RECOFTC ประเทศไทย
บทความ

ป่าชุมชนกับสังคมไทย

02 July 2011
สมหญิง สุนทรวงษ์
Perspectives
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชน
แผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า

โดยพื้นฐานสังคมชนบทไทยชาวบ้านล้วนอาศัยพึ่งพาป่าเพื่อปัจจัย 4 ซึ่งได้แก่ แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค  และเครื่องนุ่งห่ม ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาเป็นเวลานานแล้ว  นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้พึ่งพาน้ำที่มีต้นธารจากป่าเพื่อการเกษตร  อาศัยผลผลิตจากป่าเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำเกษตรกรรม  อีกทั้งป่ายังเป็นแหล่งที่มาของความเชื่อ ประเพณี ซึ่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ของชุมชน บทบาทของป่าต่อความอยู่รอดของชุมชนจึงมีมาเนิ่นนานและไม่สามารถแยกจากกันได้ ชุมชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชนชาติพันธุ์ และชุมชนท้องถิ่นแทบทุกแห่งมีวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติในการจัดการและดูแลรักษาป่า เช่นความเชื่อเรื่องผีที่ดูแลป่า รักษาต้นน้ำ แบบแผนการใช้ทรัพยากรจากป่าอย่างรู้คุณค่า และมีกุศโลบายในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าผ่านทางพิธีกรรมต่างๆ  ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไปตามภูมินิเวศและวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง แม้ว่าชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มคนพื้นเมืองจะมีการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งรัฐเองก็มีนโยบายและกฏหมายในการหยุดการทำลายป่าก็ตาม แต่พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยยังมีการลดน้อยถ้อยลง และการทำลายป่ายังดำรงอยู่ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยทั้งการปฏิบัติ นโยบายและกฏหมายที่ไม่เอื้อและมีความขัดแย้งในตัวนโยบายเองและการปฏิบัติจริง ในขณะที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้พยายามในการอนุรักษ์และจัดการป่าไม้ เพื่อรักษาขนาดและพื้นที่ของป่า แต่นโยบายในการส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และความต้องการของตลาดมีการขยายตัวและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและกระบวนทัศน์ของคนท้องถิ่น  นอกจากนั้นกฎหมายป่าไม้ที่ไม่เอื้อและไม่ทันสมัยต่อสถานการณ์ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์  ซึ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน และทรัพยากรป่าไม้

ป่าชุมชน คืออะไร?

ป่าชุมชน (Community Forest)  เป็นวิถีปฏิบัติและเป็นการปรับตัวของการจัดการทรัพยากรภายในชุมชนในการช่วยลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนในชุมชน จากการถูกแย่งชิงทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ  และเป็นแนวทางหนึ่งในการรักษาพื้นที่ป่าและความสมบูรณ์ของนิเวศป่าไม้ เพื่อให้ระบบนิเวศคงความสมดุลย์  เนื่องจากป่าชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญที่เป็นช่องทางให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ จัดการ ฟื้นฟูให้ป่ามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น และมีการใช้ทรัพยากรและผลผลิตจากป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นคงแห่งชีวิตของคนในชุมชน ดังนั้นเมื่อคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นจึงไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน และที่สำคัญยิ่งคือเพิ่มความสามารถให้กับมนุษยชาติ ได้เรียนรู้การอยู่อย่างสมดุลกับธรรมชาติและดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุข

 

