การจัดการหนองบัว ฐานทรัพยากรในชุมชนบ้านบุญเรือง ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
หนองบัว อีกหนึ่งฐานทรัพยากรในลุ่มน้ำอิงที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง มีแหล่งน้ำหลากหลาย ทั้งหนอง ฮ่อง ห้วย ญ่าน และบวก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์น้ำหลากหลายชนิด
บัว เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นตามหนองที่มีโคลนตม เป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย ดอกบัวนำมาไหว้พระบูชา เมล็ดบัวมีสรรพคุณทางยามากมาย และสายบัวนำมาปรุงเป็นอาหาร
หนองอำในพื้นที่ชุ่มน้ำบุญเรือง มีบัวเงินเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและมีการจัดการโดยชุมชน เดิมชุมชนดูแลรักษา ให้คนในชุมชนใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีการบริหารจัดการเพื่อนำเงินเข้าสู่กองทุนหมู่บ้าน ในปีนี้มีการประมูลหนองบัวเพื่อนำเงินเข้าสู่หมู่บ้านเป็นเงิน 5,500 บาท ส่วนผู้ที่ประมูลได้ก็จะเก็บฝักบัวไปขายทุกวัน
พ่อสม คำนวน เล่าว่า “ในการเก็บฝักบัวพ่อจะปักเสาไว้เป็นแปลงๆ เพื่อง่ายต่อการเก็บและไม่สับสนว่าจุดนี้เก็บไปแล้วหรือยัง และมีการแบ่งครึ่งในการเก็บ วันนี้เก็บครึ่งแรก พรุ่งนี้เก็บครึ่งหลัง วนไปมาเพื่อทิ้งระยะเวลาให้ฝักบัวแก่พอที่จะเก็บได้ ในทุกๆเช้า พ่อจะตื่นตั้งแต่ตีสี่มาเก็บบัวจนถึงหกโมงเช้า และกลับไปอาบน้ำกินข้าวและไปทำงานต่อในช่วงสาย"
แม่พัน คำนวน เล่าว่า “หลังจากที่พ่อเก็บฝักบัวขึ้นมาแล้ว แม่ก็จะนำมามัดเป็นช่อและนำไปขายที่ตลาดและขายให้กับคนในชุมชน หรือบางทีก็มีแม่ค้ามารับซื้อที่บ้าน แม่ขายไม่แพง ช่อละ 10 บาทเอง เฉลี่ยรายได้ในแต่ละวันประมาณ 700 บาท"
การเก็บหาฝักบัวสามารถเก็บได้จนถึงสิ้นอายุบัว ซึ่งราวๆ เดือนสิงหาคม ในช่วงที่มีน้ำหลากท่วมหนองบัว บัวก็จะตายลงถือว่าสิ้นสุดการเก็บบัว หากน้ำไม่ท่วมก็สามารถเก็บได้จนหมดฤดูกาลให้ดอก ซึ่งการเก็บฝักบัวสร้างรายได้ให้กับครอบครัวราว 3-4 เดือน ซึ่งคิดเป็นรายได้ ประมาณ 63,000 - 84,000 บาท หนองน้ำในลุ่มน้ำอิงหลายหนองถูกแปรสภาพเพื่อใช้ในการกักเก็บน้ำ มีการขุดลอกจนระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไป พืชและสัตว์สูญหาย กว่าระบบนิเวศน์จะฟื้นตัวต้องใช้ระยะเวลายาวนาน หรืออาจสูญไปตลอดกาล น่าเสียดายหากเรายังไม่ตระหนักและหันมาจัดการ ทรัพยากรที่มีคุณค่าหลากหลายชนิดคงดับสูญ