สรุปการประชุมป่าไม้โลกครั้งที่ 14
การประชุมป่าไม้โลกครั้งที่ 14 ที่เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ปิดฉากลงแล้ว โดยมีปฏิญญาร่วมกัน พร้อมเน้นย้ำภาคีป่าไม้โลกให้ตระหนักว่าหน้าที่ของทุกคน “ไม่ใช่แค่เรื่องต้นไม้"
การประชุมป่าไม้ระดับโลกครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2558 ณ เมืองเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ได้ปิดฉากลงแล้ว โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ผู้นำด้านป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชนจากหลายประเทศทั่วโลกกว่าสี่พันคนเข้าร่วมโดยที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันในการรับมือกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและป่าไม้โลก ซึ่งนับจากนี้ต่อไปการจัดการป่าไม้จะเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน การยกระดับคุณภาพชีวิตและการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน อีกทั้งมีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับการป่าไม้ในปี พ.ศ. 2593 และบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้จากทั่วโลกได้ลงมติยอมรับพร้อมลงมือปฏิบัติตามปฏิญญาเดอร์บันที่ผ่านการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมหารือกันมาร่วมหนึ่งสัปดาห์
เนื้อหาหลักๆ ของวิสัยทัศน์ร่วมกันด้านป่าไม้ในอนาคต เน้นย้ำ “ความมั่นคงด้านอาหาร และการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์” รวมทั้งการกำหนดให้ป่าไม้และต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการที่ดินของเกษตรกรเพื่อลดอคติและความเข้าใจผิดในประเด็นการตัดไม้ทำลายป่าและความขัดแย้งในแต่ละพื้นที่ และได้นำการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนไปเป็นหลักการในแก้ไขปัญหาด้านการยุติสภาวะโลกร้อน โดยนำมาประยุกต์ให้เข้ากับศักยภาพของชาวบ้านและการจัดการคาร์บอนที่เอื้อไปกับการบริการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตามแม้ตัวแทนภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านป่าไม้จากทั่วโลกจะรับ “ปฏิญญาเดอร์บัน” นี้แล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าปฏิญญานี้จะได้รับการลงมือปฏิบัติจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างแท้จริง จึงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับปฏิญญาเดอร์บันและแถลงการณ์ดังนี้
การลงทุนส่งเสริมด้านป่าไม้และภาคีเครือข่าย
เนื้อหานี้ครอบคลุมไปถึงการลงทุนส่งเสริมการศึกษาด้านวนศาสตร์ การสื่อสาร และงานวิจัยต่างๆ เพื่อสอดคล้องกับการสร้างงานให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังให้น้ำหนักไปยังการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคีเครือข่ายด้านป่าไม้ เกษตรกรรม การเงิน การพลังงานและแหล่งน้ำรวมถึงด้านอื่นๆ และที่สำคัญต้องเกิดการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นด้วย
Tiina Vähänen ผู้อำนวยการแผนกการบริหารจัดการและอนุรักษ์ป่าไม้ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ให้ข้อสังเกตว่า “เนื้อหาของปฏิญญาข้อนี้ ครอบคลุมและค่อนข้างจะมีความหลากหลาย เนื่องจากข้อเสนอแนะนั้นมาจากตัวแทนที่นำประสบการณ์จริงมาเป็นพื้นฐานที่จะเป็นแนวทางให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด”
แถลงการณ์ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals: SDGs
การประชุมนี้เน้นความสำคัญไปยังเป้าหมายของ SDG 17 ข้อที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ เพื่อจะนำไปปฏิบัติตามและนำไปสู่การประชุมเพื่อเป็นวาระสำคัญของการพัฒนาในปี 2030 ข้อสังเกตถึงข้อตกลงลำดับเป้าหมายที่15 ของ SDG ได้กล่าวถึง การบริหารจัดการป่าไม้และต้นไม้อย่างยั่งยืน และยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่อีก 16 เป้าหมาย ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการยุติความยากจน ความมั่นคงด้านอาหาร และการรณรงค์ด้านการจัดการเกษตรกรรมและพลังงานอย่างยั่งยืน
