RECOFTC ประเทศไทย

เสวนา “บทบาทและความสำคัญของป่าชุมชนในศตวรรษที่ 21”

เสวนา “บทบาทและความสำคัญของป่าชุมชนในศตวรรษที่ 21”

ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อาทิ การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล และวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบทั่วโลกกับคนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ มีผลให้องค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง และรีคอฟ ประเทศไทยจึงได้จัดวงเสวนาหัวข้อ บทบาทและความสำคัญของป่าชุมชนในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขอเวทีสมัชชาเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง ประจำปี 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อบทบาทของป่าชุมชนในอนาคตภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การออกแบบแนวทางการปรับตัวการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนแนวทางการเชื่อมโยงป่าชุมชน ชุมชน และผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ผู้ร่วมเสวนา มีดังนี้

  • คุณกุลธิดา             สิทธิฤาชัย     อดีต Young Forestry Journalist 2019, นักเขียน A Day
  • คุณเพชรรัตน์         อนุสรณ์ประชา  กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินดำ จ.สุพรรณบุรี
  • คุณเดโช                 ไชยทัพ         มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
  • คุณอิสริยะ             ไพรีพ่ายฤทธิ์    ผู้บริหาร LINE MAN Wongnai
  • อาจารย์เดชรัตน์    สุขกำเนิด          ผู้อำนวยการ Think Forward Center
  • คุณสุนิตย์               เชรษฐา          กรรมการผู้จัดการ ChangeFusion

ดำเนินรายการโดย คุณวิภาพร วัฒนวิทย์          Thai PBS

เนื้อหาในวงเสนาสรุปได้เป็น 5 ส่วน ได้แก่ คำนิยามของป่าชุมชน ป่าชุมชนจากอดีตสู่ปัจจุบัน บทบาทและโอกาสของป่าชุมชนในยุคใหม่  การปรับตัวการจัดการป่าชุมชนในอนาคต และแนวทางการส่งเสริมการศึกษาป่าชุมชน

คำนิยามของป่าชุมชน

คุณเพชรัตน์ ตัวแทนชุมชนผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ป่าชุมชนบ้านห้วยหินดำ ให้ความหมายป่าชุมชนว่า ป่าชุมชนเป็นบ้าน ให้ที่อยู่อาศัย อาหาร ยา และเครื่องนุ่งห่ม คนในชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน รักษาด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับคำนิยามของผู้เสวนาท่านอื่นที่สรุปได้ว่า ป่าชุมชนเป็นวิธีการและเป็นมุมมองในการจัดการป่าที่ชุมชนร่วมใช้ประโยชน์ และร่วมดูแลรักษาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิทธิของชุมชนในการจัดการฐานทรัพยากรในพื้นที่ของตนภายใต้กรอบกติกาที่เหมาะสมกับวิถีชุมชน เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน ชุมชน และป่า

เสวนา “บทบาทและความสำคัญของป่าชุมชนในศตวรรษที่ 21”

นอกจากนี้ คุณเดโช เพิ่มเติมว่า ป่าชุมชนเป็นนวัตกรรมทางสังคมในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน และเป็นการบูรณาการสหวิชาการที่หลากหลายในการจัดการป่า และบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน

ป่าชุมชนจากอดีตสู่ปัจจุบัน

คุณเดโช เล่าถึงการขับเคลื่อนงานป่าชุมชนเริ่มต้นจากปี 2530 ขณะที่โครงสร้างทางกฎหมายส่วนใหญ่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทใหญ่และการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น การสัมปทานป่า และการปลูกสร้างสวนป่า ทำให้คนที่อยู่ในป่ากลายเป็นผู้ผิดกฎหมายและถูกลิดรอนสิทธิการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ นำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชน จนกระทั่งปี 2532 มีการมอบป่าชุมชนผืนแรกในประเทศไทย ที่ จ.เชียงใหม่ ภายใต้อำนาจมาตรา 19 ของพ...ป่าสงวนแห่งชาติ ส่งผลให้นักวิชาการเริ่มศึกษาชุมชนและการจัดการป่าในพื้นที่ทับซ้อน นำไปสู่การผลักดันกฎหมายเพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน

จนกระทั่ง ปี 2562 มีการประกาศใช้ พ...ป่าชุมชน แต่ทั้งนี้ ป่าที่สามารถขึ้นทะเบียนภายใต้กฎหมายนั้นจำกัดเฉพาะเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ประเภทอื่นจำเป็นต้องสู้ต่อไป รวมถึงรายละเอียดข้อกฎหมายต้องมีการทบทวน และสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน

อาจารย์เดชรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ป่าชุมชนเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนในการดูแลและจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยรัฐจารีตที่รัฐยังไม่ได้สนใจพื้นที่ป่าและเน้นการพัฒนาพื้นที่เมือง จนกระทั่งรัฐเล็งเห็นถึงประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ จึงมีการทำสัมปทานเกิดขึ้น เกิดการกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าประเภทต่าง ๆ และออกกฎหมายโดยไม่ได้คำนึงถึงกฎกติกาหรือวิถีของชุมชน ทำให้การจัดการป่าโดยชุมชนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จนกระทั่งมี พ...ป่าชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยอมรับภูมิปัญญานี้

เสวนา “บทบาทและความสำคัญของป่าชุมชนในศตวรรษที่ 21”

คุณเพชรรัตน์ ในฐานะตัวแทนชาวกระเหรี่ยงโปว ผู้ดูแลป่าชุมชนบ้านห้วยหินดำในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เล่าว่า ชุมชนเป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ป่ามาตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายอุทยานแห่งชาติประกาศใช้ โดยคนรุ่นก่อนเน้นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อดำรงชีพเป็นหลัก ไม่เน้นเรื่องการสร้างรายได้ และปลูกฝังให้ลูกหลานดูแลรักษาป่าชุมชน ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ทำให้ชุมชนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ดังเดิม จนกระทั่ง รีคอฟช่วยจัดกระบวนการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่าย ทำให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สามารถร่วมกันดูแลและอนุรักษ์ป่าไม้จนถึงทุกวันนี้

บทบาทและโอกาสของป่าชุมชนในศตวรรษ 21

คุณอิสริยะ เสนอเรื่อง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในป่าชุมชน โดยปัจจุบันบริษัท LINEMAN Wongnai ทำงานร่วมกับ Thaicfnet.org ในการนำข้อมูลป่าชุมชนขึ้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในแอพพลิเคชั่นวงใน ซึ่งแนวทางการท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ที่กำลังนิยม คือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดังนั้น ป่าชุมชนจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าส่งเสริมในระยะยาว นอกจากนี้ อาจารย์เดชรัตน์ได้เห็นตรงกัน และเสนอการท่องเที่ยวแบบแคมป์ปิ้ง ซึ่งกำลังนิยมอย่างมากในกลุ่มคนเมืองรุ่นใหม่ โดยนักท่องเที่ยวสามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติและชุมชนได้อย่างมาก

เสวนา “บทบาทและความสำคัญของป่าชุมชนในศตวรรษที่ 21”

คุณสุนิตย์ ได้นำเสนอบทบาทและโอกาสของป่าชุมชนที่เป็นผลจากข้อตกลง COP 26 ซึ่งทำให้ป่าชุมชนกลายเป็นหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการรองรับโครงการพัฒนาจากภาคส่วนต่าง ๆ โดย COP 26 ได้เน้นเรื่องบทบาทของชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ในการร่วมดูแลและใช้ประโยชน์ป่าอย่างยั่งยืนด้วย ตัวอย่างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการเพิ่มพื้นที่ป่าเพิ่มคาร์บอนเครดิตของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทอื่น ๆ รวมถึงโอกาสทางธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ยั่งยืนที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นภายใต้นโยบายระดับโลก (การจัดซื้อและจัดจ้างสีเขียว หรือ green procurement)

นอกจากนี้ มีกองทุนชื่อ กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย’ (THAI CG Funds) เกิดจากความร่วมมือของสมาคมจัดการกองทุนรวม 10 กว่าบริษัท ที่ต้องการสนับสนุนเรื่องธรรมาภิบาลในภาคประชาสังคม โดยมีประเด็นธรรมาภิบาลป่าไม้ร่วมด้วย จะให้การสนับสนุนป่าชุมชนที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ตามกฎหมาย มีข้อมูลรองรับ มีแผนชัดเจน และสามารถติดตามตรวจสอบได้

สำหรับโอกาสทางการสื่อสารเรื่องป่าชุมชนสู่สังคมนั้น คุณกุลธิดา กล่าวว่า ถึงแม้ปัจจุบันผู้คนในสังคมวงกว้างยังไม่รู้จักคำว่า ป่าชุมชนแต่ด้วยกระแสสังคมที่ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น และกระแสความยั่งยืนที่ผู้คนตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทั้งในฝ่ายผู้ประกอบการและผู้บริโภค จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะผลักดัน ป่าชุมชนให้อยู่ในวิถีชีวิตของคนเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น การนำผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชนที่มีอยู่นั้นมาขายในเมือง ในคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นวิธีการสื่อสารเรื่องป่าชุมชนอย่างเข้าใจได้ง่าย สร้างการรับรู้ในวงกว้าง

การปรับตัวการจัดการป่าชุมชนในอนาคต

คุณเดโช กล่าวถึงข้อกำหนดทางกฎหมายที่จำเป็นต้องปรับให้เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเสนอให้นักวิชาการร่วมศึกษาศักยภาพของป่าชุมชนที่มีผลการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งข้อกฎหมายต้องส่งเสริมให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และโอกาสในการร่วมจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สามารถเข้าถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมและเท่าเทียมแก่คนทุกคนในชุมชน

เสวนา “บทบาทและความสำคัญของป่าชุมชนในศตวรรษที่ 21”

กลไกการดำเนินงานของภาครัฐเป็นหนึ่งเรื่องที่ควรมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายนโยบายระดับชาติ และข้อตกลงระดับสากลในการเพิ่มพื้นที่ป่าและลดคาร์บอน (COP 26) รวมทั้งให้สอดคล้องกับการจัดการในระดับพื้นที่ โดยอาจารย์เดชรัตน์ อธิบายว่า รัฐควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้ปฏิบัติงานรายโครงการ เป็นผู้ทำหน้าที่ให้เงินสนับสนุน เช่น ให้งบชุมชน 4,000 บาทต่อไร่ต่อปีสำหรับการปลูกป่า โดยให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้ปฏิบัติ ทำให้เกิดการจ้างงาน และรัฐทำหน้าที่ติดตามการดำเนินการ ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างชุมชน และแปลงผลลัพธ์จากพื้นที่ไปสู่เป้าหมายระดับโลก เช่น ผลการปลูกป่าในเชิงการกักเก็บคาร์บอน หรือความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการจัดการสู่ท้องถิ่น และใช้งบประมาณน้อยกว่าการดำเนินการโดยราชการ รวมทั้งต้องเคารพสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ ตามข้อตกลงของ COP26 สำหรับภาคเอกชนสามารถร่วมทุนหรือร่วมปลูกได้ เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับชุมชนด้วย

สำหรับการปรับตัวทางภาคเอกชน คุณอิสริยะ กล่าวว่า เอกชนมีศักยภาพ มีเทคโนโลยี มีเงินทุน แต่ที่ต้องเพิ่มเติม คือ ความรู้ความเข้าใจเรื่องป่าชุมชน ต้องให้เอกชนเข้ามาทำงานกับเครือข่ายและชุมชนมากขึ้น เมื่อได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น จะเริ่มเห็นช่องทางที่สามารถเชื่อมโอกาสของกันและกัน

การเปิดพื้นที่ให้แก่คนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับไปทำงานที่บ้านภายหลังจากเรียนจบ เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการร่วมจัดการป่าชุมชนในอนาคต โดยคุณเพชรรัตน์ ได้นำเสนอ กลุ่มเยาวชนจัดการป่าชุมชนบ้านห้วยหินดำซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนท้องถิ่นที่มีกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การร่วมกำหนดขอบเขตป่าไผ่เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่เสื่อมโทรมโดยงดการหาหน่อไม้ 1-2 ปี จัดกิจกรรมปลูกป่าทดแทน การจัดการขยะในชุมชน ริเริ่มการส่งเสริมการเรียนรู้ป่าไม้ให้แก่นักเรียนร่วมกับโรงเรียนในชุมชน การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน และกำลังวางแผนเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืนจากฐานทรัพยากรที่มี

บ้านศรีบุญเรือง อ.สันติสุข จ.น่าน

คุณกุลธิดา ได้เสนอการปรับตัวในบทบาทของ สื่อที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคมเกี่ยวกับวิถีการจัดการป่าโดยชุมชน สามารถขยายการรับรู้ในวงกว้างโดยมีคนรุ่นใหม่เป็นส่วนช่วยในการสื่อสารจากสิ่งที่เขาได้เห็นและนำเสนอในรูปแบบของพวกเขาเอง  รวมทั้งสื่อจะเป็นแรงผลักดันสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนในการจัดการทรัพยากรของตนเอง ซึ่งคุณสุนิตย์ และอ.เดชรัตน์ ได้เสนอแนวทางการสื่อสารโดยผูกเรื่องราวป่าชุมชนกับสินค้า อาทิ เครื่องสำอางชื่อดังมีส่วนผสมจากเห็ดในป่า หรือน้ำหอมที่ผลิตโดยชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เชี่ยวชาญ เช่น องค์กรสื่อสาร บริษัทสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ และฝ่ายการตลาด ต้องทำงานร่วมกัน และการนำเสนอเรื่องราวป่าชุมชนผ่านการเล่นเกม เช่น บอร์ดเกม ที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถเข้าใจวิถีของชุมชนและบริบทของทุกฝ่ายได้ง่ายขึ้น

 

นอกจากนี้ คุณสุนิตย์ ได้กล่าวถึงการปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีออนไลน์ thaicfnet.org เพื่อเผยแพร่ศักยภาพของชุมชนและป่าชุมชนให้เกิดการรับรู้ในกลุ่มนักลงทุน ปัจจุบัน thaicfnet.org อยู่ระหว่างการหารือกับ GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)) เพื่อขอความร่วมมือการใช้แผนที่ดาวเทียมในการติดตาม ประเมินผล และนำเสนอผลการจัดการป่าชุมชนให้เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชน และประชาชนในการสนับสนุนป่าชุมชน และหากป่าชุมชนได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างเหมาะสม จะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

แนวทางการส่งเสริมการศึกษาป่าชุมชน

จากคำถามของผู้รับฟังวงเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการศึกษาป่าชุมชน อ.เดชรัตน์ ได้เสนอแนวทางที่น่าสนใจไว้ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1) พัฒนาป่าชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลภายนอก 2) จัดให้ป่าเป็นพื้นที่สำหรับปฏิบัติการโครงการเพื่อพัฒนาป่าและชุมชน 3) ต่อยอดให้ป่าเป็นแหล่งสร้างงานของคนรุ่นใหม่ เช่น ผ้ามัดย้อมธรรมชาติจากวัตถุดิบป่าชุมชน 4) จัดทำหนังสือ เพื่อรวมรวบและเผยแพร่องค์ความรู้จากป่า และ 5) ส่งเสริมอาหารจากป่าชุมชนสู่อาหารโรงเรียน พร้อมทั้งให้ความรู้แก่นักเรียน เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างป่ากับเยาวชน และสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน

นอกจากนี้ คุณเพชรรัตน์ ยกตัวอย่างกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องป่าและวิถีชุมชนให้แก่เยาวชนบ้านห้วยหินดำ โดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ ทางกลุ่มเยาชนและชุมชนช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นน้องของเรา รักถิ่นกำเนิด รักป่า เหมือนกับเรา ไม่ใช่แค่ให้เด็กเรียนรู้เรื่องป่า แต่ให้ได้เรียนรู้ถึงประเพณีวัฒนธรรมชุมชนด้วย เราไปคุยกับโรงเรียน และขอนำเรื่องราวเข้าไปในหลักสูตรโรงเรียนในพื้นที่ ขอเวลา 1-2 ชั่วโมงให้เราได้ไปพูดคุย มีกิจกรรมกับเด็ก

บทสรุป - ป่าชุมชนในอนาคตที่อยากเห็น

ในส่วนท้ายของวงเสวนา ผู้เสวนาทุกท่านได้กล่าวถึงอนาคตของป่าชุมชนที่ตนอยากเห็น โดยสรุปได้ว่า ป่าชุมชนทุกแห่งต้องสามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกกฎหมาย มีการวางแผนและการจัดการร่วม มีการติดตามและประเมินผลได้ สามารถเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากหากสถานะถูกต้องตามกฎหมาย ป่าชุมชนจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น หากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นและป่าชุมชนสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากป่า หรือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จะทำให้ป่าชุมชนนั้น ๆ สามารถยกระดับเป็นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ซึ่งนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับชุมชนมากขึ้น

นอกจากนี้ ในสังคมวงกว้างต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิถีการจัดการป่าโดยชุมชน และทำให้ป่าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนทุกกลุ่มทั้งคนท้องถิ่นและคนเมือง ขณะที่ทุกภาคส่วนต้องให้การสนับสนุนทั้งในเชิงโครงสร้างและกระบวนการจัดการป่าชุมชน ชุมชนต้องมีศักยภาพพร้อมเป็นผู้ขับเคลื่อน และมีสิทธิในการดูแลจัดการทรัพยากรของตน รวมถึงการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ Thaicfnet.org เพื่อเป็นเครื่องมือและพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมใช้เพื่อพัฒนาป่าชุมชน

หมายเหตุ: วงเสนานี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565

 

###

เนื้อหานี้เป็นความรับผิดชอบของผู้จัดวงเสวนา และอาจไม่ได้สะท้อนถึงมุมมองของสหภาพยุโรป

งานของ RECOFTC เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) และองค์กรความร่วมมือพัฒนานานาชาติสวีเดน (Sida)