ป่าพรุควนเคร็งเน้นย้ำการจัดการแบบมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อความเข้มแข็งวิสาหกิจชุมชน
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 62 ที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(รีคอฟ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมฅนรักษ์ถิ่น สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก(GEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) และวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมจัดงานเสวนาวิชาการภูมิทัศน์พรุควนเคร็ง “ป่าพรุ...ต้นธารฐานเศรษฐกิจ ฐานชีวิตคนเคร็ง” ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนกว่า 150 คนจากพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง พื้นที่ชุ่มน้ำผืนใหญ่ที่สำคัญทางปากพนังตอนใต้ของจังหวัด ที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์และครอบคลุม พื้นที่ 5 อำเภอ(อ.เชียรใหญ่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ชะอวด และอ.หัวไทรของจ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่บางส่วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง)ได้เข้าร่วม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและเข้าใจรูปแบบกลไกเศรษฐกิจ อีกทั้งสร้างความเข้มแข็ง กำหนดข้อเสนอแนะและนวัตกรรมฟื้นฟู อนุรักษ์ การจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและการบริการจากภูมิทัศน์พรุควนเคร็งอย่างยั่งยืนและรอบด้าน
นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ป่าพรุควนเคร็งเป็น 1 ใน 2 ป่าพรุสำคัญของภาคใต้ จากเหตุการณ์ไฟป่าที่ผ่านมา เกิดความเสียหายมาก และได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน เวทีนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนที่ถือได้ประโยชน์สูงสุดจากป่าพรุ ต้องขอขอบคุณองค์กรร่วมจัดและประชาชนที่เสียสละเวลามาเรียนรู้แลกเปลี่ยน ซึ่งโครงการฯนี้ถือเป็นโครงการที่ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด รวมทั้งงานวิชาการ ข้อเสนอแนะและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ทางจังหวัดมุ่งหวังจะนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอย่างบูรณาการอย่างยั่งยืนต่อไป”
“ตอนนี้แหล่งเก็บหากระจูดหายาก ต้องออกไปไกลและหาได้น้อยมาก คุณภาพก็ไม่ค่อยดีเหมือนแต่ก่อน ราคากระจูดแพงขึ้นเพราะไม่มีกติกาการเก็บหากระจูด ลูกหลานในชุมชนก็มาสืบทอดและนำไปขายในตลาดออนไลน์ซึ่งทำให้อยู่กันเป็นครอบครัวและให้ความสำคัญกับชุมชนมากขึ้น คาดหวังอยากให้มีการจัดระบบการจัดการกระจูดกับชุมชน เพราะอยากให้กระจูดอยู่กับป่าพรุไปนานๆ อยากให้ป่าพรุกลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้ง” นางยุพา คงเทพ ผู้เก็บหากระจูด ต. เคร็ง จ.นครศรีธรรมราช
นางสาวอิงอร คงชู รองผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “หน่วยงานอย่างททท.สามารถช่วยทำการตลาดให้ชุมชนนี้ได้ หากชุมชนมีการร่วมกลุ่มการจัดการ ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานและพัฒนาเป็นแบรนด์สินค้าของเคร็ง นครศรีธรรมราช ผลิตภัณฑ์กระจูดจากป่าพรุนั้นมีอัตลักษณ์ เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ หากมีการจัดการระบบผลิตสินค้าที่ดีแล้ว การท่องเที่ยวจะเป็นช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมการตลาดรวมถึงกิจกรรมการเรียนรู้วิถีชุมชนได้อีกด้วย”
สำหรับข้อเสนอเพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรป่าพรุ ภายใต้กิจกรรมการฟื้นฟู อนุรักษ์ จัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบริการจากภูมิทัศน์พรุควนเคร็งนั้น ผู้เข้าร่วมได้เสนอขอให้ทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุนกลไกการจัดร่วมเพื่อรักษาต้นทางแหล่งวัตถุดิบและระบบที่จะมารองรับแนวทางการรวมกลุ่ม และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน สนับสนุนนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และการเข้าถึงกองทุนในการบริหารจัดการวิสาหกิจและการตลาดที่มั่นคงขึ้น
หลังจากนี้ องค์กรร่วมจัดจะรวบรวมข้อเสนอจากกลุ่มย่อยที่สะท้อนบริบทสังคมและชุมชนทั้งหมดที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับชุมชนในป่าพรุ เพื่อส่งมอบต่อกับผู้บริหารระดับนโยบายจังหวัดให้เป็นแนวทางการพิจารณาการบริหารจัดการตามแนวทาง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความเป็นไปได้ในการสนับสนุนตามข้อเสนออย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการแนวทางร่วมกัน