 “ป่าชุมชนเป็นคำที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา เป็นทางเลือกในการจัดการทรัพยากรนิเวศป่าไม้โดยมีชุมชนเป็นฐาน หรือเป็นการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน ที่มีวิถีปฏิบัติเป็นระบบสิทธิหน้าหมู่ หรือเป็นระบบทรัพยากรร่วมของชุมชน นอกจากนั้น ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ได้กล่าวถึงป่าชุมชน ว่าเป็นกิจกรรมของคนชนบทในการจัดการทรัพยากรต้นไม้และป่าไม้ เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวและชุมชน เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและมอบอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปลูก จัดการ ป้องกัน และเก็บหาผลประโยชน์จากป่าไม้ภายใต้ระบบการจัดการที่ยั่งยืน ที่รวมถึงป่า ทั้งที่เป็นป่าบก ป่าชายเลน รวมถึงป่าพรุและบุ่งทาม ประกอบด้วย ต้นไม้ ทุ่งหญ้า พันธุ์พืช สัตว์ป่า แหล่งน้ำ และสรรพสิ่งในธรรมชาติที่เป็นระบบนิเวศทั้งหมด  ป่าชุมชนอาจตั้งอยู่รอบหมู่บ้าน  รอบแหล่งชุมชน หรืออาจอยู่ใกล้เคียงกับชุมชน  ชุมชนนั้นอาจจะเป็นชุมชนที่เป็นทางการ เช่น หมู่บ้าน อบต. หรือชุมชนตามประเพณีก็ได้ และก็อาจจะเป็นหนึ่งชุมชน หรือหลายชุมชนที่มาจัดการป่าชุมชนร่วมกันก็ได้ โดยที่คนในชุมชนนั้นๆ อาจเลือกใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และการรักษาระบบนิเวศก็ได้ขึ้นอยู่กับคนในชุมชนเป็นผู้วางแผนและตัดสินใจ ว่าจะใช้ประโยชน์อะไร และอย่างไรจากป่า จะดูแลรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาป่าชุมชนอย่างไร  ป่าชุมชนมีขอบเขตขนาดไหนที่ชุมชนจะดูแลได้ทั่วถึง

 

ป่าชุมชน

นอกจากนั้น  ในแวดวงของนักปฏิบัติการในงานพัฒนาสังคมและทรัพยากร ยังให้ความสำคัญต่อ ป่าชุมชนว่าเป็นมากกว่ากิจกรรมทางสังคม แต่เป็น กระบวนการการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ หากทำได้อย่างเหมาะสม ความสัมพันธ์ ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ชุมชนกับคนในสังคม คนกับคน จะถูกเปลี่ยนไปและนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่และสวัสดิการของชุมชน และการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม

 

การกำหนดกฎเกณฑ์ การวางแผนจัดการป่าชุมชน และการจัดตั้งกลไกเพื่อจัดการป่าชุมชนของชาวบ้าน หรือคนในชุมชนนั้นเกิดขึ้นมาได้ด้วยการวางแผนร่วมกันของคนในชุมชนที่ต้องมีส่วนร่วมของสมาชิกอย่างแท้จริง  นอกจากนี้การวางแผนจัดการของชุมชน ยังต้องเป็นที่รับรู้ และยอมรับของชุมชนรอบข้างด้วย มิเช่นนั้นก็อาจเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนขึ้นได้  ดังนั้นการจัดการป่าชุมชนที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนควรมีการทำงานร่วมกันในรูปเครือข่าย เช่น เครือข่ายลุ่มน้ำ เครือข่าย ป่าชุมชน เป็นต้น

การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

ลักษณะที่สำคัญของป่าชุมชน

  • เป็นการจัดการทรัพยากรแบบองค์รวม ที่มองทรัพยากรต่างๆ ในชุมชนล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแม้จะให้ความสำคัญกับป่าแต่ไม่แยกส่วนกับการจัดการทรัพยากรทั้งหมด หรือกล่าวได้ว่าเป็นการจัดการเชิงระบบนิเวศป่าไม้ (Forest Landscape)
  • ป่าที่ชุมชนใช้ประโยชน์ไม่ได้ ไม่ใช่ป่าชุมชน เพราะชุมชนได้เลือกที่จะดูแลรักษาป่าแทนการทำลายป่า  ดังนั้นชุมชนจึงต้องได้รับประโยชน์จากการรักษาป่าเป็นการทดแทน
  • ต้องมีขอบเขตที่ชาวบ้านสามารถจำแนกขนาดของพื้นที่ได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ที่มีการจัดการร่วมกันหลายชุมชนก็ได้  ซึ่งการกำหนดขอบเขตอาจจะกระทำร่วมกันระหว่างชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ก็ได้
  • ชุมชนมีอำนาจในการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างอิสระและสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ การร่วมรับผิดชอบและตัดสินใจ จุดประสงค์และเป้าหมายของการจัดการป่าชุมชนต้องสอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในชุมชน

ในประเทศไทยมีป่าชุมชนอยู่ที่ไหนบ้าง

แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับสถานภาพป่าชุมชน แต่ในทางปฎิบัติ กรมป่าไม้ได้มีการจัดตั้งสำนักจัดการป่าชุมชนและมีการสนับสนุนชุมชนในการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน ได้มีการจดทะเบียนการจัดตั้งป่าชุมชนโดยองค์กรชุมชน และมีการสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและทรัพยากร แต่อย่างไรก็ตามทั้งงบประมาณและบุคลากรก็ยังคงไม่เพียงพอ ในขณะ เดียวกันยังมีองค์กรชุมชนที่มีการจัดการนิเวศป่าไม้ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรมป่าไม้อีกจำนวนหนึ่งด้วยเนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายที่ชุมชนไม่สามารถอาศัยและมีการจัดการป่าในพื้นที่อนุรักษ์

ในปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดการนิเวศป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชนมากกว่า 10,000 ป่าชุมชน ซึ่งรวมทั้งที่ขึ้นทะเบียนกับ กรมป่าไม้และอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้รวมทั้งสิ้น 8,820 หมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 3,583,074 ไร่ (ข้อมูลเดือน กุมภาพันธ์ 2557) และป่าชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ และอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ อีก 1,906 ป่าชุมชน   ที่ครอบคลุม 10,726 หมู่บ้าน (ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า, 2556)  ซึ่งมีการประมาณการว่าชุมชนมีการจัดการพื้นที่ป่าในรูปแบบของป่าชุมชนมากกว่า 7,870,000 ไร่ (1.2 ล้านเฮแตร์) หรือประมาณ 7% ของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย ทั้งที่อยู่นอกเขตและในเขตพื้นที่อนุรักษ์ (อ้างอิงจาก พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย 17,200,000 เฮแตร์, FAO 2010)

 

ทรัพยากรในป่าชุมชน

ป่าชุมชนในประเทศไทยมีกระจายทั่วทุกภาคในรูปแบบการจัดการที่แตกต่างหลากหลายไปตามสภาพภูมินิเวศน์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ สังคม ได้แก่

ป่าชุมชนภาคเหนือ เนื่องจากสภาพพื้นที่ภาคเหนือเป็นที่สูง มีการสงวนรักษาพื้นที่ป่าเพื่อเป็นต้นน้ำ เป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และประกอบพิธีกรรม การดูแลรักษาป่าชุมชนทำโดยการจำแนกป่าออกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ เช่นเป็นป่าขุนน้ำ ป่าความเชื่อ ป่าใช้สอย และชุมชนผู้รักษาป่าก็มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์

 

ป่าชุมชนภาคอีสาน พื้นที่อีสานมีลักษณะเป็นที่ราบสูง พื้นดินเป็นโคก ดอน ชุมชนต่างๆรักษาป่าไว้ตามหัวไร่ปลายนา เพื่อเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และเป็นป่าที่ใช้ประโยชน์เชิงวัฒนธรรม นอกจากป่าบก ก็ยังมีป่าบุ่ง ป่าทาม ซึ่งเป็นป่าในพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่งที่มีชุมชนดูแลรักษาอยู่  

 

ป่าชุมชนภาคกลาง รวมภาคตะวันตกและตะวันออก พื้นที่ป่าทางตะวันตกเป็นป่าผืนใหญ่ยาวติดต่อมาจากภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้ ส่วนมากเป็นที่อยู่อาศัยของกะเหรี่ยง (ปกากะญอ)  ซึ่งมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในการรักษาป่ามาแต่เดิม ป่าชุมชนของชาวกะเหรี่ยงส่วนมาก ไม่ได้แบ่งแยกตามหมู่บ้าน แต่เป็นการใช้และดูแลป่าร่วมกันทั้งผืน เช่น กะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวร ขณะที่ในภาคกลางซึ่งเป็นชุมชนไทยพื้นราบก็มีป่าชุมชนกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ชัยนาท ในส่วนภาคตะวันออก ก็มีพื้นที่ป่าชุมชนบ้างเป็นหย่อมๆเช่นในเขตฉะเชิงเทรา ชลบุรี และป่าชายเลนในจังหวัดจันทบุรีและตราด

 

ป่าชุมชนภาคใต้ มีทั้งป่าชุมชนในเขตต้นน้ำบนยอดเขา ไปถึงป่าพรุชุมชน ป่าชายเลนชุมชน นอกจากนี้ในระดับครอบครัวก็มีการดูแลป่าผสมกับการทำสวน เช่นสวนสมรม สวนยางดั้งเดิมผสมป่า และการทำเกษตรสี่ชั้น

 

อ้างอิง

  • กรมป่าไม้  สำนักจัดการป่าชุมชน
  • เครือข่ายป่าชุมชน -ประเทศไทย
  • สำนักข่าวประชาไทย เรื่องป่าชุมชน
  • มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
  • องค์กรที่ทำงานด้านป่าชุมชนต่างๆ
  • ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ประเทศไทย