แถลงการณ์เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ
การประชุมนี้มีแถลงการณ์ฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและตกลงร่วมกันในข้อเสนอแนะใหม่ๆ ระหว่างประเทศต่างๆ ให้กับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกเนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศนั้นเป็นปัญหาที่คุกคามป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้อย่างมาก อย่างไรก็ตามยังเป็นโอกาสเดียวกันที่ประเทศต่างๆ จะแสดงความรับผิดชอบและเสนอแนวทางอยู่รอดให้กับป่าไม้ รวมถึงเพิ่มการสนับสนุนด้านทุนและศักยภาพทางการเมืองเพื่อให้เกิดรัฐธรรมาภิบาลด้านป่าไม้ด้วย
แผนปฏิบัติการณ์ด้านป่าไม้และแหล่งน้ำ
แผนปฏิบัติการณ์ฯ นี้เปิดตัวเป็นครั้งแรกที่การประชุมนี้ และเป็นแผนปฏิบัติการณ์นานาชาติด้านป่าไม้และแหล่งน้ำ ระยะ 5 ปี ที่ตระหนักถึงการบริหารจัดการต้นไม้และป่าไม้ว่าเป็นส่วนสำคัญและหนึ่งในวัฏจักรของน้ำ อีกทั้งยังยืนยันว่า เป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาและบริหารจัดการแหล่งน้ำที่เหมาะสมที่สุด
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมระดับโลกใหญ่ที่สุด ซึ่งจัดขึ้นทุก 6 ปี ภายใต้ประเด็นหลักที่ว่า “การลงทุนส่งเสริมด้านป่าไม้เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” และเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปแอฟริกาโดยเลือกจัดขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2505 ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติและรัฐบาลแอฟริกาใต้
การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นจากภูมิภาคเอเชีย
การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสและพื้นที่สำคัญยิ่งสำหรับการมีส่วนร่วมจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยทางศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และองค์กรร่วมจัดได้คัดเลือกตัวแทนผู้เข้าร่วมจากชุมชนท้องถิ่น 6 คน จากประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และไทย โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้
1.Ms. Teya Chawตัวแทนจากชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์นากาและยังเป็นวิทยากรอบรมเกี่ยวกับการการจัดการป่าไม้ระดับท้องถิ่น รัฐสะกายน์ ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีเขตชายแดนติดกับอินเดียทางเหนือ
2.นายเกริก มีมุ่งกิจ ตัวแทนวนเกษตรกร และผู้จัดการโครงการธนาคารต้นไม้ ประจำสาขาจังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย
3.Ms. Hoang Thi Chuyenตัวแทนจากสหภาพผู้หญิงและชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไตย ประเทศเวียดนาม
4.Mr. Em Sophoan ประธานกลุ่มป่าชุมชนจากท้องถิ่น ประเทศกัมพูชา
5.Mr. Khun Zaw ตัวแทนเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์จากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์
6.นายเกรียงไกร ชีช่วง สมาชิกสมาพันธ์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ประเทศไทย
ตลอดระยะเวลา 5 วันของการประชุมฯ ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์การทำงานของพวกเขาเหล่านี้ได้เข้าไปถึงกิจกรรมกว่า 30 เวทีย่อย เพื่อสะท้อนเสียงความต้องการจากชุมชนท้องถิ่นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างแท้จริงซึ่งแต่ละประเทศต่างกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในหลายประเด็นด้วยกัน
Ms. Teya ตัวแทนจากประเทศเมียนมาร์กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าการอนุรักษ์ป่าไม้จะเป็นสิ่งสำคัญเพียงใด แต่ชุมชนท้องถิ่นเองก็ต้องดิ้นรนในการหาเลี้ยงชีพตัวเองเป็นอย่างมากเช่นกัน ชาวบ้านนากาต้องการแนวทางการพัฒนาในการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงชีพของแต่ละครอบครัว และเมื่อป่าไม้เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านแล้ว ชาวบ้านต้องเห็นคุณค่าและหันมาดูแลป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน และจะนำเอาประสบการณ์ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไปเผยแพร่ให้กับชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
