RECOFTC ประเทศไทย
กิจกรรม

เวทีเสียงสะท้อนธรรมาภิบาลป่าไม้ ครั้งที่ 1 “อุณหภูมิ 1.5 องศา กับความเร่งด่วนที่ต้องมีธรรมาภิบาลป่าไม้”

Dec 13
2018
-
14
Location
Nan province, Thailand

การหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศานั้นภาคป่าไม้มีบทบาทที่สำคัญ แต่การจะทำให้ภาคป่าไม้ลดปัญหาโลกร้อนได้นั้นการบริหารจัดการป่าไม้ต้องเป็นธรรมาภิบาล คนท้องถิ่นควรเข้าถึงสิทธิการถือครองที่ดินป่าไม้ และการร่วมกันเฝ้าระวังและการส่งเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน

 

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก นำไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกลายเป็นวิกฤตการณ์ของโลกที่ต้องการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันผลกระทบและภัยพิบัติที่จะกำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้นานาประเทศได้พยายามสร้างข้อกำหนดและมาตรการในการหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การรับมือกับความแปรปรวนของภูมิอากาศและธรรมชาติ แต่ในทางปฏิบัติยังขาดการลงมือและการดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อจะหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศา จากการรายงานครั้งล่าสุดของ IPCC[1] ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า โลกกำลังต้องการการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากทุกภาคส่วน 

 

การรักษาและฟื้นฟูป่าไม้มีปัจจัยสำคัญที่ระบบการบริหารจัดการป่าไม้ของแต่ละประเทศนั้นมีความเป็นธรรมาภิบาลดีพอหรือไม่ เนื่องมาจากข้อค้นพบที่ว่าการทำลายป่าและการค้าไม้เถื่อนนั้นมีสาเหตุหลักมาจากขาดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการป่าไม้ ซึ่งหมายถึงการขาดการมีส่วนร่วม ความไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบและการดำเนินงาน การขาดความโปร่งใสและความรับผิดชอบ รวมถึงความไม่เป็นธรรม ดังนั้นต้นทางประการสำคัญของการที่จะหยุดยั้งอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้น จึงต้องเริ่มต้นด้วยการทำให้ระบบการบริหารจัดการป่าไม้ของประเทศมีธรรมาภิบาล

 

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) มูลนิธิรักษ์ไทย และองค์กรภาคีด้านป่าไม้และที่ดิน จึงกำหนดจัดงานเวทีเสียงสะท้อนธรรมาภิบาลป่าไม้ ครั้งที่ 1 “อุณหภูมิ 1.5°C กับความเร่งด่วนที่ต้องมีธรรมาภิบาลป่าไม้” วันที่ 13-14 ธันวาคม 2561 ณ จังหวัดน่าน เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Voices for Mekong Forests หรือ V4MF ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาลในภาคป่าไม้ด้วยการพัฒนากลไกของการติดตามและนำเสนอเสียงสะท้อนของภาคประชาสังคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงรวมถึงประเทศไทย เพื่อเป็นการนำเสนอแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการป่าไม้ของประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง

 

ทั้งนี้ จังหวัดน่านนั้นเป็นพื้นที่นำร่องแห่งหนึ่งของโครงการในประเทศไทย ซึ่งมีการดำเนินงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายอีกทั้ง เวทีฯนี้จะมีการนำเสนอการดำเนินงานของการสร้างเครื่องมือการจัดการที่ดินป่าไม้และการเฝ้าระวังสถานการณ์ร่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชนไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

 

วัตถุประสงค์:

  1. เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับคนในสังคมไทยเกี่ยวกับบทบาทของภาคป่าไม้ไทยเพื่อร่วมลดอุณหภูมิบนผิวโลกร่วมกับนานาประเทศ และความจำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  2. เพื่อสร้างพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนและนำเสนอแนวทางการสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ ที่จะมีส่วนช่วยลดอุณหภูมิของโลกได้
  3. เพื่อนำเสนอตัวอย่างของแนวทางการสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ผ่านกระบวนการพัฒนาความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลอย่างมีส่วนร่วมจากชุมชนในท้องถิ่นและภาคอื่นๆ อันจะนำไปสู่การให้การสนับสนุนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

สถานที่

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561: น่านกรีนเลควีว รีสอร์ท อ.เมือง จังหวัดน่าน

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561: บ้านห้วยลั๊วะ ต.ดงพญา อ.เมือง จ.น่าน

 

ผู้เข้าร่วมประชุม/ กลุ่มเป้าหมาย

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรบนพื้นที่ป่าไม้
  • หน่วยงานองค์กรบริหารส่วนตำบลในท้องที่
  • ภาคการศึกษาและสถาบันวิจัย
  • องค์กรภาคประชาสังคม และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม
  • สื่อมวลชนที่สนใจ

 

 

[1] คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ก่อตั้งขึ้นใน .. 2531 โดยองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นคณะที่ให้คำแนะนำแก่ผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสภาวการณ์ปัจจุบันขององค์ความรู้และให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แต่ไม่ได้ดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ทบทวนรายงานที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการพิจารณาตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ (peer reviewed) ในทุกๆ ปี และสรุป สถานะขององค์ความรู้เรื่องภาวะโลกร้อนในรายงานการประเมินซึ่งตีพิมพ์ทุกๆ 5 ปี หรือมากกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 1,000 คน