ที่บ้านศรีบุญเรือง อ.สันติสุข เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565
กฤชเพชรมองว่าโครงการต้นไม้ของเรา ไม่เพียงทำให้เกษตรกรใน อ.สันติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของ จ.น่าน ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพราะป่าไม้ที่สมบูรณ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน
ด้วยเหตุนี้ โครงการต้นไม้ของเรา จึงได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใน จ.น่าน ที่กำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทางด้าน ดร.สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่า และผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ มองว่าโครงการต้นไม้ของเรา “ช่วยสานต่อภารกิจของกรมป่าไม้ในการแก้ปัญหาการทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ”
ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ได้สิทธิทำกินในที่ดิน คทช. ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทตามชั้นลุ่มน้ำ และที่ดินแต่ละประเภทก็มีเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ต่างกัน ความเข้าใจของเกษตรกรเกี่ยวกับระเบียบการใช้ประโยชน์ในที่ดินจึงเป็น “บันไดขั้นแรก” ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ ซึ่งกรมป่าไม้พร้อมให้คำแนะนำและสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกร
ดร.สุวรรณย้ำว่า กรมป่าไม้ไม่มีนโยบายเอาคนออกจากป่าและพร้อมจะสนับสนุนโครงการต้นไม้ของเรา และโครงการอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนกับป่า และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
นอกจากนี้โครงการต้นไม้ของเรายังเป็นการเปิดประตูสู่คาร์บอนเครดิต ซึ่งการระดมทุนได้ครบ 1 ล้านบาท ปลูกต้นไม้ได้ 10,000 ต้นในพื้นที่ 100 ไร่ ต้นไม้เติบโตดี ระบบนิเวศเริ่มฟื้นตัว เกษตรกร 100 คนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นับเป็นเป้าหมายระยะแรกของโครงการต้นไม้ของเรา ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือการที่ต้นไม้เหล่านี้กลายเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนและช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
“วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญ ทำให้การเพิ่มพื้นที่ป่าไม่ใช่แค่เรื่องของการทำตามนโยบายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อดูดซับคาร์บอนและยับยั้งการล่มสลายของระบบนิเวศ” วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย รีคอฟกล่าว และฉายภาพก้าวต่อไปของโครงการต้นไม้ของเราว่า เมื่อตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ พื้นที่ปลูกต้นไม้ของโครงการก็อาจจะสามารถขายคาร์บอนเครดิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มเติมจากการลงแรงปลูกและดูแลต้นไม้ในครั้งนี้
ต้นไม้ "ของเรา"
สิ่งหนึ่งที่ทำให้โครงการต้นไม้ของเรา แตกต่างจากโครงการอื่นๆ คือ การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทั้งในฝั่งเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ และฝ่ายผู้บริจาคที่สามารถติดตามความเติบโตของต้นไม้จากฐานข้อมูลออนไลน์ที่บันทึกประวัติต้นไม้ทุกต้น พิกัดจีพีเอสของตำแหน่งที่ปลูก ชื่อเกษตรกรผู้ปลูกและดูแลรักษา การเจริญเติบโต ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ และปริมาณคาร์บอนที่คาดว่าจะต้นไม้ดูดซับได้
“โครงการปลูกป่าทั่วๆ ไปมักเป็นการแจกกล้าไม้ให้คนไปปลูก แต่โครงการต้นไม้ของเราสร้างกลไกที่ทำให้เงินถึงมือเกษตรกรซึ่งเป็นคนลงมือปลูกและดูแลต้นไม้ในที่ทำกินของตัวเอง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากต้นไม้ได้” วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการแผนงานประเทศไทย รีคอฟ กล่าว
ศรีไทย ศิริมูล รองประธานสถาบันการเงินรักษ์สันติสุข บอกว่าที่ผ่านมามีหน่วยงานต่าง ๆ มาส่งเสริมการปลูกต้นไม้ใน จ.น่าน หลายโครงการ แต่เนื่องจากไม่มีกลไกทางการเงินและระบบการติดตามดูแลรักษารองรับ จึงไม่ประสบความสำเร็จนัก
“แต่โครงการนี้ให้เกษตรกรเลือกเองว่าอยากจะปลูกต้นอะไร ปลูกแล้วใช้ประโยชน์ได้ และยังมีค่าตอบแทนในการปลูกและบำรุงรักษา เกษตรกรก็รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลและรายงานความเติบโตของต้นไม้ให้ผู้บริจาคทราบ” ศรีไทยกล่าว พร้อมกับยืนยันว่าสถาบันการเงินชุมชนรักษ์สันติสุขจะบริหารจัดการเงินบริจาคและการจ่ายค่าตอบแทนให้เกษตรกรอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องคอยกำกับดูแล
รีคอฟ ประเทศไทย กลุ่มรักษ์สันติสุขและภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนโครงการนี้เชื่อว่า การที่เกษตรกรเป็นเจ้าของและได้รับประโยชน์จากต้นไม้ที่ปลูก เป็นหลักประกันว่าต้นไม้จะได้รับการดูแลและจัดการอย่างยั่งยืน และพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นใน อ.สันติสุขนี้ ก็จะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมและพวกเราทุกคน
###
บทความนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Wyss Academy for Nature สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการต้นไม้ของเรา (Trees4All) ได้ที่ www.recoftc.org/en/thailand/projects/trees4all
งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)