นายเกริก มีมุ่งกิจ จากประเทศไทย ได้กล่าวบนเวทีเสวนาว่า “หากเราสามารถปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด และสามารถที่จะเก็บเกี่ยวดอกผลอย่างเต็มที่ในที่ดินของเรา ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก แต่ขณะนี้ ยังมีเกษตรกรมากมายที่ยังเผชิญหน้ากับกฏหมายที่ไม่ให้สิทธิทางกฏหมายในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนอย่างเต็มที่ ซึ่งหากยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือทบทวน ก็จะทำให้พวกเราไม่อยากที่จะปลูกต้นไม้หรือทำการเกษตรต่อไปอีกแล้ว และการประชุมครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรวมตัวจริงด้านป่าไม้เพื่อมาระดมแนวทางการแก้ปัญหาและสนับสนุนชาวบ้านท้องถิ่นให้ได้รับประโยชน์จากวนเกษตรกรรม”
Ms. Em Sophoan ตัวแทนเจ้าของป่าไผ่จากประเทศกัมพูชา แสดงความคิดเห็นว่า “จากการสังเกตการณ์ตั้งแต่ปี 2536 ถึง 2552 พบว่า เกิดการทำลายและสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมากเนื่องมาจากขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้จากชุมชน แต่ภายหลังได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้และรีคอฟแล้ว ทำให้พวกเราได้รับการเสริมสร้างศักยภาพที่จะจัดตั้งและบริหารจัดการป่าชุมชนได้ด้วยตัวเอง และเมื่อปี 2014 ได้เริ่มต้นเรียนรู้แนวทางในฐานะผู้ประกอบการป่าไผ่ เป็นการรวมตัวของเกษตรกรที่ปลูกไผ่กว่า 150 คน และสร้างรายได้กว่า 8,754 ดอลล่าห์สหรัฐฯ ภายหลังจากแบ่งผลกำไรก็นำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาและบริหารป่าชุมชนเพื่อช่วยเหลือสมาชิก ถึงแม้ว่าแต่ละครอบครัวจะไม่ได้ผลกำไรเป็นเม็ดเงินที่มากมาย แต่ก็เป็นเงินที่เพียงพอกับการนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวในฤดูกาลต่อไปได้ และหวังว่าจะค่อยๆ เพิ่มมูลค่าของผลประกอบการขึ้นเรื่อยๆ”
ทางด้าน Ms. Hoang Thi Chuyen ตัวแทนจากประเทศเวียดนาม ได้เปิดเผยว่า “ที่เวียดนาม ทุกคนมีสิทธิถือครองที่ดินโดยผ่านการมีหนังสืออนุญาตปกสีแดงจากทางการ ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยดูแลป่าไม้เป็นอย่างดี และคนภายนอกไม่มีสิทธิมาตัดต้นไม้ในพื้นที่ของตน และถือว่าช่วยให้ครอบครัวและชุมชนนั้นมีรายได้ที่ดีขึ้นจากการจัดการที่ดินของตนเอง จนถึงวันนี้ ผืนที่ป่าไม้ชุมชนนับเป็นร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมดในหมู่บ้าน จึงนับได้ว่าหนังสืออนุญาตปกสีแดงจากทางการนั้นเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้ในลำดับแรก ส่วนลำดับต่อไป พวกเราต้องได้รับการเพิ่มศักยภาพในการจัดการบริหารป่าไม้ด้วยเช่นกัน และรู้สึกดีใจมากที่เป็นตัวแทนชุมชนท้องถิ่นในการเข้าร่วมการประชุมฯนี้ ซึ่งถือว่ามีตัวแทนจากภาคส่วนนี้น้อยมากที่เข้ามาร่วมงาน หวังว่าการประชุมฯครั้งหน้าจะเปิดพื้นที่และมีตัวแทนชุมชนท้องถิ่นมากกว่านี้”
เสียงของตัวแทนชุมชนท้องถิ่นดังกล่าวได้รับการรับฟังและเกิดความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันที่พวกเขาเผชิญอยู่ และนำไปสู่การพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของปฏิญญาเดอร์บันด้านป่าไม้ที่ว่า “ป่าไม้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องต้นไม้ แต่เป็นมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรากฐานการดำรงอยู่ของมนุษย์ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น ในอนาคต ป่าไม้จะมีบทบาทเป็นแหล่งเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหาร พลังงานถ่านไม้ ที่พักอาศัย วัตถุดิบเส้นใยและปศุสัตว์ ถือเป็นการสร้างรายได้และสร้างงานให้กับชุมชน มุ่งไปสู่สังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป”